ผ่าประเด็นร้อน
เห็นกันไปแล้วว่า แม้จะระดมกันอย่างเต็มที่ ใช้เครือข่ายหัวคะแนนของการเมืองท้องถิ่นของพรรคเพื่อไทย ช่วยอำนวยความสะดวกกันอย่างเต็มที่สำหรับการชุมนุมที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคมที่ผ่านมา เพราะนี่คือเป้าหมายของการ “แสดงพลัง” ของคนเสื้อแดงให้ฝ่ายตรงข้ามได้เห็นว่า “พวกกูยังมีอยู่เยอะนะโว้ย” อะไรทำนองนั้น แต่ภาพที่เห็นแม้จะบอกว่า “นับหมื่น” แต่ในทางการเมืองสำหรับคนที่เข้าใจรับรองว่า “ปริมาณน้อยนิด” เหลือเกิน
จำนวนน้อยนิดที่ว่า มันย่อมมีสาเหตุมาจาก “ความล้มเหลวห่วยแตก” จากผลงานของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ราคาสินค้าแพงทั้งแผ่นดิน ที่สำคัญยังไม่มีปัญญา “จ่ายหนี้จำนำข้าว” ให้ชาวนาคนพวกนี้ต้องกินต้องใช้ จะให้กินประชาธิปไตยทุกวันคงไม่ไหวแน่นอน บรรยากาศคนเสื้อแดงในวันนี้จึงแตกต่างจากเมื่อสองปีก่อนแทบจะเป็น “หลังเท้า” ไม่คึกคักอย่างที่ต้องการ
แม้ว่าจะนัดชุมนุมใหญ่อย่างต่อเนื่อง โดยคราวต่อไปนัดหมายกันที่ภาคตะวันออก อาจเป็นพัทยา หรือในจังหวัดปริมณฑล แต่เชื่อเถอะปริมาณก็คงไม่หนีไปจากนี้ หรือลดลงไปอีก ยิ่งถ้า “จ่ายน้อย” หรือจ่ายไม่ครบก็มีปัญหาแน่ ที่สำคัญจะให้คงปริมาณมากๆ เอาไว้ต่อเนื่อง ก็ต้องจ่ายหนัก คำถามก็คือ แล้วใครยอมทุ่มโดยที่ยังไม่มีหนทางชนะ
หากพิจารณากันอย่างเข้าใจสถานการณ์ก็มองออกว่า เป็นการ “เช็กกำลังมวลชน” คนเสื้อแดงว่ายังเหนียวแน่นเกาะเกี่ยวกันได้เท่าไหร่ เพราะในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจำเป็นที่จะต้อง “ระดมมวลชน” เข้ามา “ข่มขู่” องค์กรอิสระทั้งหลาย ที่กำลัง “จัดการ” กับ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่มีคดีติดตัวเป็นหางว่าว และหลายคดีมีแนวโน้มสูงที่จะ “เดินเข้าคุก” อาจเป็นนายกฯ หญิงคนแรกก็ได้ที่ติดคุก เพราะหลังจากที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยอมขยายเวลาให้ ยิ่งลักษณ์ ยื่นเอกสารชี้แจงข้อหาทุจริตโครงการจำนำข้าวอีก 15 วันจากเดิมที่พยายามขอยื้อไปถึง 45 วัน นั่นก็หมายความว่าภายในต้นเดือนเมษายน ป.ป.ช.ก็จะสามารถชี้มูลได้แล้ว
นอกจากนี้ ยังมีคิวที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิพากษาในคดีที่อาจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตีความว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์เป็นโมฆะ รวมไปถึงคดีอื่นที่เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกัน เช่น คดีที่ ป.ป.ช.กำลังชี้มูลบรรดาสมาชิกรัฐสภาที่สุมหัวกันชำเราแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้พิพากษาว่าขัดรัฐธรรมนูญไปแล้ว ซึ่งในสมาชิกรัฐสภาดังกล่าว รวมถึงอดีตประธานรัฐสภา สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ และประธานวุฒิสภา นิคม ไวยรัชพานิช ซึ่งคนหลังถ้าถูกชี้มูลความผิดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภา อาจส่งผลกระทบต่อการเสนอชื่อนายกฯคนใหม่
ขณะเดียวกันยังต่อเนื่องไปถึงคดีที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ จากเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าพระราชบัญญัติเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกระบวนการตราพระราชบัญญัติดังกล่าวมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อเป็นแบบนี้ ยิ่งลักษณ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นคนลงนามในกฎหมายที่เป็นกฎหมายการเงิน
สรุปก็คือ แนวโน้มว่า “อ่วมแน่” โดยเฉพาะคดีที่ ป.ป.ช.กำลังจะชี้มูลนายกฯ ในคดีทุจริตจำนำข้าวในต้นเดือนเมษายน ถ้าป๊อกละก็ต้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที”
ขณะเดียวกันยังมี “มวลมหาประชาชน” ปักหลักชุมนุมขับไล่ไม่เลิก สถานะในเวลานี้ถือว่า “ถดถอย” จนวิกฤตเต็มทีแล้ว
เมื่อสถานการณ์เริ่มปั่นป่วนอย่างที่เห็น มันก็ต้องดิ้นเอาตัวรอดให้ได้ อย่างน้อยก็ต้องประคองรักษาอำนาจที่เหลือเอาไว้ให้ได้ และนี่แหละคือคำตอบว่าทำไมจะต้องมีการ “ระดมมวลชนเสื้อแดง” ขึ้นมาอีกรอบ เพื่อแสดงกำลังข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ขณะเดียวกันเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ใหม่ก็ต้องเปลี่ยนแปลง “หัวโจก” จาก ธิดา ถาวรเศรษฐ มาเป็น จตุพร พรหมพันธุ์ และให้ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เป็นเลขาฯ ซึ่งก็คือส่งมาคุมเงิน คุมจตุพร อีกชั้นหนึ่ง
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ต้องอธิบายแบ็กกราวนด์ส่วนตัวของแต่ละคนสั้นๆ โดยเฉพาะ ธิดา ที่ถึงเวลาจะต้องถูก “สั่ง” ให้เปลี่ยนตัว “เพื่อให้ “ขี้ข้าของแท้” อย่าง จตุพร-ณัฐวุฒิ เข้ามาแทน ขณะที่ ธิดา เปรียบเป็น “คนนอก” แถมยังไม่มีพลังในตัวเอง แถมในทางลึกยังอดระแวงไม่ได้ว่า “กำลังนำมวลชนเสื้อแดง” ไปใช้วัตถุประสงค์ “เป้าหมายส่วนตัว” ตามประสาพวก “แดงอารมณ์ค้างในอดีต” ความหมายก็คือ ทั้งธิดา ทั้ง เหวง โตจิราการ เข้ามาใช้มวลชนมาหาประโยชน์ส่วนตัว ไม่ใช่ขี้ข้าแท้ว่างั้นเถอะ
ดังนั้นเมื่อเปลี่ยนตัวมาเป็น จตุพร-ณัฐวุฒิ แน่นอนว่ามีเป้าหมายสำหรับการ “ปลุกระดมมวลชน” สู้ครั้งสุดท้ายของทักษิณ ชินวัตร เหมือนกัน และคัดคนที่ไว้ใจได้ เพราะนี่คือการ “กระชับคนเสื้อแดง” สำหรับภารกิจสำคัญเฉพาะหน้าสำหรับการป้องกัน “รักษายิ่งลักษณ์” โดยเฉพาะ
อย่างน้อยก็ใช้ในภารกิจ "ปลุกระดมคนเสื้อแดง"เพื่อออกมาข่มขู่องค์กรอิสระ เช่น ป.ป.ช.ที่กำลังชี้มูลความผิด ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในต้นเดือนเมษายน การทยอยชี้มูลสมาชิกรัฐสภาที่สุมหัวกันแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.คดีที่ศาลรัฐธรรมนูลกำลังจะพิพากษาคำร้องคดีว่าการเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะหรือไม่
สรุปก็คือ นี่คือภารกิจเร่งด่วนเฉพาะหน้าของ ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการรักษา น้องสาว คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างน้อยหวังว่าไม่ให้เข้าคุก จึงต้องระดมมวลชนเท่าที่มีทั้งหมดออกมาข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม ข่มขู่ ป.ป.ช.ข่มขู่ศาล รวมไปถึงบีบให้เจรจาเพื่อต่อรองรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้มากที่สุด ไม่มีอะไรซับซ้อน!!