"นิติธร" แจงพิมพ์เขียวปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เสนอทำ สตช. ให้เล็กลง ด้วยการแยกตำรวจแต่ละหน่วยออกไปเป็นองค์กรเฉพาะด้าน ส่วนตำรวจท้องถิ่นขึ้นตรงต่อผู้ว่าฯจังหวัด ออกกฎห้ามอัยการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ยุบดีเอสไอ ลั่นสัปดาห์หน้าบุกทวงถาม "ผบ.ทร." ย้าย "ผบ.หน่วยซีล" ทำไม ส่วนเลือกตั้ง ส.ว. ปล่อยอิสระ แต่ คปท. จะรณรงค์ค้านเพราะต้องปฏิรูปก่อนเท่านั้น พร้อมย้ำปฏิวัติประชาชนไม่พึ่งนักการเมืองเด็ดขาด
วันนี้ (13 มี.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวบนเวทีบริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ ว่าภายในสัปดาห์หน้า คปท.จะต้องเคลื่อนไปกองทัพเรือ เพื่อทวงถาม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ถึงเรื่องการย้าย พล.ร.ต.วินัย กล่อมอินทร์ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการพิเศษทางเรือ (ผบ.นสร.) หรือ ผบ.หน่วยซีล ออกจากตำแหน่ง ไปถามแบบใกล้ชิดว่าย้ายทหารที่รักชาติรักประเทศทำไม และจะไปถาม กกต.ด้วย ทำไมถึงเห็นด้วยกับการย้าย ผบ.หน่วยซีล
ส่วนเรื่องเลือกตั้ง ส.ว.เราชัดเจนต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ไม่ว่าเลือกตั้งไหนรับไม่ได้ ต้องมาร่วมปฏิรูปประเทศก่อน ส่วนใครจะเลือกปล่อยอิสระ แต่เราจะรณรงค์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง วันนี้ถ้าจะให้บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงต้องปฏิวัติโดยประชาชนเท่านั้น ที่ผ่านมาเราฝากการปฏิรูปไว้กับนักการเมือง แล้วมันไม่เป็นจริง ฉะนั้นจะกลับไปพึ่งตัวแทนไม่ได้ ประชาชนต้องดำเนินการเอง หากคนมาร่วมชุมนุมมากก็พร้อมลุย แต่ถ้าไม่มากก็จะใช้จำนวนเท่าที่มีลุยทุกที่เมื่อถึงเวลา
นายนิติธรยังกล่าวถึงพิมพ์เขียวของ คปท.เรื่องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมว่า ตำรวจเป็นต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นลำดับแรกต้องปฏิรูปตำรวจ ต้องไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรก จะให้นายกฯ มานั่งเป็นประธาน ก.ตร. (การประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ) ไม่ได้ แล้วต้องแก้ไขการตรวจสอบภายใน อย่างตำแหน่งจเรตำรวจ คือคนที่ไม่มีโอกาสจะก้าวหน้าเติบโตทางราชการแล้ว จึงไม่กล้าตรวจสอบตำรวจที่ยศใหญ่กว่าหรือยศน้อยแต่เป็นเด็กเส้น ที่สำคัญสุดต้องทำตำรวจให้เล็กลงที่สุด โดยการแยกตำรวจแต่ละส่วนออกไปเป็นองค์กรต่างๆ เช่น ป่าไม้ ตรวจคนเข้าเมือง สืบสวนสอบสวน ฯลฯ ไม่ใช่ขึ้นกับ สตช.ทั้งหมด และทำให้แต่ละคนมีโอกาสเติบโตในหน้าที่ของตัวเองด้วย
นอกจากนี้ ต้องกระจายทั้งคน อำนาจ และงบประมาณ ถ้ามีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการทุกจังหวัด ก็เอาตำรวจไปขึ้นกับผู้ว่าฯ ไม่ใช่ขึ้นกับส่วนกลางหมด เพราะวันนี้ตำรวจพยายามทำตัวเองเป็นกองทัพ ตำรวจต้องทำตัวเองให้เล็กลงจึงจะมีประสิทธิภาพ
นายนิติธรกล่าวต่อว่า กระบวนการสอบสวนสอบสวนต้องแก้ ทุกวันนี้มีการตั้งข้อกล่าวหาไปเอาตัวผู้ถูกกล่าวหามาแล้วค่อยหาพยานหลักฐาน ที่ถูกต้องควรหาพยานหลักฐานที่เป็นนิติวิทยาศาสตร์ก่อนแล้วค่อยไปเอาตัวมาตั้งข้อกล่าวหา ส่วนดีเอสไอนั้นควรยุบทิ้ง เป็นวิธีแก้ปัญหาที่เร็วและมีประสิทธิภาพที่สุด เพราะถ้าแยกอำนาจสืบสวนสอบสวนของตำรวจออกไปแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมี แต่ถ้าไม่ยุบก็ต้องเอานายกฯ นักการเมือง ออกจากการเป็นคณะกรรมการคดีพิเศษ ไม่เช่นนั้นนักการเมืองจะครอบงำดีเอสไอแบบที่เป็นอยู่
อัยการก็เช่นกัน ต้องตั้งเป็นองค์กรอิสระ ต้องมีคณะกรรมการคุณธรรมพิเศษ คดีไหนอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วราษฎรฟ้องเอง ศาลรับฟ้องและมีบทลงโทษ ต้องเอาอัยการมาลงโทษด้วยฐานปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และถ้าคดีไหนอัยการฟ้องเอง แต่ศาลยกฟ้อง ต้องดำเนินคดีอัยการด้วย เพราะไม่รอบคอบ หรือรู้เห็นกับตำรวจกลั่นแกล้งประชาชน แล้วต้องไม่ให้อัยการนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่างตอบแทนให้เป่าคดีแลกกับการนั่งบอร์ด ต้องแก้เป็นว่านั่งบอร์ดหรือรับตำแหน่งทางการเมือง ต้องทำหลังเกษียญอย่างน้อย 5 ปี
นายนิติธรกล่าวอีกว่า ส่วนกระบวนการยุติธรรมกลางน้ำ คือ ศาล สิ่งที่ต้องทำคือดำเนินคดีรวดเร็ว หาวิธีการให้ประชาชนเข้าสู่กระบวนการศาลโดยลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด การประกันตัว ปล่อยตัวชั่วคราว ต้องให้ประกันตัวทุกคดีในหลักทรัพย์ที่ต่ำ ในขณะเดียวกันการไม่ให้ประกันตัวต้องเปิดการไต่สวน ว่าทำไมถึงไม่ให้ประกันตัว แล้วทำไมถึงฟ้อง การพิจารณาหมายจับหมายค้นต้องไม่เอาแค่สำนวนที่ตำรวจเขียนเท่านั้น ศาลต้องลงรายละเอียดให้ตำรวจนำพยานหลักฐานเข้ามาสอบเพิ่ม และให้คนที่ถูกหมายจับหมายค้นต่อสู้คดีตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่มีเอกสารก็ออกหมายให้
มาถึงปลายน้ำ ราชทัณฑ์ตอนนี้ประสบปัญหาคนล้นคุก มันสะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของกระบวนการยุติธรรม ขณะนี้ในเรือนจำมีคน 3 ส่วน 1. ผู้ถูกดำเนินคดียังไม่ตัดสินแต่ไม่มีเงินประกันตัว 2. ศาลสั่งลงโทษปรับแต่ไม่มีเงินเลยเข้าคุกแทนค่าปรับ 3. ผู้ต้องขังที่ศาลวินิจฉัยว่าผิด กระบวนการต้องเปลี่ยนทั้งระบบ ต้องตรากฎหมายเพื่อเบี่ยงเบนการฟ้องคดีอาญาออกไป บางกรณีไม่จำเป็นต้องฟ้องคดีให้ใช้การคุมประพฤติแทน ขณะเดียวกันผู้ต้องหาที่ต้องได้รับการรักษา เช่นผู้เสพยาเสพติด ไม่ต้องติดคุก หรือคดีเล็กๆน้อยๆของคนจน ก็ให้อัยการ ตำรวจ มากำหนดมาตรการคุมประพฤติ
นอกจากนี้ ทั้งหมดของกระบวนการยุติธรรม ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ราชทัณฑ์ ต้องเอาคนมีความรู้ทางด้านบริหารงานยุติธรรมและอาชญาวิทยาเข้ามาเป็นองค์คณะพิจารณาด้วย ดูว่าสาเหตุทำผิดมีอะไรจะได้กำหนดโทษที่เหมาะสม
พิมพ์เขียว คปท. ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ฉบับเต็ม (จาก patnews.wordpress.com)
13 มีนาคม 2557 - พิมพ์เขียว… เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ว่าด้วย “..การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม..” ภาพรวมของปัญหากระบวนการยุติธรรมไทย
1.กระบวนการยุติธรรมมีลักษณะที่ขาดนโยบายองค์รวม ทำให้ขาดผู้รับผิดชอบ (เจ้าภาพ) ทางนโยบายทั้งกระบวนการ อีกทั้งส่งผลกระทบต่อการขาดเป้าหมายและทิศทางในการทำงานของกระบวนการยุติธรรม
2.กระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีการดำเนินการโดยรัฐมากเกินไปโดยมิได้เปิดโอกาสให้เกิดการมีส่วนร่วม ไม่มีพื้นที่หรือช่องทางที่จะให้ชุมชน ประชาสังคม ประชาชน เอกชนเข้ามามีบทบาทหรือ มีส่วนร่วมในกระบวนการยุติธรรม
3.หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมบางหน่วยขาดความเข้าใจที่ชัดเจนในบทบาทของตนเอง
4.ยังมีปัญหาการเลือกปฏิบัติ ขาดความเสมอภาคในการอำนวยความยุติธรรม
5.ตัวบทกฎหมายและระบบงานยุติธรรมในปัจจุบัน มีลักษณะมุ่งเน้นที่จะนำผู้ที่กระผิดมาลงโทษมากกว่าการแสวงหาแนวทางแก้ไขหรือป้องกัน
6.กระบวนการยุติธรรม ไม่ให้ความสำคัญต่อผู้เสียหายหรือเหยื่ออาชญากรรมเท่าที่ควร 7.กระบวนการยุติธรรม มีลักษณะดึงคดีความหรือข้อพิพาทต่างๆ เข้าสู่ระบบ ไม่ให้ความสำคัญและไม่สร้างกระบวนการที่จะส่งเสริมให้มีการไขปัญหาโดยอาศัยชุมชน
8.กระบวนการยุติธรรมโทษจำคุกมากเกินไข ทำให้เกิดปัญหาคนล้นคุก และเด็กเยาวชนล้นสถานพินิจ
9.กระบวนการยุติธรรมเผชิญกับปัญหาสังคม ซึ่งสภาพแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพและกำหนดยุทธศาสตร์ของกระบวนการยุติธรรม ได้แก้ปัญหายาเสพติด ปัญหาความยากจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการของหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม เช่นการพัฒนาบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม การพัฒนากลไกและวิธีการปฏิบัติงาน การปรับปรุงกฎหมาย การพัฒนาวิทยาการและเทคโนโลยี
10.สภาพเศรษฐกิจที่มีกรเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ขณะที่กระบวนการยุติธรรมปรับตัวค่อนข้างช้า การยอมรับและนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงเพราะมีข้อจำกัดด้านงบประมาณของรัฐและวิธีคิดของบุคลากรที่คุ้นเคยกับการทำงานในระบบปิด
11.ภาวะเศรษฐกิจถดถอยตกต่ำ ทำให้คดียาเสพติด คดีล้มละลาย และคดีแพ่งมีจำนวนสูงเพิ่มขึ้น
12.การปฏิบัติงานของบางหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมมีการปฏิบัติงานที่เคร่งครัดเกินไป ไม่ยืดหยุ่น ปรับให้เข้ากับข้อเท็จจริง ทำให้ประชาชนมองว่าผู้ที่เดือดร้อนไม่ได้รับความเป็นธรรม
แนวทางปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบด้วย 5 ด้าน
1. การปฏิรูประบบตำรวจ
2. การปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
3. การปฏิรูประบบอัยการ
4. การปฏิรูประบบตุลาการ
5. การปฏิรูประบบราชทัณฑ์
1. การปฏิรูประบบตำรวจ
1.ประเทศไทยมีตำรวจต้นทางของกระบวนการยุติธรรมก่อนจะถึงมืออัยการและศาล อำนาจการสืบสวน
- สอบสวนที่อยู่ในมือของตำรวจ สามารถกำหนดความถูกความผิด หลายครั้งที่เมื่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปเกี่ยวข้องกับคดี พวกเขามักจะพ้นผิดได้อย่างง่ายดาย เพราะการใช้เส้นสายความสัมพันธ์ในโครงสร้างอำนาจที่มีมาอย่างยาวนาน วันนี้องค์กรตำรวจได้แผ่ขยายอำนาจอย่างมากในสังคมไทย จนกลายเป็นเหมือนกองทัพที่ 4 ไปแล้วในโครงสร้างอำนาจของประเทศ ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด และหากสังคมไทยมีธุรกิจสีเทามากถึงกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศ ตำรวจไทยในฐานะผู้มีอำนาจสอบสวนสืบสวนเอาผิด ก็ย่อมมีผลประโยชน์หรือได้ส่วนแบ่งไม่มากก็น้อย
ดังนั้น ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะมีระบบชั้นยศแบบทหารจนทำให้ตำรวจดูเหมือนจะมีกองทัพที่ 4 ศรัทธาที่ประชาชนมีต่อตำรวจไทยนั้นถือได้ว่าเข้าขั้นวิกฤติ ไม่เคยมียุคใดที่ชื่อเสียงของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์จะแปดเปื้อนมัวหมองมากเท่ายุคนี้อีกแล้ว พฤติกรรมใช้อำนาจโดยมิชอบ พัวพันกับ การคอร์รัปชันรับสินบน ซ้ำยังถูกกล่าวหาว่าเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม ดังที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ
ตำรวจเป็นกลุ่มข้าราชการที่ประชาชนไม่ชอบมากที่สุด มีปฏิกิริยาที่มาจากประชาชน จากทั้งนักการเมืองที่อยากจะปฏิรูปตำรวจมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หน่วยงานแรกที่สมควรถูกปฏิรูปก่อนหน่วยงานไหนคือตำรวจ เพราะมีการซื้อขายตำแหน่งกัน เป็นการกระทำที่ขาดคุณธรรมและจริยธรรมอย่างร้ายแรง ตำรวจเป็นองค์กรที่นักการเมืองใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
นักการเมืองใช้ตำรวจให้เป็นประโยชน์แก่ตัวเองในแง่ของการที่ไปควบคุมกำจัดคู่แข่งขันทางการเมือง ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง ข่มขู่ทำร้ายหัวคะแนน สิ่งที่ตำรวจได้ประโยชน์จากนักการเมืองมาก็เยอะ ปัญหาที่สำคัญของระบบตำรวจไทย 1. ระบบการสืบสวน
-สอบสวนที่ไม่แยกส่วนกันอย่างชัดเจน เหมือนในต่างประเทศ ทำให้เกิดการวิ่งเต้นเพื่อเลื่อนขั้นจนกลายเป็นการซื้อขายตำแหน่งอีกต่อไปในวงการตำรวจไทย
2. หลังมามีพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ทำให้สามารถขยายกำลังพลของตัวเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับนายพลขึ้นเป็นจำนวนมหาศาล ขยายความก้าวหน้าด้วยการอนุญาตให้ตำรวจได้เข้าไปกินตำแหน่งเป็นบอร์ดของรัฐวิสาหกิจต่างๆ เข้าไปเป็นในองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ปปง. ดีเอสไอ ปปท. ไม่เว้นแม้แต่ทางด้านงบประมาณแผ่นดิน ทำให้ความสัมพันธ์ของนักการเมืองกับตำรวจเป็นไปในลักษณะการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกัน
3. ตำรวจที่เกษียณอายุไปแล้ว ได้รับการตอบแทนทางการเมืองด้วยการให้กลับมาเป็นรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้น เช่น เป็นเลขานุการของนายกฯ รองนายกฯ ตรงนี้ทำให้องค์กรตำรวจมีความภักดีต่อรัฐบาล โดยเฉพาะรัฐบาลที่มาจากพรรคเพื่อไทย เพราะดูย้อนหลังกลับไป 10 ปี เขาได้ประโยชน์จากพรรคการเมืองพรรคนี้มากมายมหาศาลเลย
4. ในระบบตำรวจระบบอุปถัมภ์ยังทำงานได้ดีมาก แต่ไม่ใช่การอุปถัมภ์เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการอุปถัมภ์เชิงแลกเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าคนข้างบนที่อุปถัมภ์จะให้อย่างเดียว แต่คนข้างล่างก็ให้อะไรเป็นการตอบแทนผู้อุปถัมภ์ด้วย
5. ตำรวจในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ข่าวคราวเรื่องการซื้อขายตำแหน่งเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ไม่เป็นความลับอีกต่อไป แล้วก็เป็นที่ยอมรับกัน แม้กระทั่งในหมู่ตำรวจเองก็รู้ว่าถ้าหากตัวเองอยากจะได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น เขาก็ต้องลงทุน
6. ระบบการตรวจสอบภายใน คือ ตำแหน่งจเรตำรวจ ของวงการตำรวจมีความอ่อนแอ คนไปเป็นจเรตำรวจคือคนที่ไม่มีโอกาสจะก้าวหน้าเติบโตทางราชการแล้ว โอกาสที่ประชาชนจะได้รับความยุติธรรมนั้นยาก ยิ่งถ้าเป็นตำรวจชั้นผู้ใหญ่รังแกประชาชน จเรจะไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมาได้ อาจทั้งเกรงใจด้วย ทั้งกลัวด้วย แล้วก็คงไม่อยากจะสร้างศัตรู
7. ระบบตำรวจจะมีหน่วยที่เรียกว่าคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว ตำรวจเหล่านี้ก็จะมีลูกหลาน พรรคพวก ลูกน้องที่เป็นตำรวจ ความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติของตำรวจชั้นผู้ใหญ่และตำรวจที่ยังอยู่ในราชการเยอะแยะมากมาย
เพราะฉะนั้นที่เขากำลังต่อสู้ไม่ใช่เพื่อตำรวจ แต่เพื่อลูกหลานที่มันยั้วเยี้ยไปหมด นั่นคือผลประโยชน์ที่ได้จากการเป็นตำรวจที่ยังต้องรักษาไว้มูลค่ามากมายมหาศาลนับหมื่นล้านต่อปี มีคำกล่าวว่า ในระบอบเผด็จการนั้น กลไกตำรวจมีส่วนอย่างสำคัญต่อการดำรงไว้ซึ่งอำนาจของรัฐบาลดังกล่าว และ การปฏิบัติของตำรวจต่อสาธารณชนถือว่าเป็นดัชนีหนึ่งที่สำคัญของคุณภาพของระบอบประชาธิปไตย
การดำเนินการในระยะสั้นของการปฏิรูปตำรวจจึงไม่ใช่แต่เพียงลดทอนความเป็นการเมือง ในองค์กรตำรวจเท่านั้น หากยังจะต้องลดทอน “ลักษณะความเป็นทหาร” ในตำรวจด้วยเช่นกัน กล่าวคือ องค์กรตำรวจจะต้องไม่ใช่ “หน่วยอาวุธหนัก”
2. วัตถุประสงค์ในการปฏิรูประบบตำรวจ
1) เพื่อให้ตำรวจเคารพต่อหลักนิติรัฐ และดำเนินกิจกรรมของตำรวจภายใต้กรอบของกฎหมายและหลักแห่งจริยธรรม
2) ตำรวจในระบอบประชาธิปไตยจะต้องเป็นผู้ที่ทำให้เกิดความมั่นคงสาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ และขณะเดียวกันก็จะต้องเคารพต่อสิทธิมนุษยชนด้วย
3) การตรวจสอบตำรวจ จะเกิดก็ต่อเมื่อเกิดความโปร่งใส และการมีกลไกของการตรวจสอบ ซึ่งกลไกในส่วนนี้จะต้องมีทั้งกลไกภายในและการควบคุมจากภายนอก
4) กระบวนการสร้าง “ตำรวจประชาธิปไตย” เป็นกิจกรรมจากล่างขึ้นบนและเป็นกระบวนการที่ตอบสนองต่อความต้องการและความกังวลของประชาชนและชุมชน อีกทั้งเป็นกระบวนการที่ต้องการสร้างให้เกิดความเชื่อมั่น การยอมรับ และการสนับสนุนของสาธารณชน กรอบประเด็นในการปฏิรูปในแต่ละด้าน
3. กรอบประเด็นในการปฏิรูประบบตำรวจ
1) ปรับโครงสร้างตำรวจ กระจายอำนาจ ลดการซื้อตำแหน่ง เพื่อให้รับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่
- ปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจใหม่ ระบบตำรวจที่เป็นอยู่นี้เป็นการรวมศูนย์อำนาจของคน 2-3 แสนอยู่ในมือของคนเดียวๆ ถึงแม้จะมีผู้บัญชาการภาคแต่นั่นไม่ใช่การกระจายอำนาจ แต่เป็นการกระจายความรับผิดชอบ อำนาจยังอยู่ใน ผบ.ตร. ท่านเดียวเท่านั้นเอง
- กระจายอำนาจของตำรวจ ออกไปเป็นตำรวจจังหวัดทั่วประเทศ กระจายอำนาจบริหารจากส่วนกลาง คือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ไปให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาคทั้ง 9 แห่ง และอีก 1 กองบัญชาการตำรวจ|นครบาล แต่ในเรื่องนี้เวทีภาคีพัฒนาประเทศไทยเห็นว่ายังไม่เพียงพอ เพราะตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับประชาชนมากยิ่งกว่าข้าราชการหน่วยไหนๆ ต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเกี่ยวกับการคอรัปชั่นด้วย กฎหมายฉบับแรกที่ควรจะแก้คือคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ควรแก้ไขในส่วนการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้ง ที่สำคัญคือการสกรีนคนที่เข้ามาเป็นนักการเมืองให้เข้มข้นขึ้น
- ลดขนาดของหน่วยงานบริหารตำรวจลง เช่น ภาค หรือ ส่วนกลาง
- ลดการแทรกแซงทางการเมือง โดยแยกออกจากฝ่ายบริหาร ไม่ให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาเป็นประธาน โดยรวมทั้ง DSI ด้วย - ให้บทบาทความสำคัญแก่โครงสร้าง กลไกและระบบตำรวจท้องถิ่น เหมือนรูปแบบของประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา ส่วนในระยะเฉพาะหน้านั้น ควรกระจายการบริหารจัดการระบบตำรวจประจำพื้นที่ไปให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าฯ กทม.เสียจังหวะหนึ่งก่อน นอกจากนั้นต้องปรับบทบาท สตช.ให้ไปอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรม มีคณะกรรมการนโยบายตำรวจซึ่งเพิ่มการมีส่วนร่วมจากบุคคลภายนอกเป็นกลไกกำกับทิศทาง
- ปฏิรูปกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ โดยการแยกอำนาจสืบสวนสอบสวนออกจากกันอย่างชัดเจน และมีการทำงานโดยใช้นิติวิทยาศาสตร์เป็นหลักในการทำงาน โดยหลักนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย การเก็บตัวอย่างไปพิสูจน์ และให้ความสำคัญมากกว่าปากคำพยาน โดยใช้หลักการ จากหลักฐานไปสู่ผู้ต้องหา ตำรวจมีหน้าที่พิสูจน์ว่าเขาผิดจริง (แต่ในเมืองไทยกลับหลักการกลายเป็นว่า จากผู้ต้องหาไปสู่หลักฐาน และผู้ต้องหาจะต้องพิสูจน์ตนเอง จึงไม่แปลก ที่เกิดปรากฏการซ้อมทรมานผู้ต้องหาจำนวนมากเพื่อให้สารภาพในกระบวนการสืบสวนสอบสวนของไทย)
- ให้เป็นอิสระ พ้นจากอำนาจการเมือง โดยไม่ให้รับตำแหน่งอื่น รวมทั้งกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด
- ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี หลังจากพ้นตำแหน่ง 2) เพิ่มระบบตรวจสอบและการมีส่วนร่วมของสังคม
- ปฏิรูประบบการตรวจสอบภายใน คือ ตำแหน่งจเรตำรวจ ของวงการตำรวจให้มีความเข้มแข็ง คนไปเป็นจเรตำรวจต้องสามารถให้ความยุติธรรมกับประชาชนจะได้รับความยุติธรรม สามารถทำหน้าที่ได้อย่างตรงไปตรงมาได้ - ปฏิรูปวิธีการคัดเลือกคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ซึ่งปัจจุบันประกอบไปด้วยอดีตนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วซึ่งมีความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติของตำรวจชั้นผู้ใหญ่และตำรวจที่ยังอยู่ในราชการเยอะแยะมากมาย เป็นผลประโยชน์ทับซ้อนของการเป็นตำรวจที่ยังต้องรักษาไว้มูลค่ามากมายมหาศาลนับหมื่นล้านต่อปี
- จัดให้มีคณะกรรมการตำรวจที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาคและระดับสถานี
- จัดให้มีกลไกที่เป็นอิสระสำหรับพิจารณากรณีร้องทุกข์ร้องเรียนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่หรือพฤติกรรมของตำรวจ โดยผลักดันร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับตำรวจ พ.ศ…. และทบทวน แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ…ในส่วนที่เกี่ยวข้อง
3) พัฒนาระบบงานและบุคลากรในวิชาชีพสอบสวน รวมทั้งถ่ายโอนภารกิจที่มิใช่ตำรวจและเรื่องอื่นๆ
- งานสอบสวนเป็นหัวใจสำคัญ ในการรวบรวมพยานหลักฐาน จัดทำสำนวนและความเห็นทางคดี ซึ่งต้องใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญและหลักจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกับวิชาชีพสำคัญอื่นๆ จึงควรต้องพัฒนาระบบงานสอบสวนอย่างจริงจัง ทั้งในด้านการมีหน่วยงานวิชาการสอบสวนส่วนกลางทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานของประเทศ ปรับปรุงสายงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระทางวิชาชีพ ไม่ถูกแทรกแซงจากอำนาจและอิทธิพลภายนอก สร้างดุลยภาพระหว่างเจ้าหน้าที่ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน และกำหนดอัตราค่าตอบแทนบุคลากรในวิชาชีพอย่างเหมาะสม
- งานหลักของตำรวจมี 3 ประการ ได้แก่ การรักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชน การป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา และการถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์และราชวงศ์ ส่วนงานอื่นที่พอกเข้ามานอกเหนือไปจากนี้ ควรต้องถ่ายโอนกลับไปให้หน่วยงานรับผิดชอบดูแล อาทิ งานตรวจคนเข้าเมือง ตำรวจท่องเที่ยว ตำรวจป่าไม้ ตำรวจรถไฟ ตำรวจน้ำ ตำรวจทางหลวง ฯลฯ
- งานผลิตและพัฒนาบุคลากรตำรวจ ควรได้รับการปรับปรุงทั้งในด้านวิชาการ หลักสูตร เทคโนโลยีและรูปแบบองค์การบริหารจัดการที่เป็นอิสระ ไม่ควรขึ้นต่อ สตช. และควรต้องมีภารกิจที่สอดคล้องกับโครงสร้างตำรวจที่จะปรับเปลี่ยนไปในอนาคต
2.การปฏิรูปกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)
1) กำหนดคดีที่ DSI มีอำนาจสอบสวนอย่างเคร่งครัด และชัดเจน
2)ยกเลิกระเบียบประกาศคำสั่งหรือกฎหมายใดๆ ที่ให้อำนาจอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษสามารถกำหนดคดีที่กรมสอบสวนคดีคดีพิเศษมีอำนาจสอบสวนได้ด้วยตนเอง
3) การทำคดีพิเศษของ DSI ต้องทำเป็นคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในการใช้ดุลยพินิจทางคดีต่างๆ ต้องลงมติและถือเสียงข้างมากของคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเท่านั้น
3.การปฏิรูประบบอัยการ
-ให้มีความเป็นอิสระอย่างแท้จริง พ้นจากอำนาจการเมือง โดยไม่ให้รับตำแหน่งอื่นระหว่างเป็นพนักงานอัยการ รวมทั้งเป็นกรรมการหรือบอร์ดรัฐวิสาหกิจโดยเด็ดขาด
- ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง และบอร์ดรัฐวิสาหกิจ หลังจากพ้นตำแหน่งเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี
- การใช้ดุลพินิจของอัยการ ทางคดีต้องมีการตรวจสอบและถ่วงดุล โดยให้มีองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลโดยเฉพาะ
- ให้มีอำนาจควบคุมการสอบสวน และร่วมรับผิดชอบโดยตรงกับพนักงานสอบสวน โดยคุมพนักงานสอบสวน และ DSI
- กำหนดให้มีกรอบระยะเวลา ดำเนินการที่ชัดเจนในการพิจารณาสั่งฟ้อง ยื่นฟ้อง และเปิดโอกาสให้อัยการสามารถว่าจ้างทนายความแก้ต่างแทนในอรรถคดีทั่วๆ ไปได้
4.การปฏิรูประบบตุลาการ
- ต้องปฏิรูปให้ศาลเป็นอิสระกว่าเดิม มีสำนักงานธุรการเป็นของตนเอง พ้นจากกระทรวงยุติธรรม
- ศาลต้องให้การประกันตัว หรือปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาเป็นหลักสำคัญ
- ปรับปรุงระบบการพิจารณาคดีอย่างจริงจัง เช่น การจดบันทึกพยานที่เข้าเบิกความต่อศาลโดยละเอียดไม่ใช่การสรุปตามถ้อยคำของศาลแล้วบันทึก เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และให้มีความรวดเร็วและถูกต้อง เผยแพร่แนวคิดทางด้านตุลาการตีความก้าวหน้า เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างนวัตกรรมและบรรทัดฐานใหม่ๆ แก่สังคม
- ปรับปรุงแนวทางการพิสูจน์ และให้น้ำหนักของหลักฐานที่ไม่ใช่การยึดติดกับตัวเอกสารเท่านั้น เพิ่มโทษเสียค่าปรับแทนการติดคุกในคดีที่ไม่รุนแรง
- จัดทำประมวลจริยธรรมตุลาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของสังคม
- ให้ศาลอุทธรณ์เป็นศาลพิจารณา (สืบพยานด้วย)
-ให้ศาลฎีกาพิจารณา เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย
5. การปฏิรูประบบราชทัณฑ์
- เพื่อแก้ปัญหานักโทษล้นคุก โดยให้ลดบทบัญญัติกำหนดโทษอาญาเหลือเท่าที่จำเป็น
-โดยเฉพาะความผิดที่มีลักษณะต่อบุคคล มิใช่ต่อแผ่นดิน
- ลดปริมาณคดีโดยกระบวนการ เบี่ยงเบนคดี ชะลอฟ้องร้อง และการคุมประพฤติ เพิ่มโทษค่าปรับสูงสุดและกลไกการปรับสูงสุดตามดัชนีผู้บริโภค
- ปฏิรูประบบเรือนจำและราชทัณฑ์ แยกผู้ต้องขังแต่ละประเภท ยกเลิกการตีตรวน การริเริ่มรูปแบบใช้สถานที่กักกันหรือนิคมมาเป็นมาตรการเสริม
- ปรับปรุงพัฒนาระบบการลงโทษ เพื่อแก้ไขฟื้นฟูให้มีทั้งแบบที่ดูแลโดยชุมชน แบบกำกับดูแลโดยใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และแบบคุมขังในเรือนจำประกอบกันอย่างสมดุล
******************
คณะทำงานคปท.ชุดนี้ ประกอบด้วย
- นิติธร ล้ำเหลือ
- อุทัย ยอดมณี
- กิตติชัย ใสสะอาด
- สุริยันต์ ทองหนูเอียด
- อภิมะ สิทธิประเสริฐ
- จาตุรันต์ บุญเบ็ญจรัตน์