แกนนำ กปปส.มอบอำนาจทนายยื่นศาล รธน.วินิจฉัย รบ.เปิดประชุมสภาไม่ได้ใน 30 วันหลังเลือกตั้ง ถือว่าสิ้นสภาพหรือไม่ ขอให้นำ ม.7 มีนายกฯ คนกลาง ดักอย่ามอง กปปส.ฮั้วศาล ชี้ขวางเลือกตั้งเป็นเรื่องคดีอาญา พร้อมยื่นศาลแพ่งฟ้อง “จับกังเหลิม” เนรเทศ “สาธิต” ฝ่าฝืนคำสั่งศาลแพ่ง ยันไม่เข้าข่าย ขอให้ระงับคำสั่ง
วันนี้ (7 มี.ค.) นายชัยยุทธ์ ชาญณรงค์ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ศาลวินิจฉัยกรณีที่รัฐบาลไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ภายใน 30 วัน หลังจากมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 ที่ระบุไว้ว่าจะต้องเปิดสภาหลังจากการเลือกตั้งภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง เพื่อให้เปิดสภาเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ปรากฏว่ารัฐบาลรักษาการยังไม่สามารถเปิดสภาได้ และไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ จะถือว่าสิ้นสภาพลงหรือไม่ อีกทั้งมาตรา 181 คือ รัฐบาลมีสภาพในการดำเนินงานในขอบเขตที่จำกัดตามเงื่อนของกฎหมาย ดังนั้นจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้เพื่อเปิดช่องให้นำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญมาใช้โดยมีนายกฯคนกลาง
เมื่อถามว่า คำร้องที่ยื่นอาจทำให้ศาลรัฐธรรมนูญถูกมองว่าร่วมมือกับ กปปส.ล้มล้างรัฐบาลหรือไม่ นายชัยยุทธ์กล่าวว่า อย่าไปมองเช่นนั้น ขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยออกมาอย่างไร เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาภายใต้ข้อกฎหมายที่มีอยู่
เมื่อถามต่อว่า ศาลอาจโต้แย้งว่าที่รัฐบาลยังคงต้องรักษาการอยู่เพราะการเลือกตั้งไม่แล้วเสร็จมีการชุมนุมขัดขวางการเลือกตั้งของกลุ่ม กปปส. นายชัยยุทธ์กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า การชุมนุมของ กปปส.เป็นการชุมนุมโดยสงบ ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนเรื่องมีคนไปขัดขวางการเลือกตั้งเป็นเรื่องของคดีอาญาที่สามารถไปดำเนินคดีต่อผู้ที่กระทำผิดได้โดยตรง
ขณะที่นายวันธงชัย ชำนาญกิจ ทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก นายถาวร แกนนำกลุ่ม กปปส.เดินทางมายังศาลแพ่ง รัชดาฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบ หรือ ศรส. เป็นจำเลย จากกรณีลงนามในคำสั่งเนรเทศนายสาธิต เซกัล นายกสมาคมนักธุรกิจอินเดีย-ไทย ให้ออกนอกประเทศ ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลแพ่งที่ห้าม ศรส.ใช้ประกาศบางข้อของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินนำมาบังคับใช้กับผู้ชุมนุม
โดย ศรส. อาศัยตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 11 (8) ที่ให้อำนาจออกประกาศให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งการให้คนต่างด้าวออกไปนอกราชอาณาจักร ในกรณีที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนการกระทำให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย แต่กรณีนายสาธิตยังไม่เข้าเข้าข่ายขัดมาตราดังกล่าว เนื่องจากนายสาธิตขึ้นปราศรัยเป็นบางครั้ง และไม่มีเนื้อหาการยุยงหรือปลุกปั่นให้เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงยังไม่มีเหตุอันควรในการสั่งเนรเทศ โดยขอให้ศาลพิจารณาระงับคำสั่งของ ร.ต.อ.เฉลิม ขณะนี้ศาลอยู่ระหว่างพิจารณาคำร้อง