xs
xsm
sm
md
lg

อัยการยื่นฟัน “ปู” กราวรูด ชักดาบจำนำข้าว แบมือรับคำร้องชาวนาทั่วประเทศ 1 เม.ย.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อัยการยื่นฟ้องศาล ปค.สั่งรัฐจ่ายหนี้จำนำข้าวช่วยชาวนาชุดแรก 22 ราย วงเงิน 2 .7 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ชี้นายกฯกับพวก 7 ราย ผิดสัญญาทางปกครอง จ่อยื่นซ้ำอีกล็อต 7 มี.ค.เผยหลัง 1 เม.ย.ให้ สคช.ภูมิภาครับคำร้องชาวนาทั่วประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกไม่ต้องมายื่นส่วนกลาง ระบุอัยการเป็นทนายแก้ต่างให้ชาวนาไม่ขัดหน้าที่ดูแลประโยชน์รัฐ ชี้กรณีนี้ไม่ใช่ชาวนาโกงรัฐ



วันนี้ (5 มี.ค.) นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม เลขานุการรองอัยการสูงสุด ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนางลดาวัลย์ เนียมประยูร กับพวกรวม 22 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรทำนาใน จ.กาญจนบุรี ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล และที่ได้รับใบประทวนสินค้าโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ยื่นฟ้อง นายกรัฐมนตรี, คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.), กระทรวงพาณิชย์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธ.ก.ส.), องค์การคลังสินค้า (อคส.), องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) และ กระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-7 ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องทั้ง 7 ราย ร่วมกันชำระเงินตามสัญญาจำนำข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกตามมูลค่าเสียหายตั้ง 19,632- 342,704.36 บาท รวมมูลค่าทั้งสิ้น 2,738,992.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

ทั้งนี้ ตามฟ้องระบุว่า การที่นายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องที่ 1 กำหนดนโยบาย ออกคำสั่งแต่งตั้ง กขช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 โดยมีผู้ถูกฟ้องที่ 1 เป็นประธาน กขช.ต่อมา กขช.ผู้ถูกฟ้องที่ 2 อนุมัติแผนงานโครงการรับจำนำข้าวเปลือกจากชาวนาในราคาที่สูงเกินกว่าราคาตลาด และให้ อคส.ผู้ถูกฟ้องที่ 5 กับ อ.ต.ก.ผู้ถูกฟ้องที่ 6 จัดหาโรงสี ที่มีสถานที่เก็บข้าวเปลือกเข้าร่วมโครงการ และให้ชาวนานำข้าวเปลือกที่ฝากไว้กับโรงสี ไปจำนำกับ ธ.ก.ส.ผู้ถูกฟ้องที่ 4 โดยมีกระทรวงการคลัง ผู้ถูกฟ้องที่ 7 ให้การสนับสนุนเงินทุนหรือค้ำประกันการหาเงินทุนมาซื้อข้าวเปลือก และให้กระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 จำหน่ายข้าวเปลือกในต่างประเทศ ทำให้การซื้อขายไม่เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ต้องเร่งหาเงินงบประมาณ มารับซื้อข้าวทุกเมล็ดจากเกษตรกรทั่วภูมิภาค

ขณะเดียวกัน การจำหน่ายข้าวที่รับจำนำก็ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสัมฤทธิ์ผล มีปริมาณข้าวตกค้างในโกดังโรงสีข้าวของเอกชนจำนวนมาก เกิดความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายต่างๆ เพิ่มมากขึ้น ทั้งค่าเช่าโกดัง ค่ารมยาฆ่าแมลงและอื่นๆ แม้ในเบื้องต้นเกษตรกรที่นำข้าวเปลือกมาเข้าโครงการได้ทุกเมล็ดราคาสูง แต่ภายหลังจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ และระบบการค้า การแข่งขัน ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ เพราะรัฐบาลโดยผู้ถูกฟ้องที่ 1-2 ดำเนินการผูกขาดการค้าข้าว หรือรับซื้อข้าวในราคาที่เกินกว่าความเป็นจริง และการกระทำของผู้ถูกฟ้องทั้งเจ็ด ที่รับจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดโดยไม่จำกัดจำนวน ประกอบกับการควบคุมดูแลไม่รอบคอบ และรัดกุม ทำให้เกิดความเสียหาย ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ผู้ถูกฟ้องที่ 3 ไม่สามารถระบายหรือจำหน่ายข้าวไปยังต่างประเทศได้ตามราคาและเป้าหมายที่กำหนดไว้ จึงเป็นเหตุให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 รายไม่สามารถเบิกเงินจำนำข้าวตามจำนวนและราคาในใบรับสินค้า หรือใบประทวนสินค้าจาก ธ.ก.ส.ได้จึงต้องนำคดีมาฟ้องดังกล่าว

ด้าน นายปรเมศวร์ อัยการ กล่าวว่า ขณะนี้มีชาวนาที่ได้นำเอกสารใบประทวน และเอกสารแสดงตน มายื่นให้อัยการช่วยดำเนินการยื่นฟ้องคดีปะมาณ 500-600 ราย แล้วที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการตรวจสอบเอกสารของคนแต่ละคนให้ครบถ้วนเพื่อจะยื่นฟ้องคดี แต่เอกสารมีจำนวนมากที่ต้องตรวจสอบดังนั้นวันนี้จึงยื่นฟ้องคดีได้ชุดแรกก่อนจำนวน 22 รายที่เป็นเกษตรกร จ.กาญจนบุรี โดยเราเรียกค่าเสียหายตามมูลค่าใบประทวนที่มีมาแสดง พร้อมให้มีการชำระดอกเบี้ยตามกฎหมาย ซึ่งอัยการได้พิจารณาลักษณะเรื่องแล้วเห็นว่าเข้าลักษณะสัญญาทางปกครอง จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ไม่ใช่ศาลแพ่งที่เป็นศาลยุติธรรม ทั้งนี้อัยการจะตรวจสอบเอกสารที่เหลือและทยอยยื่นฟ้องให้ชาวนาไปต่อเนื่อง ซึ่งวันศุกร์ที่ 7 มี.ค.นี้ จะยื่นฟ้องชุดที่ 2 อีกประมาณ 20 รายที่เป็นเกษตรกรพื้นที่ จ.ชัยนาท สิงห์บุรี เป็นต้น มูลค่าความเสียหายกว่า 2 ล้านบาทเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ นายปรเมศวร์ กล่าวย้ำด้วยว่า การที่อัยการมารับช่วยเหลือชาวนาในการยื่นฟ้อง จะไม่เป็นเรื่องที่ขัดกัน ต้องทำหน้าที่ว่าความแก้ต่างให้หน่วยงานรัฐ เพราะการปฏิบัติหน้าที่อัยการตั้งปณิธานดำเนินการอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.การดูแลคดีตามกฎหมาย 2.การดูแลผลประโยชน์ของรัฐ 3.การคุ้มครองสิทธิประชาชน เมื่อกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องที่ชาวนาไปโกงรัฐ แต่เป็นเรื่องการผิดสัญญาที่ต้องมีการเยียวยา ดังนั้นเราต้องดูแลคุ้มครองสิทธิประชาชน ขณะที่หากฟ้องคดีแล้วถ้าหน่วยงานของรัฐจะให้อัยการมาช่วยว่าความก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะการทำหน้าที่ของอัยการจะเป็นเหมือนตัวกลางเสียอีก ที่จะทำให้หน่วยงานรัฐมาเจรจาไกล่เกลี่ยกับชาวนาเพื่อจะจ่ายให้ครบตามจำนวน

อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวนาที่อยู่ต่างจังหวัดหากประสงค์จะยื่นฟ้องคดี ขณะนี้สามารถที่จะยื่นเอกสารส่งให้อัยการส่วนกลางได้ โดยหลังจากนี้ วันที่ 1 เม.ย.เมื่ออัยการมีการแจ้งนโยบายอย่างเป็นทางการให้กับสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) ของอัยการในการรับเรื่องช่วยเหลือชาวบ้านที่แม้จะว่าเป็นเรื่องที่มีข้อพิพาทกับรัฐไว้ก่อนเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนแล้ว ชาวนาในต่างจังหวัดจะไม่ต้องเดือดร้อนยุ่งยากในการเดินทางมาส่วนกลาง แต่สามารถยื่นเอกสารให้ สคช.ภูมิภาค เพื่อรวบรวมไว้แล้วส่งให้ส่วนกลางพิจารณาช่วยเหลือฟ้องคดีสำหรับโครงการรับจำนำข้าวต่อไป ซึ่งอัยการพร้อมให้ความช่วยเหลือชาวนาและคุ้มครองสิทธิประชาชนทุกราย







กำลังโหลดความคิดเห็น