xs
xsm
sm
md
lg

30 มี.ค.เลือกตั้ง ส.ว.!! กกต.ชงรัฐออก พ.ร.ฎ.โหวต 8 จว.ไร้ผู้สมัคร สั่งจัดลงคะแนน 7 จว.ถูกขวาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (แฟ้มภาพ)
“สมชัย” เผยถกเครียด 6 ชั่วโมง สรุปมติเอกฉันท์สั่งลงคะแนนใหม่เขตที่พร้อม แย้มมี 7 จว.จัดได้ ประเมินอีกครั้ง 11 ก.พ. พร้อมมติจัดลงคะแนนโหวตล่วงหน้าเรียก ปธ.กต.จว.คุย 12 ก.พ. ชู 2 ล้านเสียงเหนือกว่า กม. เชื่อแจงศาลได้ ชงรัฐออก พ.ร.ฎ.ใหม่ให้เลือกตั้ง 8 จว.ไร้ผู้สมัคร และให้นำคะแนนที่ลงไปแล้วในหน่วยที่ถูกปิดมารวมกับคะแนนใหม่ ด้าน “ภุชงค์” เผยเลือกตั้ง ส.ว. 30 มี.ค.นี้



วันนี้ (7 ก.พ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง แถลงว่า ในวันนี้ กกต.คุยกันหน้าดำคร่ำเครียดเป็นเวลา 6 ชั่วโมง เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการจัดการเลือกตั้งไม่สมบูรณ์โดยมีมติเอกฉันท์ ใน 4 เรื่อง คือ 1. การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.มีหน่วยเลือกตั้ง 10,284 หน่วยใน 18 จังหวัด ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้เพราะมีการขัดขวางการจัดการเลือกตั้ง อีกทั้งกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ไม่สามารถหาได้ครบและขาดอุปกรณ์จัดการเลือกตั้ง ทำให้หน่วยเลือกตั้งไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ กรณีนี้ กกต.จะดำเนินการตามมาตรา 78 สั่งให้มีการลงคะแนนใหม่ในเขตที่มีความพร้อม ซึ่งขณะนี้มี 7 จังหวัด 671 หน่วยซึ่งอยู่ในข่ายที่มีความพร้อม คือ ระยอง 27 หน่วย ยะลา 46 หน่วย ปัตตานี 1 หน่วย นราธิวาส 1 หน่วย เพชรบุรี 74 หน่วย ประจวบคีรีขันธ์ 222 หน่วย และสตูล 300 หน่วย

“กรณี 5 จังหวัดแรกมั่นใจสูงว่าจะจัดการลงคะแนนใหม่ได้ ส่วนอีก 2 จังหวัดหลัง คือ ประจวบคีรีขันธ์ และสตูล ยังก้ำกึ่ง เนื่องจากมีหน่วยเลือกตั้งมาก อาจมีปัญหารุนแรงเกิดขึ้นได้ และอาจทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ทั้งนี้จะให้ กกต.จังหวัดประเมินอีกครั้งในวันอังคารที่ 11 ก.พ.ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหรือน้อยกว่า 7 จังหวัดก็ได้” นายสมชัยกล่าว

นายสมชัยกล่าวต่อว่า ทั้ง 7 จังหวัด กกต.ได้ดูสถานการณ์แล้วคิดว่าน่าจะสงบเรียบร้อยเป็นเหตุให้จัดการลงคะแนนใหม่ได้ แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจในวันอังคารที่ 11 ก.พ.นี้ กกต.จะเชิญ ประธาน กกต.จังหวัด และ กกต.จว.7 จังหวัดมาประชุมปรึกษาหารือกัน รวมทั้งเชิญประธาน กกต.จังหวัด และกกต.จว.จังหวัดอื่นในภาคใต้มาประชุมร่วมกัน หากประเมินแล้วจังหวัดต่างๆ พร้อมจัดการเลือกตั้ง กกต.จะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว โดยจังหวัดไหนจัดได้ก็จะจัดพร้อมกัน

ส่วนกรณีการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดเมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่เสียไปจำนวน 83 เขตนั้น กกต.มีมติให้จัดการลงคะแนนใหม่ แต่จะต้องปรึกษาหารือเจ้าของพื้นที่ คือ ประธาน กกต.จังหวัดและ กกต.จังหวัด ในเขตเลือกตั้งที่มีปัญหาโดยจะเชิญมาพูดคุยในช่วงบ่ายวันพุธที่ 12 ก.พ. ว่าพื้นที่เลือกตั้งกลางจังหวัดใดมีความพร้อมในการลงคะแนนก็จะจัดโดยเร็วต่อไป

“มีการถกเถียงกันมากว่าถ้าหากจัดการลงคะแนนล่วงหน้าหลังวันที่ 2 ก.พ. จะไม่ถือเป็นการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า อีกทั้งกฎหมายก็เขียนว่าบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าต้องส่งมาถึงเขตเลือกตั้งเพื่อทำการนับก่อนบัตรลงคะแนนเลืออกตั้งวันที่ 2 ก.พ. ฉะนั้น การกำหนดวันทดแทนวันลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าของ กกต.จะขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ แต่ กกต.เห็นว่าประเด็นสิทธิของประชาชนจำนวน 2 ล้านคนที่ลงทะเบียนสำคัญกว่าเพราะเป็นสิทธิที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ในขณะที่กระบวนการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่ต้องส่งมาถึงเขตเป็นระดับกฎหมาย และระเบียบซึ่งต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ โดย กกต.ไม่ต้องการให้ 2 ล้านเสียงหายไปเราจึงรักษาเจตนารมณ์ของกฎหมายใหญ่คือรัฐธรรมนูญไว้ ส่วนจะขัดกับระเบียบ หรือไปผิดกฎหมายย่อยบางอย่างเป็นประเด็นที่เชื่อว่าจะสามารถชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้หากมีการร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะจากประเด็นข้อกฎหมายนี้”

นายสมชัยกล่าวต่อว่า 3. กรณี 28 เขตใน 8 จังหวัดภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัครแม้แต่รายเดียว กกต.เห็นว่า การจะเลือกตั้งต้องออกเป็นพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะได้มีหนังสือไปถึงรัฐบาล เพื่อสอบถามเจตนารมณ์ว่าตรงกันหรืออไม่ และขอให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่ง กกต.ยังไม่ได้คิดไกลไปถึงว่าหากรัฐบาลเห็นต่างแล้วจะต้องยื่นต่อรัฐธรรมนูญ และ 4.ประเด็นผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค.และ 2 ก.พ.กรณีใช้สิทธิไปแล้ว แต่หลังจากนั้นหน่วยเลือกตั้งได้ประกาศปิดหรืองดลงคะแนน มีคำถามว่าคะแนนดังกล่าว กกต.จะนำมานับหรือไม่ กกต.มีมติให้นำคะแนนดังกล่าวมานับรวมกับการลงคะแนนที่จะจัดขึ้นใหม่ ดังนั้นผู้ใช้สิทธิไปแล้วไม่ต้องมาเลือกตั้งใหม่อีก

นายสมชัยกล่าวต่อว่า ภายหลังวันที่ 11-12 ก.พ. ซึ่งประชุมผู้เกี่ยวข้องแล้ว กกต.จะพิจารณาว่าควรจะกำหนดวันลงคะแนนทดแทนการเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค. และวันที่ 2 ก.พ.เป็นวันใด สำหรับบัตรเลือกตั้งนั้นต้องจัดพิมพ์ใหม่ สีใหม่ สำหรับโรงพิมพ์ที่จะจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งขอเป็นความลับ

ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่ กกต.จะส่งไปถึงรัฐบาลว่า ใน 28 เขตนั้นต้องออกเป็น พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ตอนนี้อยู่ระหว่างการยกร่าง คาดว่าจะมีการนำเสนอให้ กกต.พิจารณาอีกครั้ง

นายภุชงค์กล่าวต่อว่า ตามที่สมาชิกวุฒิภา (ส.ว.) ชุดเดิมจะครบวาระในวันที่ 2 มีนาคมนั้น ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการจัดการเลือกตั้งภายใน 30 วัน โดยขณะนี้ กกต.ได้มีมติให้กำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในวันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม และกำหนดให้มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ 23 มีนาคม กำหนดเปิดการรับสมัครระหว่างวันที่ 4-8 มีนาคม ซึ่งกระบวนการอยู่ระหว่างที่สำนักบริหารงานเลือกตั้งยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เพื่อให้ กกต.เห็นชอบ ซึ่งคาดว่าจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ได้ในวันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น