รองโฆษก ทบ.เผย ผบ.ทบ.จัดกำลัง 5 พันนาย สนับสนุนภารกิจ ศรส.แจงทหารไม่มีอำนาจพิเศษ การใช้กฎหมายเป็นหน้าที่ตำรวจ แต่เรียกร้องให้ทำคดีโปร่งใส เที่ยงธรรม ฝาก กปปส.ควบคุมกันเอง ไม่ปลุกระดม สื่อไม่ขยายความเกลียดชัง เผยจะออกมาเมื่อเกิดจลาจล หรือมีกองกำลังต่างชาติ เชื่อปัญหายุติด้วยกระบวนการยุติธรรม
วันนี้ (29 ม.ค.) พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ให้ชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชนว่า การปฏิบัติงานในปัจจุบัน ทหารปฏิบัติหน้าที่ในหลายมิติ แต่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมายทั้งสิ้น โดยได้จัดกำลังกว่า 5,000 นาย สนับสนุน ศรส.ในภารกิจต่างๆ เช่น ด่านตรวจ จุดตรวจ, จัดกำลังเข้า รปภ.สถานที่สำคัญต่างๆ, สายตรวจ (ส.ห.) โดยรอบพื้นที่ชุมนุม และพื้นที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 4.จัดชุดปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนกรณีเกิดเหตุรุนแรง และ 5.เตรียมแผนและกำลังเพื่อเผชิญเหตุกรณีต่างๆ ตามแผนเผชิญเหตุ
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น มีแต่จะสร้างความเกลียดชังต่อกัน สร้างความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน เกิดความหวาดระแวง ระหว่างทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนแต่ละฝ่าย ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงใดๆ เจ้าหน้าที่ต้องใช้กฎหมายเข้าดำเนินการ ไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ก็ต้องใช้กฎหมาย ประชาชนทุกฝ่ายต้องช่วยกันเร่งรัดให้ข้อมูล ช่วยกันติดตาม ร่วมกันขับเคลื่อนให้กลไกหลักดำเนินการ สำหรับในกระบวนการของการทำคดี โดยเฉพาะเรื่องการสืบสวนสอบสวนหรือจุดเริ่มต้นของกระบวนการยุติธรรม กฎหมายได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของตำรวจ ทหารคงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยว หากไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติงานแล้วจะให้ใครทำ
รองโฆษก ทบ.กล่าวว่า การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ทหารปัจจุบัน คือ การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือน การป้องปราม การเข้าคลี่คลายสถานการณ์ ซึ่งบางครั้งก็อาจเป็นไปได้อย่างจำกัด การร่วมพิสูจน์ทราบพื้นที่เกิดเหตุร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ การสนับสนุนให้เกิดการดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย โดยเฉพาะในกรณีที่ความคืบหน้าของคดี บางครั้งอาจช้าไป หรือยังไม่ได้ดำเนินการ ก็จะช่วยเร่งรัดให้ ทางกองทัพไม่อยากให้มีการกดดัน ผบ.ทบ.ซึ่งปัจจุบันก็อยู่ในสถานะเดียวกับ ผบ.ตร.และ ผบ.ท่านอื่นๆ ผบ.ตร.มีอำนาจตามกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุม รับผิดชอบการปฏิบัติทุกอย่าง
อย่างไรก็ตาม กรณีเกิดเหตุการณ์ความรุนแรง ผู้ที่ต้องรับผิดชอบมีหลายฝ่าย ตั้งแต่รัฐบาลลงไป ซึ่งจะต้องแสดงความคืบหน้าการดำเนินการต่อแต่ละเหตุการณ์อย่างโปร่งใส เที่ยงตรง และเที่ยงธรรม กปปส.หรือกลุ่มผู้ชุมนุม จะต้องควบคุมกันเองให้ได้ ไม่ละเมิดกฎหมาย หรือปลุกระดมสร้างความรุนแรง เจ้าหน้าที่ทุกส่วน ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพตามอำนาจและหน้าที่ของตนภายใต้กฎหมาย สื่อมวลชนก็ต้องระมัดระวัง ไม่ขยายความเกลียดชัง หรือสร้างเงื่อนไขให้เพิ่มขึ้น
“ขอให้ประชาชนได้เข้าใจว่า ทหารไม่มีอำนาจพิเศษ ภายใต้กฎหมายในปัจจุบัน ขออย่าได้มาตำหนิติเตียนทหารให้มากนัก ทหารยังคงต้องปฏิบัติงานชายแดน งานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ส่วนกำลังที่ว่างเว้นจากภารกิจดังกล่าวยังคงต้องมีการฝึกหรือเตรียมการเรื่องต่างๆ รวมทั้งงานปกติประจำ ณ ที่ตั้งหน่วย ก็มาทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย รวมทั้งยังต้องจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัยสนับสนุนการเลือกตั้ง” พ.อ.วินธัย กล่าว
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ห่วงใยและคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนทุกพวกทุกฝ่ายอย่างมีสติ และใช้ปัญญาช่วยแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงความมั่นคงของสถาบัน หรือองค์กรหลักของชาติต่างๆ สถาบันทหาร ตำรวจ รวมทั้งความเป็นอยู่ ความปลอดภัยของผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัวด้วย สถานการณ์ที่คนไทยกำลังขัดแย้งกัน กำลังต่อสู้กัน ขอให้คิดดูว่าอยู่ในความรับผิดชอบของใคร หรือของคนไทยทุกคนต้องช่วยกัน สำหรับทหารนั้น ถูกออกแบบไว้ต่อสู้กับอริราชศัตรูจากนอกประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อใดเกิดการจลาจลขึ้นในประเทศ หรือมีกองกำลังต่างชาติเข้ามา ทหารจึงจะมีอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญอย่างถูกต้องและสมบูรณ์ ทหารจะไม่ทำตามคำพูดหรือคำปลุกปั่นยุยงของใครก็ตามที่จะให้ทหารทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง
“ผบ.ทบ.ได้แต่หวังว่าคงไม่มีสถานการณ์ที่รุนแรง จนทุกพวกทุกฝ่ายถอยกันไม่ได้ ประเทศชาติก็ย่อยยับ ทุกคนจะต้องเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม ยังมีคนดีๆ อีกมากมาย อย่าไปคิดว่าเชื่อมั่นอะไรไม่ได้อีกเลย เพราะจะเป็นอันตรายต่อประเทศต่อไปในระยะยาว ทุกพวก ทุกฝ่าย ส่วนหนึ่งจะต้องพยายามแก้ไขปัญหากันเองให้ได้ และขอให้เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะยุติลงได้ ด้วยกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น และทุกฝ่ายก็คงต้องยอมรับ ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมายได้ในที่สุด” พ.อ.วินธัย กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ทางรัฐบาลจะขอใช้พื้นที่ในหน่วยทหารเป็นสถานที่จัดการเลือกตั้ง พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีหนังสือร้องขอมายังกองทัพบก แต่ในหลักการ เรายึดแนวทางเดิมว่า การจัดการเลือกตั้งไม่น่าจะเหมาะที่จะใช้หน่วยทหาร คิดว่ากิจกรรมการเลือกตั้งเป็นกิจกรรมสาธารณะที่ไม่น่าใช้ลักษณะพื้นที่ปิด โดยทางกองทัพไม่มีนโยบายที่จะให้ใช้สถานที่หน่วยทหารเป็นสถานที่เลือกตั้งแต่อย่างใด ส่วนการรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งนั้น ทางทหารคงอยู่จะดูแลความสงบเรียบอยู่ภายนอก คงไม่ได้อยู่ภายในหน่วยเลือกตั้ง ส่วนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดูแลความสงบเรียบร้อยในพื้นที่วงใน