xs
xsm
sm
md
lg

ออกข้อกำหนดติดหนวดฉุกเฉิน “ปู” ตัดสินใจ-“อดุลย์” ออกคำสั่งห้ามชุมนุมเว้นหาเสียง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. (ภาพจากแฟ้ม)
ครม.นัดพิเศษถก กม.ฉุกเฉิน เพิ่มข้อกำหนด มาตรา 7 โอนอำนาจหน้าที่ รมต.ให้นายกฯ ตัดสินใจ ขณะที่มาตรา 9 ให้ ผบ.ตร.กำหนดพื้นที่ควบคุมการชุมนุม อีกด้านออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเว้นหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว-ทำให้เข้าใจผิด ห้ามใช้ถนน ใช้อาคาร และให้อพยพประชาชนตามที่ หน.ผู้รับผิดชอบกำหนด

วันนี้ (23 ม.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพอากาศ (บก.ทอ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาข้อกำหนดเพิ่มเติมในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุม อาทิ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศรส.นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา และ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมการประชุม

ต่อมาเวลา 14.30 น.ภายหลังการประชุม ครม. พล.ท.ภราดร เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้เพิ่มข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี เฉพาะ อ.ลาดหลุมแล้ว และ จ.สมทุรปราการ เฉพาะ อ.บางพลี เมื่อวันที่ 21 ม.ค.โดยมาตรา 7 วรรค 2 และวรรค 6 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดย ครม.มีมติให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี เฉพาะในสิ่งที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชา หรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือฟื้นฟู หรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ทีมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือร้ายแรง

พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เพิ่มเติมข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุร้ายแรงมากขึ้น อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคล เพื่อกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในการห้ามการชุมนุมทั้งในเรื่องของสถานที่ อาคาร การเสนอข่าวที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว บิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เส้นทางคมนาคม ทั้งนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร.ในการกำหนดรายละเอียด

ด้าน นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าการโอนอำนาจหน้าที่รัฐมนตรีให้กับนายกฯ ในการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อง่ายต่อขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ และเป็นการยืนยันว่าหากเกิดอะไรขึ้นนายกฯ ไม่หนีความรับผิดชอบ ขณะเดียวกันนายกฯ ได้ย้ำการปฏิบัติว่าอย่าใช้ความรุนแรง และห้ามใช้อำนาจเกินขอบเขต พยายามไม่สลายการชุมนุม แต่ถ้าไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานการณ์ความรุนแรงได้ นายกฯได้สั่งให้ใช้ดุลยพินิจให้รอบครอบที่สุด ส่วนบทบาททหารกับรัฐบาลขณะนี้ชัดเจน เพราะเท่าที่นายกฯ หารือกับผู้นำหล่าทัพได้รับความร่วมมืออย่างดีพร้อมสนับสนุนรัฐบาล

วันเดียวกัน เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ตีพิมพ์ ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แระกาศตามมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อําเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอําเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2557 แล้ว นั้น

เพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินให้ยุติได้โดยเร็ว และป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงมากขึ้น อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 9 และมาตรา 11 วรรคสอง แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด ดังต่อไปนี้

ข้อ 1.ห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมกัน ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป หรือกระทำการใดอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทั้งนี้ ภายในเขตพื้นที่ที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดเว้นแต่เป็นการชุมนุมตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งหรือการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

ข้อ 2.ห้ามการเสนอข่าว การจำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร

ข้อ 3.ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ หรือกำหนดเงื่อนไขในการใช้เส้นทางคมนาคม หรือการใช้ยานพาหนะ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ข้อ 4.ห้ามใช้อาคาร หรือเข้าไป หรืออยู่ในสถานที่ใดๆ หรือห้ามเข้าไปในพื้นที่ใดๆ ทั้งนี้ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ข้อ 5.ให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่ที่กำหนดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน หรือห้ามผู้ใดเข้าไปในพื้นที่ ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด

ข้อ 6.ในการดำเนินการตามข้อ 1 ถึงข้อ 5 หัวหน้าผู้รับผิดชอบจะกำหนดเงื่อนเวลาในการปฏิบัติตามข้อกำหนด หรือเงื่อนไขในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามที่เห็นสมควรเพื่อมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุก็ได้

ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2557 ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

อนึ่ง พล.ท.ภราดร กล่าวอีกครั้งหนึ่งว่า การที่รัฐบาลไม่มีการแถลงอย่างเป็นทางการถึงข้อกำหนดเพิ่มใน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หลัง ครม.มีมติเห็นชอบ เนื่องจากมาตรา 9 ต้องรอให้ ผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการกำหนดรายละเอียดเป้าหมายที่ชัดเจน ในการจำกัดสิทธิบางประการในบางพื้นที่การชุมนุมเพื่อความสงบเรียบร้อย ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาอีก 1-2 วัน จึงจะประกาศอย่างเป็นทางการได้ ในขณะที่มาตรา 7 อำนาจหน้าที่นายกฯมีการกำหนดไว้ในระเบียบแล้ว ส่วนสถานที่ที่จะใช้เป็นที่บัญชาการ ศรส.ทางผบ.ตร.กำลังดำเนินการจัดหาสถานที่อยู่

นอกจากนี้ ยังมีประกาศ เรื่องการกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ลงวันที่ 21 ม.ค. พ.ศ.2557 แล้วนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 วรรคสอง และวรรคหก แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้บรรดาอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงตามกฎหมายโอนมาเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชาหรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟูหรือช่วยเหลือประชาชนในเขตท้องที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงดังนี้

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ.2530 พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 พระราชบัญญัตว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 พระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2542 พระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 พระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456

พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 พระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคมประมวลกฎหมายอาญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเฉพาะบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจสืบสวนและสอบสวนและการใช้อำนาจของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ

ทั้งนี้ให้รวมถึงกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วย ให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงที่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา7 วรรคหก แห่ง พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ใช้อำนาจตามประกาศนี้แทนนายกรัฐมนตรี และในการใช้อำนาจตามที่ได้รับมอบนี้ ผู้รับมอบต้องใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยระมัดระวังมิให้มีการปฏิบัติที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุในกรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติมให้ผู้กำกับการปฏิบัติงานตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

และประกาศเรื่องให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรสิ้นสุด

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติ เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2556 และวันที่ 18 ต.ค.2556 เห็นชอบให้ประกาศให้เขตพื้นที่เขตดุสิต เฉพาะแขวงดุสิต และแขวงจิตรลดา เขตพระนคร เฉพาะแขวงพระบรมมหาราชวัง แขวงตลาดยอด แขวงบวรนิเวศ แขวงบ้านพานถม และแขวงบางขุนพรหม และเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เฉพาะแขวงวัดโสมนัส กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรระหว่างวันที่ 9 ต.ค.2556 - 30 พ.ย.2556 โดยต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 25 พ.ย.2556 และวันที่ 25 ธ.ค.2556 ให้ประกาศพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรต่อไปจนถึงวันที่ 1 มี.ค.2557 โดยให้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมประกาศให้เขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร จ.นนทบุรี อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี และอ.บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เป็นพื้นที่ปรากฏเหตุการณ์อันกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักรและมอบหมายให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการนั้น

ทั้งนี้ ต่อมานายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงให้เขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี และ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ระหว่างวันที่ 22 ม.ค.-22 มี.ค.2557 โดยมอบให้ศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) รับผิดชอบ ซึ่งรายละเอียดการปฏิบัติในด้านกฎหมายและอำนาจหน้าที่รวมทั้งพื้นที่ ได้ครอบคลุมการใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 แล้ว จึงหมดความจำเป็นที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร โดยศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยในการรับผิดชอบพื้นที่นั้นต่อไป

ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 15 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งมาตรา 29 และมาตรา 31 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนายกรัฐมนตรีจึงออกประกาศให้อำนาจหน้าที่ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการ ในเขตพื้นที่ที่ได้มีการประกาศข้างต้นระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2556 -1 มี.ค.2557 และบรรดาประกาศข้อกำหนดที่นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยประกาศและออกตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ให้เป็นอันสิ้นสุดลง


ออกข้อกำหนดติดหนวดฉุกเฉิน  "ปู-อดุลย์"รวบอำนาจ ทอ.ไม่ให้"เหลิม"ตั้งวอร์รูม
ออกข้อกำหนดติดหนวดฉุกเฉิน "ปู-อดุลย์"รวบอำนาจ ทอ.ไม่ให้"เหลิม"ตั้งวอร์รูม
ครม.นัดพิเศษถก กม.ฉุกเฉิน รวมอำนาจหน้าที่รมต.ให้ นายกฯปู ตัดสินใจ ขณะที่ ผบ.ตร. เป็นผู้กำหนดพื้นที่ควบคุมการชุมนุม พร้อมออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมเว้นหาเสียงเลือกตั้ง ห้ามเสนอข่าวให้หวาดกลัว-ทำให้เข้าใจผิด ห้ามใช้ถนน ใช้อาคาร และให้อพยพประชาชนตามที่ หน.ผู้รับผิดชอบกำหนด เหลิมด่ากราดม็อบ กปปส. เช้าปิดถนน-เย็นปฏิรูป เตือนเทือกให้ฟังคำสนธิระวังถูกฆ่า ขู่ให้ปปง.เช็กบิลท่อน้ำเลี้ยงม็อบ ประจินหักหน้าเหลิม ไม่ให้ ศรส.ใช้พื้นที่ทอ.เป็นศูนย์บัญชาการ ด้านประยุทธ์เมินจับมือเหลิม ส่อแววแตกหัก สุเทพ สั่งกปปท.ทั่วประเทศขวางการเลือกตั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น