กปปส.ปิดหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าหมดทั้ง 50 หน่วยใน 33เขต กทม. ไปใช้สิทธิได้แค่ 1.3หมื่น จา ก9 แสน "ปึ้ง"จวก กกต. เจตนาให้เลือกตั้งวุ่นวาย ลั่นแจ้งจับฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แย้มไม่เลื่อนเลือกตั้ง หวั่นตกหลุมพราง ชี้ ศาลรัฐธรรมนูญแค่ให้คำแนะนำ ขู่ดาราศิลปินขึ้นเวทีปราศรัย เจอใบสั่งส่งตรงถึงบ้าน "สมชัย" อัดกลับ ท้า “ปึ้ง-ผบ.ตร.-ปลัดกห.” ลงตรวจพื้นที่ร่วมตรวจสอบ เหน็บ ศรส. ยังต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไม่มีที่ทำงานเป็นหลักแหล่ง ยังมีหน้ามาถามกกต.ทำอะไรอยู่ "ยิ่งลักษณ์" ตั้งเพิ่ม 4 ที่ปรึกษา แก้สถานการณ์ฉุกเฉิน นัดคุยประธานกกต. 28 ม.ค.นี้ สื่อนอกเชื่อรัฐบาลดื้อเดินหน้าเลือกตั้ง หวังยึดอำนาจไว้
นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง แถลงภายหลังการปิดการเลือกตั้งล่วงหน้าใน และนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศ ว่า ภาพรวมในวานนี้มี 83 เขตเลือกตั้งใน 375 เขตทั่วประเทศ ที่มีการปิดล้อมไม่สามารถจัดการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าได้ โดย 83 เขตเลือก ตั้งแยกเป็น กรุงเทพ 33 เขตเลือกตั้ง และภาคใต้ 47 เขตเลือกตั้ง และยังมี จ.เพชรบูรณ์ 1 เขตเลือกตั้งจ.สมุทรสงคราม 1 เขตเลือกตั้ง จ.สมุทรสาคร 1 เขตเลือกตั้ง รวม 83 เขตเลือกตั้ง ทำให้มีผู้ที่ขอลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดที่ไม่สามารถใช้สิทธิได้จำนวน 440,000 คน คิดเป็นร้อยละ 22 จากจำนวนผู้ลงทะเบียนของใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดทั่วประเทศราว 2 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มาก หากเปรียบเทียบกับการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าในครั้งที่ผ่านๆ ในการเลือกตั้งทั่วไป ที่จะมีบัตรเสียประมาณแค่ 3-4%
แต่ในส่วนของผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตจังหวัดไม่ได้รับผลกระทบมาก เพราะยังสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ตนเองมีชื่อในการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. ได้ ซึ่งหลังจากนี้ กกต.ก็จะมีการพิจารณาว่า จะสามารถจัดลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าใหม่นอกเขตจังหวัดทดแทนที่เสียไปในวันนี้ได้หรือไม่ เพราะยังมีปัญหาข้อกฎหมาย
ปรากฎการณ์ในวันนี้ทำให้เห็นว่า การเลือกตั้ง 2 ก.พ. จะมีปัญหาที่คล้ายกัน ที่เราเป็นห่วงเรื่องความวุ่นวาย และเหตุรุนแรงที่อาจมีทั้งผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่วัดศรีเอี่ยม ในเขตบางนา ซึ่งเราจะนำข้อมูลต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปพิจารณาร่วมกับรัฐบาล ในวันที่ 28 ม.ค.ว่า สมควรเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ. หรือไม่ อีกทั้งกกต.ก็ได้มีหนังสือสั่งการไปยังกกต.จังหวัด ให้ชะลอการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเลือกตั้ง วันที่ 2 ก.พ. เช่น การอบรมกรรมการประจำหน่วยกว่า 1 ล้านคน ที่ต้องมีค่าใช้จ่ายต่อคน 350 บาทต่อคนต่อวัน โดยให้ชะลอไปหลังวันที่ 29 ก.พ. รอความชัดเจนจากรัฐบาลก่อนเพื่อไม่ให้สูญเสียงบประมาณ
นายสมชัย ยังกล่าวถึง กรณีมีรัฐมนตรีบางคนออกมาระบุว่า กกต.ไม่ได้มีการประสานไปยังหน่วยงานความมั่นคง เพื่อขอกำลังสนับสนุนในการดูแลจัดการเลือกตั้ง ว่ากกต.ได้มีหนังสืออย่างเป็นทางการไปยังปลัดกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ ผบ.ตร. เพื่อขอสนับสนุนการเลือกตั้งในเรื่องสถานที่ กำลังพล อุปกรณ์ต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 23 ม.ค. ที่ผ่านมา แต่เมื่อได้ลงพื้นที่ภาคใต้ 6 จังหวัด พบว่าความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง เป็นไปด้วยความยากลำบาก ทหาร ตำรวจ มีข้อจำกัดในการปฏิบัติหน้าที่ โดยทุกฝ่ายต้องการหลีกเลี่ยงเหตุความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งตนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะหากยึดแนวทางปฏิบัติเข้มข้น เชื่อว่าจะนำไปสู่การปะทะ สูญเสีย จนอาจกลายเป็นเหตุจลาจลขึ้นได้ ทำให้การเลือกตั้งล่วงหน้าวันนี้สถานการณ์เบากว่าที่คาดการณ์ไว้
“ผมขอเชิญนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษา ศอ.รส. รวมทั้ง ผบ.ตร. และปลัดกลาโหม ลงพื้นที่ไปกับผมในวันพุธที่ 29-31 ม.ค.นี้ เพื่อดูว่า ที่บอกว่าเจ้าหน้าที่ของท่านช่วยเหลือสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งนั้น แท้จริงเป็นไปด้วยความยากลำบากแค่ไหน โดยกกต.จะออกค่าเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายอื่นให้ทั้งหมด”
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นปรากฏการณ์ในการจัดการเลือกตั้งที่เป็นไปได้ยาก แต่โจทย์สำคัญคือ การเลือกตั้งครั้งนี้จะไม่มีผลลัพธ์ทางสังคม คือจะไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ เพราะไม่สามารถคิดคำนวนส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อได้ และไม่มีผู้สมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใน 28 เขต 8 จังหวัดภาคใต้
ดังนั้นการไปหารือกับรัฐบาล หากเห็นตรงกันว่าควรกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งรัฐบาลต้องไปพิจารณาว่า จะสามารถออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ทับพระราชกฤษฎีกาเดิมได้หรือไม่ ซึ่งคิดว่าสามารถออก พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ได้ทันก่อนวันที่ 2 ก.พ. เพราะถ้าล่าช้าไปอีก ก็จะเสียงบประมาณวันละไม่น้อยกว่า 300 ล้านบาท โดยในระหว่างนั้น ก็ควรมีการทำข้อตกลงร่วมกันของทุกพรรคการเมือง ทุกกลุ่มการเมือง รวมถึงผู้ที่เห็นต่าง เพื่อให้การจัดการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นใหม่เดินหน้าต่อไปได้ และต้องมีการปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง แก้ไขปัญหาทุจริต ซื้อเสียง แต่ถ้าหากรัฐบาลตัดสินไม่เลื่อนการเลือกตั้ง กกต.ก็ยินดีจัดการเลือกตั้งไป
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่รัฐบาลกล่าวหาว่า กกต.ไม่ประสานขอกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจมาช่วยดูแลจัดการเลือกตั้งล่วงหน้า ทั้งที่รัฐบาลมีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังไม่สามารถคลี่คลายการปิดล้อมได้ นายสมชัย กล่าวว่า “คนพูดยังหาที่ทำงานไม่ได้ ต้องย้ายหนีหัวซุกหัวซุน มั่นใจได้อย่างไรว่า กำลังทหาร ตำรวจ จะปกป้องตัวเองได้ แล้วจะมาพูดได้อย่างไรว่า กกต.ไม่ทำหน้าที่" นายสมชัย กล่าว
เมื่อถามต่อว่า แล้วจะเชิญ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศูนย์รักษาความสงบ ลงพื้นที่ด้วยหรือไม่ นายสมชัย กล่าวตอบทันทีว่า "เล็กไป" พร้อมกับระบุว่า เห็นว่าท่านไม่ค่อยสบาย
** ปิดหน่วยเลือกตั้งกทม.หมด 50หน่วย
เวลา 17.50 น. วานนี้ (26 ม.ค. )นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำหรับการเลือกตั้งในเขตและนอกเขตจังหวัด ภายหลังปิดการลงคะแนนเมื่อเวลา 15.00 น. ได้รับรายงานว่า หน่วยเลือกตั้งกลางนอกเขต 50 หน่วยใน กทม.ถูกปิดทั้งหมด โดยเขตสุดท้าย คือเขตสาทร อยู่ได้จนถึงเกือบบ่าย 3 หลังจากนั้นก็ถูกปิด ดังนั้นถือว่า 50 หน่วย ซึ่งเป็นสถานที่เลือกตั้งกลางถูกปิด แม้จะไม่พร้อมกัน คือ ปิดคนละเวลา แต่ก็ถือว่าถูกปิด
ส่วนจังหวัดภาคใต้ 15 จังหวัด มีเพียง 3 จังหวัดที่รอด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ในขณะที่เขตลาดกระบัง ที่มีรายงานว่ามีการลงคะแนนได้นั้น ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบอยู่ สำหรับภาคกลางมี 2 จังหวัด ที่หน่วยเลือกตั้งกลางนอกเขตจังหวัดถูกปิดคือ จ.สมุทรสงคราม และ สมุทรสาคร ส่วนภาคอีสาน 20 จังหวัด ไม่มีการปิดหน่วยเลือกตั้งนอกเขตจังหวัด มีเพียงการปิดหน่วยเลือกตั้งในเขตเล็กๆ ของ จ.นครราชสีมา และที่ บึงสามพัน จ.เพชรบูรณ์ โดยมีการต่อรองให้มีการลงคะแนนถึงเที่ยง แล้วก็ปิด
เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อว่า สำหรับเจ้าหน้าที่ต้องไปลงบันทึกประจำวันไว้ว่า เหตุที่ปิดหน่วยเลือกตั้งเพราะอะไร ส่วนประชาชนที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ได้ก็ไปแจ้งเหตุที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง
ทั้งนี้เท่าที่ได้รับรายงานไม่มีการปะทะกันระหว่างกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และผู้ชุมนุม ยกเว้น นายวีระ ยี่แพร ผอ.กต.กทม. ถูกคุมตัวที่เขตสายไหม แต่สุดท้ายตำรวจได้ส่งรอง ผบช.น.2 มารับตัวออกไป
ด้านนายสมเกียรติ ริ้วเหลือง หัวหน้างานจัดการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในวันนี้หน่วยเลือกตั้งกลาง 50 หน่วยใน กทม.ถูกปิดเป็นระยะ ทั้งปิดก่อน 08.00 น. ปิดหลัง 08.00 น. และปิดหลังเที่ยง ไม่ได้ปิดตลอดเวลาทั้งวัน คือ ยังมีการลงคะแนนได้ในบางหน่วย ส่วนจำนวนผู้ที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งได้ ตอนนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล แต่ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ ในกรณีใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขต ลงคะแนนได้ประมาณ 560 คนจาก 5,000 คนส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัดลงคะแนนได้ประมาณ 1.3 หมื่นคนจากที่ลงทะเบียนใน กทม.กว่า 9 แสนคน
เมื่อเวลา 19.00 น . นายวีระ ยี่แพร ผอ.กต.กทม. เปิดเผยว่า สำหรับหน่วยเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดใน 50 หน่วยเลือกตั้งใน กทม.นั้น ได้รับรายงานว่า เขตสาทรมีการเปิดให้ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00 น.ไปจนถึงเวลา 15.00 น. มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง 2,179 คน ดังนั้นถือว่า เขตสาทร เป็น 1 หน่วยเลือกตั้งใน 50 หน่วยเลือกตั้งกลาง นอกเขตจังหวัดที่เปิดให้ลงคะแนนได้ ส่วนหน่วยอื่น ๆเปิดได้จนถึงเวลา 11.00 น. บ้าง บางจุดก็ถึงเที่ยง แต่ละจุดไม่เท่ากัน
นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต มีคนมาลงทะเบียนใน กทม. 958,749 คน สามารถใช้สิทธิได้ 13,893 คน ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งมีคนละทะเบียน 5,440 คน ใช้สิทธิได้ 564 คน
นายวีระ กล่าวถึงกรณีที่ถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมที่เขตสายไหมว่า ผู้ชุมนุมมีการปิดถนน เพราะจะให้มีการลงคะแนนเลือกตั้ง ตนได้เข้าไปเจรจาเนื่องจากมีการงดการลงคะแนนไปแล้ว ต้องรอให้ กกต.มีมติให้ลงคะแนนใหม่ เมื่องดการลงคะแนนไปแล้วหากไปเปิดใหม่คงไม่ถูกกฎหมาย แต่ทางกลุ่มผู้ชุมนุมอยากจะใช้สิทธิเลือกตั้งเลย แต่ข้อกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ เราก็เห็นใจ เพราะไม่มีช่องทางให้ลงคะแนนได้ อย่างไรก็ตามตอนนี้ได้รายงานปัญหาไปยัง กกต.เพื่อพิจารณาแล้ว.
**ยุประชาชนแจ้งความเอาผิดกปปส.
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 13.00 น. ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) พร้อมด้วย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ในฐานะ กรรมการ ศรส. ร่วมกันแถลงข่าวผลการประชุม ศรส.
นายสุรพงษ์ แถลงว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงแก้ว ผบ.ตร. ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ศรส. ได้รายงานสถานการณ์การเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 26 ม.ค. ที่มีกลุ่มกปปส. เข้าไปขัดขวาง และใช้กำลังประทุษร้ายกับผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งพบว่า ในพื้นที่ 77 จังหวัด สามารถจัดการเลือกตั้งได้ 66 จังหวัด และมีจังหวัดที่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าได้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง ชุมพร สงขลา ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และพัทลุง ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าในพื้นที่ กทม.50 เขต มีหน่วยเลือกตั้งที่ต้องยุติ 45 เขต แบ่งเป็นกทม. 33 เขต และฝั่งธนบุรี 12 เขต ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10 เปร์เซ็นต์ ของทั้งหมด
นายธาริต กล่าวว่า ที่ประชุม ศรส.มีมติ 4 เรื่องคือ 1. เกิดการก่อเหตุร้าย ขัดขวางการเลือกตั้งล่วงหน้าในกทม.และต่างจังหวัด โดยแบ่งเป็น 5 ประเด็น ได้แก่ 1. แกนนำ กปปส.นำประชาชนปิดล้อม ขัดขวาง ประทุษร้าย ซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้ง และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถือว่ามีโทษร้ายแรง 2. กกต.ไม่ได้ขอความช่วยเหลือมายัง สตช. และกองทัพ ในการสนับสนุนจัดการเลือกตั้ง ทั้งที่ กกต.มีอำนาจ 3. การชุมนุมของกปปส. ที่กระทำการปิดสถานที่อย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายต่อระบอบประชาธิปไตย และสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรงต่อการเลือกตั้ง 4. ศรส.ขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการกีดขวางการเลือกตั้ง ไปแจ้งความที่โรงพักประจำท้องที่ที่เกิดเหตุ และ 5. ศรส. กำชับให้ สตช.และดีเอสไอ ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดอย่างรัดกุม
2. จากการตรวจสอบพฤติกรรมของการ์ด กปปส.พบว่า มีการพกพาอาวุธทั้งปืนสั้น และปืนยาว ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหว โดยพบว่า มีการก่อเหตุยิงปืนที่สะพานหัวช้าง โดยจะมีการนำพยานหลักฐานมาแสดงในวันที่ 27 ม.ค. 3. เห็นชอบให้ดำเนินการขอคืนพื้นที่ราชการเพื่อให้สามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ โดยจะมีคณะเจรจา ประกอบด้วย ปลัดกระทรวง หรืออธิบดี เจ้าหน้าที่ทหาร 3 เหล่าทัพ เจ้าหน้าที่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4. ศรส.มีมติให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมของกปปส. ที่มีการปิดพื้นที่ เพราะถือว่าเป็นการล่วงละเมิดสิทธิ โดยจะขอให้ประชาชนมาแจ้งความเพื่อขอรับการเยียวยาได้ที่กองบังคับการปราบปราม ถ.พหลโยธิน และสถานีตำรวจทุกแห่ง ทั้งในพื้นที่กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ ตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. -3 ก.พ.57 โดยใช้เพียงบัตรประชาชน และแจ้งภูมิลำเนาที่ชัดเจน ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนบ้านในพื้นที่ดังกล่าวก็ได้ มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หลังจากรับแจ้งแล้วเจ้าหน้าที่จะออกบันทึกประจำวันเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน
อธิบดีดีเอสไอ กล่าวว่า หลังจากเปิดแจ้งความครบ 7 วัน ทาง ศรส. จะขอความร่วมมือไปยังธนาคาร ห้างร้าน โรงแรม หรือกิจการการค้าทุกประเภทให้ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน ที่มีนิติสัมพันธ์กับผู้ประกอบการทั้งหมด เช่น การผ่อนผันระยะเวลาการชำระหนี้ การผ่อนผันค่าปรับกรณีชำระล่าช้า การลดหย่อนค่าเสียหาย และการทุเลาใดๆ เพื่อลดความเสียหาย หากกิจการใดๆ ให้ความร่วมมือ ศรส. จะเสนอรัฐบาลหลังเหตุการณ์ยุติเพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือด้านภาระภาษี หรือเงินกู้จากธนาคารของรัฐ เป็นต้น และ ศรส.จะเสนอรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือความเสียหายในรูปแบบต่างๆ เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ สถาบันการเงิน เช่น ธนาคารของรัฐ เป็นต้น และข้อมูลการสำรวจความเสียหายครั้งนี้จะใช้เป็นหลักฐานในการประกอบการดำเนินคดีกับกปปส.ด้วย
"ปึ้ง"ขู่เอาผิดกกต.-ศิลปิน ดารา
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อเวลา 09.30 น. นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณี มีผู้ชุมนุมกปปส.ไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ว่า เป็นการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทางการสามารถออกหมายจับในภายหลังได้ และเห็นว่ากระบวนการเลือกตั้วล่วงหน้ายังสามารถเดินได้ จะมีเพียงเฉพาะบางเขตในกทม. และภาคใต้บางจังหวัดเท่านั้น ที่ถูกผู้ชุมนุมปิดล้อม ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์มีเพียง 8 -10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น สิ่งที่น่าห่วงคือ กกต. ไม่ได้ขอกำลังทหาร หรือตำรวจเข้าไปช่วยดูแลเลย ทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา ซึ่งเรื่องนี้จะให้ปลัดกระทรวงกลาโหม และผบ.ตร. รายงานต่อที่ประชุม ศรส.ว่า มีคำขอจาก กกต.หรือไม่ โดยหน่วยงานต่างๆ พร้อมให้การสนับสนุน แต่กกต.ไม่ขอมา เสมือนไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง มองว่าเป็นเจตนาของกกต.หรือไม่ที่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ความวุ่นวาย
"ผมคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เพราะกกต.บางท่านไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง สิ่งที่ไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ให้คำแนะนำมา แต่ไม่ได้เป็นคำตัดสิน การที่เป็นคำแนะนำหากเราปฏิบัติตามอาจจะผิดกฎหมายอีก ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าห่วงใย เราเจอแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว อย่างกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ตัดสินที่ชัดเจน พอดำเนินการไปก็ถูกร้อง เราคงไม่ตกเป็นเหยื่อรอบสอง" นายสุรพงษ์ กล่าว
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวถึงการเลื่อนเลือกตั้งจากวันที่ 2 ก.พ.ออกไปว่า ไม่น่าจะเลื่อน เพราะถ้าดูจากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า ในวันที่ 26 ม.ค. สามารถทำได้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ แสดงว่าคน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่พยายามจะคัดค้านต้องคิดให้ดี บ้านเมืองอยู่อย่างนี้ไม่ได้ ส่วนพื้นที่ภาคใต้ที่มีการนำหีบบัตรไปทำลายนั้น ถือว่ามีความผิด กกต.ต้องเป็นเจ้าทุกข์
“ถ้าไม่แจ้งความดำเนินคดี ผมจะจับ กกต.ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กกต.จะทำอย่างนี้ไม่ได้ บ้านเมืองไม่มีขื่อไม่มีแปไม่ได้ อย่าสมรู้ร่วมคิดกัน อย่างนี้เราไม่เอา ตอนนี้เราจะต้องมาช่วยกันนำพาประเทศให้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สังคมโลกเฝ้าจับตามอง แล้ววันนี้ผมกำลังจะชี้แจงให้ทูตต่างๆ เข้าใจถึงการประท้วงและการขัดขวางการเลือกตั้งอย่างไร ให้ประเทศที่เป็นประชาธิปไตยได้เข้าใจว่ากลุ่มคนที่มาเรียกร้องไม่ได้เรียกภายใต้ระบอบประชาธิปไตย เป็นระบอบอะไรก็ไม่รู้ เป็นเผด็จการของพวกเขาเอง”นายสุรพงษ์ กล่าว
เมื่อถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์อย่างไร นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ตนได้คุยกับนายกฯตั้งแต่เช้า โดยนายกฯให้รีบสรุปรายงานส่งให้ทราบ ทั้งนี้ นายกฯเป็นห่วงเรื่องการลงคะแนนของประชาชนที่ถูกล้อมไว้ เกรงจะเกิดอันตรายกับประชาชนที่อยากไปเลือกตั้ง ไม่อยากเห็นการทะเลาะระหว่างกลุ่มที่อยากเลือกตั้งกับกลุ่มที่คัดค้านการเลือกตั้ง ถ้าทะเลาะกันจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดมากขึ้น นอกจากนี้ ยังได้คุยกับนายกฯถึงกรณีที่จะมีการหารือกับประธานกกต.ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ส่วนสถานที่ยังไม่เป็นที่เปิดเผย
นายสุรพงษ์ กล่าวด้วยว่า จะมีการขอหมายจับแกนนำ กปปส.ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะออกในวันที่ 27 ม.ค. และประชาชนที่มาร่วมชุมนุมอย่าคิดว่าไม่ผิด ถ้ามาร่วมชุมนุมเกินจำนวนที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินกำหนดถือว่ามีความผิด ตนจึงได้ออกโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเตือนประชาชนไปแล้ว รวมทั้งดารานักแสดงที่ขึ้นเวทีต่างๆ ที่มีพ.ร.ก.ฉุกเฉินถือว่าผิด ทางศรส.อาจจะมีหมายเรียกหรือใบสั่งส่งไปถึงบ้าน และขอยืนยันว่าทหาร ตำรวจ และรัฐบาลยังทำงานสัมพันธ์กันอยู่ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีเหตุความวุ่นวาย ตนไม่ได้คุยกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เลย
**นายกฯยังซุกตัวเงียบเซฟเฮ้าส์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ตลอดทั้งวัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ไม่ได้เดินทางเข้าไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) สโมสรตำรวจ และไม่มีภารกิจที่อื่นๆ แต่อย่างใด แต่ยังคงเก็บตัวอยู่เซฟเฮ้าส์ ในกรุงเทพฯ เพื่อความปลอดภัย รับฟังรายงานสถานการณ์การชุมนุมกลุ่ม กปปส. จากนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ โดยนายสุรพงษ์ เปิดเผยว่า ในช่วงเช้าวันที่ 27 ม.ค.นายกฯ จะเดินทางเข้าทำงานที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
**'ปู'ตั้ง 4 ที่ปรึกษาแก้สถานการณ์ฉุกเฉิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มีคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ พิเศษ 4/2557 เรื่อง แต่งตั้งเพิ่มเติมคณะบุคคลเป็นที่ปรึกษาการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอลาดหลุดแก้ว จังหวัดปทุมธานี และอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ลงวันที่ 21 มกราคม 2557 แล้วนั้น
เพื่อประโยชน์ในการประสานการปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเหตุการณ์และความเป็นอยู่ของประชาชนในเขตพื้นที่ยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 8 แห่ง พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 23 มาตรา 33 มาตรา 34 มาตรา 36 มาตรา 38 มาตรา 41 มาตรา 43 มาตรา 45 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งเพิ่มเติมคณะบุคคลดังต่อไปนี้ เป็นที่ปรึกษาในการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนี้
1. นายปลอดประสพ สุรัสวดี ที่ปรึกษา
2. พลเอกพฤณท์ สุวรรณทัต ที่ปรึกษา
3. พลตำรวจเอก ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา ที่ปรึกษา
4. นายสงวน ติยะไพบูลย์ ที่ปรึกษา
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป สั่ง ณ วันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2557
**นายกฯนัดคุยปธ.กกต. วันที่ 28ม.ค.
นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. กล่าวว่า ได้รับการประสานจาก นายพงศ์เทพ กาญจนา รองนายกรัฐมนตรีทางโทรศัพท์ โดยยืนยันแล้วว่านายกรัฐมนตรีจะพูดคุยกับกกต.ในวันที่ 28 ม.ค. เวลา 14.00 น. โดยทางรัฐบาลจะเป็นผู้กำหนดสถานที่ ซึ่งกกต. ก็ได้นำปัญหาที่เกิดขึ้นในการรับสมัคร และจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีมวลชนไปปิดล้อมขัดขวางไปหารือกับนายกฯ ว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น จะไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งจะเป็นการสูญเสียงประมาณแผ่นดินอีกว่า 1 พันล้านบาท และหากได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ควรที่จะเลื่อนวันเลือกตั้ง ก็คิดว่าระยะเวลาที่เหลือ 1 สัปดาห์นี้ ถ้าตั้งใจทำจริงก็อาจจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ออกมาได้ก่อนวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ.
"จริงๆ แล้ว เราขอหารือกับนายกในวันที่ 27 ม.ค. โดยบอกไปว่า จะเวลาไหนก็พร้อมไปพบ แต่ทางนายกฯ แจ้งว่าติดภารกิจประชุมครม. และเห็นว่า วันที่ 28 ม.ค. น่าจะเหมาะสม ซึ่งในการพูดคุยทางกกต. ก็ไปครบทั้ง 5 คน เพราะหากไปคนเดียวก็จะเป็นความเห็นส่วนตัว แต่ถ้าไปทั้ง 5 คน ก็จะเป็นมติกกต. ที่รับรู้รับทราบร่วมกัน และก็เชื่อว่านายกฯ ก็คงไม่ได้มาคนเดียวเช่นกัน แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลยังจะเดินหน้าเลือกตั้ง กกต.ก็ต้องจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ แม้จะชัดเจนว่า เลือกตั้ง 2 ก.พ.ก็เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ เพราะมีส.ส.ไม่ครบ 95% ของจำนวนส.ส.ทั้งหมดที่พึงมี ”ประธานกกต. กล่าว
ทั้งนี้ นายศุภชัย ยอมรับว่า ยังไม่มีหลักประกันที่จะยืนยันได้ว่า หาก กกต.และรัฐบาลเห็นตรงกันควรเลื่อนการเลือกตั้ง แล้วจะทำให้สถานการณ์การเมืองสงบลง เพราะกกต.เองก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ถ้าเลื่อนเลือกตั้งแล้ว วันเลือกตั้งใหม่ควรเป็นวันใด หรือระหว่างที่มีการเลื่อนการเลือกตั้ง จะทำอย่างไรต่อไป แต่คิดว่าการเลื่อนเลือกตั้ง จะทำให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย และเย็นลงได้บ้าง
** ยันกกต.ไม่ได้รู้เห็นเป็นใจกับกปปส.
อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการเลื่อนการเลือกตั้งจะเป็นการซื้อเวลา เพราะ กกต.เองก็ไม่ได้ชอบที่จะเลื่อนการเลือกตั้ง การต้องปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ถ้าเราทำให้เสร็จเท่าไรก็ยิ่งดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้กกต.ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งให้สุจริต เที่ยงธรรมได้
“ที่ผ่านมาเราได้แจ้งสภาพปัญหาต่างๆให้รัฐบาลทราบไปแล้ว 2 ครั้ง แต่รัฐบาลก็กลับบอกว่า กกต.จินตนาการไปเอง แต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในการเลือกตั้งล่วงหน้าวันนี้ บ่งชี้ว่าเราไม่ได้จินตนาการไปเอง ที่วันนี้ไม่เกิดเหตุความรุนแรงสูญเสียเหมือนวันรับสมัคร ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร ก็เพราะเราให้นโยบายกับเจ้าหน้าที่ทุกคนว่า ให้หลีกเลี่ยงการปะทะ ถ้าดำเนินการไม่ได้ ก็ให้ยุติการลงคะแนนตาม มาตรา 78 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. แต่เราก็ยืนยันว่ากกต.ไม่ได้ร่วมรู้เห็นเป็นใจกับผู้ชุมนุมที่ไปปิดล้อมเพื่อไม่ให้ลงคะแนนได้”
เมื่อถามว่า ศรส. เตรียมจะดำเนินคดีกับกกต. ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รู้เห็นเป็นใจกับผู้ชุมนุม ที่ไปชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้าขัดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นายศุภชัย กล่าวว่า ก็ไม่เป็นไร เพราะที่ผ่านมาเราก็โดนกล่าวหาเช่นนี้มาโดยตลอด แต่เชื่อว่าศาลจะรับฟังเหตุผล เรามีข้อเท็จจริงยืนยันอยู่แล้ว
** ยันประสานไปยังตำรวจ-ทหารแล้ว
ด้านนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. กล่าวถึงกรณี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ หรือ ศรส. ระบุว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าต้องยุติลง เพราะกกต.ไม่ได้ขอกำลังเจ้าหน้าที่ ศรส.ในการดูแลรักษาความปลอดภัยหน่วยเลือกตั้งว่า ที่ผ่านมา กกต.ได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ทหาร ตามช่องทางปกติในการขอให้ช่วยดูแลความสงบเรียบร้อยในการเลือกตั้งทั่วประเทศ ไม่ได้ประสานโดยตรงไปที่ ศรส. เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีแผนดูแลรักษาความสงบในการเลือกตั้งอยู่แล้ว
นายภุชงค์ ยังกล่าวถึงการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งกลางว่า ตามกฎหมาย กกต.ก็ต้องดำเนินคดี เพราะถือว่าเป็นคดีอาญาแผ่นดิน หากไม่ดำเนินการ ก็จะถือว่าไม่ทำตามหน้าที่เนื่องจากผู้ชุมนุมไปดำเนินการขัดขวางการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กกต.กลาง และกกต.ประจำเขต ที่จะรวบรวมข้อมูลหลักฐานแต่กกต.ก็ต้องดูสถานการณ์และความเหมาะสม
**ปิดล้อมลต.ล่วงหน้า อาจเหนื่อยเปล่า
นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า แม้ว่าการลงคะแนนล่วงหน้าของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้ลงทะเบียนไว้ทั่วประเทศราว 2 ล้านคนเศษ ทั้งในการลงคะแนนนอกเขต และในเขตรวมกัน จะถูกกลุ่มผู้ชุมนุมปิดล้อมในหลายจังหวัดภาคใต้ กทม. และในภาคอื่นๆ เช่น จ. เพชรบูรณ์ แต่ก็ไม่ได้มีผลกระทบต่อการประกาศรับรองผลส.ส. ตามที่หลายฝ่ายเข้าใจ เนื่องจากพ.ร.ป. เลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2554 มาตรา 102 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีของการลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง หากบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว ให้ถือว่าบัตรเลือกตั้งนั้นเป็นบัตรเสีย และมาตราเดียวกัน วรรคสาม ยังระบุว่า บัตรเลือกตั้งนอกเขตที่สูญหาย หรือมีหลักฐานว่าไม่เป็นไปโดนสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.อาจวินิจฉัยให้เป็นบัตรเสียได้อีกด้วย
ทั้งนี้ ผลของข้อกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้การปิดล้อมของกปปส. ที่ทำให้เปิดหน่วยลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตบางแห่งไม่ได้ หรือต้องยุติก่อนหมดเวลา จะมีผลเพียงกระทบต่อสิทธิ์ของผู้ที่ลงทะเบียนในเขตนั้นเท่านั้น เนื่องจากรายชื่อถูกดึงออกจากทะเบียนผู้มีสิทธิ์ในภูมิลำเนา ถูกโอนมาอยู่ที่หน่วยเลือกตั้งกลางนอกเขต ทำให้ผู้ที่ลงคะแนนในวันที่ 26 ม.ค. หรือ วันที่ กกต. กำหนดให้ลงคะแนนใหม่อีกครั้งไม่ได้ จะต้องหมดโอกาสลงคะแนนเลือกส.ส. ทั้งในการแบ่งเขต และบัญชีรายชื่อไป ส่วนสิทธิ์ทางการเมืองอื่นๆ นั้น ทางกกต. มีนโยบายนำรายชื่อของหน่วยลงคะแนนที่กกต.เป็นฝ่ายยุติการลงคะแนนเองนั้น ถือว่าไม่เป็นผู้ที่จงใจไม่ไปใช้สิทธิ์ ทำให้ไม่ต้องเสียสิทธิ์ทางการเมืองอื่นๆ
นอกจากนี้ข้อกฎหมายดังกล่าว ยังอาจส่งผลให้กกต. เกิดข้อจำกัดในการกำหนดวันลงคะแนนครั้งใหม่ ในกรณีการลงคะแนนนอกเขตเลือกตั้ง เนื่องจาก หากกกต. กำหนดวันลงคะแนนอีกครั้ง ก็จะไปกระชั้นชิดกับวันที่ 2 ก.พ. อันอาจทำให้การส่งคะแนนไปยังหน่วยเลือกตั้งไม่ทัน ในวันที่ 2 ก.พ. และส่งผลให้กลายเป็นบัตรเสียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่การไปรษณีย์ไทย แสดงท่าทีไม่สนับสนุนกกต. ในการแยก และขนส่งบัตรเลือกตั้ง
นายธนิศร์ กล่าวอีกว่า ส่วนเขตที่มีการยุติไปภายหลังมีผู้ไปใช้สิทธิ์แล้วบางส่วนนั้น บัตรที่ลงคะแนนไปแล้วก็ถือเป็นบัตรเสียไป เพราะถือว่าการลงคะแนนล่วงหน้าในวันดังกล่าว ไม่ครบกระบวนการ แต่หากกกต.ให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าอีกครั้ง บุคคลที่ลงคะแนนไปแล้ว ซึ่งถือว่าบัตรถูกยกเลิก ก็ยังมีสิทธิ์มาลงคะแนนอีกครั้ง”นายธนิศร์ กล่าว
“ที่ผ่านมาก็มีกรณีของบัตรลงคะแนนล่วงหน้านอกราชอาณาจักร ที่ไม่สามารถส่งมาจากต่างประเทศได้ทันในวันนับคะแนนซึ่งกกต. ก็ต้องยกเลิกการนำมานับของบัตรเหลือตั้งเหล่านั้น ไม่อย่านั้นการประกาศผลเลือกตั้งของประเทศไทย ก็อาจจะไปติดขัดกับปัญหาภัยพิบัติ การจลาจลที่เกิดในต่างประเทศ ที่ส่งผลให้การนำส่งบัตรเลือกตั้งล่าช้า ซึ่งก็ไม่ควรให้เป็นอย่างนั้น”นายธนิศร์ ระบุ
สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิ์ลงคะแนนล่วงหน้าในเขต แม้เมื่อวันที่ 26 ม.ค. จะมีการยุติการลงคะแนนไป ผู้มีสิทธิ์ดังกล่าวยังสามารถไปลงคะแนน ในวันที่ 2 ก.พ. ได้ เนื่องจากชื่อตามทะเบียนยังอยู่ในเขตเดียวกัน โดยกกต.ไม่จำเป็นต้องประกาศให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าอีกครั้ง ในส่วนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีดังกล่าวจะทำให้จุดเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งที่แท้จริงอยู่ที่การเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ.ว่า กปปส. ยังสามารถปิดกั้นการลงคะแนนในวันเลือกตั้งจริง ได้อีกหรือไม่ ตลอดจนสามารถปิดล็อกบัตรเลือกตั้ง ทั้งก่อนหรือหลังการลงคะแนนเลือกตั้งได้หรือไม่ รวมทั้งปัญหากปน. มีไม่ครบในภาคใต้ ซึ่งจะส่งผลต่อการประกาศรับรองผลเลือกตั้งทั้งแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ โดยเฉพาะการส่งผลต่อการได้ส.ส. ไม่ครบ 95 % ตามกฎหมาย และทำให้เปิดประชุมรัฐสภาไม่ได้
** โวยกกต.เจตนาปล่อยให้วุ่นวาย
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวก่อนเข้าประชุม ศรส. ถึงกรณีที่มีผู้ชุมนุม กปปส.ไปปิดล้อมหน่วยเลือกตั้ง ในการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าว่า ไม่ถือว่าเป็นความวุ่นวาย แต่เป็นความตั้งใจของกปปส. ที่น่าสังเกต ทุกเขตพอมี กปปส.ไปแสดงอาการข่มขู่ก็ประกาศปิดหน่วยเลือกตั้ง ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คงสมใจนึก เพราะดูทรงแล้วกกต.ไม่อยากให้มีการเลือกตั้ง กกต.ไม่เคยขอความร่วมมือจากศรส. ตำรวจ ที่ประจำหน่วยเลือกตั้งก็มีจำนวนน้อย จะทำอะไรก็ไม่ได้ ถ้าจะให้ตำรวจเผชิญหน้า ศรส. จะถูกกล่าวหาว่าคุกคามประชาชน ส่วนการทำร้ายผู้สมัครพรรคเพื่อไทยถือเป็นอันธพาล ไม่ใช่ชุมนุมโดยสงบ วันนี้ตนจะใช้ความนุ่มนวลให้มากที่สุด
“แต่ขอเตือนายสุเทพ ว่าอย่าสร้างรอยแค้น และความเจ็บปวดให้กับตำรวจมากนัก เพราะวันหนึ่งถึงจุดที่ทุกคนทนไม่ได้ นายสุเทพ จะเสียใจ เพราะตำรวจก็มีศักดิ์ศรี อย่างไรก็ตาม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำชับผม ให้ใช้ความละมุนละม่อม เราจะต้องดูต่อไป เพราะจริงๆ ลำพังนายสุเทพนั้นไม่เท่าไหร่ แต่มีตัวช่วย ไม่ขอบอกว่าเป็นใคร แต่ไม่เช่นนั้นไม่อหังกาขนาดนี้”ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่สามารถทำได้ ใครจะต้องรับผิดชอบ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กกต.ต้องรับผิดชอบ อย่ามานั่งหัวเราะ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คุณต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล
เมื่อถามว่า แต่ก่อนหน้านี้ กกต.เคยเตือนแล้วว่าการเลือกตั้งอาจจะเกิดความวุ่นวายได้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า เป็นการเสนอบนพื้นฐานที่กฎหมายทำไม่ได้ แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญก็แทงกั๊ก การที่กกต. เสนอมาจะต้องมีข้อกฎหมาย มันรู้กันหมด การที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกว่า เลื่อนการเลือกตั้งได้ ไม่ใช่คำวินิจฉัย แต่เป็นคำแนะนำ ไม่เขียนเสียดีกว่า เสียกระดาษ
ส่วนกรณีที่ผู้ชุมนุมปิดล้อมหน่วยเลือกตั้งนั้น เป็นคดีอาญา ตำรวจสามารถบันทึกภาพและมาลงบันทึกประจำวัน จากนั้นทำสำนวนขอหมายเรียกตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งสามารถดำเนินคดีได้ ไม่ต้องมีใครมาร้องทุกข์ พวกที่ปิดล้อมบ้าระห่ำ ผิดกฎหมาย มีตำรวจหลายหน่วยบอกว่าให้ท่านสั่งมาสิ เพื่อจะเข้าไปตีกับมัน แต่ตนบอกไปว่าน้องคิดผิด เพราะสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์เคยสลายการชุมนุมนั้นเลวร้าย พวกเราต้องอย่าทำ
ผอ.ศรส. กล่าวว่า นอกจากนี้ ในส่วนของสถานกงสุล ถ.แจ้งวัฒนะเราจะบอกสังคมว่าสถานที่ทำพาสปอร์ตมีประชาชนเดือดร้อน 4.3 หมื่นคน จึงจะขอเปิดพื้นที่ทำการ ไม่ใช่คำว่าขอคืนพื้นที่ ส่วนสะพานพระราม 8 ได้บอกกับ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ไปแล้ว หากผู้ชุมนุมไม่ให้ ก็นอนต่อไป เรามีวิธีการในการดำเนินการ แต่แรงไม่ได้ ไม่ใช้วิธีสลายการชุมนุม เพราจะเข้าทางเขา อาจจะใช้คำว่าไปกราบกราน ขอความช่วยเหลือใช้ไม้นวม
**สื่อนอกเชื่อรัฐดื้อเดินหน้าหวังยึดอำนาจไว้
วานนี้ (26 ม.ค.) สำนักข่าวเอพี รายงานว่า ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลไทย ออกเดินทางตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อเข้าล้อมหน่วยการเลือกตั้งล่วงหน้า พร้อมใช้โซ่คล้องประตูทางเข้า-ออก พร้อมสะท้อนความเชื่อของผู้ประท้วงว่า เพราะนายกรัฐมนตรีรักษาการ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดำรงสถานะเป็นผู้นำรัฐบาล ที่ทุจริตคอร์รัปชัน จึงต้องการล้มการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เอพี ยังย้ำว่า รัฐบาลไทยภายใต้การนำของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักมามากกว่า 2 เดือน ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องมุ่งมั่นเดินหน้าจัดการเลือกตั้งให้ได้นั้น เพราะการเลือกตั้งมีความสำคัญยิ่งต่อการเสริมสร้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจรัฐไว้
นอกจากนี้ เอพียังรายงานทั่วโลกว่า แม้การเลือกตั้งจะสามารถเกิดขึ้นได้ แต่อาจให้ผลที่เป็นทางตัน คือ สกัดกั้นผู้ต้องการลงรับสมัคร และผู้ที่ต้องการใช้สิทธิออกเสียง จะทำให้ได้ ส.ส.ไม่ครบองค์ประชุม ไม่ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า จะต้องมี ส.ส.ถึงร้อยละ 95 จึงจะสามารถเปิดประชุมสภาฯ นัดแรกได้ และเมื่อไม่ครบ จะทำให้ไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้.