รองนายกฯ ความมั่นคง กร้าวข้อหากบฏ ไม่ได้โดนแค่แกนนำ ขู่ผู้ชุมนุมอาจโดนด้วย เตือน ขรก.-รสก.ร่วมม็อบมีโทษอาญา ผิดวินัยระเบียบ ขรก. ส่งผลเสียครอบครัววงศ์ตระกูล เหตุลอบบึ้มม็อบ ตร.กำลังสอบเหตุ ด้าน “สุรพงษ์” เผยความเคลื่อนไหว “สุเทพ” รอจังหวะรวบ มีชุดของ “เหลิม” กับชุด ตร. เชื่อจัดตั้งป่วนม็อบ โยนผู้ชุมนุมมีประทัดยักษ์ รัฐไร้เหตุกระทำ ปัดใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประเมินชุมนุมถึงเลือกตั้ง ไร้รุนแรง
วันนี้ (17 ม.ค.) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังประชุมรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคง ประเมินสถานการณ์การชุมนุมว่า จากสถานการณ์การชุมนุมที่ก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.และพวก เป็นแกนนำในการชุมนุม และตกเป็นผู้ต้องหาว่ากระทำความผิดทางกฎหมาย และศาลอาญาออกหมายจับนายสุเทพ ฐานความผิดเป็นกบฏ มีความผิดร้ายแรงโทษถึงประหารชีวิต ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นคดีพิเศษ มีการแจ้งข้อกล่าวหาแกนนำ 58 คน ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ฐานะร่วมกันเป็นกบฏ ตามมาตรา 113 และมาตรา 114 ร่วมการยุยงส่งเสริม ให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย ตามมาตรา 116 และร่วมกันมั่วสุ่มก่อให้เกิดความวุ่นวาย ตามมาตรา 215 ซึ่งความผิดดังกล่าวบุคคลที่รับโทษไม่ได้มีแค่นายสุเทพ และแกนนำแต่ร่วมผู้ชุมนุมด้วย แม้วันนี้จะไม่มีการถูกจับกุมดำเนินคดี แต่อาจถูกจับกุมภายในภาคหน้า มีกำหนดความอายุความ 20 ปี
โดยที่ปรากฏว่า การชุมนุมที่มีนายสุเทพและพวกที่มีความผิดตามกฎหมาย มีบุคคลที่เป็นพนักงาน ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ และเจ้าหน้าที่องค์การมหาชน หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐเข้าไปมีส่วนร่วมหรือสนับสนุนในการชุมนุม ซึ่งการขึ้นเวทีปราศรัย การเดินขบวนไปปิดล้อม และบุกยึดสถานที่ราชการ ทำให้ทรัพย์สินทางราชการเสียหาย รวมถึงการประกาศต่อสาธารณชนว่า จะสนับสนุนแนวทางการชุมนุม กปปส.อย่างชัดเจน ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีโทษร้ายแรงทางอาญาแล้วยังมีความผิดทางวินัยด้วย โดยเฉพาะข้าราชการที่มีกฏหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการที่กำหนดถึงวินัยและรักษาวินัยของข้าราชการพลเรือน โดยวางหลักเกณฑ์ข้อห้าม ข้อปฏิบัติไว้หลายประการ เช่น ข้าราชการเรือนต้องสนับสนุนการปกครองตามระบอบประชาธปิไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยความบริสุทธิ์ใจ ตามมาตรา 81 ข้าราชการพลเรือนต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี นโยบายของรัฐบาล และปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนทางราชการ ตามมาตรา 82 (2) ข้าราชการพลเรือนต้องรักษาชื่อเสียของตน และรักษาเกียรติยศตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา 82 (10) ข้าราชการต้องไม่กระทำผิดอาญา จนได้นับโทษจำคุกหรือโทษที่หนักกว่าจำคุก ตามมาตรา 85(6) ส่วนพนักงานส่วนราชการมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยพนักงานราชการ 2547 ได้กำหนดวินัยและการรักษาวินัยไว้
ดังนั้น ศอ.รส.แจ้งเตือนพี่น้องข้าราชการ พี่น้องรัฐวิสาหกิจ ที่มีส่วนร่วมสนับสนุนทางการชุมนุมทางหารเมืองขณะนี้ ให้พึงระลึกถึงข้อปฏิบัติ ข้อห้าม ดำรงตนการเป็นข้าราชการ ตลอดจนกฎระเบียบรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน โดยไม่กระทำใดเข้าข่ายเป็นความผิดทางอาญา นอกจากต้องถูกดำเนินคดีทางอาญา ยังถูกดำเนินความผิดทางวินัย การกระทำดังกล่าวนอกจากจะเกิดผลเสียต่อครอบครัวท่านเอง ยังส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง เกียรติยศ วงศ์ตระกูล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุการระเบิดในกลุ่มผู้ชุมนุมที่เกินขบวนที่ถนนรองเมือง พล.ต.อ.ประชากล่าวว่า รายละเอียดขึ้นอยู่กับการตรวจสอบข้อเท็จจริง และการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทราบว่ามีผู้บาดเจ็บและนำส่งโรงพยาบาลแล้ว
จากนั้นนายสุรพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าการติดตามจับกุมนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ว่าเมื่อเช้าวันนี้ ได้รับรายงานจากทีมตำรวจที่ติดตามนายสุเทพว่า เมื่อคืนวันที่ 16 ม.ค.นายสุเทพเข้าพักที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล เมื่อเวลา 24.15 น. โดยทีมติดตามรอจังหวะที่เหมาะสม ขณะที่ทีมจับกุมนายสุเทพและแกนนำที่ถูกออกหมายจับ มีคณะทำงาน 2 ชุด คือ ชุดของ ผบ.ตร. และชุดของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมมีทีมงานส่วนหนึ่งที่เป็นกำลังตำรวจ
นายสุรพงษ์กล่าวว่า ส่วนเหตุการณ์ป่วนการชุมนุมของ กปปส.ขณะนี้ ความคิดส่วนตัวน่าจะเป็นขบวนการจัดตั้ง เช่น เหตุการณ์ที่มีการปาระเบิดวังสวนผักกาด และบ้านแกนนำ กปปส.ต่างๆ จากที่สังเกตุการปราศรัยของสุเทพเมื่อคืนวันที่ 16 ม.ค.เหมือนกับท้าให้รัฐบาลไล่ผู้ว่าฯ กทม.ออก เพื่อที่จะได้มีคนออกมาสนับสนุนการชุมนุมให้มากขึ้น และหลังจากที่นายสุเทพปราศรัยเสร็จ ช่วงดึกหลังจากนั้นได้เหตุปาระเบิดเกิดขึ้น ซึ่งคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนเหตุการณ์ที่ปาระเบิดใส่ขบวน กปปส.ที่นายสุเทพเดินนำขบวน และที่แจ้งวัฒนะ ตนยังไม่ทราบ แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่า ประทัดยักษ์ เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมเอง แต่ขณะนี้ยังเชื่อว่าสถานการณ์ยังไม่บานปลาย และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทีมงานที่ดูแลความปลอดภัย ไม่มีใครมีอาวุธ ซึ่งสิ่งที่เขาพยายามกล่าวหาว่ารัฐบาลทำ เราไม่มีเหตุอะไรทีจะทำอย่างนั้น และขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องยกระดับเป็น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คิดว่า พ.ร.บ.ความมั่นคงฯยังควบคุมดูแลได้อยู่ ใครมีอาวุธก็มีความผิดมากพออยู่แล้ว
ส่วนกรณีที่ทหารเข้ามาดูแลจุดต่างๆ ก็เป็นการทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานตำรวจ ก็เป็นสิ่งที่ดี ส่วนที่มีจับหน่วยซีลของทหารเรือในม็อบได้นั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เป็นสิ่งที่ตำรวจต้องดำเนินการตามกฏหมายต่อไป ผู้สื่อข่าวถามว่า การประชุมหน่วยข่าวในฝ่ายความมั่นคง ได้มีการรายงานถึงการประเมินสถานการณ์หรือไม่ว่าจะเป็นอย่างไร นายสุรพงษ์กล่าวว่า ประเมินว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อจนถึงวันเลือกตั้ง 2 ก.พ. แต่อย่างไรก็ตามยังไม่คิดว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้น เนื่องจากตำรวจและ กปปส.ได้มีการประสานงานกันเพื่อดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุม