“ปานเทพ” ชำแหละรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.วันแรก ส่อโมฆะทั้งหมด เหตุทำผิดจากราชกิจจานุเบกษา ระบุ 8 รายสมัครก่อนเวลา ส่วน 26 ราย ผิดสถานที่ อีกทั้งไม่ได้จ่ายค่าธรรมเนียมทำให้ไม่ครบขั้นตอน เตือน กกต.เดินหน้าต่อเสี่ยงตะราง พร้อมแนะ กปปส.ชูเนื้อหาปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อครองใจคนไทยรวมถึงเสื้อแดง จะได้ลดโอกาสเกิดสงครามประชาชน เชื่อสามารถพัฒนาไปสู่การปฏิวัติประชาชนได้
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายปานเทพ พังพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกและแกนนำรุ่น 2 พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในรายการ “เกาะติดสถานการณ์การชุมนุม” ทางเอเอสทีวีว่า จดหมายที่ กกต.ออกตอน 2 ทุ่มของวันที่ 22 ธ.ค. เป็นความตื่นตระหนกของ กกต. โดยให้พรรคการเมืองไปแจ้งความที่ สน.ดินแดง เพื่อรักษาสิทธิในการจับสลาก ไม่ใช่การรับสมัคร ถ้าไม่ออกจดหมายฉบับนี้สถานการณ์จะง่ายกว่านี้ แต่นี่ต้องยุ่งเหยิงจน กกต.ไม่กล้าดำเนินการจับสลาก เนื่องจากว่ามี 8 พรรคการเมืองได้เข้าไปลงชื่อที่อาคารกีฬาเวสน์ 2 โดย กกต.แก้ตัวว่าเป็นเพียงรายชื่อคนที่มาแสดงสิทธิว่ามาต่อคิวกี่โมง แต่ดูหัวเอกสารเขียนว่า “บันทึกลงเวลาการยื่นใบสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ” ฉะนั้นนี่คือการยื่นใบสมัคร อีกทั้งทุกคนยืนยันตรงกันว่าได้ยื่นเอกสารการสมัครตามเวลาที่ลงไว้ทุกคน
มันสำคัญตรงที่ว่า ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2556 ข้อที่ 1 ระบุว่า “ให้ยื่นหลักฐานประกอบการยื่นบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ระหว่าง 8.30 น. ถึง 16.30 น.” ดังนั้นทำให้ขั้นตอนการรับสมัครอยู่นอกเหนือจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา อาจทำให้การสมัครของ 8 พรรคการเมืองเข้าข่ายเป็นโมฆะ
ประการที่ 2 ราชกิจจานุเบกษา ยังระบุด้วยว่า รับสมัคร “ณ อาคารกีฬาเวสน์ 2 ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดน กรุงเทพมหานคร” การประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้นมีความหมายว่าเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการ ถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ดังนั้น การที่ กกต.ประกาศให้ไปแจ้งความที่ สน.ดินแดง เพื่อรักษาสิทธิในการจับสลาก แต่ปรากฏว่าที่ สน.เต็มไปด้วยเจ้าหน้าที่ กกต.คอยตรวจเอกสาร ถือเป็นการรับสมัครนอกสถานที่นอกเหนือจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
นายปานเทพกล่าวต่อว่า กกต.สรุปว่ามี 34 พรรคการเมืองที่มีสิทธิจับสลาก แต่ในเมื่อ 8 ราย สมัครนอกเหนือจากเวลาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และ 20 กว่าราย สมัครนอกเหนือจากสถานที่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่มีรายไหนถูกต้องสักรายเดียว ข้อสำคัญที่สุดคนที่ยื่นใบสมัครยังไม่ทำตามขั้นตอนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ข้อ 1.2 ที่ให้พรรคการเมืองที่สมัครต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียม 5 พันบาท ตรวจแล้วเจ้าหน้าที่ไม่กล้ารับเงิน เพราะกลัวเสี่ยงเจอคดี ก็แปลว่าทั้ง 34 ราย ไม่มีใครสมัครครบขั้นตอนสักรายเดียว
ตนเชื่อว่าตอนนี้ กกต.แตกแยกภายใน เพราะสุ่มเสี่ยงมากหากมีการจัดเลือกตั้ง เห็นได้จากการที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร พูดขัดแย้งกันเองในแต่ละครั้ง กกต.จะแก้ไขหรือเดินหน้าต่อไป ถ้าแก้ไขต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษาใหม่ ตารางการเลือกตั้งก็จะรวนไปหมด ทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ในวันที่ 2 ก.พ.
นายปานเทพกล่าวอีกว่า การที่ กปปส.ไปที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น วันเดียว สะเทือนไปหมด ลองคิดง่ายๆ สมมติ กกต.เดินหน้าต่อ ให้ 34 รายจับสลาก แล้วคนมาสมัครวันที่ 24 ธ.ค. เป็นรายที่ 35 แล้วปรากฏว่าจับสลากที่ไหนเกิดการชุมนุมที่นั่น ผู้สมัครใน 34 ราย มีสักรายที่ไม่ไป แล้วไปแจ้งความว่าเข้าในพื้นที่ไม่ได้ เมื่อไม่ครบ 34 รายก็ไม่สามารถจับสลากได้ หรือ กกต.จะอ้างว่าสละสิทธิ ก็คงไม่ยอม
แต่หากดำเนินการจับสลากผ่านไปได้ ก็จะเจออีกด่าน คือ มาตรา 93 วรรค 7 บอกว่า การเลือกตั้งต้องได้ ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ถึงเรียกได้ว่าเป็นสภาผู้แทนราษฎร และเปิดประชุมสภาได้ ดังนั้น การเลือกตั้งไม่สำเร็จ 5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป 500 คน ก็คือ 26 คนเท่านั้น ไม่ครบ 95 เปอร์เซ็นต์ทันที ประชาธิปัตย์มี ส.ส.ภาคใต้ 50 คน แค่ครึ่งเดียวหากทำอารยะขัดขืนไม่ให้การเลือกตั้งเกิดได้ ก็จะต้องเลือกตั้งซ่อมไปเรื่อยๆ จนกว่าภาคประชาชนจะบรรลุวัตถุประสงค์ คือ ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง
นายปานเทพกล่าวด้วยว่า กปปส.พุ่งเป้าไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จากนายกฯ รักษาการ แต่แค่นั้นไม่เกิดสุญญากาศ เพราะรองนายกฯ จะรักษาการแทนทันที แปลว่าต้องให้ลาออกทั้งคณะรัฐมนตรี โจทย์สำคัญต่อมาถ้าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากรักษาการ เกิดสุญญากาศ คนที่จะทำหน้าที่กราบบังคมทูลชื่อนายกฯ ตามมาตรา 7 ก็คือ ประธานวุฒิสภา ซึ่งก็เป็นคนของทักษิณ คนที่ได้ก็จะเป็นคนของระบอบทักษิณอยู่ดี
หรือหวังให้เกิดสุญญากาศจากการชี้มูลของ ป.ป.ช. ซึ่งได้ยินว่าจะมีขึ้นช่วง ม.ค. จังหวะการชี้มูลนี้มีความสำคัญมาก เพราะหาก ป.ป.ช. ชี้มูลกรณี 312 ส.ส.-ส.ว.ก่อน ประธานวุฒิสภาจะพ้นสภาพไปด้วย เหลือรองประธานวุฒิสภาซึ่งไม่ใช่คนของทักษิณทำหน้าที่แทน ก็มีโอกาสเกิดปฏิรูป แต่ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลเรื่องทุจริตจำนำข้าวก่อน ประธานวุฒิสภาจะยังอยู่ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นก่อน
2 ภารกิจสำคัญ คือ ทำให้ 2 ก.พ.ไม่สามารถเลือกตั้งได้ หรือทำให้ไม่สามารถเลือกตั้งได้ 26 เขตขึ้นไป รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการให้มี ส.ส.ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญภายใน 180 วัน แต่จะเร็วกว่านั้นถ้ามีการปฏิวัติประชาชน
การปฏิวัติประชาชน สำคัญว่าต้องมีองค์ประกอบ คือ 1. รัฏฐาธิปัตย์ ที่ต้องให้คุณให้โทษต่อข้าราชการได้ 2. ฝ่ายผู้ถืออาวุธ คือ ทหาร-ตำรวจ เลือกอยู่ข้างประชาชน 3. มีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดสัญลักษณ์บางอย่าง ก็คือการยอมรับจากสถาบันพระมหากษัตริย์ ฝ่ายไหนมีพระปรมาภิไธย ฝ่ายที่ไม่มีจะเสียเปรียบทันที 4.ที่สำคัญต้องค้ำจุนรัฏฐาธิปัตย์นั้นได้จริง สามารถดำเนินการให้มีกองกำลัง สั่งการได้อย่างเป็นระบบ ใช้งบประมาณได้ ถ้ามีครบ 4 ข้อ ข้อ 5 จะตามมา คือ ตุลาการยอมรับว่านี่คือรัฏฐาธิปัตย์ ถึงจะพิพากษาว่า กปปส.ไม่เป็นกบฏ ถ้าไม่ครบ 5 ข้อนี้ ก็ไม่เรียกว่ารัฏฐาธิปัตย์ที่เกิดจากการปฏิวัติประชาชน
นายปานเทพกล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิวัติประชาชนจะเกิดได้ง่ายหากรัฐบาลไม่มีมวลชนหนุน แต่นี่มีเสื้อแดง จึงเสี่ยงต่อการเกิดสงครามประชาชน วิธีการดีที่สุด กปปส.ต้องครองหัวใจคนไทย 65 ล้านคนให้ได้ ต้องชูเนื้อหาปฏิรูปอย่างเป็นรูปธรรม เอาประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก เพื่อลดทอนการทำสงครามประชาชน ก็จะสามารถพัฒนาไปถึงการปฏิวัติประชาชนได้