อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง หลอกด่าคน กทม.ให้การสนับสนุน รธน.ฉบับรัฐประหาร ต้นตอการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เหวี่ยงใส่ “ชายหมู” ลาออก ถ้าคิดว่ากติกาการเลือกตั้งไม่ดี ตะแบงเดินหน้าจัดการเลือกตั้ง โยนบาป กกต.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หากการเลือกตั้งไม่ยุติธรรมไม่ใช่หน้าที่ รบ.
วันนี้ (24 ธ.ค.) นายปิติพงษ์ เต็มเจริญ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.อยากให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงกันเป็นจำนวนมากว่า ฝ่าย กปปส.หรือประชาชนที่เห็นว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เนื่องจากมีระบบซื้อสิทธิขายเสียงก็ดี หรือเพราะว่ากติกาไม่ดี สนับสนุนไม่ดี ตนคิดว่าต้องวิเคราะห์ในรายละเอียด ซึ่งการด่าคนด่าได้ แต่การวิเคราะห์รายละเอียด คือ 1.กฎกติกาในการจัดการเลือกตั้งทุกครั้งในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา เกิดจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่พรรคเพื่อไทย หรือพรรครัฐบาลไม่เห็นด้วย ซึ่งพรรคที่เห็นด้วยคือพรรคประชาธิปัตย์ และคนกรุงเทพฯ ให้การสนับสนุน เพราะฉะนั้นแล้วถ้ากฎกติกาการเลือกตั้งไม่ดีแล้วจะสนับสนุนทำไม และตนกล้าท้า ถ้าทุกอย่างไม่ดี แล้ว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ทำไมไม่ลาออก เพราะการเลือกตั้งผู้ว่าฯก็ใช้กติกาเดียวกันเหมือนกันหมด ที่สำคัญที่สุดมีการเลือกตั้งผ่านมาหลายครั้งก็ใช้กฎกติกาแบบนี้ในการที่จะเอาชนะพรรคเพื่อไทย หรือพรรคพลังประชาชน แต่ก็ทำไม่สำเร็จแล้วมาโทษว่ากติกาไม่ดี มีการซื้อสิทธิขายเสียง ทั้งนี้การซื้อเสียงไม่ใช่เรื่องที่พรรคมีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เป็นเรื่องที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องจับให้ได้ และศาลรัฐธรรมนูญต้องตัดสิน พิจารณาคดีให้ได้ ทั้งนี้ กกต.มีหน้าที่จัดการเลือกตั้ง ซึ่งถ้าจับการซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้ ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และต่อให้จับได้ว่ามีการซื้อสิทธิขายเสียงแต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ลงโทษ ก็ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ ณ วันนี้การจับการซื้อเสียงที่เห็นชัดที่สุด และต่อสู้นานที่สุดคือกรณีของพรรคประชาธิปัตย์ ที่นายบุญมาก ศิริเนาวกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดราชบุรี 2 สมัย โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี เพราะซื้อเสียง
และ 2.กระบวนการจัดการเลือกตั้งทั้งหมด กกต.เป็นผู้จัด ไม่ใช่รัฐบาล เพราะฉะนั้นความผิดต่างๆ กกต.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ถ้าบอกว่าประเทศไทยมีการซื้อเสียงมาก มีการทุจริต ไม่โปร่งใส ก็ต้องต่อว่า กกต.ไม่ใช่ต่อว่าพรรคการเมือง หรือถ้าต่อว่าพรรคการเมืองก็ต้องต่อว่าทุกพรรค และข้อที่สำคัญที่สุด นอกจากกฎกติกามารยาทแล้ว การจัดการเลือกตั้งของพรรคการเมืองทุกพรรคได้รับการสนับสนุนจาก กกต.เพื่อให้ทำงานพรรคการเมือง ซึ่งถ้าเป็นพรรคการเมืองก็ต้องดำเนินการตามวิธีการทางการเมือง ซึ่งก็คือการเลือกตั้ง และถ้าไม่ลงเลือกตั้งจะเป็นพรรคการเมืองได้อย่างไร หรือคิดว่าระบบทุกอย่างไม่ถูกต้องก็ไปแก้ในสภา เนื่องจากสภาคือสถานที่ที่แก้ปัญหาของประเทศโดยฝ่ายบริหารเป็นผู้รับคำสั่งจากสภาออกมาแก้ปัญหา เพราะสภาไม่สามารถทำได้ และการสร้างม็อบ หรือสร้างวาทกรรมทางการเมืองใหม่ๆ ขึ้นมา สรุปสั้นๆ ได้ว่าวาทกรรมทั้งหมดคือเรื่องเดียวคือคุณไม่ชนะใจคนอีสาน ไม่ชนะใจคนทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่กทม.หรือภาคใต้ เพราะฉะนั้นก็ต้องมีการแข่งขันอย่างยุติธรรม และอยากขอความกรุณาระบบการจัดการ ข้าราชการ หน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเมือง อย่าเอาเขามาเกี่ยวข้องในการทะเลาะกันเลย เพราะเขาไม่ได้อยู่ในวังวน ดึงเขามามีแต่ปวดใจและปวดหัว รังแต่จะทะเลาะ ซึ่งข้าราชการบางคนก็วางตัวลำบากในสถานการณ์การเมืองแบบนี้ ที่สำคัญเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ผิด และตำรวจก็ไม่ได้รับใช้รัฐบาล ตำรวจมีหน้าที่ดูแลรักษาความสงบความเรียบร้อยสถานที่ราชการเท่านั้นเอง ซึ่งเขาก็ทำตามหน้าที่ แล้วเขาผิดอะไรทำไมต้องไปเกลียดตำรวจ หรือเกลียดข้าราชการขนาดนั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีการเรียกให้พรรคประชาธิปัตย์ให้ลงเลือกตั้งในครั้งนี้หรือไม่ อดีตรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า วันนี้ เลยการที่จะพูดขอความกรุณาพรรคประชาธิปัตย์แล้ว เพราะจริงๆ แล้วการเป็นพรรคการเมืองที่ดีในอุดมคติแล้วยิ่งเป็นสถาบันที่อยู่กันมา 50-60 กว่าปี ก็ต้องรู้อยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรในหน้าที่ แต่ถ้าคุณบอยคอต หรือไม่เห็นสมควรให้มีการเลือกตั้ง ก็อย่าขวางการเลือกตั้ง และให้ประเทศเดินหน้าต่อไป ทั้งนี้ คุณบอยคอตไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครเลือกตั้ง ก็ไม่ส่ง แต่คนอื่นเขาส่ง แล้วคุณมีหน้าที่อะไร แล้วใช้สิทธิอะไรที่ไปห้ามไม่ให้คนอื่นไปเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ตนเชื่อว่าพรรคการเมืองจับได้เลขไหนไม่ได้มีความหมายอะไรเลย เพราะวันนี้คนเลือกแค่ 2 อย่าง คือเอาเลือกตั้ง หรือไม่เอาเลือกตั้ง ถ้าบอกเอาเลือกตั้งก็ต้องบอกจะปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือหลังเลือกตั้ง และถ้าปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจะมีอะไรที่ชัดเจนที่แน่นอนเป็นรูปธรรม และจะใช้เวลาในการปฏิรูปนานเพียงใด
นายปิติพงษ์ กล่าวอีกว่า ถ้าต้องการให้มีการทำอย่างที่พูดไปทั้งหมด สิ่งที่ต้องทำคือการปฏิวัติ หยุดประเทศ ปิดประเทศ หลังจากนั้นคุณก็สามารถร่างกติกาขึ้นเองได้ แต่ถ้าบอกว่าประชาชนแค่นี้ถือว่ามาปฏิวัติประเทศ ตนขอบอกว่าไม่ใช่ เนื่องจากยังมีคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งตนเชื่อว่าต่างคนมีวิจารณญาณในการตัดสินทั้งสิ้น ตนจึงเรียกร้องว่า ในวันที่ 2 ก.พ.นี้ ไปตัดสินกัน และยิ่งมีโอกาสลงสนามเลือกตั้งอีกก็ลง อย่างไรก็ตาม ในนามของรัฐบาลการเลือกตั้งครั้งนี้ก็ไม่รู้ว่าจะชนะหรือไม่