xs
xsm
sm
md
lg

7 องค์กรเอกชนถกเดินหน้าปฏิรูป มองข้ามเลือกตั้ง รับทำก่อนผลดีนักลงทุนเชื่อมั่น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มกปปส.ขณะเข้าพบ 7 องค์กรภาคเอกชน(แฟ้มภาพ)
เครือข่าย 7 องค์กรเอกชน จัดเวทีกลางถกเดินหน้าปฏิรูป ห้ามสื่อเข้า-ให้รอแถลง แจงหารือที่ผ่านมายังไร้ข้อสรุป เผยทำหน้าที่ประสานให้คุยกัน ความเห็นที่ออกมาไม่มีผลประโยชน์การเมืองแฝง มองข้ามเลือกตั้ง มุ่งหามางออก พรรคการเมืองต้องทำสัตยาบันปฏิรูป รับปฏิรูปก่อนส่งผลดีความเชื่อมั่นนักลงทุน ตปท. ยืดเยื้อกระทบ ศก.ส่งออก ค่าเงินบาทอ่อนกระทบผู้นำเข้า



วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน จัดในเวทีกลางครั้งที่ 2 เป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังพบปะกับแกนนำ กปปส.และแกนนำ นปช. เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง โดยใช้ชื่อว่า “เวทีร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยหรือ Reform now Forum” มีผู้เข้าร่วมประกอบด้วย องค์กรเอกชน นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และผู้แทนจากพรรคการเมือง

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ในฐานะโฆษก 7 องค์กรภาคเอกชน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา 7 องค์กรภาคเอกชนได้มีการหารือกับ กปปส. พบกับกลุ่ม นปช. รวมทั้งเข้าร่วมหารือในเวทีอื่นๆ โดยบทบาทของ 7 องค์กรต่อสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นนี้เป็นที่สนใจของสื่อมวลชน และเป็นที่คาดหวังของสังคมเป็นอย่างมาก และมีกระแสข่าวที่หลากหลายเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของ 7 องค์กรภาคเอกชน ขอชี้แจงว่า การหารือในครั้งที่ผ่านๆ มา ซึ่งมีทั้ง 7 องค์กรภาคเอกชนก็ยังไม่ได้ข้อสรุปอะไรออกมา ยังเป็นเพียงการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งบทบาทของ 7 องค์กรภาคเอกชนก็จะทำหน้าที่เป็นเพียงเวทีกลางในการจัดอำนวยความสะดวกและประสานงานให้ทุกฝ่ายได้พบกัน และหารือร่วมกัน เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันเสนอข้อคิดเห็น หรือเป็นเวทีหาทางออกร่วมกันอย่างสันติวิธีเท่านั้น ซึ่งความคิดเห็นที่ออกมาจะเป็นเพียงทางเลือกมากกว่าทางออก และจะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด

ด้านนายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. เปิดเผยก่อนหารือว่า ภาคเอกชน 7 สถาบัน มองข้ามเรื่องการเลือกตั้งว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ โดยให้ความสำคัญเรื่องการหาทางออก และการปฏิรูปการเมืองและการปฏิรูปประเทศ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งมากกว่า ซึ่งอยู่ที่ช่วงเวลาที่เหมาะสม และตกลงกันได้ของแต่ละพรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองต้องทำสัตยาบันร่วมกันที่จะปฏิรูปการเมืองและปฏิรูปประเทศ หากมีการปฏิรูปประเทศและปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง จะส่งผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นการแสดงออกถึงความพยายามคลี่คลายปัญหาการเมืองของทุกฝ่าย เพื่อให้เห็นว่าประเทศชาติจะเดินหน้าต่อไปได้

นายวัลลภกล่าวว่า ขณะนี้ผลกระทบการเมืองต่อเศรษฐกิจไทยนั้น นักลงทุนต่างชาติจับตามองสถานการณ์การเมืองไทย ได้ชะลอการลงทุน และหากสถานการณ์ยืดเยื้อ หากไม่ย้ายการลงทุนไปประเทศอื่นแทน การบริโภคภายในปรเทศมีกำลังซื้อที่ลดลงอย่างชัดเจน และหากเหตุการณ์ไม่สงบ ประชาชนจะไม่ออกมาจับจ่ายใช้สอย ส่งผลกระทบต่อยอดขายและยอดผลิตลดลง การท่องเที่ยว ยังต้องเฝ้าจับตาว่าส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใด ต้องสร้างความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว ขณะที่ภาคการส่งออกยังไม่มีผลกระทบ เพราะการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ยังไม่มีเหตุปะทะแรง หรือความรุนแรงเกิดขึ้น แต่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าในระยะต่อไป หากสถานการณ์ยืดเยื้อและทำให้เกิดความกังวลในการสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยว่าจะสามารถส่งสินค้าได้ตามกำหนดหรือไม่ หรืออาจมีผลกระทบต่อการส่งออกไตรมาสที่สองปีหน้า ส่วนปัญหาค่าเงินบาทอ่อนค่าลงในรอบ 3 ปี เป็นมาจากการปรับลดมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ หรือ QE สหรัฐฯ ทำให้เงินลงทุนไหลออกจากประเทศไทย ประกอบกับปัญหาการเมือง ซึ่งยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออก แต่ผู้นำเข้าอาจได้รับผลกระทบในระยะต่อไปมากกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การหารือชอบนี้ปิดไม่ให้สื่อเข้าสังเกตการณ์ แต่จะมีการแถลงข่าวภายหลัง


กำลังโหลดความคิดเห็น