xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” เชื่อ ปชช.ชนะแล้ว หลังดึง ปชป.ออกร่วมสู้สำเร็จ-แผน “แม้ว” กินประเทศชะงัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ส.ว.คำนูณ” เผยต้องใช้เวลา 20 ปี กว่ากระแสปฏิรูปจะถูกจุดทั่วประเทศไทย เชื่อประชาชนได้ชนะแล้ว หลังดึง ปชป.ออกร่วมสู้เพื่อปฏิรูปได้สำเร็จ ทำแผนกินประเทศของระบอบทักษิณหยุดชะงัก พ.ร.บ.นิรโทษ กู้ 2 ล้านล้าน แก้ที่มา ส.ว.แท้งหมด ย้ำประเทศไทยจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีก



ในงานพันธมิตรฯ สัมพันธ์ครั้งที่ 2 ตอน ทางออกประเทศไทย ที่บ้านเจ้าพระยา เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.เวลาประมาณ 14.50 น.นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยว่า นับจากวันนี้เป็นต้นไป ประเทศไทยไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีก ไม่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะอีกยาวนานแค่ไหน และจะจบลงอย่างไร แต่ประเทศไทยจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว และกว่าจะมาเป็นวันนี้ก็เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องที่ต่อสู้มาตั้งแต่ปลายปี 2548 ตั้งแต่ยุคเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งแรก ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล และเทียนชุดแรกๆ ที่ถูกจุดขึ้นนั้น ก็ได้เริ่มขยายและก็จุดต่อไป ท่ามกลางความสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ หยาดน้ำตา และการถูกหยามเหยียดสารพันตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา จนบัดนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เทียนได้ถูกจุดขึ้นทั่วประเทศไทย

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า วัตถุประสงค์ของการลุกขึ้นสู้ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อปี 2548 ไม่ได้สู้เพียงเพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร แต่สู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2548 นายสนธิได้นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพูดถึงประเด็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เราได้ยินอยู่ทุกวันนี้

นอกจากนี้ วันที่ 4 ต่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2549 ในฎีกาที่นายสนธิได้อ่านเป็นภาษาไทย และนางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะนำพี่น้องเดินไปยื่นที่สี่เสาเทเวศร์ ที่บ้านท่านประธานองคมนตรีสายหนึ่ง และอีกสายหนึ่งไปยื่นที่สำนักราชเลขาธิการนั้น ก็มีเนื้อหาคล้ายๆ กับเนื้อหาของแถลงการณ์ที่กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พูดออกมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556

“ที่เรามาพูดในวันนี้ ไม่ใช่เพื่อขอมามีส่วนร่วมในความสำเร็จใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อที่จะมาทวงถาม หรือบอกว่าเราเองนั้นเป็นผู้เสียสละอันใหญ่หลวง ผมเชื่อว่าไม่ใช่จิตเจตนาของพี่น้อง ไม่ใช่จิตเจตนาของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ใช่จิตเจตนาของคนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มากกว่านี้มากนัก แต่เราจำเป็นต้องพูด เพื่อที่จะเป็นบทเรียนต่อไปในอนาคต”

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ตนอยู่ในชายคาบ้านเจ้าพระยา บ้านพระอาทิตย์ตั้งแต่ยังเป็นบ้านเก่าอนุรักษ์ ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นความพยายามของพี่น้องที่ร่วมชายคาบ้านพระอาทิตย์ บ้านเจ้าพระยาแห่งนี้ ในการที่จะทำหน้าที่ของความเป็นสื่อมวลชน ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในนามของการปฏิรูปการเมือง ในนามของการปฏิรูปประเทศ เช่น การตีพิมพ์บทความของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ถัดมาอีก 2 ปี ได้ลงตีพิมพ์บทความชิ้นสำคัญของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเดือนเมษายน 2537 ชื่อว่า Constitutionalism ทางออกของประเทศไทยที่เป็นหัวข้อในงานพันธมิตรฯสัมพันธ์ในวันนี้

“เราพูดมาตั้งแต่ปี 2537 ในบทความนี้ ได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภา ระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง พูดไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งทุกอย่างถึงปัญหาและการแก้ไข พี่น้องครับ นี่คือปัญหาของผู้มาก่อนกาลเวลา เรามาก่อนกาลเวลาไปเกือบ 20 ปีเต็ม”

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีของการเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อนำประเทศกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราไม่ใช่อนุรักษนิยมล้าหลังสุดกู่ไร้เหตุผล เราไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทน เราไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เราต่อสู้เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทนนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทนของแท้ ที่สามารถจะให้ได้ตัวแทนที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมืองที่เขาลงทุนตั้งพรรคการเมืองเพื่อชนะการเลือกตั้ง ด้วยเงิน 3,000 ล้านบาท 4,000 ล้านบาท และก็เป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา มีนักการเมืองมี ส.ส. เป็นเสมือนพนักงานในบรรษัทการเมือง จำกัด เป็นบริษัทส่วนตัวของมัน ยกมือออกนโยบายเพื่อทำความร่ำรวยให้กับเขา ดังเช่นที่ปรากฏขึ้นมาในระบอบทักษิณ

นายคำนูณ กล่าวว่า สิ่งที่เราพูดมีน้ำหนักน้อยกว่าที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณพูด และพรรคประชาธิปัตย์ทำตาม เป็นเรื่องปกติ เพราะเราเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคม แม้กระทั้งนายสนธิ ก็เป็นบุคคลที่อยู่นอกวงอำนาจรัฐ เทียนที่จุดเล่มแรกและพี่น้องทุกคนเป็นเพียงเทียนเล่มเล็กๆ ที่จุดมา 7-8 ปี ตราบใดที่ไม่สามารถจุดติดลามเข้าไปสู่คนที่อยู่ในวงในอำนาจรัฐได้ความสว่างไสวมันจะไม่เกิดขึ้นมากเท่าเดิม นี้คือสิ่งที่เราเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็ต้องปรบมือให้พรรคประชาธิปัตย์

พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มพลังอนุรักษ์ของประเทศ เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเก่า เป็นตัวแทนของเทคโนแครตที่ต่อเนื่องมายาวนาน เราเรียกร้องว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปพรรค ซึ่งวันนี้พี่น้องทำสำเร็จแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่จะปฏิรูปเพียงเพื่อชนะการเลือกตั้งในระบบ แต่พรรคประชาธิปัตย์จะโดยสถานการณ์บังคับจะโดยอะไรก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ได้ก้าวออกมาจากระบบและต่อสู้กับพี่น้องประชาชนอีกขาหนึ่ง

นายคำนูณ กล่าวว่า วันนี้ อยากจะบอกด้วยซ้ำว่าเราชนะแล้ว เราก็คือประเทศไทย ประเทศไทยชนะแล้ว ลองหลับตานึกย้อนหลังไปสัก 3 เดือน ก่อนเดือนสิงหาคม 2556 ระบอบทักษิณใกล้จะครองประเทศเบ็ดเสร็จเด็ดขาด กำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ กำลังมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม กำลังจะใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน มันกำลังจะผ่านกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน กำลังๆ สารพัด พันธมิตรฯ ก็บอกว่ายังไม่ออก ตราบใดที่พี่น้องประชาชนยังไม่ตื่น แต่กฎแห่งกรรมมันมีจริง ทักษิณ ชินวัตร เดินหมากพลาดตาเดียวกำลังจะแพ้ทั้งกระดาน การไปแก้กฎหมายนิรโทษกรรมทั้งคืนแบบข่มขืนลักหลับประเทศไทยตอน 4.30 น. มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลามไปหมดทั้งกระดาน กฎหมายนิรโทษกรรมก็ล้มเหลว ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มาของ ส.ว.ก็คว่ำไปแล้ว พอยุบสภาฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 68 มาตรา 237 ก็คว่ำตามไป 3.5 แสนล้านก็ไม่ได้ใช้ 2 ล้านล้านเรื่องก็คาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

“พี่น้องครับประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้วครับ เฉพาะที่กล่าวมานี้ก็พอจะพูดได้ว่าเราชนะแล้ว แต่เราจะชนะแค่ไหนอย่างไร จะพบทางออกที่ยั่งยืนถาวรของประเทศหรือไม่ ผมเชื่อว่ามันต้องใช้เวลาครับ มันต้องใช้เวลา อย่าไปแคร์ว่าคนนำชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล หรือชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ เวลาฟังลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยหลับตาดูมันเหมือนๆ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูดนะ หลายประโยคหลายบริบทหลายแนวความคิด และที่ผมไล่เรียงทั้งหมดขณะนี้ว่ากว่าเราจะมาถึงที่เทียนเป็นล้านเล่มจุดติดขึ้น และก็ลามเข้าไปในระบบการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ และก็อาจตามมาอีกบางคนบางพรรค มันใช่เวลาถึง 20 ปี” นายคำนูณกล่าว

คำต่อคำ คุณคำนูณ สิทธิสมาน ปราศรัย 21 ธ.ค.56

หนาวไหมครับ เหนื่อยไหมครับ เมื่อยไหมครับ พรุ่งนี้ออกไปอีกไหมครับ ออกแน่นอนอยู่แล้ว ก็ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับ ที่ได้มีโอกาสมาพบพี่น้องในงานพันธมิตรสัมพันธ์ ผมเองอาจจะไม่ใช่คนที่ขึ้นเวทีบ่อยนักนะครับ ตลอดระยะเวลาการชุมนุมตั้งแต่ปี 2548 49 198 วัน 158 วัน ผมแทบไม่ได้ขึ้นเวทีเลย หรือขึ้นน้อยครั้งมาก เพราะว่าก็มีภารกิจด้านอื่นที่ต้องทำนะครับ แต่วันนี้ไม่มาไม่ได้ เพราะว่าอันที่จริงสิ่งที่ปรากฏอยู่ต่อสายตาของพี่น้องข้างนอกในขณะนี้ สถานการณ์ของประเทศไทยในขณะนี้ พูดตามตรงก็คือ มาไกลเกินกว่าที่ประชาชนจะพ่ายแพ้ครับ มาไกลเกินกว่าที่ประชาชนจะกลับบ้านมือเปล่าครับ มาไกลเกินกว่าที่ประเทศไทยจะเป็นเหมือนเดิมครับ นับจากวันนี้เป็นต้นไปประเทศไทยไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกแล้วครับพี่น้อง ไม่ว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะอีกยาวนานแค่ไหน และจะจบลงอย่างไร ทางออกของประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ขอให้พี่น้องมั่นใจเถอะครับว่า ประเทศไทยจะไม่กลับไปเหมือนเดิมอีกแล้ว

พี่น้องต้องภูมิใจนะครับว่า กว่าจะมาเป็นวันนี้ก็เกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของพี่น้องที่ต่อสู้มาตั้งแต่ปลายปี 2548 ตั้งแต่ยุคเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจรครั้งแรก ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใครอยู่ในวันนั้นบ้างครับ พี่น้องปรบมือให้ตัวเองเถอะครับว่า พี่น้องเป็นเทียนเล่มแรกๆ ที่ถูกจุดขึ้น โดยคุณสนธิ ลิ้มทองกุล และเทียนชุดแรกๆ ที่ถูกจุดขึ้นนั้น ก็ได้เริ่มขยายและก็จุดต่อไป ท่ามกลางความสูญเสียชีวิต เลือดเนื้อ หยาดน้ำตา และการถูกหยามเหยียดสารพันตลอดระยะเวลา 7-8 ปีที่ผ่านมา จนบัดนี้อาจจะกล่าวได้ว่า เทียนได้ถูกจุดขึ้นทั่วประเทศไทย จะมากน้อยแค่ไหน จะกี่แสนจะกี่ล้านจะนับกันอย่างไร แต่ก็ต้องตอบได้ว่า มากมายมหาศาลเหลือเกิน และพรุ่งนี้จะเป็นอีกวันหนึ่งที่เราจะได้ประจักษ์

พี่น้องครับ จำคำของคุณสนธิ ลิ้มทองกุลได้ไหมครับ ตอนช่วงรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ครั้งแรก ที่จัดขึ้นที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีชื่ออีกชื่อหนึ่งที่เรียกว่า หอประชุมศรีบูรพา เพื่อเป็นการรำลึกถึงนักคิดนักปฏิวัติ นักหนังสือพิมพ์ คุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ เจ้าของสมญานามศรีบูรพา คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้นำเอาคำกล่าวของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ ที่เขียนไว้ในบทนำของหนังสือพิมพ์ประชามิตรสุภาพบุรุษเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2547 มากล่าวกับพี่น้องว่า ในเวลาสงบท้องฟ้าโปร่ง สว่างจ้าด้วยแสงตะวัน ใครๆ ก็แลเห็นว่า เรายืนอยู่ที่ไหน เวลาพายุกล้าฟ้าคะนอง ผงคลีฟุ้งตลบไปในอากาศ ไม่เห็นตัวกัน ต่อพายุสงบ ฟ้าสว่าง ใครๆ ก็จะเห็นอีกครั้งหนึ่งว่า เรายืนอยู่ที่เดิม และจักอยู่ที่นั่น นี่คือคำกล่าวที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล นำเอาคำกล่าวของศรีบูรพามากล่าวเมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว เพื่อแสดงให้เห็นว่า ไม่เคยเปลี่ยน

พี่น้องจำวัตถุประสงค์ของการลุกขึ้นสู้ของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เมื่อปี 2548 ได้ไหมครับ เราไม่ได้สู้ เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เราไม่ได้สู้เพียงเพื่อขับไล่ระบอบทักษิณ แต่เราสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงประเทศ เพื่อให้มีการปฏิรูปการเมือง เพื่อให้มีการปฏิรูปประเทศ พี่น้องจำวันที่สวนลุมพินี ที่ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล นำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ไหมครับ วันนั้น คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็พูดถึงประเด็นที่จะต้องมีการปฏิรูปการเมือง มีการปฏิรูปประเทศ ซึ่งก็เป็นแนวทางที่เราได้ยินอยู่ทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้ยินอยู่ทุกวันนี้ บนเวที กปปส.ก็ดี ในโลกออนไลน์ต่างๆ ก็ดี ล้วนเป็นสิ่งที่เราเคยได้ยินมาตลอดระยะเวลา 7-8 ปี

พี่น้องครับ วันนั้นวันศุกร์ที่ 11 พฤศจิกายน 2548 ที่อาคารสโมสรพลเมืองอาวุโสแห่งกรุงเทพมหานคร สวนลุมพินี หรือเวทีลีลาศสวนลุมพินี คุณสนธิ ลิ้มทองกุลนำกล่าวปฏิญาณทั้งอ่านคนเดียว เป็นคำปฏิญาณฉบับเต็ม และนำพี่น้องเปล่งวาจาตามเป็นคำปฏิญาณฉบับย่อ ผมขออนุญาตยกบางส่วนมานะครับว่า สถานการณ์ของชาติบ้านเมืองในเวลานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกระบวนการแก้ไขปรับปรุงรายละเอียดของรัฐธรรมนูญด้วยแนวทางสันติวิธี และโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดการถวายพระราชอำนาจคืนแด่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ในการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง เพื่อดำเนินการจัดโครงสร้างองค์กรทางการเมืองใหม่ ผ่านการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ที่อย่างน้อยจะต้องมีสารัตถะไม่บังคับผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง ไม่มีมาตรการทำลายพรรคขนาดเล็ก นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง และจัดระบบที่มาของวุฒิสภาเสียใหม่ ไม่ให้เป็นช่องทางแทรกแซงของพรรคการเมืองทั้งหมด รวมทั้งจะต้องมีมาตรการพิเศษเฉพาะหน้า เพื่อขจัดคอร์รัปชันในเชิงโครงการใหญ่ให้ได้เห็นผลเป็นรูปธรรมทันตา โครงสร้างทางการเมืองใหม่ที่มาจากการพระราชทานผู้นำในการปฏิรูปการเมือง ของใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทนี้ ประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้ออกเสียงเป็นประชามติ ก่อนประกาศใช้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักราชประชาสมาสัย

พี่น้องครับ นี่คือสิ่งที่เราต่อสู้เมื่อเกือบ 8 ปีที่แล้ว และนำมาสู่การชุมนุมมวลชนครั้งแรก ภายใต้การนำของ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เป็นการนำเดี่ยวก่อนที่จะเกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย จำได้ไหมครับ วันที่ 4 ต่อวันที่ 5 เดือนอะไรนะ กุมภาพันธ์ 2549 ในฎีกาที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้อ่านเป็นภาษาไทย และคุณสโรชา พรอุดมศักดิ์ ได้อ่านเป็นภาษาอังกฤษ ก่อนที่จะนำพี่น้องเดินไปยื่นที่สี่เสาเทเวศร์ ที่บ้านท่านประธานองคมนตรีสายหนึ่ง และอีกสายหนึ่งไปยื่นที่สำนักราชเลขาธิการนั้น มีความตอนหนึ่งว่า แท้จริงแล้วความชอบธรรมในการปกครองมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นความชอบธรรมจากการได้มาซึ่งอำนาจ โดยได้รับการสนับสนุนของประชาชนผ่านกระบวนการประชาธิปไตย อีกส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญกว่าส่วนแรก และเป็นส่วนที่ชี้ขาดความชอบธรรมอย่างแท้จริง คือความชอบธรรมอันเกิดจากผลการปฏิบัติงาน ซึ่งจะต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของชาติ และประชาชน การที่นายกรัฐมนตรีคนนี้อาศัยอ้างแต่เพียงความชอบธรรมส่วนแรก และดำเนินการหาผลประโยชน์ส่วนตัวนานัปการ ดังได้พรรณนามาแล้ว และยังอ้างความชอบธรรมแต่เพียงส่วนเดียวมานี้ ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมทั้งละเลยพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามระบอบรัฐธรรมนูญ ทำให้ปวงข้าพระพุทธเจ้าหวั่นเกรงถึงภยันตราย ที่จะบังเกิดขึ้นแก่ประเทศชาติ ประชาชน และสถาบันพระมหากษัตริย์ หากนายกรัฐมนตรีคนนี้จะบริหารบ้านเมืองต่อไป ประชาชนทั้งปวงเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่ได้รับพระราชทานจากสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงมีสิทธิสมบูรณ์ และเด็ดขาดในการเรียกร้องอำนาจนั้นคือ และถวายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงใช้ร่วมกับประชาชน เมื่อรัฐบาลขาดความชอบธรรม และเกิดวิกฤตใหญ่หลวง ระบอบประชาธิปไตยมิได้ให้การเลือกตั้งเป็นปัจจัยการชี้ขาดการมีอำนาจปกครอง การเลือกตั้งเป็นเพียงวิธีการของการปกครอง มิใช่จุดหมาย จุดหมายคือการใช้อำนาจอย่างชอบธรรม ซึ่งประเมินได้จากผลการปฏิบัติงาน ที่จะต้องมีพื้นฐานอยู่บนการรักษาผลประโยชน์ของชาติ

เมื่อใดก็ตามที่ผู้นำขาดความชอบธรรมส่วนนี้ แม้ว่าผู้นำนั้นมาจากการเลือกตั้ง ได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ แต่ก็มิอาจอ้างสิทธิที่จะทำการบริหารบ้านเมืองอีกต่อไปได้ ประชาชนย่อมมีสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องแสดงออกด้วยวิธีการอันสงบ เพื่อเรียกร้องให้ผู้นำนั้นออกจากตำแหน่ง

พี่น้องครับนี่คือสาระที่เราพูดตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 พี่น้องฟังดูคุ้นๆ ไหมครับ คล้ายๆ กับเนื้อหาของแถลงการณ์ที่กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้พูดออกมาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ระยะเวลาผ่านไป 7 ปีกว่า มันเหมือนเราฉายภาพย้อนหลัง มันเหมือนที่เราดูภาพยนตร์ที่เหตุการณ์ปัจจุบันเขาก็มีสีธรรมชาติ และจะมีภาพย้อนหลังเป็นสีขาวดำ หรือออกสีซีเปีย พี่น้องจะได้ยินคำพูดบนเวทีหลากหลายเวทีในขณะนี้นั้น เป็นสิ่งที่พี่น้องเคยได้ยินมาก่อน เมื่อคืนนี้กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณบอกว่า ไม่มีทางอีกแล้วที่ท่านจะตัดขาดจากพี่น้องประชาชน ท่านตัดขาดจากพรรคการเมือง ท่านตัดขาดจากความเป็นนักการเมือง

พี่น้องครับ นี่คือสิ่งที่เทียนเล่มแรก เทียนชุดแรกๆ อย่างพี่น้องได้จุด และฝ่าพายุ ฝ่าฝนฟ้าคะนอง ฝ่าก้อนอิฐ ก้อนหิน ฝ่าเอ็ม 49 ฝ่าระเบิด ฝ่าแก๊สน้ำตา จนมีเพื่อนพี่น้องของเราจำนวนหนึ่งไม่อาจมาร่วมงานในวันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์ในวันนั้น ก็จะไม่มีเหตุการณ์ในวันนี้ นี่คือสิ่งที่ผมจำเป็นต้องพูดครับ เพราะว่าสังคมไทย หรืออันที่จริงอาจจะเป็นสังคมทั่วโลก จะเป็นสังคมที่เรายึดอยู่ หรือติดอยู่แต่เหตุการณ์ปัจจุบัน เหตุการณ์ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ แต่ว่าเหตุการณ์ในอดีตนั้น มักจะไม่มีคนพุดถึง

ที่เรามาพูดในวันนี้ ไม่ใช่เพื่อขอมามีส่วนร่วมในความสำเร็จใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เพื่อที่จะมาทวงถาม หรือบอกว่าเราเองนั้นเป็นผู้เสียสละอันใหญ่หลวง ผมเชื่อว่าไม่ใช่จิตเจตนาของพี่น้อง ไม่ใช่จิตเจตนาของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ไม่ใช่จิตเจตนาของคนที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยซึ่งมีหัวใจที่ยิ่งใหญ่มากกว่านี้มากนัก แต่เราจำเป็นต้องพูด เพื่อที่จะเป็นบทเรียนต่อไปในอนาคต ผมเองอยู่ในชายคาบ้านเจ้าพระยา ตั้งแต่ตึกแห่งนี้ยังไม่ได้สร้าง ผมอยู่ในชายคาบ้านพระอาทิตย์ ตั้งแต่ยังเป็นบ้านเก่าอนุรักษ์หลังหนึ่งนะครับ ระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ผมได้เห็นความพยายามของพี่น้องที่ร่วมชายคาบ้านพระอาทิตย์ บ้านเจ้าพระยาแห่งนี้ ในการที่จะทำหน้าที่ของความเป็นสื่อมวลชน ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประเทศในนามของการปฏิรูปการเมือง ในนามของการปฏิรูปประเทศ ในนามของการนำปัญญามาสู่พี่น้องคนไทยทั้งประเทศว่า ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้น มีความหมายมากกว่าการเลือกตั้งเท่านั้น เราเฝ้าเพียรพยายามที่จะบอกกล่าวว่า จริงอยู่ระบอบประชาธิปไตยมิอาจจะขาดได้เสียซึ่งการเลือกตั้ง แต่ลำพังการเลือกตั้งประการเดียว โดยมิภักดิ์ต้องพูดว่า เป็นการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์โกงชาติบ้านเมือง เป็นประชาธิปไตยจริงแท้หรือไม่

สิ่งที่เราเพียรพยายามพูดมานี้ มีหลักฐานปรากฏอยู่ชัดเจนอย่างน้อยผมนับกาลเวลานั้นย้อนหลังไปได้ ไม่ต่ำกว่า 20 ปี ผมได้นำหนังสือที่กลุ่มผู้จัดการตั้งแต่ก่อนมีเอเอสทีวี ได้จัดพิมพ์ขึ้นร่วมกับสถาบันนโยบายศึกษาของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ เพื่อมาบอกเล่าให้พี่น้องประชาชนทราบว่า ขอให้พี่น้องชาวพันธมิตรฯ จงภูมิใจเถอะครับว่า พี่น้องได้เข้ามาอยู่ภายใต้การนำ หรือมาเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหว 7-8 ปีที่ผ่านมา ที่มีรากฐานทางประวัติศาสตร์ มีรากฐานทางความคิดที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรม พี่น้องที่เล่นไลน์ เล่นเฟซบุ๊ก และเล่นโซเชียลมีเดียในรูปแบบต่างๆ กัน ในช่วงระยะเวลา 2-3 อาทิตย์มานี้ คงจะได้เห็นการแชร์คลิปเสียง หรือคลิปการให้สัมภาษณ์ของท่าน ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อรรถาธิบายของคำว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภา ซึ่งเป็นการให้สัมภาษณ์พี่หญิงแห่งเอเอสทีวี แต่ว่าจะเป็นการให้สัมภาษณ์ที่จะออกผ่านเอฟเอ็มทีวี และก็เป็นให้สัมภาษณ์ครั้งที่ 2 หลังจากการให้สัมภาษณ์เมื่อเกิดวิกฤตของประเทศนี้ครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2553 คราวนั้นออกเอเอสทีวี พี่หญิง อัมพา สันติเมทนีดล ผมเห็นแล้วผมก็ยิ้ม เพราะว่าเวลาแชร์ผ่านกลุ่มไลน์ต่างๆ เพื่อนผมในหลายกลุ่มเขาก็จะไปบอกว่า ต้องเผยแพร่ดูกันให้ทั่ว เป็นบทสัมภาษณ์ที่ชัดเจนมากดีเหลือเกินต้องช่วยกันแพร่หลาย เกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในยุคที่เฟื่องฟูที่สุด หลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ผมเป็นบรรณาธิการข่าวการเมือง ได้ลงตีพิมพ์บทความของ ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ เป็นครั้งแรก เมื่อช่วงปี 2535 ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งที่ 2 ของปี 2535 ถ้าผมจำไม่ผิดก็คือ วันที่ 13 กันยายน บทความของท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งพวกเราเห็นพ้องต้องกัน ผมเห็นพ้องด้วยตั้งแต่อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช ซึ่งเป็นที่ปรึกษาใหญ่ของเครือเราเห็นพ้องด้วย คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ซึ่งเป็นเจ้าของเป็นผู้ก่อตั้งเห็นพ้องด้วย เป็นบทความที่สวนกระแสความคิดในขณะนั้นมาก

ความคิดในขณะนั้นคืออะไรครับพี่น้อง คงจะจำกันได้ เรามีเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหญ่ วันที่ 17-20 พฤษภาคม 2535 ผมจะไม่พูดว่า คุณสนธิ ลิ้มทองกุล เอาธุรกิจทั้งหมด เอาองค์กรผู้จัดการเข้าไปเสี่ยงแค่ไหนเพื่อสนับสนุนการต่อสู้ของพี่น้องประชาชน การต่อสู้ในครั้งนั้น เราต่อสู้การสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหาร รสช. ที่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง โดยที่ไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่จินตภาพของพี่น้องประชาชนในขณะนั้นก็คือ เหมือนๆ จะบอกว่า เราต้องการนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนดี เราต้องการนายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่เผด็จการทหารสืบทอดอำนาจ แต่ความเชื่อในขณะนั้นก็คือ เราไปต่อสู้ว่า เราต้องการนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง เกิดการนองเลือดครั้งใหญ่ พรรคการเมืองที่เขาเชิด พล.อ.สุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเขาก็ถอยมา และเขาจะเชิดใครต่อรู้ไหมครับ เขาจะเชิด พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง พี่น้องจำอารมณ์ของพี่น้องที่ยังอยู่ทันในช่วงนั้นได้ดีไหมครับว่า เกิดความรู้สึกเศร้าสลดแค่ไหม ผู้คนตายไปหลายสิบคน ประเทศชาติเสียหายไป สุดท้ายเรากำลังจะได้นายกรัฐมนตรีหุ่นเชิดอีกคนหนึ่ง คนหนึ่งมาจากเผด็จการทหาร อีกคนหนึ่งมาจาก ส.ส.แต่มันก็พันธุ์เดียวกันนั้นแหละ ในขณะนั้นนะครับ

ข้อเรียกร้องที่พี่น้องประชาชนบอกว่า ต้องการนายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง แต่วันที่ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นำรายชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นกราบบังคมทูลฯ และท่านไปเปลี่ยนชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ เอานายอานันท์ ปันยารชุน ใส่เข้าไปแทน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ปรากฏเมื่อผลออกมาพี่น้องประชาชนดีใจกันทั่วประเทศ มันเกิดอะไรขึ้นครับ เรียกร้องนายกรัฐมนตรีให้มาจากการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งดีใจ บางครั้งข้อเรียกร้องมันอาจจะไม่ใช่ข้อเรียกร้องที่เราต้องการเป็นลายลักษณ์อักษรอย่างนั้น แต่มันเป็นสัญลักษณ์ที่เราปฏิเสธระบอบเผด็จการทุกรูปแบบ สุดท้ายรัฐบาลชั่วคราวของนายอานันท์ ปันยารชุน อยู่เพียง 3 เดือน หรือ 4 เดือน ทั้งๆ ที่ควรจะอยู่มากกว่านั้น ควรจะเป็นโอกาสที่จะปฏิรูปประเทศ แต่ก็ปรากฏว่า ไม่สามารถจะปฏิรูปประเทศในสารัตถะที่เป็นจริงได้

บทความที่ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน โดย ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์นั้น เขียนสวนกระแสความเชื่อของคนไทยทั้งประเทศในขณะนั้นทั้งหมด บทความนั้นชื่อว่า วันเลือกตั้ง บทสุดท้าย หรือบทเริ่มต้นของพลังประชาธิปไตย นี่ครับตีพิมพ์อยู่ในหนังสือเล่มนี้ อาจารย์อมรกล่าวว่า ถ้าพลังประชาธิปัตยก้าวเข้าสู่การเลือกตั้งในอีกเดือนสองเดือนข้างหน้า และก็บอกว่าให้ช่วยเลือกคนดี คนมีความสามารถทำให้การเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรมที่สุด นั่นแหละบทสุดท้ายของพลังประชาธิปไตย พลังประชาธิปไตยต้องการการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมืองเสียก่อน มีใครฟังไหมครับ ไม่มี นักการเมืองทุกพรรคในขณะนั้นมีใครฟังไหมครับ ไม่มี การเลือกตั้งครั้งนั้นได้พรรคประชาธิปัตย์มาเป็นนายกรัฐมนตรี

ด้วยความเคารพครับ นั่นเป็นอดีต แต่เป็นอดีตที่ผมจำเป็นจะต้องพูดถึง วันนั้นคือปี 2535 กลุ่มผู้จัดการซึ่งแปรสภาพมาเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ในอีก 15-16 ปีต่อมา ลงบทความเพื่อชี้ให้เห็นว่า วันเลือกตั้งมันอาจจะเป็นบทสุดท้ายของพลังประชาธิปไตยก็ได้ ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมืองเสียก่อน ไม่มีใครฟัง พี่น้องครับถัดมาอีก 2 ปี เราก็ได้ลงตีพิมพ์บทความชิ้นสำคัญของ ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ในช่วงเดือนเมษายน 2537 เป็นบทความขนาดยาวมาก ลงตีพิมพ์ในหน้าบทความของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ตลอดเดือนเมษายน ตีพิมพ์จันทร์ถึงศุกร์ติดต่อกันเกือบ 1 เดือนเต็ม บทความนั้น ณ เวลานี้ได้กลายมาเป็นบทความคลาสสิก ที่กลายเป็นหนังสืออ่านประกอบของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ในวิชากฎหมายมหาชนของคณะนิติศาสตร์ของหลายมหาวิทยาลัยด้วยกัน บทความนั้นชื่อว่า Constitutionalism ทางออกของประเทศไทยที่เป็นหัวข้อในงานพันธมิตรสัมพันธ์ในวันนี้แหละครับ ทางออกของประเทศไทยที่มีการแชร์คลิปเสียงของ ท่านอาจารย์อมร จันทรสมบูรณ์ ในช่วงอาทิตย์สองอาทิตย์นี้ แม้กระทั่งเช้านี้

เราพูดมาตั้งแต่ปี 2537 ในบทความนี้ ได้พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ระบอบเผด็จการรัฐสภา ระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง พูดไว้ชัดเจนแจ่มแจ้งทุกอย่างถึงปัญหาและการแก้ไข พี่น้องครับ นี่คือปัญหาของผู้มาก่อนกาลเวลา เรามาก่อนกาลเวลาไปเกือบ 20 ปีเต็ม และแนวทางแก้ปัญหาที่จะเป็นทางออกของประเทศ ตามแนวทางการปฏิรูปการเมือง การปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ผลจากระบอบเผด็จการรัฐสภา เมื่อแปรมาเป็นการต่อสู้ของคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ในช่วงปลายปี 2548 ก็ได้แปรเปลี่ยนมาเป็นคำถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดือนพฤศจิกายน 2548 แปรมาเป็นส่วนหนึ่งของคำถวายฎีกาต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการชุมนุมวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2549 หลักคิดเดิมหลักคิดเดียวกัน และก็ยังคงเป็นหลักคิดที่ทันสมัยอยู่จนทุกวันนี้ และถูกถือเป็นหนึ่งในธงนำในการต่อสู้ของกลุ่มต่างๆ ที่จะต้องมีการพูดถึงอยู่ต่อไป

พี่น้องครับ สมัยนั้นหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน เป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกที่หน้าการเมือง เวลาเรากล่าวถึงคำว่า นักการเมือง หนังสือพิมพ์ฉบับอื่นเขาก็ใช้คำว่า นักการเมือง แต่ผู้จัดการรายวันเราไม่ใช้คำว่า นักการเมืองครับ เราใช้คำว่า นักเลือกตั้ง และหลายครั้งที่เราไม่ใช้คำว่าระบอบประชาธิปไตย แต่เราใช้คำว่า ระบอบเลือกตั้งธิปไตย พี่น้องครับ นี่คือส่วนหนึ่งที่เป็นประวัติศาสตร์ที่ผมอยากจะเล่าให้พี่น้องประชาชนที่อาจจะมาเข้าร่วม กับเวทีแห่งนี้หลังจากเกิดมีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแล้ว แต่ขอให้พี่น้องจงภูมิใจเถอะครับว่า ผู้นำของพี่น้อง แกนนำของพี่น้องนั้น ไม่เคยแปรเปลี่ยนครับ ไม่ว่าจะมีคนมาร่วมต่อสู้ 10 คน 100 คน 1,000 คน หรือในวันนี้ มีคนตื่นขึ้นเป็นล้านล้านคนก็ตาม เราก็ไม่เคยเปลี่ยนครับ

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้หมายความว่า การเป็นผู้พูดคนแรก การเป็นผู้ต่อสู้คนแรกแล้ว มันจะมีคุณค่าเหนือกว่าคนที่ตื่นขึ้นมาทีหลัง หรือขึ้นมานำต่อสู้ภายหลัง ผมเชื่อว่าในแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์นั้น แต่ละคนก็ถูกฟ้ากำหนดให้มีบทบาททางประวัติศาสตร์ที่แน่นอนบทบาทหนึ่ง บทบาทของที่แห่งนี้คือ การจุดเทียนเล่มแรก พี่น้องครับ วันที่คุณสนธิ ลิ้มทองกุล คุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ รณรงค์ให้พี่น้องโหวตโนอย่าปล่อยสัตว์เข้าสภาฯ หลายคนบอกว่า เอ๊ะทำไมหยาบคายอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ครับ ซัก 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา พี่น้องที่เล่นโซเชียลมีเดียคงจะเห็นบทความของ ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ที่แชร์กันไปทั่ว ที่พูดถึงระบบสภาฯ บ้านเราว่า บางทีมันก็เป็นระบบที่เหมือนเป็นการเมืองของสัตว์ เดี๋ยวนี้เราเห็นคำพูดของนักการเมืองอย่างคุณพินิจ จารุสมบัติ บอกว่า ในการเลือกตั้งมันใช้เงินเขตละไม่ต่ำกว่า 5-100 ล้าน

พี่น้องครับ อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ออกบทความชิ้นสำคัญเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมานี้เองบอกว่า ไอ้ระบอบการเมืองปัจจุบันท่านเรียกว่า มันเป็นระบบสมจรของทักษิณ มันผสมกันระหว่างรัฐบาลหุ่นเชิดสมจร กับสภาขี้ข้าสมจร พี่น้องครับท่านอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี ท่านเป็นคนสุภาพครับ สมจรเป็นภาษาบาลี ท่าน ส.ว.วันชัย สอนศิริ เพื่อนผมแปลภาษาเด็กวัดให้ฟังว่า คุณคำนูณ สมจรแปลภาษาผมก็คือ หมาติดเก้งไม่เลือกที่ สรุปอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีบอกว่า ไอ้ระบอบปัจจุบันมันคือระบอบหมาติดเก้งไม่เลือกที่ของทักษิณ ที่ผสมกันระหว่างรัฐบาลหุ่นเชิดหมาติดเก้งไม่เลือกที่กับสภาขี้ข้าหมาติดเก้งไม่เลือกที่ ถามว่า อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี พูด มีสื่อนำไปถ่ายทอดเยอะ แต่สมัยพี่น้องรณรงค์โหวตโน อย่าปล่อยสัตว์เข้าสภาฯ ไม่ค่อยมีสื่อเอาไปถ่ายทอด มันก็เสียเปรียบกันตรงนี้แหละครับ แต่มันไม่ใช่แค่ 2 ปีนะครับ ผมอยากจะกราบเรียนพี่น้องว่า ระบบสมจร ระบบหมาติดเก้ง ชาวผู้จัดการรายวัน คุณสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น เห็นมาก่อนตั้งแต่ทักษิณ ชินวัตร จะเข้าสู่การเมือง ตั้งแต่ปี 2538 คุณสนธิ ลิ้มทองกุลนั้น ได้ซื้อภาพเขียนภาพหนึ่งของศิลปินล้านนา ที่ชื่อว่า ประสงค์ ลือเมือง มาติดที่อาคารบ้านพระอาทิตย์ อาคารบี ที่เป็นอาคารของกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ผู้จัดการรายสัปดาห์ ผู้จัดการรายเดือน ซื้อมาในราคา 8 แสนบาท ตอนนั้นรวยจริงๆ ครับ มีตังค์มาก ก่อนจะมาหมดเพราะจุดเทียนนี่แหละ เป็นค่าจุดเทียนที่แพงมากครับ

ประสงค์ ลือเมือง เขามีแรงบันดาลใจมาจากการเฝ้ามองการเมืองไทยในช่วงเดือนพฤษภาคม 2535 และการติดเก้งของพรรคการเมือง พรรคร่วมรัฐบาลที่ตอนนั้นถูกเรียกว่า พรรคมาร พอหมดสุจินดาก็เชิดสมบุญ ระหงษ์ อะไรแบบนี้ พรรคการเมืองจะมีอยู่ 4-5 พรรค เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ไม่คิดอะไรมากหรอก ถึงเวลาเลือกตั้งกูก็จะลงเลือกตั้ง ขอให้มัน 20-30 เสียง ขอให้ได้ร่วมรัฐบาลเป็นใช้ได้ พรรคอะไรไม่ต้องพูดถึงนะครับ วันนี้ก็เพิ่งแถลงข่าวออกมา มันมีนักการเมืองแบบนี้อยู่ ประสงค์ ลือเมือง เขาเป็นศิลปินล้านนา และเขาเขียนภาพเขียนสีฝุ่น เขาเรียกอะไรทางเทคนิคผมจำไม่ได้นะครับ และก็เขาจะเขียน คือเวลาศิลปินเขาเขียนถึงเรื่องการสังวาสมันสุภาพนะ แต่ว่าถ้าเราพูดเองมันอาจจะไม่สุภาพนะครับ ประสงค์ ลือเมือง เขาก็เขียนภาพขึ้นมาภาพหนึ่ง ผมอยากให้กล้องจับมาตรงนี้ ไม่ทราบได้ไหม เป็นภาพที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษ Animal Intercourse แปลเป็นไทยว่า สัตว์สังวาส เพื่อบ่งบอกสภาพติดเก้งไม่เลือกที่ของการเมืองไทย

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พอเห็นเขาก็ซื้อเลย เซ็นเช็กไป 8 แสนบาทให้ผมไปซื้อมา ติดที่อาคารบี เพื่อเตือนใจกองบรรณาธิการว่า นี่คือการเมืองไทยที่เป็นจริง เราในฐานะที่เป็นสื่อจะต้องสะท้อนความเป็นจริงของการเมือง และเราในฐานะที่เป็นสื่อที่ไม่เป็นกลาง แต่เลือกข้างความถูกต้อง ความเป็นธรรม จะต้องต่อสู้เพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทย 2538 นะครับ จนบัดนี้ก็เกือบ 20 ปีนะครับ ภาพนั้นก็ยังคงติดอยู่ การเมืองไทยก่อนจะถึงวันนี้ก็ยังเป็นเรื่องของสัตว์สังวาส ยังเป็นเรื่องของติดเก้งไม่เลือกที่ของนักการเมือง

พี่น้องครับขอพี่น้องจงภูมิใจเถอะครับว่า ตลอดระยะเวลา 7-8 ปีของการเกิดขึ้นของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เราไม่ได้ต่อสู้เพื่อนำประเทศกลับไปเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เราไม่ใช่อนุรักษนิยมล้าหลังสุดกู่ไร้เหตุผลเช่นนั้น ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีในประเทศไทยหรอกครับ เราไม่ได้ปฏิเสธระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทน เราไม่ได้ปฏิเสธการเลือกตั้ง แต่เราต่อสู้เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทนนั้น เป็นระบอบประชาธิปไตยระบบตัวแทนของแท้ ที่สามารถจะให้ได้ตัวแทนที่เป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่แท้จริง ไม่ใช่เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง ที่เขาลงทุนตั้งพรรคการเมืองเพื่อชนะการเลือกตั้ง ด้วยเงิน 3,000 ล้านบาท 4,000 ล้านบาท และก็เป็นเสียงข้างมากในรัฐสภา มีนักการเมืองมี ส.ส.เป็นเสมือนพนักงานในบรรษัทการเมือง จำกัด ไม่มหาชนด้วยนะ มันเป็นบริษัทส่วนตัวของมัน ยกมือออกนโยบายเพื่อทำความร่ำรวยให้กับเขา ดังเช่นที่ปรากฏขึ้นมาในระบอบทักษิณ ซึ่งผมถือว่ามันคือพัฒนาการขั้นสูงสุดของระบอบเผด็จการรัฐสภาของกลุ่มทุนเจ้าของพรรคการเมือง เป็นพัฒนาการขั้นเกือบสูงที่สุด ขาดอีกท่านเดียวครับ ถ้าเขาแก้รัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.สรรหา ถ้าเขาออกกฎหมายนิรโทษกรรมสำเร็จ ระบอบเผด็จการรัฐสภาของนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง โดยระบอบทักษิณ ซึ่งเป็นพัฒนาการสูงสุดนั้นก็จะครองอำนาจยิ่งใหญ่กว่าสถาบันใดๆ ในประเทศนี้ พี่น้องครับนี้คือสิ่งที่เราต่อสู้มา เราต้องการการเลือกตั้งที่มีนวัตกรรมเพื่อให้ได้ตัวแทนของพี่น้องประชาชนที่แท้จริงของพี่น้องประชาชน รูปแบบจะเป็นอย่างไรนั้นพูดคุยกันได้ ในการชุมนุม 193 วัน พี่น้องจำได้ไหมครับพี่น้องคงเคยใส่เสื้อการเมืองใหม่ สีเขียวอ่อน คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูดถึงการเมืองใหม่ที่ควรจะเป็น พูดถึงหลักการปกครอง ถูกโจมตีกันสาดเสียเทเสีย เอาการยกตัวอย่างระบบ 70:30 ไป กล่าวหาว่าจะนำไปสู่ระบอบเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่ 70:30 มีการเลือกตั้งตัวแทนพื้นที่ก็คือ ส.ส.ชุดปัจจุบันนะครับ เพียงแต่ว่ามีระบบตัวแทนสาขาอาชีพ หรือระบบตัวแทนอย่างอื่นที่เสริมเข้ามา เพื่อให้สภาที่เกิดขึ้นนั้นมันมัลักษณะเป็นตัวแทนของพี่น้องประชาชน เป็นตัวแทนเจตจำนงของพี่น้องประชาชนทั้งพื้นที่คือ ส.ส. และทั้งกลุ่มผลประโยชน์คือสาขาอาชีพ หรือระบอบอื่นใด ยังไม่ใช่ระบบสภาประชาชนที่ กปปส.จะเลือกเองร้อยคนด้วยซ้ำนะ แต่ว่าวันนั้นถูกโจมตีสาดเสียเทเสีย

พี่น้องครับนี้คือการต่อสู้ของพวกเรา พี่น้องจงภูมิใจเถอะครับว่าพี่อยู่กับข้อเสนอหรือข้อเรียกร้องที่ถูกต้อง เป็นข้อเสนอข้อเรียกร้องที่ถูกต้องอย่างน้อยเท่าที่สติปัญญาของผมมี และเป็นข้อเสนอและข้อเรียกร้องที่ตรงกันกับสิ่งที่เรียกว่ามวลมหาประชาชนกำลังเรียกร้องอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเราเองก็พร้อมที่จะเป็นหนึ่งคนในมวลมหาประชาชนเหล่านั้น

พี่น้องครับเราเคยเรียกร้องอะไรครับ เราเคยเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาต่อสู้กับพี่น้องประชาชน วันนี้สำเร็จแล้วใช่ไหมครับ พรรคประชาธิปัตย์ลาออกจาก ส.ส.ทุกคน พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่ส่งสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์นี้ ในวันที่เราเรียกร้องครั้งแรกเราถูกประณามหยามเหยียดแล้ววันนี้เป็นยังไงครับพี่น้อง พี่น้องครับไม่ต้องห่วงหรอกครับว่าบ้านเมืองจะออกอย่างไรจะเดินไปทางไหน ผมยังไม่ทราบรูปธรรมที่ชัดเจน ผมรู้อย่างเดียวว่าทางออกอยู่บนถนนครับ ออกไปยืนบนถนนออกไปเดินบนถนนแล้วเราจะพบทางออกเองในวันหนึ่ง ผมยืนยันว่าประเทศไทยจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว

ทำไมสิ่งที่เราพูดมีน้ำหนักน้อยกว่าที่กำนัน สุเทพ เทือกสุบรรณ พูด และพรรคประชาธิปัตย์ทำตาม เป็นเรื่องปกติมากครับพี่น้อง เราเป็นคนตัวเล็กๆ ในสังคม แม้กระทั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ก็เป็นบุคคลที่อยู่นอกวงอำนาจรัฐ แม้จะเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตามสมควร แม้จะเป็นสื่อมวลชนที่มีคนนิยมตามสมควร แต่ก็ยังเป็นคนนอกของวงในอำนาจรัฐ เทียนที่จุดเล่มแรกและพี่น้องทุกคนเป็นเพียงเทียนเล่มเล็กๆ ที่จุดมา 7-8 ปี ตราบใดที่ไม่สามารถจุดติดลามเข้าไปสู่คนที่อยู่ในวงในอำนาจรัฐได้ความสว่างไสวมันจะไม่เกิดขึ้นมากเท่าเดิม นี้ครับสิ่งที่เราเรียกร้องพรรคประชาธิปัตย์ วันนี้ก็ต้องปรบมือให้พรรคประชาธิปัตย์ครับ เราเคยบอกว่าระบอบทักษิณ หรือทักษิณ ชินวัตร ไม่อะไรหรอก ที่ชนะอยู่วันนี้ก็พรรคประชาธิปัตย์ช่วย เพราะอะไรครับ เราเจ็บปวดกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ว่าไม่มีทิศทางที่ชัดเจนในการปฏิรูปประเทศ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุด ก่อตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2489 ใช่ไหมครับ วันก่อตั้งพรรคอย่างเป็นทางการคือวันที่ 6 เมษายน พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มพลังอนุรักษ์ของประเทศ พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มทุนเก่า พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของเทคโนแครตที่ต่อเนื่องมายาวนาน แต่วันหนึ่งพรรคประชาธิปัตย์เผชิญการท้าทายของกลุ่มทุนใหม่ที่ใช้วิชาการตลาดเข้ามาสู่การเมือง และก็มีทรัพยากรมหาศาลอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน อย่างทักษิณ ชินวัตรนั้น พรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถจะติดค้นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีที่จะไปต่อสู้กับเขาได้ พรรคประชาธิปัตย์จึงพ่ายแพ้มาครั้งแล้วครั้งเล่า เราเรียกร้องว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องปฏิรูปพรรค ถ้าพรรคประชาธิปัตย์สามารถปฏิรูปพรรคได้สำเร็จการต่อสู้กับทักษิณ ชินวัตร หรือพรรคการเมืองอื่น มันก็จะสูสีก้ำกึ่ง ระบบการเมืองสองพรรคมันก็จะเป็นระบบการเมืองสองพรรคที่แท้จริง

วันนี้พี่น้องทำสำเร็จแล้วครับ พรรคประชาธิปัตย์ไม่เพียงแต่จะปฏิรูปเพียงเพื่อชนะการเลือกตั้งในระบบเท่านั้น แต่พรรคประชาธิปัตย์จะโดยสถานการณ์บังคับจะโดยอะไรก็แล้วแต่ กำนันมาก่อนอภิสิทธิ์ตามหลังหรือยังไงก็แล้วแต่ แต่สุดท้ายพรรคประชาธิปัตย์ได้ก้าวออกมาจากระบบและต่อสู้กับพี่น้องประชาชนอีกขาหนึ่ง ทุกวันนี้เราจะมีระบบการเมืองสองพรรคที่คู่คี่สูสีทัดเทียมกัน พี่น้องไม่ต้องห่วงหรอกครับพรรคประชาธิปัตย์ครองคะแนนนิยม มีฐานคะแนนนิยม เอาเป็นว่าครึ่งหนึ่งของประเทศ อีกครึ่งหนึ่งของประเทศอาจยังไม่นิยม แต่ตราบใดที่พลังทางการเมืองในระบบออกมาร่วมกับพี่น้องประชาชนเนี่ย พลังเหล่านี้ไม่มีทางแพ้ครับพี่น้อง

จนถึงทุกวันนี้ผมอยากจะบอกด้วซ้ำว่าเราชนะแล้ว เราก็คือประเทศไทยขอเลียนแบบคนที่เราอาจต้องไปบีบไข่เขาหน่อยนะ ประเทศไทยชนะแล้ว พี่น้องลองหลับตานึกดูสิครับว่าสมมติเราย้อนหลังไปสัก 3 เดือน พี่น้องคิดไหมว่าจะมีวันนี้ คิดยังไงก็ไม่มีทางคิด ฝันยังไงก็ไม่มีทางฝันนะ ก่อนเดือนสิงหาคม 2556 ระบอบทักษิณมันใกล้จะครองประเทศเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแล้ว มันกำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ สำคัญทั้งนั้น มันกำลังมีร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มันกำลังจะใช้เงินกู้ 3.5 แสนล้าน มันกำลังจะผ่านกฎหมายเงินกู้ 2 ล้านล้าน มันกำลังๆ สารพัด พันธมิตรฯ ก็บอกว่ายังไม่ออก ตราบใดที่พี่น้องประชาชนยังไม่ตื่น เป็นไงครับ ผมถึงบอกว่ากฎแห่งกรรมนี้มีจริงนะ กฎแห่งกรรมนี้มีจริง ทักษิณ ชินวัตร เดินหมากพลาดตาเดียวกำลังจะแพ้ทั้งกระดาน ไอ้การไปแก้กฎหมายนิรโทษกรรมทั้งคืนแบบข่มขืนลักหลับประเทศไทยตอน 4.30 น.มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ลามไปหมดทั้งกระดาน กฎหมายนิรโทษกรรมก็ล้มเหลว ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มาของ ส.ว.ก็คว่ำไปแล้ว พอยุบสภาฯ ไอ้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขมาตรา 68 มาตรา 237 ก็คว่ำตามไป 3.5 แสนล้านก็ไม่ได้ใช้ 2 ล้านล้านเรื่องก็คาอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

พี่น้องครับประเทศไทยไม่มีวันเหมือนเดิมอีกแล้วครับ เฉพาะที่กล่าวมานี้ก็พอจะพูดได้ว่าเราชนะแล้ว แต่เราจะชนะแค่ไหนอย่างไร จะพบทางออกที่ยั่งยืนถาวรของประเทศหรือไม่ ผมเชื่อว่ามันต้องใช้เวลาครับ มันต้องใช้เวลา เพราะเมื่อเราต่อสู้ด้วยสันติ ด้วยความเป็นคนดี และด้วยการวางเฉยของทหาร ซึ่งในอีกด้านหนึ่งผมก็ชอบนะ การเปลี่ยนแปลงก็อยู่ที่พี่น้องประชาชน อย่าไปแคร์ว่าคนนำชื่อสนธิ ลิ้มทองกุล หรือชื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ พี่น้องครับ เวลาฟังลุงกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ปราศรัยหลับตาดูมันเหมือนๆ คุณสนธิ ลิ้มทองกุล พูดนะ หลายประโยคหลายบริบทหลายแนวความคิด และที่ผมไล่เรียงทั้งหมดขณะนี้ว่ากว่าเราจะมาถึงที่เทียนเป็นล้านเล่มจุดติดขึ้น และก็ลามเข้าไปในระบบการเมืองที่พรรคประชาธิปัตย์ และก็อาจตามมาอีกบางคนบางพรรค มันใช่เวลาถึง 20 ปีนะครับพี่น้องครับ

เพราะฉะนั้นทางออกของประเทศไทยที่แท้จริงที่สมบูรณ์ที่ยั่งยืน อย่าไปถามว่าจะอยู่ที่วันพรุ่งนี้หรือวันมะรืนนี้หรือเดือนหน้าหรือเดือนไหน ก็เราก็สู้กันไปเรื่อยๆ ครับพี่น้อง ผมว่าดีซะอีกนะที่เราจะได้มาพบปะกัน ผมเองไม่ค่อยได้ขึ้นเวทีแบบนี้ต่อไปก็คงต้องขอขึ้น เพราะว่ามันก็ครึ้มดีเหมือนกันนะ วันเดินขบวนใหญ่เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ผมคิดอยู่ว่าจะไปเดินกับใคร ดีใจมากที่พี่น้องพันธมิตรฯ ตัดสินใจเดินขบวน และก็เป็นครั้งแรกที่ได้ขึ้นรถบัญชาการ เพราะปกติเขาให้อยู่เบื้องหลัง พอขึ้นนั่งรถบัญชาการก็แจ็กพอตครับ ถือเป็นบุญครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้เห็นพี่น้องประชาชนที่มีโอกาสใกล้ชิดลุงจำลอง ศรีเมือง ในวินาทีที่ท่านเจ็บปวดขนาดหนัก แต่ท่านไม่ปริปากบอกเลยสักคำหนึ่ง ปรบมือให้ท่านให้ป่วยเร็วๆ ครับ อันนี้ก็ไม่ทราบหนักไปหรือไม่นะครับ

ผมขึ้นหลังจากพระเอกใหญ่ลำบาก คุณสนธิพูดแล้ว ผมก็บอกว่าคุณสนธิพูดแล้วให้ผมพูดตามเนี่ยฆ่าผมดีกว่า นี้ยังไม่พอยังให้คุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม มาขึ้นก่อนอีก พระเอกนางเอกขึ้นมาแล้วตัวประกอบอย่างผมจะมีค่าอะไร แต่ว่าอยากจะกราบเรียนพี่น้องครับว่าผมเป็นคนมีหลักคิด ผมเป็นคนมีจุดยืน เมื่อผมเป็นสมาชิกวุฒิสภาไม่ใช่ผมติดยึดในตำแหน่งหรอก แต่ว่าการเมืองจากนี้ไปมันอาจมีจังหวะใดจังหวะหนึ่งที่จะต้องตัดสินกันในเวทีวุฒิสภาบ้าง ผมก็อยากจะรักษาตัวเพื่อทำหน้าที่ตรงนั้นให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมไม่ขึนเวทีไหนเลยครับยกเว้นเวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพราะอะไรครับพี่น้อง ถ้าไม่มีพี่น้องก็ไม่มีผม ส.ว.ระบบสรรหาที่ผมเป็นอยู่ มันไม่ใช่อยู่ดีๆ 7 คนเขาจะเลือกใครก็ได้มันต้องมีองค์กรส่งเข้าไป รอบแรกองค์กรที่ส่งผมเป็นสถาบันนโยบายศึกษา องค์กรของท่านชัยอนันต์ สมุทวณิช รอบ 2 เมื่อปี 2554 ผมก็ไปเรียนคุณสนธิ ลิ้มทองกุล ว่า ได้เสียกันไปเลยดีกว่า ว่า ขอให้องค์กรที่ส่งผมเขาไปคัดสรรการเป็น ส.ว.คือ องค์กรของที่นี้ ก็คือมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินครับ มูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดินที่ผมเป็นประธานคนแรกและตอนนี้เป็นท่าอาจารย์สามารถ มังสัง เป็นประธาน ก็ส่งผมเข้าเป็นรับการสรรหาเป็น ส.ว.เพราะฉะนั้นเมื่อมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ซึ่งก็เป็นเครือข่ายเดียวกับบ้านพระอาทิตย์ บ้านเจ้าพระยา เอเอสทีวีผู้จัดการ มีกิจกรรมใดๆ ผมก็ต้องถือว่าตนสังกัดของผมมีงาน ผมก็ต้องมารับใช้ครับพี่น้อง เป็นตัวประกอบมือใหม่ก็ต้องยอม พี่น้องก็ทนเอาหน่อยนะครับ

วันนี้ตั้งใจมาไล่เรียงประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ของพวกเราตั้งแต่ปี 2535 จนถึงบัดนี้ เป็นเวลามากกว่า 20 ปี ก่อนเทียนเล่มแรกจะจุดเมื่อ 8 ปีที่แล้ว เราต่อสู้เพื่อรณรงค์ทางปัญญาต่อสังคมไทยมาก่อนหน้านั้นไม่ต่ำกว่า 12-13 ปี เมื่อเทียนเล่มแรกจุดขึ้นและจุดต่อให้พี่น้องเปล่งประกายเทียน อีก 7-8 ปี ท่ามกลางพายุฝน ท่ามกลางฝุ่นตลบอบอวล ท่ามกลางหยดเลือดและแก๊สน้ำตา และหยาดเหงื่อของพี่น้อง บัดนี้เทียนได้ถูกจุดขึ้นทั้งแผ่นดิน และจากพวกเราที่เป็นคนวงนอกอำนาจรัฐบัดนั้นเทียนได้จุดติลามเข้าไปอยู่ในคนวงในอำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะเป็นกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่งเคยเป็นถึงอดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กฎแห่งกรรมมีวิธีการทำงานที่แปลกๆ ครับ อันที่จริงสิ่งที่พวกเราต่อสู้มา 7-8 ปีนั้น คนวงในที่ขึ้นสู่อำนาจรัฐมีอำนาจเต็มอย่างพรรคประชาธิปัตย์เขาขานรับตั้งแต่ปลายปี 2551-2552 หรือว่าหลังวิกฤตปี 2552-2553 แล้วดำเนินการทำต่อเนื่องไปโดยการมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ แล้วพวกเราร่วมสนับสนุนอยู่ข้างนอก บางทีมันอาจลุล่วงไปพอสมควรแล้วนะครับ แต่ก็ไม่เป็นไรครับในเมื่อในวันนั้นท่านยังไม่ได้ทำ ฟ้าก็ส่งให้ท่านมาทำวันนี้ครับ ก็ยากหน่อยก็เหนื่อยหน่อยนะครับ วันนี้เพิ่ง 50 กว่าวันนะครับ แต่พวกเรากี่วันนะ 193 +158+ อีกเท่าไร พี่น้องรู้มากกว่าผม เกือบปี ตากแดดตากฝนอย่างนี้ เพราะฉะนั้นก็คือเราก็ให้กำลังใจท่านกำนัน ท่าน กปปส.ท่านพรรคประชาธิปัตย์ได้สู้ต่อไปครับ หากต้องการกำลังต้องการการแสดงตนที่ไหนเมื่อไรขอให้บอกมาวกเราจะออกไป ขอให้ความสุขสวัสดีความเจริญรุ่งเรืองจงอยู่กับพี่น้องพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยทุกท่าน ขอบพระคุณครับ”


กำลังโหลดความคิดเห็น