xs
xsm
sm
md
lg

สารคดีมีชีวิต ของ “ธีรภาพ โลหิตกุล” นักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” คนล่าสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ธีรภาพ โลหิตกุล (ภาพ : วีระศักดิ์ จันทร์ส่งแสง)
ในแวดวงนักเขียน ชื่อของ “ธีรภาพ โลหิตกุล” ถือเป็นนักเขียนสารคดีแถวหน้า โดยเฉพาะสารคดีท่องเที่ยวที่อัดแน่นด้วยข้อมูลความรู้ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรม แต่กลับอ่านเพลินด้วยชั้นเชิงการเล่าเรื่องและการเรียงร้อยถ้อยคำอย่างมีวรรณศิลป์ รวมถึงภาพถ่ายสวยๆ ด้วยฝีมือของเขาเอง จนเป็นที่ยอมรับของทั้งผู้อ่าน ช่างภาพ และผู้คนในแวดวงวรรณกรรมด้วยกันเอง

ในวันนี้ นอกจาก ธีรภาพ โลหิตกุล จะเป็นนักเขียนสารคดีอิสระที่การันตีได้ถึงผลงานคุณภาพและช่างภาพฝีมือเยี่ยมแล้ว เขายังเป็นนักเขียนรางวัล “ศรีบูรพา” คนล่่าสุด ที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่าซึ่งมอบให้แก่นักเขียนผู้มีผลงานอันทรงคุณค่าและมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างอีกด้วย

เดินทางบนถนนสายสารคดี

“ผมเริ่มเขียนคอลัมน์ที่เป็นสารคดีในนิตยสาร Hi Class ประมาณปี 2526 ในช่วงแรกไม่ได้เขียนเกี่ยวกับสารคดีท่องเที่ยว แต่จะเขียนเรื่องธรรมชาติวิทยา ศิลปกรรม ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ จนกระทั่งปี 2530 ได้เข้ามาทำงานที่นิตยสาร อสท. จึงเข้าสู่แวดวงสารคดีท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ ผมสนใจในศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี จึงได้รับมอบหมายให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต ศิลปวัฒนธรรม ที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว แต่จะไม่นำเสนอการท่องเที่ยวล้วนๆ แต่จะพยายามเจาะลึกไปถึงชีวิต” ธีรภาพเล่าให้ฟังถึงชีวิตในช่วงแรกของการทำงานด้านสารคดี
นักเขียนรางวัลศรีบูรพาคนล่าสุด (ภาพ : สมคิด ชัยจิตวณิช)
เมื่อคลุกคลีในสื่อสิ่งพิมพ์ระยะหนึ่ง ธีรภาพหันมาจับงานเขียนบทสารคดีโทรทัศน์รายการโลกสลับสี โดยบริษัทแปซิฟิก

“ในตอนนั้น ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล มีนโยบายว่าเราควรจะทำสารคดีในประเทศเพื่อนบ้าน เพราะตอนนั้น NHK ทำสารคดีเรื่องแม่น้ำเหลือง เส้นทางสายไหม แล้วทำไมเราจึงไม่ใส่ใจจะทำเรื่องประเทศเพื่อนบ้านของเราบ้าง จากจุดนั้นเลยมีโอกาสเข้าไปในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม เพื่อทำสารคดีเพื่อชี้ให้เห็นถึงความงดงามของประเทศที่เคยตกอยู่ภายใต้สงครามมาหลายทศวรรษ” ธีรภาพกล่าว

แต่การลงพื้นที่เพื่อทำสารคดีในช่วงแรกๆ นั้นไม่ง่ายเลย ธีรภาพเล่าถึงการเดินทางไปทำสารคดีที่นครวัด ประเทศกัมพูชาในยุคนั้นว่า

“ผมไปช่วงปี 2532 การเดินทางนั้นลำบากแน่ ทางรถไม่ต้องพูดถึง แม้กระทั่งตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาก็ยังมีการสู้รบกันอยู่เลย ต้องใช้วิธีบินไปยังนครวัด แต่ในเวลานั้นรัฐบาลไทยก็ไม่ได้ให้การรับรองการบินไปที่นั่น ต้องใช้เส้นทางอ้อม กรุงเทพฯ-เวียงจันทน์ เวียงจันทน์-เสียมเรียบ ใช้เวลา 2 วันเต็มๆ กว่าจะถึงทั้งที่ไปทางเครื่องบิน ระหว่างทำงานก็ยังได้ยินเสียงปืน เดินไปทางไหนก็ยังต้องระวังระเบิด”

แม้จะลำบากแต่ก็คุ้มค่าที่ได้เป็นผู้บุกเบิกให้คนไทยได้เห็นแง่มุมอันงดงามของประเทศเพื่อนบ้าน “เมื่อได้เดินทางเข้าไปในลาว กัมพูชา เวียดนามเพื่อทำสารคดี ก็ตื่นตะลึงกับสิ่งที่ได้เห็น เรานั้นรู้จักเขาน้อยมากหรือแทบไม่รู้จักเลย และรู้จักแต่ด้านที่เกี่ยวกับสงครามซึ่งไม่ใช่สิ่งที่แท้จริง การได้ไปสัมผัสทำให้เห็นว่าประเทศเพื่อนบ้านของเรานั้นมีอารยธรรมที่งดงาม มีทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์โบราณคดีมากมาย ดังนั้น สงครามไม่ใช่ภาพที่แท้จริงของดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออุษาคเนย์ สงครามเป็นเพียงมายาภาพที่ประเทศตะวันตกก่อขึ้นมาเพื่อจะแย่งชิงความเป็นใหญ่ แย่งชิงทรัพยากรในประเทศเหล่านี้ แต่จริงๆ แล้วพวกเขามั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรมและศรัทธาในศาสนาที่ยิ่งใหญ่” ธีรภาพกล่าว
พุกาม ประเทศเมียนมาร์ ที่ยังเต็มไปด้วยวัฒนธรรมและโบราณสถานที่สมบูรณ์ (ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล)
เปิดประตูสู่ความเข้าใจในอุษาคเนย์


การได้มีโอกาสเดินทางเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตยังประเทศเพื่อนบ้านต่อหลายครั้ง ทำให้ธีรภาพมีความรู้ความเชี่ยวชาญ และกลายมาเป็นนักเขียนสารคดีด้านประวัติศาสตร์อุษาคเนย์ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับ โดยธีรภาพได้ใช้โอกาสนี้ชี้ให้เห็นถึงภาพที่งดงามในประเทศเพื่อนบ้าน เขากล่าวว่า เรารู้จักประเทศเพื่อนบ้านน้อยและไม่ค่อยรักประเทศเพื่อนบ้าน เพราะมีประวัติศาสตร์ที่เป็นบาดแผลหลายเรื่อง บางคนก็รู้สึกว่าเขาต่ำต้อยกว่า ในหลายครั้งจึงเกิดความรู้สึกดูถูกเพื่อนบ้าน

“พม่า ลาว กัมพูชาเป็น 3 ประเทศที่ผมให้ความสนใจศึกษามากเป็นพิเศษ เนื่องจากมีวัฒนธรรมร่วมกันในเรื่องศาสนาพุทธ และเป็น 3 ประเทศที่มีประวัติศาสตร์ผูกพันกันมาในเรื่องความบาดหมาง ทำสงครามกัน สิ่งเหล่านี้เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เป็นตัวขัดขวางความสัมพันธ์ เนื่องจากว่าคนในปัจจุบันยังคงเก็บเอาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมานานแล้วและจบไปแล้วมาผูกใจเจ็บ จริงๆ แล้วทุกประเทศเป็นทั้งผู้ถูกกระทำและเป็นฝ่ายกระทำแทบทั้งสิ้น ถ้าประเทศหนึ่งแค้นอีกประเทศหนึ่ง มันก็ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องแค้นกันอีก”

“อย่างพม่าเป็นประเทศที่คนไทยผูกใจเจ็บในสงครามสมัยโบราณมากที่สุดแล้ว แต่ในความเป็นจริงแล้วพม่าเป็นดินแดนที่มีอารยธรรมสูงส่ง มีโบราณสถานที่ยังคงรักษาไว้อย่างดีเยี่ยม มีประเพณีถอดรองเท้าเข้าวัด ประเพณีชักพระทางน้ำ การใช้เท้าแจวเรือของทางพม่าที่ทะเลสาบอินเล ความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้มีมากซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะเรียนรู้และจดจำ ไม่ควรฝังใจในบาดแผลทางประวัติศาสตร์ เพราะในสงครามผู้ที่เป็นฝ่ายกระทำก็กลายเป็นคนใจดำเหมือนกันหมด ดังนั้นผมจึงมีความมุ่งมั่นที่จะเอาเรื่องราววัฒนธรรมประเพณี สถานที่ท่องเที่ยวของประเทศเพื่อนบ้านมานำเสนอ เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความเข้าใจอันดีต่อกันทดแทนความบาดหมางที่มันจบไปแล้ว” ธีรภาพกล่าว

เมื่อถามว่า ความรู้ความเข้าใจในประวัติศาสตร์สามารถช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งของประเทศเพื่อนบ้านเช่นในกรณีเขาพระวิหารได้หรือไม่ ธีรภาพตอบว่า
สาวมอญ-พม่าทาแป้งตะนะคา รัฐยะไข่ (ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล)
“ได้แน่นอน ประวัติศาสตร์บอกชัดเจนว่าความขัดแย้งตรงนี้เกิดเนื่องมาจากประวัติศาสตร์ช่วงหนึ่งของเอเชียตะวันออกเชียงใต้ที่ได้รับอิทธิพลของตะวันตกที่เป็นมหาอำนาจอย่างฝรั่งเศสที่มาล่าอาณานิคมและทำมรดกบาปเป็นปัญหาทิ้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นการขีดเส้นแบ่งเขตแดนทำให้เกิดความสับสนขึ้นมา ถ้าเราศึกษาประวัติศาสตร์จะพบว่าเส้นเขตแดนมีมาไม่เกิน 150 ปี แต่เรื่องราวประวัติศาสตร์วัฒนธรรม พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มีมาเป็นพันปีแล้ว ปัญหาเรื่องเขตแดนที่เกิดขึ้นเป็นภาพมายา แท้จริงนั้นเรามีวัฒนธรรมร่วมกันมา และที่เราจะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนเท่ากับว่าเราได้ยกรั้วออกเพื่อรวมตัวเป็นครอบครัวเดียวกัน เป็นตลาดเดียวกัน ค้าขายร่วมกัน เรื่องชายแดนนั้นต้องลดความสำคัญในเรื่องนี้ลงไป แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีใครที่จะยอมเสียพื้นที่ที่มีปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนที่มาจากแผนที่คลุมเครือและการตัดสินที่ไม่ชัดเจน ถ้ามันมีปัญหาโดยต่างฝ่ายต่างไม่มีใครยอมเสีย หรือจะพัฒนาพื้นที่ร่วมกันก็ไม่ได้ เพราะการเมืองภายในของแต่ละฝ่ายยังไม่นิ่ง ก็ปล่อยไว้เฉยๆ ดีกว่า คือแทนที่จะเถียงกันและเถียงไม่จบ และถ้าต้องการเถียงให้จบมีทางเดียวคือใช้อาวุธมายิงกัน ก็ปล่อยไว้เฉยๆ ยังดีกว่าทำสงครามกัน”


นักเขียนสารคดีรางวัลศรีบูรพา


การเขียนสารคดีไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ธีรภาพก็ยืนหยัดอยู่ในอันดับต้นๆ บนเส้นทางนี้มานานกว่า 30 ปี โดยมีหลักในการทำงานอยู่ที่การลงลึกในข้อมูลและการเรียงร้อยด้วยวรรณศิลป์ ดังที่เขากล่าวว่า

“ผมเห็นแบบอย่างที่ชัดเจนมาจากรุ่นพี่ อย่างคุณวาสนา กุลประสูตร (อดีตบรรณาธิการนิตยสาร อสท. ปัจจุุบันเสียชีวิตแล้ว) ซึ่งงานเขียนของเขามีชีวิตชีวา ไม่ว่าจะเขียนเรื่องอะไรจะมีอารมณ์และความรู้สึกเข้าไปเกี่ยวข้อง มีเรื่องของบรรยากาศ ฤดูกาล และมักจะมีตัวละครซึ่งเป็นบุคคลในพื้นที่หรือชาวบ้าน หรือนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้เราประทับใจว่าสารคดีสามารถเขียนให้มีลีลาทางวรรณศิลป์ได้ โดยเฉพาะนักเขียนศิลปินแห่งชาติ อ.เสกสรรค์ ประเสริฐกุล งานเขียนชุด เดินป่าเสาะหาชีวิตจริง เพลงน้ำระบำเมฆ มหาวิทยาลัยชีวิต เป็นบทสรุปให้ผมในช่วงเวลานั้นว่า ‘เรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย’ คือเรื่องจริงสามารถมานำเสนอยิ่งกว่านิยายได้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาผมก็เริ่มต้นที่จะเขียนงานสารคดี โดยที่เห็นว่าสารคดีนั้นต้องมีชีวิต ถึงแม้จะต้องนำข้อมูลมาเขียน แต่เป็นการนำข้อมูลมากลั่นกรองผ่านจินตนาการ ผ่านการนำเสนออย่างมีศิลปะ สารคดีไม่ใช่สิ่งที่นำข้อมูลมาเขียนแบบไม่มีจินตนาการโดยเด็ดขาด โดย 30 กว่าปีที่ผ่านมา ทุกครั้งที่จะนำเสนอต้องคิดเสมอว่าต้องทำอย่างไร ไม่ใช่เป็นการนำข้อมูลที่คัดลอกมาร้อยเรียงกันเท่านั้น”
คุณย่าคุณยายชาวผู้ไทบ้านเหล่าใหญ่ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ (ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล)
“อย่างตอนที่ได้รับมอบหมายให้เขียนสารคดีลุ่มน้ำโขง ชี มูล ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการเขียนถึงสามลุ่มแม่น้ำ ผมก็พยายามไปค้นหาตัวละครที่มีชีวิตจริง จนไปเจอคุณตาท่านหนึ่งซึ่งเคยมีอาชีพเป็นนายฮ้อยคุมเรือสินค้าขายเกลือ ซึ่งนำเกลือมาจากลุ่มแม่น้ำชี ล่องผ่านแม่น้ำมูล ออกไปขายในเขตลุ่มแม่น้ำโขง เท่ากับว่าเราเล่าเรื่องของภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ของลุ่มแม่น้ำ ผ่านการเดินทางของนายฮ้อยหรือผู้คุมขบวนเรือสินค้าในสมัยโบราณ โดยใช้ชื่อเรื่องว่า ‘เพลงชีวิตโดยอดีตนายฮ้อยนักแรมทางแห่งลุ่มน้ำสองสี’ ฉะนั้นไม่ว่าจะทำสารคดีแนวไหน ก็พยายามทำให้มันน่าสนใจมากกว่าการเขียนข้อมูลล้วนๆ โดยใช้ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ใช้รูปแบบของเรื่องสั้นและนวนิยาย มาเขียนเป็นสารคดี”

แต่ในขณะนี้ที่เป็นยุคที่มีเทคโนโลยีรวดเร็วฉับไว มีช่องทางในการนำเสนอที่หลากหลาย โดยเฉพาะสื่ออินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ก บล็อกต่างๆ เป็นช่องทางให้นักเขียนหน้าใหม่ได้แสดงออก และยังทำให้แหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว ประเด็นนี้นักเขียนสารคดีมืออาชีพอย่างธีรภาพมองว่า

“ผมว่าเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากสื่อต่างๆ มีความรวดเร็วฉับไว แต่ผมมองว่ายิ่งสื่อที่รวดเร็วมากเท่าไร แล้วคุณสื่ออะไรออกไปมีข้อมูลที่ถูกต้องหรือไม่ สมัยก่อนที่เทคโนโลยียังไม่รวดเร็วทำให้เรามีโอกาสที่จะไตร่ตรอง และค้นคว้าหาข้อมูลที่ถูกต้องก่อนที่จะรีบเผยแพร่ออกไป ฉะนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า แต่ต้องอย่าลืมว่าคุณป้อนข้อมูลอะไรเข้าไปและก่อให้เกิดทัศนคติแบบไหนมากกว่า ฉะนั้นถ้าเกิดสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกไป ไม่ได้เกิดประโยชน์ทางสาระปัญญาหรือความคิดในเชิงสร้างสรรค์นั้นก็อาจจะเป็นการทำลายสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้ผู้อ่านตื่นเต้นที่จะรีบไปโดยไม่รู้ว่าที่นั่นมีอะไร เช่นใครๆ ก็พูดถึงหลวงพระบาง แต่บางคนพอไปแล้วก็จะรู้สึกว่าทำไมเป็นเมืองที่น่าเบื่ออย่างนี้ ไม่เห็นมีแสงสีสถานบันเทิงเลย นั่นเพราะว่าไม่เข้าใจเนื้อแท้ของพื้นที่นั้น แต่ปัจจุบันก็มีหลายสื่อที่เน้นภาพ ไม่เน้นข้อมูลมาก แต่ก็ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ซึ่งผมก็ชื่นชม”

กว่า 30 ปี บนเส้นทางสายสารคดี ธีรภาพมีผลงานสารคดีตีพิมพ์ทั้งในหนังสือพิมพ์และนิตยสารจำนวนนับไม่ถ้วน บทความสารคดีที่ถูกนำมารวมเล่มก็มีกว่าครึ่งร้อย ผลงานคุณภาพเหล่านี้ทำให้คณะกรรมการมูลนิธิกองทุนศรีบูรพามีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัลศรีบูรพา ประจำปี 2556 ให้แก่ ธีรภาพ โลหิตกุล โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในวันนักเขียน 5 พ.ค.นี้
บันทายศรี หรือ บอนเตียสเรย ได้รับการยกย่องว่าเป็น รัตนชาติที่แท้ของศิลปะเขมร (ภาพ : ธีรภาพ โลหิตกุล)
“ตอนแรกรู้สึกว่าเป็นรางวัลที่ใหญ่เกินกว่าที่จะรับไว้ได้ แต่ก็ทำความเข้าใจว่ากองทุนศรีบูรพาไม่ได้ดูเฉพาะงานเขียนอย่างเดียว แต่ยังดูงานที่เราทำในด้านอื่นๆ ด้วย ซึ่งผมมั่นใจมาโดยตลอดว่าไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม ผมจะทำกิจกรรมทางสังคมควบคู่ไปด้วยเสมอ เช่นในตอนนี้ก็ยังรวมกลุ่มช่างภาพทำกิจกรรมสังคมในเชิงจิตอาสาในกลุ่ม สห+ภาพ หรือว่าการพยายามใช้งานเขียนมาสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างผู้คนตลอดมา ก็คงจะเป็นสิ่งหนึ่งที่คณะกรรมการมองเห็น จึงให้รางวัล ผมก็รู้สึกขอบคุณและดีใจที่ทางคณะกรรมการมองเห็นทั้งงานเขียน และกิจกรรมที่ทำมาโดยตลอด”

“สารคดีไม่ใช่เรื่องยากแบบที่เราคิด เพียงแต่ขอให้สนใจวิธีการนำเสนอแบบมีศิลปะ ไม่ใช่การเอาข้อมูลมาแปะแบบง่ายๆ เท่านั้นเอง ที่สำคัญสารคดีนำผมไปสู่องค์ความรู้มากมายบนโลกใบนี้ เป็นประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษาศาสตร์ ธรณีวิทยา ทำให้ผมมีความรู้สึกว่ายังมีพื้นที่อีกมากมายบนโลกใบนี้ที่ผมยังไม่ได้ไปสัมผัส ยังมีเรื่องราวในโลกนี้อีกมากมายที่ผมยังไม่ได้เรียนรู้ สารคดีทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นนักเรียน ที่เรียนรู้อย่างไม่รู้จบ สารคดีเป็นทั้งวิชาชีพเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง และเป็นคุณค่าทางปัญญาที่ทำให้ผมมีความสุขที่จะได้เรียนรู้อยู่เสมอๆ” ธีรภาพกล่าวปิดท้าย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

รางวัลศรีบูรพา เป็นรางวัลประจำปีที่คณะกรรมการของกองทุนศรีบูรพา พิจารณาลงมติเพื่อมอบให้กับบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนักเขียน นักแปล กวี หรือนักหนังสือพิมพ์ที่มีแบบฉบับการใช้ชีวิตที่ดีงามและแบบฉบับของการสร้างสรรค์งานที่มีคุณค่าต่อสังคมและมนุษยชาติมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนเช่นเดียวกับ “ศรีบูรพา” (กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักเขียนผู้มีเกียรติประวัติที่ดีงามเป็นที่ยอมรับ) มีผลงานติดต่อกันเป็นเวลายาวนานกว่า 2 ทศวรรษและต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และยังมีชีวิตอยู่

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น