นปช.อัดม็อบนกหวีดทำลายจุดยืนรักสงบ กล่อม 7 องค์กรธุกิจร่วมหนุนเลือกตั้ง อ้างบ้านเมืองต้องมีกฎกติกา ทุกคนต้องเคารพ รธน.และ กม. วอนทหารอยู่ในรั้ว โบ้ยปฏิวัติทำประเทศเสียหายมาเยอะแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ธ.ค. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีการรับฟังความคิดเห็นระหว่างเครือข่าย 7 องค์กรภาคเอกชน และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านแห่งชาติ (นปช.) ถึงสถานการณ์การเมือง โดยแกนนำ นปช. เช่น นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการ รมช.พาณิชย์และแกนนำ นปช. นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.
นางธิดากล่าวถึงจุดยืนและหลักการของ นปช.แล้ว ก็ได้เปิดให้เอกชนซักถาม ซึ่งก่อนหน้าที่จะเริ่มข้อซักถาม นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าไทย ได้กล่าวถึงจุดยืนของภาคเอกชนว่า เอกชนตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจเสมอ และที่ผ่านมาก็มีการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศให้ได้มากที่สุด เช่น โครงการช่วยเกตรกรพัฒนาโครงการ 1 ไร่ 1 แสน และโครงการดูแลและพัฒนาวิสาหกิจชุมชน
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าเอกชนต้องการเห็นประเทศไทยอยู่ในความสงบและสันติ ต้องการเห็นการเมืองที่เป็นประโยชน์ของประเทศชาติและยึดหลักยุติธรรม ไม่มีการคอร์รัปชัน โดยภาคเอกชนโดยปกติจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับภาคการเมือง แต่ครั้งนี้ถือว่าบ้านเมืองไม่ปกติ จึงพยายามรับฟังทุกภาคส่วนโดยหวังว่าประเทศไทยจะเดินไปในทางที่สันติและไม่มีความรุนแรง
จากนั้นนางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เริ่มข้อซักถามว่า ภาคเอกชนก็อยากช่วยหาทางออกแต่ก็อยากทราบว่าจะต้องทำอย่างไรให้คนไทยสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมที่เห็นต่างได้อย่างถาวร อะไรที่จะทำให้ไม่เกิดการออกมาชุมนุมและนำรอยยิ้มกลับมาสู่ประเทศไทยได้อย่างถาวร
นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธาน นปช.ตอบข้อซักถามว่า ประการแรก ต้องดูแลไม่ให้เกิดความรุนแรงโดยการระดมให้ประชาชนสองฝ่ายเกลียดชังกัน ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยเดินมาถึงจุดที่น่ากลัวคือมีการทำให้ประชาชนเกลียดชังกัน เราไม่อยากเห็นประเทศไทยเป็นเหมือนประเทศรวันดาที่ประชาชนเกลียดชังและลุกขึ้นมาฆ่าฟันกัน
โดย นปช.พยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะไม่ให้ประชาชนเกิดความเกลียดชัง แต่ตอนนี้ใกล้แล้วที่ประชาชนจะเกลียดกัน เช่นมีการบอกว่าเห็นคนของรัฐบาลอยู่ที่ไหนให้เป่านกหวีดไล่ หรือให้โห่ไล่ ซึ่งในที่สุดจะพัฒนาสู่การทำร้ายกัน โดย นปช.เลือกที่จะให้พี่น้องถอดเสื้อแดงทิ้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการถูกทำร้าย และเพื่อให้ความเป็นอันเดียวพี่น้องไทยคนอื่น
ประเด็นที่ 2 ที่ต้องทำจากนั้นคือต้องดำเนินการทุกอย่างตามกระบวนการของกฎหมายและครรลองของประชาธิปไตยไม่เช่นนั้นจะไปสู่การเกิดจลาจลอย่างแน่นอน ซึ่งการทำตามกฎหมายนี้ถือว่ารัฐบาลทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่รัฐบาลก็ต้องคำนึงถึงเสียงของคนส่วนใหญ่ด้วย เพราะตอนนี้ไม่ได้มีเพียงมวลมหาประชาชน แต่มีคนอีก 60 กว่าล้านคนที่จับตาดูเรื่องนี้อยู่ การจะเอาคนจำนวนหลักแสนคนมาเรียกร้องนี้ต้องเรียกว่าเผด็จการ ทำให้ธุรกิจเสียหายหมดแล้วใครจะรับผิดชอบ และประเด็นที่ 3 ทหารควรรักษาความสงบด้วยการไม่รัฐประหาร แม้จะมีใครเรียกร้องให้รัฐประหารก็ตาม
จากนั้นนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รักษาการ รมช.พาณิชย์และแกนนำ นปช. กล่าวเสริมว่า ในทุกสังคมมีความคิดเห็นต่างอยู่แล้ว แม้ในสหรัฐฯ ที่มีการพัฒนาของประชาธิปไตย แต่คนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้เพราะมีการรักษากติกาและระบบ ซึ่งเทียบกับประเทศไทยตอนนี้ก็เหมือนมีนักมวย 2 ฝ่ายที่พร้อมจะชก และโปรโมเตอร์ก็ประกาศวันชกแล้วคือวันที่ 2 ก.พ. 2557 แต่ปัญหาคือ ถ้าระหว่างนี้ไปมีคนฉีกกติกาล้มเวที นักมวยก็ไม่มีเวทีชก กองเชียร์ก็จะตีกันลั่นเวที
“ผมไม่ได้เรียกร้องจนเกินเลย และให้พวกท่าน (7 องค์กรธุกิจ) เลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เราเรียกร้องให้ท่านแสดงท่าทีว่าบ้านเมืองต้องรักษากฎกติกาไว้ให้ได้” นายณัฐวุฒิกล่าว
นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช.กล่าวเสริมว่า ที่ประเทศไทยพัฒนาสู้ประเทศอื่น อย่างญี่ปุ่นและสิงคโปร์ไม่ได้ทั้งที่พื้นฐานประเทศดีมาก เพราะประเทศไทยมีรัฐประหารไม่สิ้นสุดเท่าที่นับได้ตอนนี้คือ 25 ครั้ง เฉลี่ย 3 ปีต่อครั้ง ซึ่งถ้าไม่เกิดเหตุแบบนี้ และมีการพัฒนาดีๆ ประเทศไทยสามารถแซงหน้าสิงคโปร์ได้ด้วยซ้ำ อยากให้เอกชนแสดงท่าทีของความเป็นเจ้าของประเทศด้วยการส่งเสียงโดยไม่ต้องกลัวสูญเสียความเป็นกลางว่าอย่าให้มีรัฐประหารในประเทศไทยอีก
อีกข้อหนึ่งคือ ประเทศต้องเดินตามหลักนิติรัฐอย่างแท้จริงและต้องปฏิบัติจนเกิดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะที่ผ่านมามีแต่พูดว่าหลักนิติรัฐแต่ไม่ปฏิบัติให้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในความเป็นจริงประชาชนไม่มีทางเห็นตรงกันอยู่แล้ว แต่มีอย่างเดียวที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้คือต้องมีกฎกติกา จึงอยากให้เอกชนส่งเสียงในเรื่องนี้ด้วยคือ สังคมต้องมีกฎกติกาขอให้ทุกคนเคารพรัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกข้อ
“ท่านเกลียดยิ่งลักษณ์ได้ แต่จะให้ยิ่งลักษณ์ออกก็ต้องเป็นไปตามกติกา ไม่ใช่ให้เป็นไปตามอำเภอใจ มันมีหลายวิธีที่จะไปสู่การปฏิรูป เช่น กำหนดระบอบที่จะบรรลุและจัดการเลือกตั้งให้ประชาชนตัดสิน ประชาชนทุกคนเกิดมากเท่าเทียมกัน ไม่ใช่คุณเกิดมาแล้วมาชี้ทิศประเทศอยากให้ธุรกิจช่วยส่งเสียงว่าสังคมต้องมีกติกาขอให้ทุกคนเคารพกติกา รัฐธรรมนูญและกฎหมายทุกข้อ” นายเหวงกล่าว
หลังจบการหารือระหว่าง 7 องค์กร และภาคเอกชน นายอิสระได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นระหว่างเครือข่าย 7 องค์กรภาคธุรกิจกับ นปช.ก็ได้เห็นว่ามีมุมมองเดียวกันคือ ไม่ต้องการเห็นความแตกแยก และต้องการเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเมื่อรับฟังความเห็นแล้วจะรวบรวมข้อมูลจากทุกฝ่ายเพื่อดูว่าความเห็นส่วนใหญ่นั้นเป็นอย่างไร เพื่อกำหนดเป็นความเห็นของภาคเอกชน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนว่าเอกชนจะจัดเวทีกลางอีกหรือไม่คงต้องพิจารณาดูก่อนว่าจัดแล้วได้ประโยชน์หรือไม่ แต่เอกชนก็พร้อมจะคุยกับทุกฝ่าย
ส่วนคำถามว่าเห็นด้วยกับการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปหรือไม่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกันแต่หลายคนก็คุยกันว่าต้องการการเลือกตั้งที่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย แต่รูปแบบการปฏิรูปนั้นก็สามารถพูดคุยกันก่อนได้ ซึ่งตอนนี้จนถึงวันที่ 2 ก.พ. 2557 ก็เหลือเวลาอีก 40 กว่าวัน ซึ่งถือว่ามีเวลาที่จะคุยกันถึงหลักใหญ่ๆ ที่จะปฏิรูป แต่การปฏิรูปทั้งระบบนั้นคงต้องใช้เวลา ทำในเวลาอันสั้นคงไม่ได้
อย่างไรก็ตาม วันนี้ภาคเอกชนยังไม่ได้ข้อสรุป ส่วนจะมีเวทีกลางขึ้นอีกหรือไม่นั้น ยังต้องมีการประเมินก่อน หากจัดเวทีกลางแล้วเกิดปัญญา ก็น่าจะเกิดขึ้นอีก ส่วนการปฏิรูปประเทศคงไม่สามารถปฏิรูปได้ทั้งหมด แต่เรื่องใหญ่ที่ต้องดำเนินการคือปฏิรูปให้การเลือกตั้งเป็นไปอย่างยุติธรรม
“ยอมรับว่าตอนนี้เอกชนมีความกังวลมาตลอดต่อสถานการณ์การเมือง เพราะตอนนี้เกิดความเสียหายขึ้นมากกับเศรษฐกิจ และที่เป็นความหวังของภาคธุรกิจมากที่สุดคือหวังว่าจะไม่เกิดการปะทะกัน” นายอิสระกล่าว
ด้านนายพยุงศักดิ์กล่าวว่า บรรยากาศความเชื่อมั่นภาคเอกชนนับว่ามีความสำคัญต่อการค้าการลงทุนอย่างมาก เพราะมีผลต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุน ซึ่งถ้าเหตุการณ์ไม่สงบก็คงกระทบกับเศรษฐกิจโดยรวมของปีหน้าด้วย ปีหน้าที่หลายหน่วยงานคาดว่าจะขยายตัว 5% ถ้าเกิดความรุนแรงขึ้นอาจจะลดลงไปเหลือโต 3% ซึ่งการหายไป 2% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ประมาณ 12 ล้านล้านบาท ก็ถือเป็นจำนวนที่สูงมาก
สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนต้องการเห็นคือ ความสงบกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด ไม่มีการโกรธและเกลียดกันในหมู่ประชาชน และต้องมีการดำเนินการตามกฎกติกา ตามกฎหมาย เพราะเป็นสิ่งที่ต่างชาติให้ความสำคัญ หากสิ่งเหล่านี้ไม่มีก็จะไม่มั่นใจในประเทศไทย