xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ชี้รัฐต้องทำประชามติปลุก ปชช.ชี้ชะตา “เขาพระวิหาร” ย้ำต้องเปิดข้อมูลทั้งหมด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - “คำนูณ สิทธิสมาน” แฉ! คดีเขาพระวิหาร และรัฐธรรมนูญ ม.190 ใครได้ ใครเสีย ชี้ศาลโลกตัดสินให้เราเสียดินแดนเรียบร้อยแล้ว แต่ไทยยังมีหวังหากรัฐบาลไม่ตกปากรับคำ แนะประชาชนต้องออกมาปกป้อง เรียกร้องให้รัฐบาลเปิดข้อมูล 2 ด้าน และทำประชามติจากเสียงคนไทยทั้งประเทศ

เวลา 13.30 น. วันนี้ (15 พ.ย.) ที่ห้องประชุมใหญ่ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เครือข่ายอาจารย์ ข้าราชการ และ ม.อ.รักชาติ จัดเวทีเสวนา “แฉ! คดีเขาพระวิหาร และรัฐธรรมนูญ ม.190 ใครได้? ใครเสีย?” โดย ส.ว.คำนูณ สิทธิสมาน และดำเนินรายการโดย ดร.ธนาวุธ แสงกาศนีย์ คณะวิทยาการจัดการ ม.อ.หาดใหญ่ มีคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา รวมถึงนักศึกษาจากสถาบันอื่นๆ ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังเป็นจำนวนมาก

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ม.190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นหนังสือสัญญาที่รัฐบาลไทยทำกับต่างประเทศ เปิดเสรีการค้าการลงทุน และเกิดมีผลกระทบต่อกลุ่มคนในประเทศ เช่น การทำเอฟพีเอกับจีน ส่งผลให้ผู้ประกอบการกระเทียมล้มละลาย อีกประการหนึ่งการทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศ อย่างเช่น เรื่องกู้เงินไอเอ็มเอฟ เราก็ต้องลงนามในหนังสือสัญญาแอลโอไอ ซึ่งมีเงื่อนไขที่เราต้องทำตาม และมีผลกระทบต่อประชาชน คือ ต้องมีหนังสือสัญญา 5 ประเภท คือ ต้องเปลี่ยนอาณาเขตไทย เปลี่ยนอธิปไตยนอกอาณาเขต ประเภทที่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างกว้างขวาง ประเภทที่ผลกระทบผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสัมพันธ์ ซึ่งรัฐธรรมนูญเขียนไว้อย่างกว้างขวาง

จึงได้มีกรณีที่รัฐมนตรีต่างประเทศได้ไปลงนามเรื่องเขาพระวิหาร หรือแถลงการณ์ร่วมกัมพูชาไทย พ.ศ.2551 ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย หากต้องทำตามมาตรา 190 คือ ต้องขอนำเข้าอนุมัติจากรัฐสภา และต้องทำอีกหลายขั้นตอน รัฐบาลจึงอ้างว่าทำให้การบริหารแผ่นดินล่าช้า จึงมีความต้องการที่จะแก้ ม.190 จะได้ตัดขั้นตอนต่างๆ ออกไป รวมทั้งไม่ต้องขอความเห็นจากประชาชนด้วย แต่ในส่วนนี้การแก้ไขสำเร็จไปแล้วเมื่อสมัย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่กฎหมายลูกยังไม่ได้ออกมา ก็ได้มีการยื่นแก้ไขอีก ซึ่งขณะนี้ผ่านวาะระ 3 แล้ว มันจึงเป็น กม.อำมหิต หนังสือสัญญาที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจทั้งหมดถูกตัดออกไป เหลือประเภทเดียวคือ การค้าระหว่างประเทศ หนังสือสัญญาที่เปลี่ยนอธิปไตยโดยชัดแจ้ง

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ถ้าคิดว่าประชาธิปไตยมีมากกว่าการเลือกตั้ง ปัญหาคือ กระบวนการรัฐสภาผ่านไปหลายวาะระแล้ว กระบวนการอยู่ระหว่างการนำขึ้นทูลเกล้า ถ้าต้านเราจะต้านอย่างไร มีการร้องเรียนศาลรัฐธรมมนูญว่า ม.190 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม.68 ศาลจะวินิจฉัยอย่างไรนั้นผมไม่ทราบ แต่หลังจากขึ้นทูลเกล้าแล้ว สถาบันพระมหากษัติรย์มีเวลา 90 วัน การแก้ไขคือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร 2.นายกรัฐมนตรีจะดำเนินการอย่างไรกับร่างที่นำขึ้นทูลเกล้าแล้ว

สิ่งที่ประชาชนทำได้คือ เราก็ต้องออกมาเรียกร้องว่าขอให้รัฐบาลทำอย่างไรก็ได้ ให้หยุด ม.190 คือ ให้รัฐบาลไปคิดเอาเองว่าต้องทำอย่างไร ทำไมคนดีชอบคิดมาก แต่คนชั่วคิดน้อย ในขณะนี้ถึงแม้จะผ่านวาะระ 3 แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงพระราชกฤษฎีกา ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้

ต่อประเด็นที่ว่า คดีเขาพระวิหารเกี่ยวโยงกับ ม.190 อย่างไร ผลตัดสินเป็นคุณ หรือเป็นโทษต่อประเทศไทยอย่างไร นายคำนูณ กล่าวว่า เมื่อปี 2505 คำพิพากษาศาลโลกระบุให้เขาพระวิหารอยู่ในดินแดนกัมพูชา เราล้อมรั้วปราสาทตามคำสั่งของศาลโลก คนไทยร้องไห้กันทั้งประเทศ เราไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาแต่เราจำเป็นต้องปฏิบัติตาม พอ 51 ปีต่อมา เมื่อศาลโลกตัดสิน เมื่อ 11 พ.ย.56 มีผลให้ต้องเสียอธิปไตยเพิ่มจากเดิมอีก 150 ไร่ ปรากฏว่า คนไทยเฉย ไม่ได้สะทกสะท้าน รัฐบาลออกมาบอกว่าเป็นผลดีต่อเรา ที่ไม่ต้องเสีย 4.6 ตร.กม. แต่ความเป็นจริงเราเสียดินแดน แต่คนไทยส่วนใหญ่กลับมองว่า เราเสียไปนิดเดียวไม่ได้เสียไปทั้งหมดก็ควรจะดีใจ และยังคิดว่านี่คือคำตัดสินว่าไทยชนะ จริงๆ แล้วไม่ว่าจะตัดสินอย่างไรเราได้แค่เสมอตัวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะมีการตัดสินของศาลโลก เท่ากับเราก็ต้องเสียดินแดนไปก่อนแล้ว เพราะคนเขมรเข้ามาอยู่ในพื้นที่เต็มไปหมดแล้ว เราก็ไม่ได้ให้ถอนออกแต่อย่างใด

เราไม่ได้เสีย 4.6 ตร.กม. ปี 2505 เราเสียปราสาทพระวิหาร เนื้อที่ 1 ใน 4 ตร.กม. แต่คำพิพากษา ล่าสุด 11 พ.ย.ที่ผ่านมา ศาลได้กำหนดให้ทั้งเขาพระวิหารและพื้นที่โดยรอบอยู่ภายใต้อธิปไตยของกัมพูชา และกำหนดขอบเขตไว้ในคำพิพาษา วรรคที่ 98 และกำหนดว่า ทางทิศตะวันออก ทางทิศใต้ไม่เป็นปัญหา เพราะเป็นหน้าผา ส่วนทางทิศเหนือศาลกำหนดให้ไม่เกินตามแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ยังไงก็เกินเส้นมติ เมื่อปี 2505 ศาลจึงให้ 2 ประเทศมาตกลงกันเอง คือจุดที่ยังไม่มีความแน่นอน ระบุให้ใช้เส้นที่ตัดกับหน้าผาเรื่อยไป

ไทยดีใจว่าไม่เสียภูมะเขือ แต่เราก็ไม่ได้เส้นแบ่งระหว่างเขาพระวิหารกับภูมะเขือ ถ้าศาลกำหนดให้ยอดเขาเป็นของกัมพูชา จุดสิ้นสุดคือ ตีนเขา ศาลกำหนดให้อาณาบริเวณเขาพระวิหารไปตกที่ตีนภูมะเขือ พื้นที่เท่าไหร่ไม่ทราบแต่จากการคำนวณเราสูญเสียมากกว่าการสูญเสียเมื่อปี 2505 แล้วเราจะบอกว่าเราชนะหรือแพ้

นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ 2540 เป็นต้นมาถึง ปี 2544 พื้นที่ที่ไทยถือว่าเป็นของไทย หลังจากมี เอ็มโอยู 43 กัมพูชาเริ่มรุกเข้ามาในพื้นที่ไทยเรื่อยๆ โดยไต่เข้ามาตามเชิงเขา จนมาสร้างวัดขึ้นมาคือ วัดแก้วฯ คนไทยหลายรัฐบาล ปล่อยให้เขาอยู่กันเต็มไปหมด คนไทยเข้าไปก็ถูกทหารกัมพูชาไล่ออกมา ถึงขนาดได้มีการปักหลักเขตแดน

ศาลโลกเอาเกณฑ์อะไรมากำหนดขอบเขต ทำไมไม่กำหนดแค่ตีนเขาพระวิหาร แต่มากำหนดถึงตีนเขาภูมะเขือ หลังจากนี้ ไทยจะเอาคำตัดสินศาลโลกไปอ้างต่อคณะกรรมการมรดกโลกได้ คดีนี้เป็นการตีความคดีเก่า เมื่อปี 2505 แต่ตอนนั้นยังไม่ได้มีมรดกโลก ศาลจึงตั้งใจที่จะตัดสินให้กัมพูชาได้ในสิ่งที่อยากได้ คือ เรื่องการขึ้นมรดกโลก เป็นการพิพากษานอกกรอบ ประเทศไทยควรจะปฏิบัติตามหรือไม่ รัฐบาลต้องพูดความจริงทั้งหมดต่อประชาชน

สุดท้ายจึงขอแนะว่า เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดเผยต่อประชาชน การตัดสินใจต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ไม่ใช้รับฟังจาก ส.ส.หรือ ส.ว. และทางที่ดีที่สุด เราต้องเรียกร้องให้รัฐบาลทำประชาพิจารณ์จากประชาชน หรือการลงประชามติ ต้องให้ประชาชนตัดสิน ว่าถ้าเราต้องเสียเพิ่มอีก 1 ตร.กม. หรือกินมาถึงผามออีแดงด้วยประชาชนจะยอมไหม อย่าเปิดโอกาสให้รัฐบาลกระทำการฝ่ายเดียว และหากในกระบวนการเจรจา ถ้าไทยยื้อการเจรจาต่อไป เรื่องนี้ต้องไปสู่เวทีนานาชาติอย่างแน่นอน เพราะเรื่องนี้กัมพูชาต้องการหากินกับมรดกโลก

เพราะฉะนั้น รัฐบาลอย่าเพิ่งไปตกปากรับคำต่อคำพิพากษาของศาลโลกว่าเราจะปฏิบัติตาม รัฐบาลต้องให้ข้อมูลประชาชนทั้ง 2 ด้าน รัฐบาลต้องทำประชามติ รัฐบาลทำวีธีใดก็ตามห้ามแก้ไขมาตรา 190 หากรัฐบาลทำประชามติจากประชาชนทั้งประเทศ แล้วรัฐบาลชนะ นั่นแหละเราก็ต้องทำใจ นายคำนูณ กล่าว

 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น