ถกร่างแก้ รธน.มาตรา 190 วาระ 2 จบแล้ว ปธ.สภาฯ ขอมติเสียงข้างมากลากเห็นชอบมาตรา 3 ตามด้วยมาตรา 4 ให้คงตามร่างที่ผ่านชั้นรับหลักการ นัดลงมติวาระสาม 2 พ.ย. หลังฝ่ายค้านได้แค่กรีดพวกชอบอ้าง ปชต.เสียงข้างมาก แต่ลิดรอนเสียง ปชช. กระตุ้นจิตวิญญาณผู้แทนฯให้ฉีกใบสั่งผู้มีอำนาจเหนือ รบ. ดึง “ทรัพยากร พลังงาน สิ่งแวดล้อม” กลับ ม.190 พร้อมชี้ให้เห็นว่า “แม้ว” อาจฮุบงานปิโตรเลียมโดยไม่มีใครรู้ และไม่ผิดกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ (16 ต.ค.) การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในมาตรา 190 วาระ 2 ในช่วงค่ำ ยังคงเป็นการอภิปรายในมาตรา 3 เกี่ยวกับการกำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่จะต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ซึ่งสมาชิกฝ่ายค้าน และ ส.ว.สรรหายังคงมีการหยิบยกกรณีการลงนามในแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ฉบับลงวันที่ 18 มิ.ย. 2551 สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยไม่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภา รวมถึงขอบข่ายหนังสือสัญญาที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามร่างแก้ไข ที่กำหนดเฉพาะกรณีที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตแบบชัดแจ้งเท่านั้น อาจเป็นปัญหาได้ เนื่องจากขณะนี้มีพื้นที่ชายแดนหลายจุดที่ยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐสภาต้องร่วมรับผิดชอบ
ทั้งนี้ หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายจนครบตามจำนวนผู้แปรญัตติ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานในที่ประชุมจึงปิดการอภิปราย และขอมติในมาตรา 3 โดยที่ประชุมมีมติให้คงมาตรา 3 ทั้งมาตรา ด้วยคะแนนเสียง 343 ต่อ 51 งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน11 เสียง และลงมติเห็นด้วยกับร่างคณะกรรมาธิการที่ไม่มีการแก้ไข 355 เสียงต่อ 13 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง ไม่ลงคะแนน 12 เสียง และลงมติเห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการ มาตรา 190 วรรค 1 ซึ่งไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง 359 ต่อ 8 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง ไม่ลงคะแนน 7 เสียง และลงมติเห็นด้วยกับร่างของคณะกรรมาธิการ มาตรา 190 วรรค 2 ซึ่งไม่มีการแก้ไข ด้วยคะแนน 347 ต่อ 24 เสียง งดออกเสียง 5 เสียง ไม่ลงคะแนน 6 เสียง และลงมติไม่เห็นด้วยในวรรค 3 ด้วยคะแนนเสียง 361 ต่อ 6 เสียง งดออกเสียง 9 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง
อย่างไรก็ดี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน ได้ตั้งข้อสังเกตถึงการลงมติที่ผิดปกติแตกต่างจากข้อปฏิบัติที่มีมาก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ที่ประชุมมีการถกเถียง จนประธานต้องสั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาที และเมื่อเปิดการประชุมอีกครั้ง ประธานได้ขอนับองค์ประชุมเพื่อดำเนินการลงมติต่อ ก่อนที่ประชุมจะมีมติเสียงข้างมากเห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการในมาตรา 3 วรรค 4 และวรรค 5 ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยในรูปแบบของการลงมติของ ส.ส.ฝ่ายค้าน
จากนั้นได้เปิดอภิปรายในมาตรา 4 เกี่ยวกับการให้ดำเนินการจัดให้มีกฎหมายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญภายใน1 ปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ในระหว่างที่ยังไม่มีการตรากฎหมายตามวรรคหนึ่งขึ้นใช้บังคับ ให้คณะรัฐมนตรีจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติม และในกรณีที่เป็นหนังสือสนธิสัญญาที่มีบทให้เปิดเสรีด้านการค้า การลงทุนให้เสนอกรอบการเจรจาเพื่อขอความเห็นต่อรัฐสภา และผลการศึกษาถึงประโยชน์ และผลกระทบของหนังสือสัญญาดังกล่าวต่อรัฐสภาเพื่อทราบด้วย
โดยระหว่างอภิปราย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เสนอปิดการอภิปรายเพราะเห็นว่าสมาชิกเริ่มอภิปรายซ้ำประเด็น แต่นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.เสนอให้เปิดอภิปรายต่อ ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียงข้างมากให้ปิดการอภิปราย ท้ายสุดที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก 335 ต่อ 62 เสียง ในมาตรา4 ให้คงตามร่างเดิม โดยประธานในที่ประชุมนัดหมายลงมติร่างแก้ไขมาตรา 190 ทั้งฉบับ หรือวาระ 3 ในวันที่ 2 พฤษจิกายน ก่อนปิดประชุมลงในเวลา 00.23 น.
อนึ่ง การอภิปรายก่อนหน้า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร อภิปรายว่า ฝ่ายนิติบัญญัติทั่วโลกเรียกร้องให้มีส่วนร่วมในการเจรจาระหว่างประเทศมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องฝ่ายบริหารเพียงลำพัง การเจรจาต่อรองระหว่างประเทศจะมีฝ่ายนิติบัญญัติช่วยเป็นกันชนให้เพื่อใช้เป็นข้ออ้างว่าการจะตกลงอะไรต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติรับรองก่อน ในยุคที่ชอบอ้างประชาธิปไตยเสียงข้างมากแต่กลับพยายามลิดรอนเรื่องสิทธิของประชาชน จำกัดเรื่องที่จะมาสู่กระบวนการเห็นชอบของสภา เหตุผลแค่ว่าไม่ทันการ เสียเปรียบเขา ปฎิบัติได้ยาก แต่ทุกครั้งที่มีการตั้งคำถามไปให้ฝ่ายบริหารแสดงให้เห็นว่า ตรงไหนเสียหาย เมื่อไหร่ ที่ไหน แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบ ความง่ายรวดเร็วไม่ได้หมายความว่าเป็นประโยชน์กับประเทศเสมอไป พวกตนเคยเป็นฝ่ายบริหารยอมรับว่าผ่านตรงนี้ไม่ง่าย แต่เราต้องเคารพกระบวนการนี้
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เรื่องเขตแดนหนังสือสัญญาบางทีคนหนึ่งคนใดบอกว่ากระทบหรือไม่ไม่ได้ ก็ต้องนำเข้ามาพิจารณากันในสภา หายากที่จะมีการทำหนังสือยกดินแดนให้คนอื่น นอกจากมีการตกลงแลกกับประโยชน์บางอย่าง จะไปเสี่ยงทำไมในเมื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ ตั้งแต่มีมาตรา 190 มีข้อตกลงไหนบ้างที่สภาลงมติคว่ำ ซึ่งกรอบเวลาก็มีข้อตกลงให้เสร็จภายในเมื่อไหร่ และประโยชน์ของมาตรา 190 ทำให้เราทุกคนมีโลกทัศน์กว้างขึ้น กระบวนการทั้งหมดเป็นประโยชน์กับประชาชน แต่ไม่สะดวกกับฝ่ายบริหารเท่านั้น แต่ถ้าเราตามใจไม่ใช่หน้าที่ ตอนตนเป็นรัฐบาลหลายหน่วยงานบอกยุ่งยาก ตนบอกอาจมีขั้นตอนซับซ้อนมากขึ้นแต่ต้องปรับตัว หลายครั้งมีปัญหาไม่ใช่ เพราะมาตรา 190 หรือรัฐสภา แต่อยู่ที่ฝ่ายบริหารจัดการที่ไม่วางแผนล่วงหน้า มารีบทำตอนท้ายเร่งรัดรัฐสภาให้พิจารณา วัฒนธรรมแบบเรื่องนี้ต้องเปลี่ยน
“ยืนยันและขอบคุณกรรมาธิการที่จากเดิมเขียนสั้นๆ ว่า “อำนาจแห่งรัฐ” ทำให้เกิดปัญหาตีความมากมาย จึงเปลี่ยนมาเขียนเป็นสิทธินอกอาณาเขต แต่ที่ไปแก้โดยเพิ่มโดย “ชัดแจ้ง” เห็นด้วยกับสมาชิกที่ว่าไม่มีอะไรนอกจากเจตนาหาทางให้เข้าข่ายมาตรานี้น้อยที่สุด เป็นหลักคิดที่ผิด”
“ยกตัวอย่างกรณีเกิดปัญหาในซีเรีย นายกรัฐมนตรีอังกฤษหารือกับหลายๆ ประเทศคิดจะส่งกำลังทหารเข้าไป เขาไม่มีมาตรา 190 แต่นายกฯ อังกฤษตัดสินใจว่าหลังจากประสบการณ์อิรัก และที่อื่นๆ สร้างความกระเทือนกับคนของตนเอง จึงตัดสินใจเสนอเป็นญัตติเข้าสภา นักประชาธิปไตยต้องคิดแบบนี้ไม่ใช่เลี่ยงการมีส่วนร่วมผู้แทนประชาชนได้ก็เลี่ยงไปเพื่อทำงานง่ายขึ้น ผลที่ตามมารัฐบาลเสียงข้างมากแพ้ญัตติ สมาชิกซีกรัฐบาลบางส่วนตัดสินใจลงมติสวนรัฐบาล นายกฯลุกขึ้นว่าจะเคารพมติของประชาชน ล้มเลิกความคิดส่งลำกังไป เปลี่ยนไปหาวิธีการทางการทูต ถ้าเขาคิดแบบกรรมาธิการ วันนี้อาจจะมีสงครามเกิดขึ้นอีกทีก็ได้ นี่คือความแตกต่าง”
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่แก้ไขจากเดิมเขียนว่า เรื่องที่มีผลกระทบเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งกว้างขวางในการตีความ แต่เมื่อมีการแก้รัฐธรรมนูญด้วยการให้รัฐบาสออกเป็นกฎหมายลูก แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีการเสนอเข้าสู่สภา ถ้าเสนอมาแล้วถกกันชี้ให้เห็นว่าออกไปก็ทำไม่ได้ จนต้องแก้รัฐธรรมนูญตนก็พอเข้าใจ แต่ความจริงจ้องแต่ว่าเมื่อไหร่จะลดอำนาจการมีส่วนรวมการตรวจสอบฝ่ายนิติได้ ก็ทราบว่ากรรมาธิการมีการกดดันมากจนเพิ่มการเปิดเสรีการค้าการลงทุนเข้ามา แต่ยังไม่พอ เพราะปัจจุบันข้อตกลงหลายข้อ โดยเฉพาะที่มีผลผูกพันทางด้านเศรษฐกิจ การเปิดการค้าเสรีการลงทุนถือเป็นขั้นต้นเท่านั้น เพราะปัจจุบันการลงทุนเรียกมีการเปลี่ยนไปเรียกชื่ออื่นหมดแล้ว ประเด็นที่ไม่เกี่ยวการค้าลงทุนก็มีการทำข้อตกลงกันหมดแล้ว แต่กลับไปจำกัดตนเองเอาเฉพาะที่มีผลเปิดเสรีการค้า การลงทุน มาใส่ในมาตรา 190
ส่วนประเด็นที่คนสนใจมาก คือ เรื่องทรัพยากร พลังงานธรรมชาติ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ของโลกที่ช่วงชิงตรงนี้กลับไม่อยู่ในข่ายให้มามีส่วนร่วมรับฟังความเห็นประชาชน แม้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนก็ตามแนวคิดนี้ผิดแล้ว ยิ่งมีข่าวว่ามีประโยชน์ต่อคนที่มีอำนาจเข้ามาเกี่ยวยิ่งต้องระวัง ตนอยากให้ทบทวนให้ตัดคำว่า “โดยชัดแจ้ง” ออกไป เติมแค่การเปิดเสรีการค้าการลงทุนอย่างเดียวไม่พอ ต้องให้ชัดเจนไปเลยด้วยการเอาทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน สิ่งแวดล้อม กลับเข้ามาอยู่ในมาตรา 190 และแก้ขอบเขตกฎหมายลูก ทำขั้นตอนให้กระชับขึ้น เชื่อว่าทุกฝ่ายรับได้ เพราะหลายเรื่องไม่เข้าข่ายกำกวม ใช้วิธีการตัดแปะ ต้องเปลี่ยนแปลงให้หลายอย่างชัดเจนกระชับมากขึ้น
“วันนี้ผู้แทนปวงชนชาวไทยควรมีสิทธิมากกว่าที่กำลังจะให้ในการมีส่วนร่วมตรวจสอบสิ่งที่ฝ่ายบริหารไปทำ ขอเรียกร้องจิตวิญญาณผู้แทนปวงชนทุกคน อย่าคิดว่ามีธงแล้ว ผมไม่อยากคิดว่ามีใบสั่งหรือไม่ แต่อยากให้คิดถึงประเทศ ประชาชน อนาคตและเชื่อมั่นในกระบวนการของพวกเราทบทวนสิ่งที่พวกเราเสนอ ที่จะให้เจ้าของประเทศมีสิทธิรู้ร่วมตัดสินใจเอาทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน เอาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนไปผูกพัน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา แกนนำกลุ่ม 40 อภิปรายว่าสาเหตุการแก้กติกาครั้งนี้ นอกจากปิดหูปิดตาประชาชนไม่ใช่เวทีรัฐสภาเปิดเผยข้อมูล และมีการแก้ไขโดยเขียนว่า “โดยชัดแจ้ง” และหากศาลโลกพิพากษาคดีเขาพระวิหารวันที่ 11 พ.ย. โดยไม่เป็นคุณ รัฐบาลจะเอาเรื่องเข้าสภาฯหรือไม่ เพราะเป็นพื้นที่ทับซ้อน รวมทั้งพื้นที่ทับซ้อนในอ่าวไทย ระหว่างไทยกัมพูชา ซึ่งทับซ้อนไม่ชัดเจน ท่านจะไปทำอะไรในพื้นที่ไม่ต้องบอกรัฐสภา โดยไม่ต้องกำหนดกรอบเจรจา แม้จะมีการตั้งองค์กรร่วมหรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนมาเข้าสภาฯแต่ถึงวันนี้ท่านเสียเปรียบไปแล้ว
นางอานิก อัมระนันทน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า เรื่องอาณาเขตและอธิปไตยนอกอาณาเขต กรรมาธิการไปแก้ไขให้เป็นอันตรายเพราะพื้นที่ทับซ้อนที่ยังตกลงไมได้ระหว่างไทย-กัมพูชา ถือว่าไม่ชัดแจ้ง จึงไม่ควรมีข้อความนี้อยู่ในร่างแก้ไขมาตรา 190 โดยเฉพาะพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลตรวจสอบได้ยากเพราะพื้นที่ใหญ่ถึง 2.6 หมื่นล้านตารางกิโลเมตร และมีมูลค่า 6 แสนล้านบาทต่อปี การเจรจาในการขยับพื้นที่ปรับสัดส่วนผลประโยชน์ และไม่ต้องเข้ารัฐสภา โดยเฉพาะผู้มีอำนาจเหนือรัฐบาลสนิทสนมกับผู้นำกัมพูชา จะทำให้เราวางใจได้อย่างไร เพราะได้ประโยชน์กันในสัมปทานปิโตรเลียม และกฎหมายอาจจะเอาผิดไม่ถึง อีกทั้งมติของคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติในวันที่ 4 ต.ค. 55 มีแผนจัดการจัดหาก๊าซธรรมชาติในระยะยาว มีมติให้เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทยกัมพูชาให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 56 ถือเป็นความเร่งรีบที่พอดีกับการแก้ รธน.หรือไม่
ขณะที่นายประสาร มฤคพิทักษ์ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา อภิปรายถึงกรณีศาลโลกจะมีคำตัดสินคดีตีความคำพิพากษาปราสาทพระวิหาร ในวันที่ 11 พฤศจิกายน โดยตั้งข้อสังเกตว่า หลังศาลโลกมีคำตัดสินแล้ว รัฐบาลอาจจะไปลงนาม หรือดำเนินการใดๆ โดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ขณะเดียวกัน การแก้ไขมาตรา 190 ให้การทำสัญญาระหว่างประเทศไม่ต้องผ่านรัฐสภา นั่นเท่ากับเป็นการถ่ายโอนอำนาจการตรวจสอบของรัฐสภาไปให้กับรัฐบาล พร้อมแสดงความกังวลกรณีที่มีการเรียกร้องจากบุคคลบางกลุ่มให้ไทยเข้าร่วมเป็นภาคีศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ซึ่งรัฐบาลอาจจะไปดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยไม่ต้องผ่านรัฐสภา ทั้งที่เรื่องนี้มีความสำคัญ