ถก ม.190 กฤษฎีกายันการตกลงพลังงานต้องออกเป็น พ.ร.บ.ขอความเห็นชอบรัฐสภาอีกครั้ง “เกียรติ” หวั่นเปิดช่องให้ผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลได้ประโยชน์พลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา หลังพบกลเม็ดนักธุรกิจจัดตั้งบริษัทที่ดูไบร่วมทุนกับฝรั่งเศส ก่อน ปธ.สภาฯ นัดประชุมต่อเช้า 16 ต.ค.
วันนี้ (15 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมรัฐสภา ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธาน พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190 ) ซึ่งคณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว. กำแพงเพชร ประธานกมธฯ ภายหลังที่สมาชิกรัฐสภารับหลักการวาระแรกในเรื่องการแก้ไขมาตรา 190 จำนวน 314 คน กมธฯ ได้ประชุมทั้งหมด 18 ครั้ง โดยได้เชิญนักวิชาการที่เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างประเทศ พร้อมทั้งรับฟังข้อเสนอแนะจาก สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานอัยการ กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ กรมเจรจาระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดย กมธฯสงวนความคิดเห็นจำนวน 15 คน และสมาชิกรัฐสภาสงวนความคิดเห็นจำนวน 175 คน
มีรายงานว่า ก่อนที่จะอภิปราย ฝ่ายค้านได้ท้วงถามถึงเหตุผลในการตัดสิทธิการเสนอแปรญัตติของนายชวน หลีกภัย ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ และ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส. พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ โดยนายชวน อภิปรายว่า ถือเป็นการตีความที่ผิดเพราะหากนับวันตั้งแต่วันรับหลักการ แล้วทำไมจะต้องมีการประชุมอีกครั้งเพื่อกำหนดจำนวนวันแปรญัตติในวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งตนเห็นว่าต้องนับจากวันเสร็จสิ้นกระบวนการคือวันที่ 19 เม.ย. เป็นวันแรกจึงจะถูกต้อง
ด้านนายนิพิฏฐ์ ยืนยันว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรื่องนี้ถือว่าปัญญาอ่อนที่สุด และเป็นการตีความที่เหลวไหลมากไม่ทราบว่าเอาสมองส่วนใหญ่คิด ทั้งนี้ ตนได้สอบถามนายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อดีตรองประธานสสร. 50 ก็ยืนยันว่าการนับวันแปรญัตติต้องเริ่มตั้งวันจบกระบวนการรับหลักการคือวันที่ 18 เม.ย. และเริ่มนับวันแรกคือวันที่ 19 เม.ย. แต่หากเห็นว่ากระบวนการจบแล้วในวันที่ 4 เม.ย. แล้วทำไมประธานรัฐสภาจะเรียกประชุมอีกครั้ง
หลังจากถกเถียงในประเด็นดังกล่าวร่วมชั่วโมงนายนิคมได้ตัดบทและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป
จากนั้นได้เข้าสู่การพิจารณาโดยสมาชิกได้ทยอยอภิปรายรายมาตรา เช่นนายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายมาตรา1 โดยเสนอให้เรียกร่างฉบับนี้ว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.. โดยสงวนข้อแปรญัตติเป็น”รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมโดยไม่ผ่านประชามติจากประชาชน”
ส่วนนายจุฤทธิ์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า ขอตัดมาตรา 1 ออกทั้งมาตรา เนื่องจากไม่เห็นว่าจะต้องมีการแก้ไข เพราะที่ผ่านมา เมื่อมีกรอบเจรจาหรือหนังสือสัญญา ตามมาตรา 190 รัฐสภาก็มีมติเห็นชอบทุกครั้ง การอ้างว่าจะทำให้กรอบการเจรจาเกิดความล้าช้านั้น เพราะอะไร เนื่องจากที่ผ่านมามีการพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นข้อตกลงกับชิลี หรือจีน ก็ไม่ได้ล้าช้าแต่อย่างใด แล้วจะมาแก้มาตรา 190 เพื่ออะไร นอกจาก ฝ่ายบริหารจะมีปัญหากับมาตรา 190 แล้วยังมีเจตนามาลดอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติด้วย เพราะเดิมรัฐบาลจะไปทำเรื่องใดๆ จะต้องมาแจ้งต่อรัฐสภาก่อน ฝ่ายบริหารไม่มีสิทธิ์ที่จะตัดสินว่าเรื่องใดจะต้องเข้าสภาฯหรือไม่ หากมีการแก้ไขมาตรา 190 รัฐสภาจะตรวจสอบได้อย่างไรว่า การทำข้อตกลงของรัฐบาลมีประโยชน์หรือไม่ จะทำให้คณะรัฐมนตรีสามารถแอบอนุมัติได้
ฝ่ายน.ส.วัชรี อิทธิอาวัชกุล นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และ กมธฯเสียงข้างมาก ชี้แจงว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่กรมเจรจาการค้ากำลังเผชิญอยู่ แต่อย่างน้อยก็ช่วยปลดล็อคได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะทุกวันนี้เวลาที่จะไปเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆก็รู้สึกอับอายขายหน้าอยู่เหมือนกัน ทั้งที่ๆก่อนหน้านี้เราสามารถสนธิสัญญาหรือความตกลงกับต่างประเทศไทยได้อย่างสง่าผาเผย แต่ภายหลังจากที่มี มาตรา 190 โดยนำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศมาผ่านสภา โดยมองคู่เจรจาของเราเป็นผู้ร้ายตั้งแต่ต้น
จากนั้นที่ ประชุมเข้าสู่การลงมติในมาตรา 2 ว่าด้วยการบังคับใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา หลังจากที่ผู้สงวนคำแปรญัตติไม่ติดใจอภิปราย ที่สุดที่ประชุมเสียงข้างมากมีมติเห็นชอบตามกรรมาธิการ
ต่อมามีการพิจารณามาตรา 3 สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ส่วนใหญ่ได้อภิปรายพุ่งประเด็นในเรื่องที่กรรมาธิการบัญญัติให้นำประเด็นเรื่องเขตแดนการเปิดเสรีการค้าการลงทุน มาใส่ไว้ในร่างเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาแต่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับพลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่อให้เห็นถึงความจงใจที่จะเอื้อประโยชน์ให้กับการเจรจาธุรกิจด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนในกัมพูชาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีความสนใจที่จะร่วมลงทุน
ด้านนายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ เสนอว่า นอกจากเรื่องเขตแดนการเปิดเสรีการค้าการลงทุนแล้ว ตนเสนอว่า ควรนำเรื่องทรัพยากรสิ่งแวดล้อม และพลังงาน เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาด้วย เพราะตามหลักการอะไรที่กระทบกับประชาชนจำนวนมากควรเป็นอำนาจของรัฐสภา กรรมาธิการยอมให้นำเรื่องการเปิดเสรีการค้าการลงทุนมาใส่ในร่างแก้ไขครั้งนี้แต่เป็นแค่การกระทบกับนักลงทุนบางกลุ่ม แต่ด้านพลังงานจบกระทบกับประชาชนทุกคน กรรมาธิการอ้างว่าอยากให้ปฏิบัติงานง่ายขึ้น ตนคิดว่าในกรณีของพลังงานเรื่องเดียวที่รัฐสภาพิจารณาได้ครั้งเดียว คือ แหล่งพลังงานที่ยังไม่มีข้อยุติในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลของไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นขุมทรัพย์มหาศาล ถ้าใครมีสิทธิในบริเวณดังกล่าวจะร่ำรวยมหาศาล ถ้าประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ก็จะเป็นประโยชน์และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยพื้นที่ที่ตนพูดถึงมีขนาด 2.6 หมื่นตารางกิโลเมตร ธนาคารโลกได้ประเมินมีน้ำมันถึง 2 พันล้านบาร์เรล มีก๊าซธรรมชาติ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต สร้างรายได้ถึง 6 หมื่นล้านบาทต่อปี พื้นที่ตรงนั้นมีมูลค่าถึง 5 ล้านล้านบาท หากรัฐบาลชุดนี้ต้องการจะนำเอ็มโอยู 44 ที่มีการตกลงกันเรื่องเขตแดนพื้นที่ทับซ้อนและการแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ ๆ ถูกแขวนอยู่ขณะนี้ มาใช้เหมือนที่ถูกครหาตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลครั้งแรก ด้วยการหาทางแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 เพื่อมีอำนาจอนุมัติเอ็มโอยูดังกล่าว
“ประชาชนเป็นห่วงว่าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้บังคับใช้ การแบ่งผลประโยชน์ที่เป็นของประชาชนจะไม่ถึงมือประชาชน ท่ามกลางข่าวลือต่าง ๆ ที่ว่าจะแบ่งกัน 80-20 ใครได้เปรียบบ้าง ถ้าแบ่ง 50-50 เสมอภาคกันบ้างหรือ 20-80 กัมพูชาได้เปรียบบ้าง แต่ประเด็นอยู่ที่ว่าหากมีนักธุรกิจหัวเสธมีอำนาจต่อรัฐบาล จูงใจรัฐบาลได้ บอกให้รัฐบาลไทยเสียเปรียบกัมพูชา และเอาเงื่อนไขนี้ต่อรองกับกัมพูชาไปขอทำธุรกิจและแบ่งผลประโยชน์จากกัมพูชาออกมา ซึ่งเรียกว่าผลประโยชน์ทับซ้อน แทนที่จะแบ่งกัน 50-50 ตามความเป็นธรรม บอกว่าให้แบ่ง 20-80 เพื่อให้กัมพูชาได้เปรียบ เพื่อเอาเงื่อนไขไปขอส่วนแบ่งเปอร์เซ็นต์ ถือว่าเป็นการโกงชาติ หากกรรมาธิการบอกว่าคิดไปเองเป็นไปไม่ได้ก็ยืนยันมา แต่ผมเชื่อว่ามีความเป็นไปได้”นายสรรเสริญ กล่าว
ขณะที่นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การที่รัฐบาลอ้างว่าจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้มาตรา 190 โดยให้เหตุผลว่าหากไม่แก้จะเสียหายและต้องการให้เกิดความรวดเร็ว เพราะการมารายงานต่อรัฐสภาเป็นอุปสรรคนั้นเป็นข้ออ้างที่สุดโต่งเกินไป ทั้งที่การมารายงานต่อสภาฯเพื่อผ่านการกรองอย่างรอบคอบจะยิ่งทำให้เราได้ข้อตกลงที่ดี การให้อำนาจผู้เจรจามากเกินไปอาจจะจบเร็ว แต่ได้ของไม่ดีที่สุดมา หากให้อำนาจน้อยและเจรจาอยู่ในกรอบอย่างรอบคอบอาจจะเสียเวลา แต่จะได้ข้อตกลงที่ดีกว่าหลายหัวมากกว่าหัวเดียว ดังนั้นการแก้ไขมาตรานี้จะต้องดูความสมดุล แต่อย่าหลงผิดว่ามาตราเดิมคืออุปสรรค เพราะเคยปฏิบัติมาแล้วและไม่มีปัญหา จะเห็นว่าหลายประเทศทั่วโลกจะมีสภาเป็นหลังพิงฝาและใช้เป็นข้ออ้างในการเจรจาต่อรอง ในเมื่อประเทศอื่นทำได้ ประเทศไทยทำไมไม่ทำ
ส่วนที่กรรมาธิการได้มีการแก้ไขในมาตรา 3 ทำให้โครงสร้างเปลี่ยนไป บางเรื่องที่อยู่ในเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญกลับไปใส่เอาไว้ในกฎหมายลูก เช่นการรับฟังความเห็นของประชาชน การเยี่ยวยา ชดเชย นอกจากนี้ยังเสนอให้บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า หนังสือสัญญาใดที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญา หรือตามกฎหมายระหว่างประเทศโดยชัดแจ้ง หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติ หรือมีบทเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ในการคุ้มครอง หรือจัดการภายในประเทศที่ไม่ใช่เรื่องความร่วมมือทางวิชาการ เพราะให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาหรือมีบทให้เปิดเสรีด้านการค้า หรือการลงทุนต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา และให้มีกฎหมายว่าด้วยการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดและรับฟังความเห็นของประชาชนเกี่ยวกับหนังสือสัญญาตามวรรค 2
และในกรณีที่เป็นหนังสือสัญญาที่มีบทให้เปิดเสรีด้านการค้า การลงทุน กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเสนอกรอลบการเจรจาต่อรัฐสภา การศึกษาถึงประโยชน์ของหนังสือสัญญาและผลกระทบของประชาชน หรือผู้ประกอบการ และการดำเนินการแก้ไข หรือเยี่ยวยาผู้ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญาดังกล่าวด้วย และหากมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือที่ต้องเสนอต่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดภายใน 15 วันนับแต่วันรับเรื่อง
นายเกียรติ กล่าวต่อว่า หากกฎหมายนี้ผ่านรัฐบาลสามารถเดินไปเจรจาผลประโยชน์เรื่องพลังงานในพื้นที่ทับซ้อน หรือจะไปกู้เงิน 2 ล้านๆบาทได้เลย โดยไม่ต้องผ่านสภาฯทั้งที่สัญญากู้เงินอาจมีผลกระทบต่องบประมาณแผ่นดิน ซึ่งถือเป็นอันตราย บางโครงการเขียนในสัญญายังไม่ทันเริ่มใช้เงินต้องเสียงค่าต๋งไปแล้ว 5 เปอร์เซ็นต์ หากสภาจะอนุมัติตามสภาเสียงข้างมาแก้ไข แสดงว่าไม่เห็นความสำคัญของพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีจำนวนสมาชิกให้ความสนใจอภิปรายเป็นจำนวนมาก แต่นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอให้ปิดอภิปราย ทำให้เกิดการถกเถียงกัน จนนายสมศักดิ์ เกรียติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาต้องสั่งพักการประชุม 10 นาที
จากนั้นที่ประชุมรัฐสภาได้เปิดประชุมอีกครั้ง ในเวลา 17.30 น. หลังจากประธานสั่งพักการประชุม นายสมศักดิ์จึงได้เปิดให้สมาชิกหารือ โดยนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงรายพรรคเพื่อไทย เสนอให้วุฒิสภาอภิปราย 2 คนโดยสลับให้ ส.ส.อภิปรายจำนวน 1 คน แต่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า หากให้อภิปรายลักษณะนี้สลับไปจนครบทุกคนที่แปรญัตติพวกตนก็เห็นชอบในแนวทางนี้ และขอเสนอให้อภิปรายถึงคนนอกสามารถทำได้เท่าที่จำเป็น รวมทั้งการนำสื่อมาแสดงประกอบการอภิปรายได้ นายสมศักดิ์ ยังยืนยันว่าข้อความในสื่อสารมวลชนที่ยังไม่พิสูจน์ความจริง ตนจะไม่อนุญาตไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็ตาม นายสุนัย จุลพงศธร ส.ส.บัญชีพรรคเพื่อไทย กล่าวตำหนิคณะกรรมการที่ตรวจสอบและปล่อยให้มีการนำสื่อฯที่ไม่มีความเหมาะสมเข้ามาอภิปราย และจะขอร้องให้นางสุณีย์ เหลืองวิจิตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ถอนญัตติการปิดอภิปรายออกไป โดยนางสุณีย์ก็ยินดีถอนญัตติแต่โดยดี
จากนั้นนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ยังคงมีการถกเถียงกันในเรื่องการเสนอปิดอภิปรายโดยฝ่ายค้านได้ท้วงติงว่ายังมีสมาชิกจะอภิปรายอีกหลายคน ไม่ควรเสนอปิดปาก และต้องการให้นายสรรเสริญ สมะลาภา ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่พูดค้างอยู่ได้อภิปรายต่อไป แต่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยแย้งว่ามีการอภิปรายครอบคลุมแล้ว และ หลายเรื่องพูดนอกประเด็น รวมทั้งยังมีการก้าวถึงบุคคลภายนอก โดยเฉพาะเอ่ยถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
แต่ก็มีการต่อรองกันจนให้นายสรรเสริญอภิปรายต่อ โดยนายสรรเสริญได้พูดถึงการกรณี พล.อ.เตีย บัญ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ทรวงกลาโหม กัมพูชา บอกกับสื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณสนใจที่จะทำธุรกิจน้ำมัน และรัฐบาลพนมเปญก็ยินดีที่จะลงทุนด้วย ทำให้ ส.ส.เพื่อไทยพากันลุกขึ้นประท้วงว่าไม่ควรเอ่ยถึงบุคคลอื่นๆ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ส.ส.กทม.พรรคเพื่อไทย ประท้วงว่า พ.ต.ท.ทักษิณระบุไปแล้วว่าไม่มีธุรกิจพลังงานในกัมพูชา ถ้ามีก็จะมอบเงินให้มูลนิธิปัญญาอ่อน พวกฝ่ายค้านปัญญาอ่อนหรือเปล่า หากตนหยิบหนังสือพิมพ์พาดหัวอดีตผู้นำที่สั่งฆ่าประชาชนจะมีการประท้วงหรือไม่ แต่นายสรรเสริญยังยืนยันจะอภิปรายเรื่องดังกล่าวต่อไป จนทำให้นายขจิต ชัยนิคม ส.ส.อุดรธานี ระบุว่าให้ประธานสั่งให้นายสรรเสริญยุติการอภิปราย แล้วให้ ส.ว.อภิปรายแทน ถ้าไม่ทำตนจะเสนอปิดอภิปราย
แต่นายนิคมเปิดโอกาสให้อภิปรายต่อไป โดยไม่ให้ระบุถึงบุคคลที่สาม ทำให้นายสรรเสริญเปลี่ยนมาใช้อักษรย่อ “ต.” และ “ท.” แทนชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ และ พล.อ.เตีย บัญ
จากนั้นนายนิพนธ์ ฮะกิมี รองเลขาธิการกฤษฏีกา กรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า ในพื้นที่ทับซ้อนไม่มีใครเอาทรัพยากรมาใช้ได้ระหว่างไม่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมขึ้นมา ใครเอามาใช้ อีกฝ่ายจะอ้างว่าเป็นของตนเอง เอ็มโอยูไม่ใช่ตัวเด็ดขาด เมื่อตกลงกันได้ ตามขั้นตอนต้องตรา พ.ร.บ.องค์กรร่วม โดยมีรัฐสองฝ่ายสัดส่วนเท่าเทียมกัน โดย พ.ร.บ.ต้องผ่านสภา การแสวงหาประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ซับซ้อนอย่างไรก็ต้องตรา พ.ร.บ. ไม่มีปัญหาใดๆที่กรรมาธิการเสียงข้างมากละเลยไป ส่วนเอกชนจะมาแสวงหาประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนได้หรือไม่ ไม่เกี่ยวกับมาตรา 190 เลย เป็นห่วงแต่เรื่องรัฐต่อรัฐ ต้องเป็นเรื่องสนธิสัญญากรุงเวียนนาเท่านั้น
นายสรรเสริญกล่าวว่า เรื่องแบ่งเขตแดนไม่เสร็จง่าย ๆ แต่ทรัพยากรธรรมชาติที่สูบมาสามารถแบ่งตามเปอร์เซ็นต์ ไม่อย่างนั้นจะมีข่าวออกมาได้อย่างไร
นายเกียรติกล่าวว่า หากกรรมาธิการเห็นว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และพลังงานไม่มีข้อเสียทำไมไม่ใส่ลงไปในร่างนี้ แต่ถ้าไม่ใส่จะเสี่ยงต่อการจะเสียประโยชน์ เพราะมันมีช่องโหว่ ทำให้ทุกคนเป็นห่วงในประเด็นนี้ เนื่องจากการทำธุรกิจปัจจุบันมีกลเม็ดใหม่ ด้วยการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนขึ้นที่ดูไบร่วมทุนกับฝรั่งเศส ตนไม่อยากเอาเรื่องนี้มารบกวนการพิจารณาร่างกฎหมายในสภา เพียงแต่จะบอกว่าวิธีการทำธุรกิจมันมีช่องทางมาก ไม่อยากให้แก้รัฐธรรมนูญโดยมีช่องว่างให้โอกาสคนที่ฉวยโอกาสในการดำเนินการของรัฐบาลอยู่ เมื่อไม่มีข้อเสียก็ใส่เข้าไป แล้วพวกตนจึงจะหยุดพูด
ด้านนายเจริญ ภักดีวานิช ส.ว.พัทลุง ชี้แจงว่า ตนได้แปรญัตติในมาตรา 3 ถ้าประธานได้ดูที่ตนแปรญัตติในวรรคที่ 3 ขอให้สมาชิกรัฐสภา 1 ใน10 เปิดช่องให้สมาชิกเสนอต่อประธาน และเป็นอำนาจของรัฐสภา ถ้าไม่อยู่ในวรรค 2 เปิดโอกาสให้สรุปเป็น 3 เรื่อง ทั้งนี้ก็ให้ความสำคัญกับกรรมาธิการเสียงข้างมากและตัวแทนภาคประชาชน ที่ได้รับการเลือกตั้งมาเพื่อให้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน โดยประเทศส่วนใหญ่นั้นไม่ได้กำหนดไว้ว่าสนธิสัญญาระหว่างประเทศต้องได้รับความเห็นชอบโดยส่งศาลรัฐธรรมนูญ และวิธีการยินยอมในการกำหนดสนธิสัญญามีหลายแบบ ซึ่งหากเราให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจจะมีปัญหาในการตีความ เพราะฉะนั้น ทุกคนจะต้องปกป้องผลประโยชน์โดยผ่านตัวแทนที่เขาเลือกมา เนื่องจากทุกคนไม่สามารถจะเข้ามาพิจารณาได้ทั้งหมด จึงต้องผ่านการเลือกตั้งให้สมาชิกรัฐสภาเป็นตัวแทนของประชาชน
นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ว่าการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยหนังสือสัญญาที่ต้องให้ที่ประชุมรัฐสภาเห็นชอบ ต่อประเด็นการออกพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 หรือกฎหมายลูก ว่าก่อนหน้านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการยกร่างกฎหมายลูกแล้ว แต่ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดคำนิยามที่มีความไม่ชัดเจน เช่น หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง โดยคำว่าอย่างกว้างขวางนั้นเป็นคำที่ไม่สามารถหาคำนิยามได้ว่าลักษณะใดจะเข้าข่ายกว้างขวาง และ หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ โดยคำว่านัยสำคัญนั้นไม่สามารถหาคำนิยามที่ชัดเจนว่าจะเป็นลักษณะใด โดยทางกฤษฎีกาและกรมสนธิสัญญาที่เป็นหน่วยงานที่ต้องยกร่างกฎหมายลูกได้ทำรายงานไว้ฉบับหนึ่งซึ่งไม่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เนื่องจากยังทำไม่แล้วเสร็จ แต่เมื่อกรรมาธิการฯ ร้องขอหน่วยงานจึงได้นำมาให้พิจารณา โดยตนศึกษาและเห็นว่าเป็นสิ่งที่ยากที่จะเขียนกฎหมายลูกเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ ดังนั้นเมื่อแนวทางปฏิบัติไม่ชัดเจนแล้ว อาจจะเป็นปัญหาต่อการนำไปปฏิบัติได้
อย่างไรก็ตาม ขณะที่ ส.ส.และส.ว.ผลัดกันขึ้นอภิปราย ประท้วงกันเป็นระยะ ต่อมาเมื่อเวลา 22.00 น. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ได้สั่งพักการประชุม โดยนัดประชุมต่อในวันที่ 16 ต.ค.นี้ เวลา 09.30 น.