xs
xsm
sm
md
lg

ศาล รธน.ไม่รับคำร้องสมาคมทนายความฯ ฟ้อง กปปส.ยุติชุมนุม ชี้ทำตามกรอบรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ไม่รับคำร้องสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้สั่ง กปปส. เลิกชุมนุม ชี้เป็นการชุมนุมในขอบเขตรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ขณะเดียวกัน มีมติชี้ พ.ร.บ.ป.ป.ช.มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 กรณีชี้มูลอดีตเลขาฯ ก.พ.ผิดวินัยร้ายแรง

วันนี้ (18 ธ.ค.) สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่เอกสารผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาเรื่องที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 257 วรรคหนึ่ง (2) ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 92 วรรคสอง กระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 หรือไม่ ซึ่งคำร้องดังกล่าว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้รับเรื่องร้องเรียนจากคุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตเลขาธิการ ก.พ.ที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลว่ามีความผิดวินัยและความผิดอาญาในขณะที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ซึ่งคุณหญิงทิพาวดี เห็นว่าการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและการพิจารณาวินิจฉัยชี้มูลของ ป.ป.ช.ไม่เป็นธรรมและขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมทั้งถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์ จึงขอให้ กสม.ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาคำร้องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 92 วรรคสอง ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30

นอกจากนี้ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังได้พิจารณาคำร้องที่ นายกิตติ อธินันท์ ในฐานะตัวแทนสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคประชาธิปัตย์ กระทำการเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ จากกรณีที่ผู้ร้องได้กระทำการชุมนุมบริเวณ ถ.ราชดำเนิน โดยมีการปิดเส้นทางการจราจร อีกทั้งยังได้ดำเนินการเคลื่อนขบวนผู้ชุมนุมไปปิดล้อมและบุกยึดสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน และรัฐวิสาหกิจต่างๆ จนทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ รวมทั้งการที่นายสุเทพ ประกาศจะจัดตั้งสภาประชาชนเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยสร้างกฎเกณฑ์และกติกาในการปกครองประเทศใหม่ จึงเห็นว่าการกระทำของนายสุเทพ ได้รับการสนับสนุนจากนายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นการกระทำที่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 3 และ มาตรา 68 วรรคหนึ่ง

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 เห็นว่า การชุมนุมของประชาชนตามคำร้องเป็นการใช้เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเพื่อแสดงเจตนารมณ์ทางการเมือง โดยมีเหตุผลมาจากความไม่ไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล อันถือเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และเป็นการเรียกร้องและแสดงพลังด้วยการสนับสนุนของประชาชนจำนวนมาก ประกอบกับสถานการณ์ตามคำร้องได้พัฒนาไปสู่การยุบสภาและเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งแล้ว จึงยังไม่มีมูลกรณีตามคำร้องดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น