“สุเทพ” นำแกนนำม็อบแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา ล่าชื่อถอด 310 ส.ส.หนุนโหวตร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม คาดยื่นได้เช้าวันพุธ “นิคม” เชื่อไม่กี่ชั่วโมงก็ครบ พร้อมเช็กชื่อก่อนส่ง ป.ป.ช. ยันไม่ยืดเยื้อ
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่รัฐสภา นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมราชดำเนิน เข้ายื่นหนังสือต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเพื่อยื่นถอดถอน 310 ส.ส.ตามมาตรา 270 พร้อมกล่าวว่าพวกตนทั้ง 9 คนมาแสดงตนที่จะไปรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 หมื่นรายชื่อเพื่อยื่นถอดถอน ส.ส.310 คนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ในกรณีที่ลงมติผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยคาดว่าจะนำรายชื่อทั้งหมดมายื่นได้ในช่วงเช้าวันที่ 20 พ.ย.นี้ โดยจะปิดรับการลงรายชื่อในเย็นวันที่ 19 พ.ย. ซึ่งได้รายชื่อจำนวนเท่าไหร่ก็เอามายื่นเท่านั้น ทั้งนี้เบื้องต้นได้มีการตรวจสอบรายชื่อ โดยให้ผู้ที่มาลงชื่อมาแสดงตนด้วยตัวเอง พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และยังมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อยื่นยันว่าบุคคลนั้นได้มาลงชื่อด้วยตัวเอง
ด้านนายนิคมกล่าวว่า จากนี้นายสุเทพมีเวลา 180 วันในการรวบรวมรายชื่อ แต่เชื่อว่าไม่กี่ชั่วโมงก็คงได้ครบแล้ว และเมื่อนำรายชื่อทั้งหมดส่งมาที่ตน ตนให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหรือไม่ จากนั้นจะส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวน หากพบว่ามีมูลก็จะส่งเรื่องกับมายังวุฒิสภา เพื่อลงมติถอดถอน โดยจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 หรือ 90 เสียง เชื่อว่าไม่ยืดเยื้อเพราะทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน
สำหรับเนื้อหาในเอกสารที่ยื่นต่อประธานวุฒิสภาเพื่อถอดถอน 310 ส.ส. คือ 1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน แต่นายกฯ มิได้มีคำรับรองในการเสนอต่อสภาฯเพื่อพิจารณา ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 142 และ 144 ข้อ 2. การแก้ไขเพิ่มเติมในมาตรา 3 ขัดต่อร่าง พ.ร.บ.ที่สภาฯ ได้รับหลักการวาระ1 ไว้แล้ว เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 ข้อ 3 การนิรโทษกรรมให้กับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดโดยคณะบุคคล หรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. ถือว่าเป็นการล้มล้างผลทางกฎหมายจากการใช้อำนาจของคณะปฏิรูปการปกครอง ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 309 รับรองไว้ ข้อ 4 ขัดต่อการแบ่งแยกอำนาจหลักนิติรัฐ นิติธรรม และมีผลเป็นการล้มล้างหรือยกเลิกคำพิพากษาของศาล ซึ่งได้ชี้ขาดแล้ว จึงถือเป็นการก้าวก่ายอำนาจตุลาการอย่างชัดแจ้ง ข้อ 5. ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ข้อ 6. จำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 29 ข้อ 7. เป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดต่อความเสมอภาค ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 30 ข้อ8.กระทำโดยผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นการกระทำที่เป็นการขัดกันของผลประโยชน์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และข้อ 9. ขัดต่อจารีตประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 7
ทั้งนี้ ขั้นตอนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทาการเมืองมาตรา 270 ผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อจะต้องไปแสดงตนต่อประธานวุฒิสภา จากนั้นจะต้องไปรวบรวมรายชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ โดยต้องกรอกรายละเอียดในแบบฟอร์ม โดยเฉพาะการลงวันที่ ซึ่งการที่กลุ่มประชาชนไปร่วมลงชื่อถอดถอนที่เวทีราชดำเนินก่อนวันที่ผู้ริเริ่มจะมาแสดงตน โดยมีการลงวันที่ในแบบฟอร์มดังกล่าว จะทำให้คำร้องนั้นอาจตกลง ดังนั้น นายสุเทพและคณะจะต้องกลับไปทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยไปรวบรวมรายชื่อประชาชนใหม่ แล้วให้ประชาชนลงวันที่หลังจากที่คณะได้แสดงตน จึงจะทำให้คำร้องมีผล โดยเมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รวบรวมรายชื่อประชาชนที่เวทีราชดำเนิน ได้มีการประกาศให้ประชาชนที่มาร่วมลงชื่อไม่ต้องลงวันที่ในแบบฟอร์ม