“ยิ่งลักษณ์” ปู๊นๆ เชียงใหม่ไปลำปาง บอกเอาไงก็เอา ขอให้บอก ยันหนุนปฏิรูปแต่วิธีการต้องทำให้ทุกฝ่ายยอมรับ โอ่หนุน “หมอประเวศ” สร้างความเป็นธรรม ลดเหลื่อมล้ำ หันหน้าเจรจา อ้างแอ่วเหนือมาทำงาน ด้าน “ธงทอง” จ่อเชิญทุกฝ่ายคุยอาทิตย์นี้ ถ่ายสดช่อง 11 ให้คนแก่เป็นประธาน ขณะที่เลขาฯ กฤษฎีกา บอกเลื่อนเลือกตั้งทำไม่ได้
วันนี้่ (13 ธ.ค.) ที่สถานีรถไฟลำพูน เมื่อเวลา 11.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้กล่าวระหว่างนั่งบนขบวนรถไฟไปสถานีรถไฟลำปาง ถึงสถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ว่าจะเอายังไงก็เอาขอให้บอก ตนเห็นว่าช่วงเวลานี้การเมืองควรจะมีการปฏิรูป แต่วิธีการจะทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายยอมรับเรื่องการปฏิรูป โดยตนเห็นด้วยกับคำพูดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ที่ระบุว่าสังคมไทยเรายังมีความเหลื่อมล้ำ ต้องสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ไม่ใช่เปลี่ยนรัฐบาล และไม่ใช่การทะเลาะกัน แต่ต้องหันหน้าพูดคุยกัน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวยืนยันถึงการเดินทางมาปฏิบัติภารกิจที่ต่างจังหวัดขณะนี้ว่า เป็นการปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีตามปกติ ไม่ได้มีการลากิจและไม่ได้มอบหมายให้นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนตามที่เป็นข่าว มีเพียงมอบหมายให้นายพงศ์เทพดูแลเรื่องเวทีปฏิรูปประเทศเท่านั้น
ด้านนายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสํานักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจถึงเวทีปฏิรูปเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ว่าที่ผ่านมาได้หารือกับผู้ใหญ่หลายท่าน จากนั้น จึงมีแนวทางจะเชิญผู้เกี่ยวข้องในวงการต่างๆ เข้าพูดคุยหาทางออกประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ประมาณ 100 คนบวกลบ ซึ่งตัวแทนที่จะเชิญ เช่น ธุรกิจ 7 องค์กร ปลัดกระทรวง สื่อมวลชน ตัวแทนพรรคการเมือง อธิการบดี ส.ว.ทั้งเลือกตั้งและสรรหา สถาบันพระปกเกล้า กปปส. นปช. รวมถึงขณะทำงานของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ซึ่งเคยศึกษาเรื่องความขัดแย้งมาก่อน
นายธงทองกล่าวต่อว่า การประชุมครั้งนี้จะให้ผู้อาวุโสมาเป็นมาเป็นประธานชั่วคราว คัดเลือกเลขานุการ ซึ่งตนจะขออาสาเป็นผู้ช่วยเลขานุการ สำหรับเวทีปฏิรูปทางประเทศ ครั้งนี้ จะมีการถ่ายทอดทางช่อง 11 สามารถส่ง SMS 4221559 แสดงความเห็น หรือ โทร.0-2276-1616
ต่อมานายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ร่วมกันชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 ว่า พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และการกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นการกำหนดตามกรอบระยะเวลาของรัฐธรรมนูญมาตรา 108 ที่จะต้องอยู่ในกรอบเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน นับตั้บแต่วันยุบสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเมื่อนับวันที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งต้องไม่เกินวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 ดังนั้น แนวความคิดที่จะแก้ไขเพิ่มเติมตราพระราชกฤษฎีกาใหม่ เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งให้เลื่อนออกไปจึงไม่สามารถกระทำได้ เพราะจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย พร้อมเห็นว่าปัญหาการเมืองในขณะนี้ควรจะต้องมีการเจรจาร่วมกัน ไม่ว่าจะก่อนหรือหลังการเลือกตั้งก็ตาม