“จารุพงศ์” โอดคนส่วนน้อยไม่รับ ปชต. ทำประเทศวุ่น ท้า ปชป.ลงเลือกตั้ง ลั่น รบ.ต้องมาจากมติ 65 ล้านคน เมินรัฐซ้อนรัฐยันจะทำงานต่อไป ด้าน “ปลัด มท.” เห็นต่าง ปชต.ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง ขอทุกฝ่ายต้องใจกว้างรับฟังความเห็น ผลักดันให้เกิด ปชต.สมบูรณ์แบบ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 12 ธ.ค.เมื่อเวลา 09.40 น. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิม 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ยังไม่มีความชัดเจนในการเลือกตั้ง ก็ไม่แปลกเพราะพรรคแพ้เลือกตั้งมาตลอด แต่ในฐานะเป็นพรรคเก่าแก่ก็อยากเชิญมาชนช้างกัน ไสช้างออกจากร่มไม้ได้แล้ว อย่ามายึกยัก วันนี้ถึงเวลาที่ต้องคืนอำนาจให้กับประชาชนเป็นผู้ตัดสิน เพราะนี้คือประชามติมวลมหาประชาชนอย่างแท้จริง คุณอ้างมวลมหาประชาชนมีมากแล้วจะกลัวอะไรกับการเลือกตั้งของมวลมหาประชาชนทั้งประเทศ
เมื่อถามว่าห่วงหรือไม่หากพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตการเลือกตั้งแล้วจะทำให้เกิดปัญหา นายจารุพงศ์กล่าวว่า ห่วง แต่ทั้งหมดอยู่ที่มวลมหาประชาชนอย่างที่คุณพูด ซึ่งต้องไม่ใช่มวลมหาประชาชนจัดตั้ง ต้องเป็นมวลมหาประชาชนจาก 65 ล้านคน และหากพรรคประชาธิปัตย์บอยคอตจริงๆ ต้องถามมวลมหาประชาชน 65 ล้านคนที่กำลังจะเป็นผู้ขี้ขาดว่าจะเอาใครมาบริหารประเทศ และหากเกิดล้มการเลือกตั้งขึ้นมาอะไรจะเกิดขึ้น ต้องถามมวลมหาประชาชนทั้งหมดว่าเขาจะยอมคุณหรือไม่ รัฐบาลพยายามเดินหน้าให้มีการเลือกตั้งแต่อำนาจไม่ได้อยู่ในอำนาจของรัฐบาล อยู่ในอำนาจ กกต. เพราะฉะนั้นต้องถาม กกต.แต่ทุกองค์กรทั้งหมดที่สุดแล้วต้องฟังมวลมหาประชาชน ทำดีที่สุดแล้วหากอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด
นายจารุพงศ์กล่าวว่า บรรยากาศเวลานี้ประชาชนเขาไม่ยอม แต่มันแก้ปัญหาได้ด้วยการลงประชามติ เพราะมันเกิดความขัดแย้งขึ้น เพื่อสร้างกฎเกณฑ์กติกา จากนั้นก็บังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งทั้งสองส่วนทั่วโลกที่เขาเจริญแล้วเขาใช้ 2 กฎนี้ คุณต้องเคารพเสียงข้างมาก แต่ไม่ใช่เสียงส่วนน้อยไม่มีที่ยืน แต่เมื่อออกประชามติแล้วเสียงข้างน้อยต้องเชื่อเสียงข้างมาก ที่พูดกันวันนี้แถกันทั้งนั้น เมื่อมีปัญหาต้องประชามติเมื่อโหวตแล้วเสียงข้างไหนชนะก็ปฏิบัติตามก็จะไม่เกิดปัญหาวุ่นวายต่อไป แต่ถ้าไม่ยอมรับก็วุ่นวายอยู่อย่างนี้ และที่วุ่นวายก็เกิดจากเสียงส่วนน้อยไม่ใช่เสียส่วนใหญ่
เมื่อถามว่าพรรคเพื่อไทยจะส่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 เพื่อชิงเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหรือไม่ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า คิดว่าอย่างนั้น ส่วนการที่นายกฯ จะลงไม่ลงก็อยู่ที่ท่านตัดสินเอง และรับฟังเสียงของสมาชิกพรรค และจากการสำรวจเสียงในพรรคส่วนใหญ่ยังมีความต้องการให้นายกฯ ลงปาร์ตี้ลิสต์เบอร์ 1 และคงไม่ต้องหาใครสำรอง ลุยเลย ส่วนที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีต ส.ว.สรรหา ลงสมัครสมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่น่าทำให้พรรคปัญหา เมื่อเข้ามาสมัครแล้วถือว่าเป็นสมาชิกพรรค และต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ที่พรรคกำหนด
เมื่อถามว่าเตรียมรับมือไว้หรือไม่ หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูล 312 ส.ส.และส.ว.เสียงมีความผิดว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงเลือกตั้งที่มาของ ส.ว. ว่าเตรียมการแก้ไขไว้แล้วแต่พูดไม่ได้ ส่วนที่มีการเสนอว่าให้มีการเลือกตั้งได้ แต่ขณะเดียวกันให้ไปทำเรื่องการปฏิรูปการเมืองให้เรียบร้อยแล้วยุบสภาเลือกตั้งใหม่ นั้นก็เหมือนการเสนอให้มีสสร.ซึ่งก็มีการเสนอเช่นเดียวกันแต่ไม่มีใครเอาจึงวุ่นอยู่ พูดวกไปวนมาก็กลับมาที่เก่าเหมือนเขาวงกตหาทางออกไม่เจอ
เมื่อถามว่ายังมีความพยายามให้เกิดรัฐซ้อนรัฐ ตรงนี้จะแก้ไขปัญหาอย่างไร นายจารุพงศ์กล่าวว่ารัฐซ้อนรัฐมีมานานแล้วอย่าไปตกใจ ซึ่งมันแปลก
เมื่อถามว่ารัฐบาลจะใช้ จ.เชียงใหม่เป็นที่มั่นเลยหรือไม่ นายจารุพงศ์กล่าวว่า ไม่ต้องใช้ นายกฯอยากไปที่ไหนในประเทศไทยย่อมต้องไปได้ และหากจะใช้ จ.เชียงใหม่ในการประชุม ครม.ก็ไม่แปลก แล้วแต่สถานการณ์พาไป รัฐบาลจะทำงานต่อไป คนที่คิดจะล้มรัฐบาลก็ทำต่อไปเถอะ
เมื่อถามว่า มติในที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการที่ว่าการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง จะสำเร็จด้วยการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียวไม่ได้แต่ต้องมีการหารือทุกฝ่ายร่วมกัน นายจารุงพงศ์กล่าวว่า จะไม่เข้าไปแทรกแซงการวิจารณ์เพราะจะเกิดปัญหาอีกตนเป็นปลัดมาก่อนตนรู้ในมติ เดี๋ยวนี้ทุกกลุ่มพยายามที่จะเสนอทางออกตรงนี้ถือเป็นปรากฎการณ์ของมวลมหาประชาชนโดยธรรมชาติ ในที่สุดก็จะหาทางออกได้ เพราะถึงอย่างไรต้องมีการเลือกตั้งเพราะพระราชกฤษฎีกาออกมา
เมื่อมีทางออกทางหนึ่งที่ใช้กันเป็นประจำและศักดิ์สิทธิ์ที่สุด นั่นเมื่อเกิดความขัดแย้งทุกอย่างก็จบ และวันเลือกตั้งก็จะเป็นวันมหาประชาชน มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะคนรวยหรือคนจน พรรคเพื่อไทยคิดว่าเดินมาถูกทางที่ถูกต้องที่สุดแล้วในระบอบประชาธิปไตยโดยที่ไม่ตะแบง และที่ยึดแบบนี้จึงทำให้อยู่ได้ทุกวันนี้ ถ้าพลิกไปพลิกเราตายไปนานแล้ว
ขณะที่นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงความเห็นที่ประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ในเรื่องการปฎิบัติหน้าที่ของข้าราชการในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันว่า เราต้องยอมรับการเลือกตั้ง เนื่องจากมีการโปรดเกล้าพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ส่วนความเห็นของหัวหน้าส่วนราชการที่ว่าด้วยการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการเลือกตั้งแต่เพียงลำพัง แต่ควรมีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายก่อนจะมีการเลือกตั้งเพื่อแสวงหาสัญญาประชาคมนั้น ดังนั้นระบอบประชาธิปไตยสัญลักษณ์ไม่ใช่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว แต่ประเทศไทยเราต้องหาทุกวิถีทางให้ประชาธิปไตยเดินไปได้ เช่น การพูดคุยกัน การระดมความคิด การแก้ไขปัญหา ประชาธิปไตยจะต้องใจกว้าง ต้องรับฟังความเห็นด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมย์ ซึ่งการเจรจาสามารถเริ่มได้ทันทีไม่จำเป็นต้องรอก่อนการเลือกตั้ง เพราะการตกผลึกต้องใช้เวลา
นายวิบูลย์กล่าวต่อว่า การที่เราออกมาแถลงความคิดเห็นดังกล่าว เพราะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงก็ถือเป็นสถาบันหนึ่ง ที่ข้าราชการควรจะออกมาพูดถึงจุดยืนอะไรบ้าง อย่างน้อยก็เป็นข้าราชการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ต้องปฎิบัติงานตามกฎหมาย ข้าราชการก็เปรียบเหมือนหรียญสองด้าน หากมีการกำหนดนโยบาย ทางหน่วยงานข้าราชการก็ต้องมาพิจารณาว่าจะขับเคลื่อนนโยบายนั้นได้หรือไม่อย่างไร ทั้งนี้ ความเห็นของข้าราชการก็เป็นความเห็นของคนทั่วไป ซึ่งสถานการณ์เมืองไทยขณะนี้ควรจะมีการพูดคุย ปรับปรุง พัฒนาให้ระบอบประชาธิปไตยมีความสมบูรณ์มากขึ้น