เสวนาวันรัฐธรรมนูญ “นิคม” อ้าง ปชช.ต้องแสดงออกภายใต้ประชาธิปไตย “เอกชัย ศรีวิลาศ” ดักคอองค์กรอิสระเช็กบิล “ปู” จะเร่งเชื้อไฟ “วีรพัฒน์” ซัด กปปส.ทำผิดรัฐธรรมนูญ บีบนายกฯ ออก หวังเกิดสุญญากาศ แถมด่า ปชป.ไม่มีสำนึก คิดบอยคอตเลือกตั้ง ด้านที่ปรึกษา กม.เลขาฯ สภาเสนอใช้ ม.165 หรือ 163 ตั้งสภาประชาชน
วันนี้ (10 ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา เป็นประธานกล่าวเปิดเสวนาประชาธิปไตย “ทางออกประเทศไทย” ว่า ความจริงประเทศยังมีทางออกอีกมากถ้าทุกคนหันหน้าเข้าหารือกัน ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชน นักวิชาการ และนักการเมือง ที่ต่างยึดแนวทางตัวเองที่คิดว่าถูกต้อง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาเป็นที่ 6 แล้ว แต่ยังมีหลายคนนำไปใช้ในทางไม่ถูกต้อง โดยอ้างมาตรา 3 มาตรา 7 จึงอยากให้เวทีเสวนานี้เป็นเวทีทำความเข้าใจกับประชาชน ที่อยากจะฝากคือ 1. เราต้องเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. เคารพสิทธิและเสรีภาพ แต่ต้องไม่เกินขอบเขต เพราะสังคมไทยทุกวันนี้เอาแต่สิทธิแต่ไม่ทำหน้าที่ 3. ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ประเทศชาติ โดยการแสดงออกต้องอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ถ้าทำแบบนี้ได้ประเทศก็มีทางออก
จากนั้น พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผอ.สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้งสองฝ่ายต้องหันหน้าคุยกัน ที่ผ่านมามีโอกาสคุยกันก็ทำให้เป็นวิกฤติจนเกิดความรุนแรงแทน ซึ่งประชาชนต้องมีความเข้มแข็งกดดันให้คู่ขัดแย้งหันหน้าคุยกัน ทางออกวันนี้ที่จะมีการเลือกตั้ง ในเมื่อฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เสนอพิมพ์เขียว พรรคเพื่อไทยก็เสนอแนวทางปฏิรูป ทำไมไม่นำตรงนี้มาเป็นข้อสรุปร่วมกัน เพื่อยกขึ้นมาเป็นแนวทางบริหารประเทศเลย แต่ตนยังหวั่นจะเกิดสงครามมกลางเมือง หาก ป.ป.ช.ชี้มูลให้นายกฯ ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ก่อนจะมีการเลือกตั้งก็จะเข้าล็อกกลุ่ม กปปส. และหากมีการยุบพรรคการเมืองด้วย จะเกิดคำถามทันทีว่าเหตุใดองค์กรอิสระมาเร่งพิจารณาตอนนี้ ถือเป็นการสุมไฟเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจถูกบังคับไม่ให้มีการปฏิบัติหน้าที่
นายอมร วาณิชวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาวิจัย และพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย กล่าวว่า สถานการณ์ขณะนี้ไม่ปกติ รัฐบาลตั้งรับอย่างเดียว เพราะอะไรอยู่เบื้องหลัง จนเป็นปรากฏการณ์รัฐบาลไม่กล้าปราบม็อบ จึงอยากวอนให้ผู้รักชาติช่วยกันหาทางออก ล่าสุดประกาศยุบสภากำหนดวันเลือกตั้งชัดเจนแล้ว ซึ่งถือเป็นพระบรมราชวินิจฉัยลงมา ทุกคนต้องให้ความเคารพ และอยากขอร้องนักวิชาการทั้งหลายให้ถอยออกมา ที่บ้านเมืองวุ่นวายขณะนี้เป็นเพราะพวกเรากันเอง เหตุการณ์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น ตนไม่อยากเห็นใครเหยียบซากศพก้าวขึ้นมาสู่อำนาจอีก
นายจีรพงศ์ วัฒนะรัตน์ ที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ข้อเสนอของกลุ่ม กปปส.ให้จัดตั้งสภาประชาชนนั้นไม่ต้องไปหาวิธีอื่นให้เหนื่อย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 165 เสนอทางออกไว้โดยให้ทำประชามติถามความเห็นประชาชน เพื่อให้รัฐบาลนำไปปฏิบัติ แต่ถ้ายังไม่พอใจยังมีมาตรา163 ที่กำหนดให้ประชาชนไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งสภาประชาชนได้
นายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศยุบสภาให้เลือกตั้งใหม่ แต่พรรคประชาธิปัตย์กลับมีแนวคิดจะบอยคอตเลือกตั้ง หากยังมีพรรคที่ไม่รู้จักสำนึกแบบนี้ ส.ส.ก็ควรสำนึกแล้วลาออกเองได้ การที่ กปปส.ออกคำสั่งให้นายกฯลาออกจากรักษาการภายใน 24 ชั่วโมง ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ชัดเจน เพราะนายกฯ ต้องเป็นผู้รักษาการจนกว่ามีนายกฯ คนใหม่ แต่มีการนำมาตรา 3 มาตรา 7 มาอ้างเพื่อให้เกิดสุญญากาศการเมือง ไม่ให้มีเลือกตั้ง ให้มีสภาประชาชนแทน จึงสะท้อนให้เห็นสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์ทำอยู่คือ ทำอะไรก็ได้เพื่อให้ฝ่ายตัวเองได้ประโยชน์ แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่าคุณไม่ได้เสนอขนมหลอกเด็กอีก แม้รัฐบาลจะมีปัญหาหรือทำน่าเกลียดอย่างไร ฝ่ายตรงข้ามก็ไม่ควรใช้วิธีน่าเกลียดนอกรัฐธรรมนูญมาล้มล้างรัฐบาลเช่นนี้
นายวีรพัฒน์กล่าวว่า น่าสังเกตว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้เปลี่ยนเป้าหมายมาที่การทำหน้าที่ของ กกต.และ ป.ป.ช. โดยเฉพาะคดี 312 ส.ส. ส.ว.ที่อยู่ในป.ป.ช. ถ้ามีการชี้มูลความผิดขึ้นมาจริง ส.ว.เลือกตั้ง 50 คน ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะเหลือแต่ ส.ว.สรรหาส่วนใหญ่ อย่าคิดว่าจะเกิดกระบวนการถอดถอนไม่ได้ เพราะองคาพยพของ ส.ส.พรรครัฐบาลก็อาจถูกตัดสิทธิการเมือง 5 ปีด้วย เป็นการพลิกแพลงใช้ระบบมาทำลายระบบชัดเจน รัฐธรรมนูญเป็นเหมือนเป็นขิง โสม ยิงแก่ยิ่งมีประสบการณ์ มันมีอิทธิฤทธิ์ แต่ถ้าเปลี่ยนบ่อยๆ ฉีกทิ้งบ่อยๆ มันจะโทรม สุดท้ายถ้ารัฐประหารบ่อยๆ คนรุ่นใหม่ที่อยากเสนอตัวเข้ามาก็คงไม่เข้ามา ถ้าระบอบทักษิณมีอยู่จริงก็จะมีอยู่ต่อไป ด้วยการกระทำของนายสุเทพเอง