xs
xsm
sm
md
lg

“เพื่อไทย”โหมลุยเลือกตั้ง สร้างกระแสกลบเดดล็อก

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง


ไม่ว่า สุดท้าย ประเทศไทย จะมีการเลือกตั้งส.ส.วันอาทิตย์ที่ 2 ก.พ.57 หรือไม่ สำหรับพรรคเพื่อไทย ประกาศเดินหน้านำพรรคเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มที่

เหตุที่เพื่อไทยต้องแสดงบทบาทเรียกความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน สวนกระแสการเมืองที่โจษขานกันอื้ออึงว่า อาจไม่มีการเลือกตั้ง เพราะติดเดดล็อกการเมือง จากความเคลื่อนไหวของสุเทพ เทือกสุบรรณและกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกปปส.ต้องการจัดตั้ง “สภาประชาชน-รัฐบาลประชาชน”ก่อน

ลุยโค่นระบอบทักษิณ เพื่อการปฏิรูปประเทศ ไม่เอาเลือกตั้งภายใต้ระบอบทักษิณ

ทางพรรคเพื่อไทยต้องทำให้ประชาชนเชื่อว่า การเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่ และจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการเมืองที่เกิดขึ้นตอนนี้

ด้วยเหตุนี้ พอยุบสภาฯแล้วมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ.57 พรรคเพื่อไทยพยายามทำให้สังคมเห็นว่า การเลือกตั้งเท่านั้นคือ เครื่องมือที่จะแก้ปัญหาทุกอย่างทางการเมืองได้สำเร็จ จึงสร้างกระแสและพื้นที่ข่าวของพรรคเพื่อปรับโหมดการเมืองให้กลับไปที่สนามเลือกตั้ง

ขณะที่ข้อเสนอจากฝ่ายกปปส.-นักวิชาการ-องค์กรภาครัฐและเอกชนต่างๆ ที่อื้ออึงและเห็นตรงกันว่า การเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกที่สมบูรณ์แบบของการจบปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในเวลานี้ หากไม่มีการคุยกันให้ตกผลึกของคนในสังคมโดยเฉพาะ ฝ่ายนักการเมือง-คู่ขัดแย้ง ให้ได้ข้อยุติก่อนว่า เข็มทิศประเทศไทยหลังจากนี้จะเดินไปทางไหน

ไม่มีการวางกติกาประเทศกันใหม่เสียก่อน ไม่ถกกันเรื่องแนวทางการปฏิรูปประเทศผ่านอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่แท้จริงไม่ใช่ผ่านนักการเมือง-พรรคการเมือง ถ้าไม่คุยกันในเรื่องนี้เสียก่อน ต่อให้เลือกตั้งกันไป ปัญหาการเมืองต่างๆ เช่น ระบอบทุนสามานย์-วงจรอุบาทว์การเลือกตั้งเช่นการซื้อสิทธิขายเสียงการถอนทุนหลังการเลือกตั้ง ก็ยังดำรงอยู่ แล้วปัญหาก็กลับมาวนเวียนแบบเดิมๆ เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ

สุดท้าย ประชาชนก็ต้องออกมาบนท้องถนนเพื่อขับไล่นักการเมือง-ขับไล่รัฐบาลกันไม่จบสิ้น

แต่พรรคเพื่อไทยเมินต่อข้อเสนอทุกทาง

จะเห็นได้ว่า ระบอบทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทยรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลเวลานี้อย่างชาติไทยพัฒนา ของหลงจู้ บรรหาร ศิลปอาชา เพิกเฉยต่อการให้ความสำคัญเรื่อง อนาคตประเทศ มองแค่เรื่อง การเลือกตั้ง-การกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งเท่านั้น จึงพยายามจะทำให้คนในสังคมเชื่อแบบที่ตัวเองต้องการว่า

วันนี้ต้องเลือกตั้งเท่านั้น อย่างอื่นอย่าไปสน

จึงเป็นที่มาของการประชุมใหญ่พรรคเพื่อไทยเมื่อ 11 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมาซึ่งมีอดีตส.ส.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.เพื่อไทยทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์วันดังกล่าวที่มีคนเข้าร่วมประชุมกันหลายร้อยคน ก็พบว่าในที่ประชุมแกนนำพรรคเน้นย้ำอย่างหนักในที่ประชุมให้อดีตส.ส.-ว่าที่ผู้สมัครส.ส.พท.ทั้งหมด นอกจากให้เตรียมตัวลงพื้นที่เลือกตั้งแล้วยังมีการกำชับว่าต้องไปรณรงค์ให้ประชาชนเชื่อว่ามีการเลือกตั้งแน่นอน และเน้นเชิญชวนให้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อปกป้องประชาธิปไตย

นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า พท.ปรับโหมดความเคลื่อนไหวทั้งหมดของพรรคไปที่ การเตรียมพร้อมเลือกตั้งและการทำทุกอย่างเพื่อให้กลับมามีอำนาจอีกครั้งแล้ว โดยไม่สนใจที่จะพูดถึงการร่วมกันหาทางออกของประเทศ การปฏิรูปประเทศอย่างที่มวลมหาประชาชนต้องการแต่อย่างใด

อีกทั้งพบว่าเวลานี้ ดูจากรูปการทางการเมือง ก็บ่งชี้ได้ชัดเจนว่า ทักษิณ ได้วางแผนเตรียมเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้งเต็มที่แล้ว

ในส่วนของการทำให้ม็อบมวลมหาประชาชนยุติลงไปให้ได้ ก็ทำกันไป แกนนำเพื่อไทยได้แยกย้ายช่วยกันหาทางช่วยเหลือยิ่งลักษณ์ไม่ให้ถูกสุเทพ-กปปส.ต้อนจนมุม ก็คิดหาลู่ทางกอบกู้สถานการณ์กันไปวันต่อวัน ขณะที่การเตรียมการเลือกตั้ง เพื่อทำให้ เพื่อไทยกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก็ไม่รออะไร ให้เดินหน้ากันไปเลย
จึงทำให้ประชุมพรรคเพื่อไทยครั้งล่าสุดมีการตั้งคณะทำงานไปวางแผนเรื่องการคิดค้นนโยบายและแคมเปญหาเสียงกันแล้ว โดยวางหลักไว้ว่าจะเน้นการหาเสียงในเรื่อง การขอโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้งเพื่อสานงานคั่งค้าง ขณะเดียวกัน ก็จะมีแคมเปญทางการเมืองด้วยคือ การชูนโยบายหาเสียงว่า

“เพื่อไทย คิดไปข้างหน้า รักษาประเทศ รักษาประชาธิปไตย”

อีกทั้งยังเริ่มเข้าสู่ช่วงการเตรียมคัดสรรคนลงส.ส.ทั้งระบบเขตและปาร์ตี้ลิสต์กันแล้ว แต่ลำดับแรกตอนนี้ ให้แกนนำพรรคไปพิจารณารายชื่อผู้ลงสมัครส.ส.ระบบเขตเป็นหลักก่อนในช่วงนี้ ส่วนเรื่องบัญชีผู้สมัครระบบปาร์ตี้ลิสต์ ทักษิณและแกนนำระดับคีย์แมนตัวจริงของเพื่อไทยจะลงมาทำบัญชีรายชื่อเอง

ล่าสุดเพื่อไทยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ 5 ภาคคือภาคเหนือ -อีสาน- กลาง- ใต้ และ กทม.เพื่อไปพิจารณาคัดเลือกผู้ลงสมัครในแต่ละโซนรวมถึงไปวางแผนการหาเสียงในแต่ละภาคว่าจะต้องเน้นเรื่องไหนเป็นพิเศษ

ข่าวที่ออกมาก่อนหน้านี้ พบว่าภาคเหนือพื้นที่หลักของเพื่อไทย ยังคงให้แกนนำเช่น เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ -วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล -สันติ พร้อมพัฒน์ -สมพงษ์ อมรวิวัฒน์-บุญทรง เตริยาภิรมย์ คุมภาพรวมไว้พื้นที่ภาคเหนือไว้เช่นเดิม ขณะที่ ภาคกลาง ก็ให้วิทยา บุรณศิริ-อุดมเดช รัตนเสถียร-ไชยาและเผดิมชัย สะสมทรัพย์ -ประชา ประสพดี -อำนวย คลังผา-พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ คุมโซน

เช่นเดียวกับ ภาคอีสาน ฐานหลักของเพื่อไทย ซึ่งเป็นพื้นที่ชี้ขาดที่จะทำให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง มีข่าวว่าทักษิณยังไม่เคาะลงมาว่าให้ใครคุมทั้งหมด แต่หลักๆ ตอนนี้ข่าวว่า จะแบ่งเป็นโซนเช่น อีสานโซนใต้-อีสานโซนกลาง เป็นต้น โดยจะให้แกนนำหลายคนช่วยกันรับผิดชอบอาทิพล.ต.อ.ประชา พรหมนอก -พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล -พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์-พลเอกพัลลภ ปิ่นมณี-เกรียง กัลป์ตินันท์ -อดิศร เพียงเกษ เป็นต้น

ในส่วนของภาคอีสาน แม้เพื่อไทยจะค่อนข้างมั่นใจว่า พื้นที่นี้ เพื่อไทยไม่น่าพลาด แต่แกนนำเพื่อไทยก็อยากให้ชนะแบบเป็นกอบเป็นกำ เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งแบบม้วนเดียวจบเหมือนตอนปี 54 เพราะหากทำได้ตามเป้าแบบเมื่อปี 54 ที่ตัวเลขส.ส.อีสานและคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ในภาคอีสานของพท.นำโด่งตลอดตั้งแต่เริ่มต้นเปิดหีบนับคะแนน ก็จะทำให้เพื่อไทยน่าจะชนะเลือกตั้งแบบเกิน 220 เสียงได้ไม่ยาก จึงทำให้เพื่อไทยหวังในพื้นที่อีสานไว้ค่อนข้างมาก

ที่น่าหนักใจสุดสำหรับทักษิณ-เพื่อไทยก็คือ พื้นที่ “กรุงเทพมหานคร” ก็ไม่รู้ว่าที่มีข่าวจะให้จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ-คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เป็นหัวเรือใหญ่คุมพื้นที่กทม. จะทำให้ได้ส.ส.กทม.เพิ่มขึ้นหรือสูญพันธุ์ก็ไม่รู้!

ส่วนอีกหนึ่งพื้นที่จุดอ่อนของเพื่อไทยคือภาคใต้ ล่าสุดมีการเสริมทีมโดยให้ยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ อดีตหัวหน้าพรรคเป็นประธานคัดเลือกผู้ลงสมัคร พร้อมกับดึงวันมูหะมัดนอร์ มะทา-จาตุรนต์ ฉายแสง-วราเทพ รัตนากร มาเสริมทีมดูแลพื้นที่ภาคใต้ เพื่อช่วยทีมเดิมอย่างจตุพร พรหมพันธุ์-ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ-วีระกานต์ มุสิกพงศ์ แต่ดูแล้ว พวกที่เรียกมาเสริมทีม ก็คงไม่ได้ทำให้เพื่อไทยมีโอกาสได้ส.ส.เขตในภาคใต้ได้เลย วิเคราะห์แล้วภาคใต้ โอกาสสำหรับเพื่อไทยปิดประตูไปได้เลยในยามนี้

เมื่อเพื่อไทยเริ่มเข้าถนนเลือกตั้งกันไปแล้ว มองไปที่พรรคประชาธิปัตย์ ว่ามีความพร้อมหรือยัง? รวมถึงเกิดข้อสงสัยกันมากว่าหากพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งจะขัดแย้งกับแนวทางการเคลื่อนไหวของสุเทพและกปปส.หรือไม่?

อันนี้เป็นเรื่องที่คนปชป.ก็กำลังปวดหัวกันอยู่ แม้จะมีคนในพรรคยืนกรานแล้วว่ายังไงพรรคก็พร้อมลงเลือกตั้ง แต่ก็ยังต้องรอฟังมติของที่ประชุมใหญ่กรรมการบริหารพรรคประกาศออกมาก่อน ซึ่งคนในพรรคชี้ว่า หากปชป.บอยคอตการเลือกตั้ง น่าจะมีผลในทางลบกับพรรคมากกว่าผลบวก

ความเคลื่อนไหวล่าสุดกับเรื่องนี้ พบว่า พรรค ปชป.ได้มีการเลื่อนวันประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อพิจารณาข้อบังคับพรรคตามโครงสร้างการปฎิรูปพรรคใหม่ จากวันที่ 23-24 ธ.ค. มาเป็น 16-17 ธ.ค.เหตุเพราะช่วงเดิมตรงกับวันรับสมัครผู้สมัครส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศไว้ ปชป.จึงต้องขยับวันประชุมขึ้นมาให้เร็วขึ้น เพื่อจะได้เตรียมการทุกอย่างสำหรับการเลือกตั้งได้ทัน

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า มีข้อเสนอให้อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคไปทาบทามคนมีชื่อเสียงมาร่วมงานกับพรรคในการเลือกตั้งเพื่อเสริมทีมให้แข็งแกร่งขึ้น อาทิสุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตเลขาธิการอาเซียน ที่คนในปชป.เห็นว่า ควรจะมารับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคด้านการต่างประเทศ แม้ตอนนี้ ดร.สุรินทร์ จะเข้ามาช่วยงานด้านวิชาการให้กับพรรคแต่ก็ไม่เคยแสดงเจตจำนงว่าจะเล่นการเมืองเต็มตัวเสียที ทั้งที่เป็นอดีตส.ส.นครศรีธรรมราช

ขณะที่เก้าอี้เลขาธิการพรรคของเฉลิมชัย ศรีอ่อน แม้ก่อนหน้าจะมีบางคนในพรรคตั้งคำถามกับบทบาทของเฉลิมชัยว่าไม่แสดงผลงานให้เห็นได้อย่างที่หลายคนเคยตั้งความหวัง แต่ก็ยังไม่มีกระแสข่าวเปลี่ยนตัวเลขาธิการพรรคออกมาแต่อย่างใดในช่วงนี้ ซึ่งดูแล้วหากเกิดแรงกระเพื่อมขึ้นมา ก็คงไม่เป็นผลดีต่อปชป.ที่ต้องกอดคอร่วมกันสู้ศึกไปก่อนในสภาพที่ไม่ค่อยพร้อมเท่าไหร่

ก็เลยคาดกันว่า การปรับโครงสร้างพรรคในสัปดาห์หน้าที่จะมีการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ด้วย อาจไม่มีอะไรหวือหวามากนัก เพราะสถานการณ์ไม่เอื้อ

เสี่ยงปี่กลอง เลือกตั้ง ที่ยังดูไม่คึกคักเท่าไหร่ คาดว่า นับแต่สัปดาห์หน้า คงคึกคักมากขึ้น หากว่าไม่มีปัจจัยแทรกซ้อน จนทำให้ ไม่มีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 !!!!




กำลังโหลดความคิดเห็น