กลุ่ม กปปส.หารือ 7 องค์กรภาคธุรกิจ “สุเทพ” ถามยอมรับรัฐสิ้นสภาพหรือไม่ แจงสภาปชช.มี 400 คน 300 จากวิชาชีพ 100 จากผู้ทรงคุณวุฒิ รับปัดเจรจารัฐ ต้องเลือกเปลี่ยนหรือเป็นขี้ข้า ยันมี 2 ทาง ปชช.ยึดอำนาจแบบทหาร หรือรัฐลาออก เดินตาม ม.7 เชื่อไม่กระทบศก. ขอลืมตนในคราบการเมือง เชิญแดงร่วมพร้อมรับฟัง เว้นสามเกลอหัวขวด ขอภาคธุรกิจหนุน ยันไม่ปฏิรูป ยื้อไม่ยอมให้เลือกตั้ง
วันนี้ (12 ธ.ค.) ที่โรงแรมเดอะ สุโกศล กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือกลุ่ม กปปส. ได้มีการหารือกับ 7 องค์กรภาคธุรกิจ ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สภาธุรกิจตลาดทุนไทย, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย
โดย นายสุเทพ ชี้แจงในช่วงต้นว่า ต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ที่สมบูรณ์และปฏิรูปประเทศ โดยต้องการทำก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เพราะไม่อาจทนอยู่ได้ภายใต้การทุจริตการเลือกตั้งที่ไม่ได้ผู้แทนที่แท้จริงของประชาชน จึงต้องให้มีการปฏิรูปการเลือกตั้ง รวมถึงให้มีรัฐบาลชั่วคราวที่มาจากคนกลางโดยไม่มีพรรคการเมืองมาเกี่ยวข้อง ไม่ต้องการแช่แข็งประเทศไทย รวมไปถึงให้มีสภาประชาชนที่จะกำกับนโยบายร่วมกัน มีกฎหมายต่อต้านการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพคดีไม่มีอายุความ ให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด กระจายอำนาจ ปรับโครงสร้างตำรวจให้คณะกรรมการนโยบายตำรวจ (ก.ตร.) มาจากภาคประชาชน
"สภาประชาชนที่ตั้งขึ้นจะมีไม่เกิน 400 คน โดย 300 คนมาจากการเลือกตั้งกลุ่มวิชาชีพต่างๆ อีก 100 คนมาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ กปปส.สรรหา ผู้จะมาเป็นสภาประชาชนต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองและเมื่อพ้นจากสภาประชาชนจะต้องไม่ลงเลือกตั้งตำแหน่งใดๆในระยะเวลา 5 ปี" นายสุเทพ กล่าว
ด้าน ตัวแทนภาคเอกชน กล่าวว่า ยินดีที่จะรับฟัง ขณะนี้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องมีการปฏิรูปและมีบางประเด็นที่ยังไม่เข้าใจ ซึ่งเจตนาของ 7 องค์กรเอกชนคือทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเกิดความมั่นคงและเดินไปด้วยกัน เห็นด้วยกับแนวทางที่จะมีการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม รวมถึงเห็นตรงกันกับการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น ทั้งนี้เบื้องต้นหากยังไม่มีข้อสรุปจะกระทบกับเศรษฐกิจของรากหญ้า
ตัวแทนภาคเอกชรยังระบุด้วยว่า เมื่อทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันที่จะให้มีการปฏิรูป แต่ปัญหาสำคัญคือจะทำอย่างไรให้สภาประชาชนเป็นที่ยอมรับ พร้อมขอให้นายสุเทพชี้แจงว่ามีขั้นตอนอย่างไรในการสรรหาสมาชิกสภาประชาชน
นายสุเทพ กล่าวตอบว่า ขณะนี้ถือว่ารัฐบาลหมดความชอบธรรมตัวแต่วันที่ปฏิเสธอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชนในการออกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรม โดยขอยืนยันว่าการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนคือปราศจากอาวุธ ไม่มีเหตุรุนแรง ซึ่งหากไม่ยอมรับการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมาก็ไม่มีความจำเป็นตัองชี้แจง
"ขณะนี้มีหลายองค์กรที่เสนอเป็นคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยประชาชน แต่ผมปฏิเสธไป เนื่องจากไม่ต้องการต่อรอง มีเพียงแค่จะปฏิรูปประเทศ หรือยอมอยู่ภายใต้ระบอบทักษิณ ซึ่งข้อเรียกร้องของ กปปส.คือการให้นายกรัฐมนตรีลากออกจากการรักษาการ และให้รองประธานวุฒิสภานำรายชื่อนายกรัฐมนตรีคนกลางขึ้นทูลเกล้าฯแต่หากนอกเหนือไปจากนี้อาจต้องมีการเจ็บปวดบ้าง อาจกระทบธุรกิจบ้างแต่เชื่อว่าเป็นเวลาสั้นๆ" เลขาฯกปปส.ระบุ
นายสุเทพ กล่าวอีกว่า ขณนี้มีเพียง 2 ทางเลือกที่จะทำให้เรื่องจบได้ คือ 1.ประชาชนยึดอำนาจอธิปไตยแล้วเหมือนทหารปฏิวัติใช้อำนาจได้ และ 2.ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ลาออกจากนายกรัฐมนตรีรักษาการณ์แล้วใช้มาตรา7 ซึ่งไม่ได้มาจาก กปปส.หรือมาจากระบอบทักษิณต้องเป็นคนที่ประชาชนมั่นใจได้
ตัวแทนภาคเอกชนตั้งคำถามต่อไปว่า หากการปฏิรูปแล้วเสร็จไม่ทันก่อนการเลือกตั้ง 2 ก.พ.จะทำอย่างไร นายสุเทพ กล่าวว่า แนวทางของ กปปส.คือต้องไม่มีการเลือกตั้งแบบเดิม
“ถ้าจะมีการดึงดันให้มีการเลือกตั้ง ผมคนหนึ่งจะไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ถ้ายังไม่มีการปฏิรูป” นายสุเทพ กล่าว
ด้าน นางปิยะมาลย์ เตชะไพบูลย์ ประธานสภาสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สอบถามต่อไปว่า อยากให้มีนโยบายด้านสังคมอย่างไรที่จะทำให้ประเทศไทยกลับมาเป็นสยามเมืองยิ้ม และจะทำอย่างไรให้กลับมาพูดคุยกันได้
นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่าสิ่งที่ทำไม่ใช่การทำเพื่อตัวเองและพรรคการเมือง ซึ่งพรัอมที่จะเชิญกลุ่ม นปช.เข้ามาร่วมกันปฏิรูปประเทศ แต่หากอยู่อย่างนี้ไม่มีทางที่จะเป็นสยามเมืองยิ้มได้ ตนตัดสินใจแล้วที่จะไม่เล่นการเมืองทั้งที่รักอาชีพนี้มากที่สุด
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ยังไม่แน่ใจว่าจะมีการเปิดรับแนวคิดจากกลุ่มอื่นด้วยหรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่เห็นต่างเข้ามาร่วมเสนอความคิดเห็นอย่างไร
โดยนายสุเทพ ย้ำว่าพร้อมเปิดรับทุกฝ่ายเพื่อนำไปสู่การปฏิรูป ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประกาศเมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมาเนื่องจากมีพรรคเการเมืองอยู่เบื้องหลัง ส่วนที่จะทำให้เกิดความสำเร็จนั้น เสียงของภาคเอกชนมีความหมาย เพราะไม่มีผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งตนถูกดำเนินคดีหลายข้อหาและจะทำทุกอย่างไม่ให้มีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งตามกติกานี้ทำให้คนๆเดียวมาซื้อประเทศนี้ได้ พร้อมกับเปิดเผยว่าตนเคยเจอนายกรัฐมนตรีแล้ว ต่อหน้า ผบ.เหล่าทัพแต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังตัดสินใจไม่ได้ นอกจากนี้ทาง กปปส.ยินดีรับความคิดเห็นของทุกฝ่าย รวมถึงคนเสื้อแดง ยกเว้น นายวีระกานต์ มุสิกพงษ์ นายจตุพร พรหมพันธุ์ และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ทั้งนี้ภาคเอกชนได้สรุปว่าเห็นด้วยกับแนวทางที่จะให้มีการปฏิรูป ซึ่งจากนี้จะมีการจัดเวทีเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง
ด้าน นายนิติธร ล้ำเหลือ ที่ปรึกษาเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนอาจกังวลถึงความเป็นไปได้แต่หากนำบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 เป็นตัวตั้งทุกอย่าง และตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีพระราชทานอย่างที่เข้าใจและอยากให้ภาคเอกชนไม่ตัองกังวลเรื่องข้อกฎหมาย
ในช่วงท้าย นายสุริยะใส กตะสิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า ในวันที่ 13 ธ.ค.นี้ จะมีการจัดเสวนาแนวทางปฏิรูปประเทศของภาคประชาชน ที่หอประชุมใหญ่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในเวลา 09.30-16.00 น. โดยจะมีผู้เข้าร่วมจากภาคประชาชนกว่า 3,000 คนทั่วประเทศ และขอให้ภาคเอกชนส่งตัวแทนเข้าร่วมเสวนาด้วย