xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไป “ประชาชนปฏิวัติ” งานหินของ “กำนัน-กปปส”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รายงานการเมือง

ประชาชนปฏิวัติ!!! เป็นสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้

ศึกระหว่าง คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กับ “รัฐบาล” ขี้ข้าทายาทอสูร “ระบอบทักษิณ” เดินมาถึงจุดเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นัดหมายเปลี่ยนแปลงประเทศของ 9 ธันวาคมของ “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เลขาธิการ กปปส. รวมพลคนนับล้านเดินเท้ามุ่งหน้า “ทำเนียบรัฐบาล” เพื่อทวงคืนอำนาจให้กับประชาชนถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ต้องจารึกไว้ชั่วลูกชั่วหลาน

แม้หัวขบวนเครือข่าย “ชินวัตร” อย่าง “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จะรีบชิงตัดหน้าประกาศ “ยุบสภา” ในช่วงเช้าก่อนที่จะถึงฤกษ์ที่กปปส.กำหนดเคลื่อนทัพ 09.39 น. แต่ก็ไม่ทันการณ์ เพราะคลื่นมหาชนจากทั่วทุกหัวสารทิศต่างหลั่งไหลมาร่วมแสดงพลังเป็นประวัติการณ์

ในที่สุดสหบาทาจากทั่วแผ่นดินเข้ารุมประชาทัณฑ์ “รัฐบาลทรราช” ไม่มีชิ้นดี

การแถลงของ “ยิ่งลักษณ์” ก็แค่ความพยายามดิ้นออกจากมุมอับเพื่อรักษา “อำนาจ” ไม่ให้หลุดมือ “ชินวัตร” ไป โดยอาศัยการเลือกตั้งบังหน้า เพราะคำพูดของ “นายกฯหญิง” ไม่ต้องถึงระดับปัญญาชน “เด็กอนุบาล” ก็อ่านออกว่า เพียงต้องการยื้อเวลา ต่อลมหายใจให้ “ระบอบทักษิณ” ก็เท่านั้น

ทุกอย่างสายเกินไปเสียแล้ว การลาออก-ยุบสภา แม้ “ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ” จะพร้อมทำตามคำขอทุกประการ แต่นั่นไม่ใช้คำตอบที่ กปปส.และมวลมหาประชาชนต้องการ

แล้วจะมีใครโง่ไปติดหลุมพรางที่ “ยิ่งลักษณ์” ขุดขึ้นมาหลอกง่ายๆ

ชั่วโมงนี้ “ระบอบแม้ว” ไม่สามารถทัดทานพลังบริสุทธิ์จาก “มวลมหาประชาชน” ที่หลั่งไหลเข้ามาแบบไม่หยุดยั้งได้ แม้จะเดินเกมอย่างไรก็ไม่มีใครสนใจ

แต่อีกด้าน คำถามมีว่า แล้ว “กำนันสุเทพ” และ กปปส.จะขับเคลื่อน “พลังบริสุทธิ์” นี้ต่อไปอย่างไร เบื้องต้นเป็นไปตามแถลงการณ์ “ประชาภิวัฒน์”เมื่อช่วงค่ำคืนที่ผ่านมาว่า

“กปปส.ไม่อาจยินยอมให้เผด็จการเสียงข้างมาก และทุนนิยมผูกขาด ใช้อำนาจโดยไม่เป็นไปตามครรลอง เมื่อรัฐบาลทรยศประชาชน ทำลายสัญญาประชาคมชัดเจน ประชาชนจึงไม่จำต้องอยู่ภายใต้อีกต่อไป จึงอาศัยอำนาจรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ขอประกาศว่า ประชาชนมีความจำเป็นต้องพิทักษ์หลักการใช้สิทธิเรียกคืนอำนาจการปกครองแผ่นดินคืนสู่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ เป็นการประชาภิวัฒน์เพื่อปฏิรูปประเทศให้ทุจริตหมด และให้การเมืองเป็นธรรมแก่ประชาชนทุกภาคส่วน”

ต้องจับตาว่าก้าวย่างต่อไปที่ “สุเทพ” จะนำพากระบวนการปฏิรูประเทศไทยต่อไปอย่างไร และการยึดอำนาจโดยประชาชนอ้างรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 ที่หยิบยกขึ้นมาใช้นั้นสมบูรณ์เบ็ดเสร็จแล้วหรือไม่

เพราะฝ่าย “สุเทพ-กปปส.” ก็ใช้พลังของมวลมหาประชาชนเป็น “ฉันทามติ” ในการยึดอำนาจจากรัฐบาลทรราช ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองก็อ้างว่าได้รับเลือกจากประชาชน 15 ล้านเสียง และขอกลับไปตัดสินในการเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากที่ประกาศยุบสภาไปแล้ว

อีกทั้งยังไม่รับข้อเสนอในการลาออกจากรัฐบาลรักษาการตามที่มีข้อเรียกร้อง โดยอ้างว่าจำเป็นต้องบริหารราชการแผ่นดินต่อไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งๆ ที่นักวิชาการด้านกฎหมายก็ออกมายืนยันตรงกันว่ารัฐบาลรักษาการสามารถลาออกได้ โดยให้อำนาจการบริหารงานเป็นของ “ปลัดกระทรวง” แต่ละกระทรวง

จุดนี้คือสิ่งที่ “สุเทพ” ต้องรีบ “เผด็จศึก” ตะเพิด “รัฐบาลนางลอย” ออกจากเก้าอี้ให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะเจอ “หินโสโครก” กีดขวางเป็นอุปสรรคของเส้นทางการปฏิรูปประเทศ

และจุดนี้เองเป็นความแตกต่างกับการรัฐประหารโดยทหารในอดีต เพราะครั้งนี้เป็นการรัฐประหารโดยประชาชน ทั้งที่ศักดิ์ของ “แถลงการณ์ประชาภิวัฒน์” ก็ไม่ได้แตกต่างจาก “ประกาศคณะปฏิวัติ” ต่างกันแต่เพียงประชาชนมีแต่มือเปล่า และไม่ได้มีปืนไปจ่อหัว หรือหันกระบอกปืนใหญ่เข้าใส่รัฐบาลเหมือนทหาร คงยากที่รัฐบาลจะยอมรับฟัง โดยเฉพาะรัฐบาลที่หวงอำนาจยิ่งกว่าชีวิต

ถึงวันนี้ “กำนันสุเทพ” ก็ถือได้ว่าเป็น “หัวหน้าคณะปฏิวัติ” อย่างกลายๆ ไปแล้วจากฉันทามติของคนไทยผู้รักชาติรักแผ่นดินมอบให้ นอกเหนือการกำจัดรัฐบาลออกไปให้พ้นทางแล้ว ยังต้องเดินหน้าปลดล็อคข้อจำกัดทางเทคนิคเล็กน้อย

เพราะต้องยอมรับว่าแนวทางที่ “กำนันสุเทพ” เสนอในการปฏิรูปประเทศ ตั้งรัฐบาลประชาชน-สภาประชาชนนั้น ยังติดขัดข้อกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ 2550 บางประการ

ดังนั้นจึงต้องย้อนกลับไปทบทวนแนวทางในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพื่อเป็นโมเดลก้าวไปสู่อนาคต

ที่ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2520 โดย “พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่” ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในขณะนั้นเป็นผู้นำการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการรัฐประหารตัวเอง เพราะก่อนหน้านั้นในปี 2519 “พล.ร.อ.สงัด” ผู้นี้ก็เป็นผู้นำการรัฐประหาร เนื่องจากในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งตั้ง “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” เป็นนายกรัฐมนตรีเอง ในขณะนั้นภารกิจที่ “รัฐบาลธานินทร์” ต้องรีบดำเนินการก็คือ การปฏิรูปประเทศ ซึ่งคล้ายกับเหตุการณ์ในปัจจุบัน แต่ด้วยความล่าช้าไม่ทันใจ จึงถูกยึดอำนาจคืน

ในครั้งนั้นคณะรัฐประหารได้ประกาศ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2519 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น และประกาศใช้ “ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2520” ขึ้นแทน โดยให้มีการตั้ง “สภานโยบายแห่งชาติ” โดยมีอำนาจหน้าที่กำหนดแนวนโยบายแห่งรัฐ และให้ความคิดเห็นแก่คณะรัฐมนตรี เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปตามแนวนโยบายแห่งรัฐ และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญการปกครอง

และให้มี “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ถือเป็น “โมเดล” ที่ภาคประชาชนสามารถนำมาประยุกต์ให้ได้ ตามที่ “สุเทพ” ได้อธิบายความต่อจากแถลงการณ์ว่า “ต้องเขียนกฏหมายเลือกตั้งใหม่ ตรวจสอบกลโกง ปฏิรูปพรรคการเมือง ให้เวลาสภาประชาชนเร็วที่สุด 8 - 12 เดือน ให้การเลือกตั้งสะท้อนความต้องการประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เป็นบันใดเพื่ออำนาจ รวมถึงเขียนรัฐธรรมนูญห้ามใช้นโยบายประชานิยม เป็นต้น”

อีกทางหนึ่งก็เดินตามประกาศเรื่องการตั้งรัฐบาลประชาชน โดยต้องเริ่มจากนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ซึ่งถือเป็นการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ โดยให้ประธานสภาเสนอชื่อไปยังพระมหากษัตริย์ เพื่อทรงแต่งตั้ง “คนกลาง” มาเป็นนายกฯ และตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้น เพื่อทุกสิ่งทุกอย่างเรียบร้อย จึงจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว

ถือเป็นการนำบทเรียนในอดีตมาเพื่อยึดอำนาจทรราชเบ็ดเสร็จ ก่อนก้าวต่อไปในอนาคตร่วมกัน พลิกฟื้น “ประเทศไทย” ให้เดินไปสู่หนทางที่ดีกว่า ไม่จมปลักอยู่กับระบบทุนนิยมสามานย์

คำประกาศขอให้มวลชนยืนหยัดต่อสู้อีก 3 วันของ “สุเทพ” ย่อมต้องมี “ไม้เด็ด” ที่จะนำพาพลังมวลมหาประชาชนไปสู่เป้าหมายให้ได้ เพราะหากไม่สำเร็จพลังมหาศาลเหล่านั้นก็เป็นเหมือนคบไฟที่ถูกโยนลงน้ำ นั่นก็เท่ากับปล่อยให้ “ระบบทุนนิยมชินวัตร” หยั่งรากติดลึกในสังคมไทย เมื่อปล่อยไว้ก็ยิ่งยากจะขุดออก

ต้องรีบขุดต้นผลไม้พิษ “ชินวัตร” ออกเสียวันนี้เพื่อลูกหลานไทยอยู่กันอย่างร่มเย็นตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น