xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.แจกหนังสือแจงที่มา “สภาประชาชน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กปปส.แจกหนังสือ “จากเผด็จการโดยพรรคการเมือง นายทุนในระบบรัฐสภา ถึงพลังมวลมหาประชาชน” ของกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ทำความเข้าใจที่มา “สภาประชาชน”

ผู้สี่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.จะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในช่วงบ่าย นายเอกนัฏได้นำหนังสือ “จากเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนในระบบรัฐสภา ถึงพลังมวลมหาประชาชน” ที่จัดทำโดยกลุ่มสยามประชาภิวัฒน์ ออกเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา นำมาแจกจ่ายให้แก่สื่อมวลชน และผู้ชุมนุมที่สนใจ โดยเนื้อหาของหนังสือดังกล่าวเป็นการอธิบายถึงสภาพการณ์ของรัฐสภาไทยเป็นที่เป็นเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน รวมถึงการใช้เสียงข้างมากในการแก้ไขกฎหมายสำคัญ 3 ฉบับ คือ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับสุดซอย และร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่สะท้อนว่าเป็นอาการของ “โรคเผด็จการ”

นอกจากนี้ ยังมีเนื้อหาเป็นการทำความเข้าใจถึงเหตุผลว่าทำไมการลุกขึ้นต่อต้านโดยสันติของประชาชนเพื่อพิทักษ์รัฐธรรมนูญ จึงมีความชอบธรรมตามกฎหมาย โดยยกกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ แล้วรัฐบาลไม่ยอมรับรวมถึงไม่ขอพระราชทานนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทูลเกล้าฯ ไปก่อนหน้านี้กลับคืนมา แสดงให้เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของรัฐบาลเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ มาตรา 69 ที่บัญญัติให้บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใด ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

รวมถึงเมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 กำหนดให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยก็ชอบที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจจะสถาปนาผู้รับผิดชอบบ้านเมืองขึ้นมาเพื่อจัดการบ้านเมืองโดยยึดประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ก่อตั้งสภาผู้รับมอบอำนาจจากประชาชนหรือสภาประชาชน ที่ประกอบไปด้วยตัวแทนของประชาชนทุกหมู่เหล่า ทำหน้าที่จัดการบ้านเมืองให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชนโดยให้มีการปฏิรูปประเทศเพื่อผลประโยชน์ของมวลมหาประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ เนื้อหาหนังสือยังได้ยกตัวอย่างการใช้ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยในแก้ไขปัญหาประเทศหลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 16 ที่จอมพลถนอม กิตติขจร รัฐประหารยึดอำนาจตนเองและออกธรรมนูญการปกครอง 2515 ต่อมาเกิดการเรียกร้องประชาธิปไตย จนที่สุดจอมพลถนอมลาออกจากการเป็นนายกฯ และเดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมีการตั้งสภาสนามม้า หรือสมัชชาแห่งชาติ ที่มาจากตัวแทนประชาชนหลากหลายอาชีพทั้งนักการเมือง ข้าราชการ แพทย์ นักหนังสือพิมพ์ นักการธนาคาร นายกสมาคมสามล้อเครื่อง รวมเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2517


กำลังโหลดความคิดเห็น