“เด็จพี่-ทนายถุงขนม” พร้อมใจป้องนายหญิงไม่ต้องรับผิดชอบแก้ที่มา ส.ว.ฉาว อัด ปชป.ทำทุกทางเพื่ออำนาจ ตีกินหวังเอื้อม็อบ ย้ำศาลไร้อำนาจ อ้างอยู่ระหว่างใช้พระราชอำนาจ ชม ป.ป.ช.ไม่ฟันตามน้ำ เชื่อกู้ 2 ล้านล้านเจอยื่นศาลแบบเดิม ดัก ปชป.ก็ทำอย่าบอก พท.ทำไม่ได้ คุยรัฐจริงใจให้ซักฟอกเต็มที่ อย่าบิดเบือน ท้าแน่จริงโชว์ประเด็น โต้ข่าวบีบ “ค้อนแดง” ไขก๊อก ปัดนายใหญ่ไม่พอใจ จ่าฝูงแดง เล็งเอาผิด ม.112 ตุลาการศาล รธน.
วันนี้ (22 พ.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงข่าวตอบโต้กรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แสดงความรับผิดชอบ หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ไม่ชอบด้วยกฎหมายว่า เป็นเกมการเมืองของเครือข่ายจ้องล้มรัฐบาล และนำประเด็นดังกล่าวมาเรียกมวลชนให้มาชุมนุมในวันที่ 24 พ.ย. ทั้งนี้ ยืนยันว่ารัฐบาลและนายกฯไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจของรัฐสภา นายกฯ ไม่สามารถที่จะควบคุมได้
นายพร้อมพงศ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.เตรียมยื่นเอาผิดสมาชิกรัฐสภา 312 คน ที่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ว่า พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นพรรคซึ่งยึดมั่นในหลักการ แต่วันนี้มองว่าการดำเนินการต่างๆ ของพรรคประชาธิปัตย์เป็นการให้ได้มาซึ่งอำนาจในทุกวิถีทาง และในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันจะแก้บ้างกลับมีปัญหา และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ร่าง พ.ร.บ. เงินกู้ 2 ล้านล้านอย่างแน่นอน
ด้านนายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวเสริมว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหาร ตามมาตรา 68 ไม่ได้ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งใดๆ เลย และคำวินิจฉัยก็เป็นเพียงการบอกว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบเท่านั้น ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ดำเนินเรื่องดังกล่าวตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่เมื่อรับเรื่องจากรัฐสภาแล้ว ต้องยื่นทูลเกล้าฯ และตอนนี้กระบวนการก็อยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ระหว่างที่พระมหากษัตริย์จะใช้พระราชอำนาจ อยากให้ทุกคนเคารพในกติกา การมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกนั้นก็ไม่ตรงกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
นายพิชิตกล่าวอีกว่า กรณีที่มีการไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.312 คน สืบเนื่องจากคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น ต้องชื่นชม ป.ป.ช.ที่ไม่ไหลตามน้ำ แม้มีหลายฝ่ายบอกว่าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินแล้ว ผลผูกพันทุกองค์กร จะต้องไต่สวนอะไรอีก แต่ ป.ป.ช.ก็ออกมาระบุว่าเรื่องดังกล่าวต้องมีการไต่สวนตามระเบียบ ต้องแจ้งข้อกล่าวหาให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ทำคำชี้แจง และนำพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิด สิ่งที่ ป.ป.ช.ทำถือเป็นการป้องกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรม
ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์จะยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาทนั้น นายพิชิตกล่าวว่า การออก พ.ร.บ.เงินกู้เช่นนี้มีการดำเนินการมาแล้วหลายฉบับ ซึ่งเป็นการกู้เงินโดยไม่ต้องเอาเข้าคลัง และรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ก็ใช้วิธีการเดียวกับรัฐบาลชุดนี้ และผู้ที่ร่าง พ.ร.บ.ก็เป็นสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา หากเป็นเช่นนี้ต้องวินิจฉัยว่า ประชาธิปัตย์ทำได้ พรรคเพื่อไทยทำไม่ได้หรืออย่างไร
นายพร้อมพงศ์ยังได้กล่าวถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งมีการกล่าวหาว่ารัฐบาลพยายามปิดปากพรรคฝ่ายค้าน โดยนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสกัดกั้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจว่า ล่าสุดประธานสภาฯได้บรรจุเรื่องไว้แล้ว และคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล ก็ได้กำหนดวันอภิปรายในวันที่ 26-27 พ.ย. โดยให้เวลาถึง 25 ชั่วโมง แสดงให้เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลที่พร้อมให้ตรวจสอบเต็มที่ แต่ขอให้ฝ่ายค้านนำข้อเท็จจริงมาพูดอย่างสร้างสรรค์ อย่ากล่าวหาเลื่อนลอย ยืนยันจะไม่มีการตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี
ขณะที่นายพิชิตกล่าวเสริมว่า ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมี 2 แบบ คือ 1. การบริหารราชการบกพร่อง 2. การกล่าวหาว่าพฤติกรรมไม่ชอบต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริต ซึ่งต้องมีการยื่นถอดถอน ซึ่งเราเรียกร้องให้แนบสำเนาถอดถอนให้นายสมศักดิ์ด้วย เพราะคนที่ถูกกล่าวหาจะได้ชี้แจง ส่วนพยานหลักฐานค่อยเอามาเปิดในการอภิปรายตรงนี้ไม่ว่ากัน แต่เบื้องต้นถ้าแน่จริง มั่นใจว่ามีไม้เด็ดก็ต้องเปิดออกมาเลยว่ากล่าวหาเรื่องอะไร อย่าไปบอกเอาในวันอภิปรายเหมือนที่เคยทำมา ทำแบบนั้นก็ต้องถามว่าอาศัยรัฐธรรมนูญมาตราใด
ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่าแกนนำ และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย กดดันให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกจากตำแหน่ง สืบเนื่องจากความผิดพลาดในการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.นั้น นายพร้อมพงศ์ปฏิเสธ โดยบอกว่าได้ตรวจสอบกับแกนนำพรรคแล้วพบว่าไม่เป็นความจริง เป็นการปล่อยข่าวเพื่อให้เกิดความแตกแยกระหว่างพรรคเพื่อไทยกับนายสมศักดิ์มากกว่า ที่ผ่านมานายสมสักดิ์ทำหน้าที่เป็นกลางยึดหลักความถูกต้อง ทำงานได้เป็นอย่างดี จึงไม่มีเหตุที่จะมีใครไปกดกันให้นายสมศักดิ์ออกจากตำแหน่งประธานรัฐสภา ส่วนที่มีการระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่พอใจการทำงานของนายสมศักดิ์นั้น ได้ตรวจสอบกับคนใกล้ชิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ แล้วก็ไม่เป็นความจริง พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวแต่อย่างใด
ขณะที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กองปราบปราม ให้ดำเนินคดีต่อคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในความผิดฐานดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการพิจารณาคำร้องเกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในระหว่างที่รอพระบรมราชวินิจฉัยจากพระมหากษัตริย์ ถือเป็นการละเมิดพระราชอำนาจอย่างร้ายแรง