xs
xsm
sm
md
lg

ดัชนีความโปร่งใสไทยแย่กว่าปีที่แล้ว ป.ป.ช.เผยโพลยอมให้โกงเพราะปราบไม่จริงจัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษก ป.ป.ช. (ภาพจากแฟ้ม)
ป.ป.ช.ระบุค่าดัชนีความโปร่งใสไทยตก แย่กว่าปี 2555 ชี้ถึงเวลาเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ล้างทุจริต-คอร์รัปชัน เผยผลโพลพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชัน พบส่วนใหญ่มองว่าการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง มีช่วงโหว่ สังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ และผลประโยชน์ที่ได้รับคุ้มค่ากว่าบทลงโทษ เห็นด้วยเพิ่มอำนาจหน้าที่ “ป.ป.ช.-ป.ป.ท.-สตง.” ตรวจสอบในเอกชน

วันนี้ (3 ธ.ค.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ได้ประกาศคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสที่สะท้อนการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศต่างๆ ประจำปี 2556 ปรากฏว่าประเทศไทยสอบตกเช่นเคย เพราะได้เพียง 35 คะแนนเท่านั้น จาก 100 คะแนน และยังลดลงจากปี 2555 ที่ได้ 37 คะแนน ขณะที่ลำดับของประเทศตกจากลำดับที่ 88 ในปี 2555 ไปอยู่ที่ลำดับ 102 จาก 175 ประเทศ ถือว่าย่ำแย่มาก โดยปัจจัยสิ่งที่เป็นปัญหาที่สุดของประเทศคือการทุจริตการคอร์รัปชันของหน่วยงานภาครัฐ การเข้าแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งทำให้คะแนนดัชนีความโปร่งใสของประเทศตกต่ำตลอดมา

“เวลาไปชี้แจงที่ใดเขาก็บอกกลับมาว่าเหตุใดไม่ยอมแก้ไขปรับปรุงให้การเมืองใสสะอาด มองว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องตัดสินใจแล้วว่าเราจะเดินหน้าเพื่อการปฏิรูปประเทศหรือไม่ เพราะว่าการประกาศคะแนนดัชนีภาพลักษณ์ความโปร่งใสครั้งนี้ประเทศฟิลิปปินส์ที่มีคะแนนตามหลังประเทศไทยมาตลอดนั้น ขณะนี้กลับมีคะแนนและลำดับที่ดีกว่าไทยแล้ว แสดงให้เห็นว่าประเทศของเขานั้นมีความตั้งใจและพยายามทำให้ภาพพจน์ของประเทศในสายตานานาชาติดีขึ้น” นายวิชา กล่าว

อีกด้านหนึ่ง ป.ป.ช.ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล และชมรมนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) แถลงข่าวผลการสำรวจความค ิดเห็นของประชาชน เรื่องพฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชัน” โดยเป็นการทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-27 พ.ย. 56 จากประชาชนทั่วทกภูมิภาครวมทั้งสิ้นจำนวน 2,810 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับพฤติกรรม การยอมรับการทุจริตคอร์รัปชัน และปัจจัยที่มีผลต่อการทุจริตคอร์รัปชั่นในเชิงนิติศาสตร์

เมื่อถามถึงการกระทำพฤติกรรมการทุจริตในอดีตที่ผ่านมา พบว่าร้อยละ 54.70 เคยขับรถผิดกฎจราจร ร้อยละ 31.39 ยอมถูกไถ่รีดจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 26.87 เคยรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้นักการเมือง ร้อยละ 18.19 เคยใช้ระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 13.81 เคยติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 13.24 เคยนำอุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 12.60 เคยใช้เงินฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน

เมื่อถามถึงพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจจะกระทำในอดีต พบว่าร้อยละ 17.69 การขับรถผิดกฎจราจร ร้อยละ 17.30 รับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ร้อยละ 11.46 ยอมถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 10.21 การใช้ระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 7.01 การติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 6.67 การแซงคิวผู้อื่น ร้อยละ 6.12 จะนำวัสดุอุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 1.57 การวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่ง ร้อยละ 1.32 การใช้อำนาจหน้าที่ในทางที่มิชอบ

เมื่อถามว่า ยอมรับกับพฤติกรรมดังกล่าวได้หรือไม่ พบว่าร้อยละ 22.60 ยอมรับการทำผิดกฎจราจร ร้อยละ 18.15 ยอมรับกับการใช้ระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 17.08 ยอมรับการฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน ร้อยละ 16.83 ยอมรับการแซงคิว ร้อยละ 14.20 ยอมรับการนำอุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว และร้อยละ 11.78 ยอมรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้นักการเมือง

ส่วนความคิดที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันนั้น ร้อยละ 45.88 การบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจังและล่าช้า ร้อยละ 39.69 เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย ร้อยละ 37.89 เพราะสังคมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ร้อยละ 33.67 เป็นการได้รับผลประโยชน์คุ้มค่า มากกว่าบทลงโทษทางกฎหมาย ร้อยละ 29.37 เป็นการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

นอกจากนี้เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อกฎหมาย พบว่า ร้อยละ 84.80 เห็นด้วยกับการเพิ่มหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง.เข้าตรวจสอบการทุจริตในภาคเอกชน ร้อยละ 84.52 เห็นด้วยกับการห้ามไม่ให้จำเลยผู้ต้องหาคดีทุจริตคอร์รัปชันเดินทางออกนอกประเทศ ร้อยละ 63.59 เห็นด้วยกับการห้ามมิให้จำเลยผู้ต้องหาคดีทุจริตคอร์รัปชันได้รับการประกันตัวทุกกรณี


กำลังโหลดความคิดเห็น