xs
xsm
sm
md
lg

คนไทยทุจริตเพราะผิดกฎจราจรมากสุด ห่วงรับเงินเลือกตั้งอยู่คู่สังคมอีกนาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นิด้าโพลชี้คนไทยทุจริตจาก “ขับรถผิดกฎจราจร” มากที่สุด อึ้ง! กว่า 22% ยอมรับได้กับพฤติกรรมนี้ ระบุอนาคตปัญหาคอร์รัปชันยังอยู่เพียบ ทั้งรับเงินเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่รัฐรีดไถ ระบบอุปถัมภ์ แซงคิว วิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง เผย 84% เห็นด้วยเพิ่มอำนาจกระบวนการยุติธรรมคดีทุจริต
แฟ้มภาพ
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “พฤติกรรมและปัจจัยการทุจริตคอร์รัปชัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 20-27 พฤศจิกายน 2556 จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค จำนวน 2,810 หน่วยตัวอย่าง พบว่า เมื่อถามถึงการกระทำพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันในอดีตที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.70 ระบุว่า เคยขับรถผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง ขับรถสวนทาง รองลงมา ร้อยละ 31.39 ระบุว่า เคยยอมถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 26.87 ระบุว่า เคยรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ร้อยละ 18.19 ระบุว่า เคยใช้ระบบอุปถัมภ์/การให้สิทธิพิเศษแก่เครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด และเคยแซงคิวผู้อื่น ในสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 13.81 ระบุว่า เคยให้ของขวัญหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 13.24 ระบุว่า เคยนำวัสดุ, อุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 12.60 ระบุว่า เคยให้เงิน/สิ่งของ เพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน ร้อยละ 2.85 ระบุว่า เคยใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในทางมิชอบ และร้อยละ 1.99 ระบุว่า เคยวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่ง/ซื้อตำแหน่ง

เมื่อถามถึงพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันที่อาจจะกระทำอีกในอนาคต พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 17.69 ระบุว่า เป็นการขับรถผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง ขับรถสวนทาง รองลงมา ร้อยละ 17.30 ระบุว่า เป็นการรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ร้อยละ 11.46 ระบุว่า เป็นการยอมถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 10.21 ระบุว่า เป็นการใช้ระบบอุปถัมภ์/การให้สิทธิพิเศษแก่เครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ร้อยละ 7.01 ระบุว่า เป็นการให้ของขวัญหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ และการให้เงิน/สิ่งของ เพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียนในสัดส่วนเท่ากัน ร้อยละ 6.76 ระบุว่า เป็นการแซงคิวผู้อื่น ร้อยละ 6.12 ระบุว่า เป็นการนำวัสดุ, อุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 1.57 ระบุว่า เป็นการวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่ง/ซื้อตำแหน่ง และร้อยละ 1.32 ระบุว่า เป็นการใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในทางมิชอบ

และเมื่อถามถึงการยอมรับได้ต่อพฤติกรรมดังกล่าว พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 22.60 ยอมรับได้ต่อการขับรถผิดกฎจราจร เช่น ฝ่าไฟแดง ขับรถสวนทาง รองลงมา ร้อยละ 18.15 ยอมรับได้ต่อการใช้ระบบอุปถัมภ์/การให้สิทธิพิเศษแก่เครือญาติ หรือบุคคลใกล้ชิด ร้อยละ 17.08 ยอมรับได้ต่อการให้เงิน/สิ่งของ เพื่อฝากบุตรหลานเข้าโรงเรียน ร้อยละ 16.83 ยอมรับได้ต่อการแซงคิวผู้อื่น ร้อยละ 14.20 ยอมรับได้ต่อการนำวัสดุ,อุปกรณ์ในที่ทำงานไปใช้ส่วนตัว ร้อยละ 11.78 ยอมรับได้ต่อการรับเงินเพื่อลงคะแนนเสียงให้กับนักการเมือง ร้อยละ 9.11 ยอมรับได้ต่อการให้ของขวัญหรือติดสินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 5.87 ยอมรับได้ต่อการยอมถูกรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร้อยละ 5.20 ยอมรับได้ต่อการวิ่งเต้นให้ได้ตำแหน่ง/ซื้อตำแหน่ง และร้อยละ 2.49 ยอมรับได้ต่อการใช้อำนาจหน้าที่และตำแหน่งในทางมิชอบ

ด้านความคิดเห็นที่มีต่อเหตุจูงใจ/ปัจจัยที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ประชาชนเห็นว่ามีผลอยู่ในระดับมากที่สุด พบว่า ประชาชน ร้อยละ 45.88 ระบุว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายไม่จริงจัง ไม่เด็ดขาด และล่าช้า (เฉลี่ย 4.21) รองลงมา ร้อยละ 39.69 ระบุว่า เป็นช่องโหว่ของกฎหมาย (เฉลี่ย 4.09) ร้อยละ 37.89 ระบุว่า เป็นสังคมวัฒนธรรมไทยเป็นระบบอุปถัมภ์ ระบบเครือญาติ ระบบพรรคพวกเอื้อต่อการทุจริต (เฉลี่ย 4.06) ร้อยละ 33.67 ระบุว่า เป็นการได้รับผลประโยชน์มีความคุ้มค่ามากกว่าบทลงโทษทางด้านกฎหมาย (เฉลี่ย 3.97) ร้อยละ 34.34 ระบุว่า เป็นภาวะเศรษฐกิจ ค่าครองชีพสูง เงินเดือนน้อย (เฉลี่ย 3.88) ร้อยละ 29.37 ระบุว่า เป็นการได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีการแจ้งความผิด (เฉลี่ย 3.87) ร้อยละ 25.62 ระบุว่า ประชาชนเบื่อหน่ายเพิกเฉยต่อการต่อต้านการทุจริต (เฉลี่ย 3.71)

ท้ายสุดเมื่อถามความคิดเห็นต่อกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมในคดีการทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.80 เห็นด้วยกับการเพิ่มหน้าที่และอำนาจของ ป.ป.ช./ป.ป.ท./สตง.ในการเข้าตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชน ร้อยละ 84.52 เห็นด้วยกับการห้ามมิให้ จำเลย/ผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชัน เดินทางออกนอกประเทศ/ควรกักบริเวณ ร้อยละ 63.59 เห็นด้วยกับการห้ามมิให้ จำเลย/ผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชัน ได้รับการประกันตัวทุกกรณี และร้อยละ 56.65 เห็นด้วยกับการที่จำเลย/ผู้ต้องหาในคดีทุจริตคอร์รัปชันที่ต้องการประกันตัว ต้องวางหลักประกันเป็นวงเงิน 50-80% ของมูลค่าความเสียหายจากการคอร์รัปชัน


กำลังโหลดความคิดเห็น