xs
xsm
sm
md
lg

นิติราษฎร์รุมอัดศาล รธน.ซัดไร้อำนาจ ป้องร่างยังไม่ตก สับวินิจฉัยขัด ปชต.ต้องเป็นโมฆะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิติราษฎร์ แถลงเฉ่งศาลรัฐธรรมนูญ “วรเจตน์” ยันไม่มีอำนาจ ชี้ร่างเดิมยังไม่ตก ระบุตาม กม.หากในหลวงไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ให้สภาทูลเกล้าฯ ใหม่ได้ สับวินิจฉัยขัดหลักประชาธิปไตย ต้องเป็นโมฆะบังคับใช้ไม่ได้ “ปิยะบุตร” ฉะพรรณนาไปเรื่อยไม่ใช่เหตุผลในการใช้ตัดสินคดี ก่อนสวนกลับรายประเด็น ทำนิติบัญญัติมีปัญหา ไล่ไปฟันคนเสียบบัตรไม่ใช่มาล้มร่างฯ แต่ชี้ทำแค่ 8 คนไม่สะเทือน “ธีระ” โวยอันตรายที่สุดในชาติ ปกป้องโครงสร้างเก่า ไม่ยอมให้ถูกลดอำนาจ


วันนี้ (23 พ.ย.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มนิติราษฎร์ นำโดย นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมา แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะบอกให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ดังนั้น ตามหลักการแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญยังคงสมบูรณ์ตามกฎหมายทุกประการ ขณะนี้ขั้นตอนอยู่ระหว่างการรอลงพระปรมาภิไธย หากพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็สามารถนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ทันที แต่หากไม่ทรงลงพระปรมาภิไธย ก็ถือว่าทรงใช้อำนาจวีโต้ สภาก็ต้องมาปรึกษากันอีกครั้ง

“ถ้าสภาลงมติยืนยันไม่ถึง 2 ใน 3 ก็ถือว่าร่างตกไป แต่ถ้าลงคะแนนถึง 2 ใน 3 ก็ต้องยืนยันทูลเกล้าฯ อีกครั้ง และรอบนี้หากพ้น 60 วัน ก็สามารถประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไปได้” นายวรเจตน์ กล่าว

นายวรเจตน์ กล่าวอีกว่า การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ถือเป็นการขัดต่อหลักประชาธิปไตย หลักนิติศาสตร์ และหลักนิติธรรม ดังนั้น ในทางกฎหมายจึงต้องถือว่าเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำไปใช้บังคับกับองค์กรของรัฐได้

ด้าน นายปิยบุตร แสงกนกกุล กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ใช่การอ้างหลักกฎหมาย แต่เป็นการพรรณนาความไปเรื่อยๆ แล้วพอจะลากเข้าเขตอำนาจก็ไปอ้างหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรค 2 เพื่อจะบอกว่าตัวเองกำลังทำตามรัฐธรรมนูญอยู่ การที่ศาลมาเทศนาสั่งสอนประณามฝ่ายการเมืองลงไปในคำวินิจฉัย หรือคำพิพากษาไม่ใช่เหตุผลที่จะเอามาตัดสินคดีในระบบกฎหมาย

นายปิยบุตร กล่าวว่า ขอโต้แย้งศาลว่าไม่มีอำนาจในการวินิจฉัย ตั้งแต่ประเด็นการนับวันซึ่งศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่า การนับเวลาย้อนหลังไปจะทำให้เหลือเวลาแปรญัตติเพียง 1 วัน ขัดข้อบังคับการประชุม และขัดต่อหลักนิติธรรม แต่ข้อเท็จจริงคือ ไม่มีข้อบังคับข้อไหนเลยที่ศาลจะนำมาอ้าง เพราะไม่มีข้อบังคับไหนกำหนดให้นับวันแบบศาลรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นนี้โดยไม่มีกฎหมาย สำหรับประเด็นการตัดไม่ให้สมาชิกอภิปรายในวาระ 2 ซึ่งมีคนแปรญัตติ 57 คน โดยเหตุที่ถูกตัดสิทธิอภิปรายเพราะได้ทำผิดข้อบังคับเนื่องจากเหลือวันอภิปรายเพียง 1 วัน แต่ศาลได้วินิจฉัยว่า เป็นการกลั่นแกล้ง ซึ่งประเด็นนี้ศาลได้ทิ้งเชื้อไว้ทำให้กระบวนการนิติบัญญัติในประเทศไทยมีปัญหา โดยต่อไปนี้กฎหมายฉบับที่สำคัญๆ พรรคฝ่ายค้านจะขอแปรญัตติเป็นร้อยๆ คน

นายปิยบุตร กล่าวอีกว่า การเสียบบัตรแทนกันนั้น ศาลมีอำนาจในการไต่สวนแสวงหาข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเอง ตามคำร้องมีการเสียบบัตร 8 ใบ ซึ่งต่อให้จริงถามว่ามติเห็นชอบนั้นกระทบกระเทือนหรือไม่ ข้อเท็จจริงคือ มันไม่ได้ส่งผลกระทบกระเทือนต่อการลงมติตอนจบ ศาลจะเอาเรื่องนี้มาล้มมติไม่ได้

“ถ้ามีการเสียบบัตรแทนกันจริงซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องก็ต้องไปลงโทษคนที่เสียบบัตรแทนกัน ไม่ใช่มาล้มร่างฯ ฉบับนี้ เพราะถ้าจะใช้วิธีนี้ก็จะเกิดการกลั่นแกล้งกันต่อไป เช่น ต่อไปฝ่ายข้างน้อยก็อาจจะใช้การเสียบบัตรแทนกันเพื่อทำลายมติในตอนหลัง การเสียบบัตรแทนกันจะต้องส่งผลต่อมติคือ ต้องเป็นการเสียบบัตรจำนวนมากๆ” นายปิยบุตร กล่าว

ขณะที่ นายธีระ สุธีวรางกูร กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มเป็นองค์กรที่อันตรายที่สุดในประเทศไทย เพราะเริ่มมีสถานะเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด และตามคำวินิจฉัย 20 พ.ย. 2556 ศาลกำลังวางเกณฑ์ที่ทำให้ประเทศไทยตกอยู่ในอันตราย ศาลรัฐธรรมนูญกำลังจะปกปักรักษาโครงสร้างของระบบการเมืองแบบเดิมๆ เอาไว้ไม่ยอมให้มีการเปลี่ยนผ่าน อีกประการหนึ่งจากที่ศาลบอกว่ารัฐสภาไม่สามารถไปแก้ไขรัฐธรรมนูญลดอำนาจการตรวจสอบของตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นว่า ศาลไม่ยอมให้มีการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อลดอำนาจของตัวเอง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า ศาลไม่ยอมให้แก้ไขยุบองค์กรของตัวเอง






กำลังโหลดความคิดเห็น