xs
xsm
sm
md
lg

ครส. จี้ รบ. ถอน ชี้ร่างแก้ รธน.มาตรา 190 ผิด ม.68

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายราษฎรปกป้องสถาบัน ฉะรัฐแก้ ม.190 ตัดสิทธิรับรู้ของ ปชช. มุ่งรวบอำนาจไม่เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ผิดมาตรา 68 วอนเลิกดำเนินการ และเพิกถอนร่างทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 13 พ.ย. นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบันพร้อมคณะ แถลงการณ์เรื่อง คำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ความว่า “ตามที่รัฐสภาได้ผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 190 ในวาระที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือนอกอาณาเขตที่ไทยมีอธิปไตย หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภานั้น ปรากฏว่า ถ้อยคำที่ได้แก้ไข เป็นการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหารในการเข้าทำหนังสือสัญญาต่างๆ ได้โดยสะดวก โดยลดอำนาจ และสิทธิในการตรวจสอบของรัฐสภาลงไป

ทั้งที่อำนาจในการตรวจสอบถ่วงดุล ที่สมาชิกรัฐสภามีตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เป็นการใช้อำนาจในฐานะผู้แทนของปวงชนชาวไทย การลดอำนาจ และสิทธิรับรู้ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศ จึงไม่ใช่อำนาจหรือสิทธิที่สมาชิกรัฐสภาจะนำไปยกให้แก่ฝ่ายบริหารได้ แม้จะด้วยเสียงข้างมากก็ตาม

เพราะเท่ากับเป็นการตัดสิทธิรับรู้ของประชาชน ประชาชนในฐานะผู้มีสิทธิ และเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้ชัดแจ้ง ย่อมได้รับการคุ้มครอง และมีสิทธิที่จะปกป้องสิทธิในการรับรู้ตามรัฐธรรมนูญ ด้วยการขัดขวางการกระทำผ่านศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะไม่ยินยอมให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา ที่ต้องทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย แต่กลับแสดงตนอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำ และอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภา ลงมติโดยไม่คำนึงถึงสิทธิการรับรู้ของประชาชนผ่านการประชุมของรัฐสภา

การทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ จึงไม่เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 แม้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นี้ จะริเริ่มโดยสมาชิกรัฐสภา แต่ทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายบริหารโดยตรง นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร จึงไม่อาจปฏิเสธถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 นี้ด้วยข้อเท็จจริง และพฤติการณ์ดังกล่าว

ผมกับคณะมีความเห็นว่า ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) เป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ อันเป็นความผิดตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในวันนี้ (13 พฤศจิกายน 2556) ผมกับคณะจึงได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้พิจารณาวินิจฉัย ให้ผู้ถูกร้องอันประกอบด้วย นายประสิทธิ์ โพธสุธน สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะผู้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งบุคคลดังกล่าวทั้งหมด เป็นผู้ร่วมกระทำการอันเป็นความผิดตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ และให้บุคคลทั้งหมดเลิกการดำเนินการและเพิกถอนร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 190) ที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 3 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2556 ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใดทันที”


กำลังโหลดความคิดเห็น