xs
xsm
sm
md
lg

“บวร” ร้องศาล รธน.วินิจฉัยแก้ ม.190 ขัด กม.-แก๊งแดงยื่นจี้เบรกม็อบ ยุบ ปชป.อ้าง “ปรีชา-เทือก” กบฏ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน (แฟ้มภาพ)
ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ยื่นคำร้องศาล รธน.วินิจฉัยแก้ ม.190 ขัด ม.68 หรือไม่ ชี้ยกอำนาจนิติบัญญัติให้บริหาร ตัดสิทธิ์รับรู้ประชาชน ด้านแก๊งแดงโผล่ฟ้อง “ปรีชา-สุเทพ-อภิสิทธิ์” ล้มล้างการปกครอง เป็นกบฏ สั่งคุ้มครองชั่วคราวเลิกม็อบ ยุบประชาธิปัตย์

วันนี้ (13 พ.ย.) ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ นายบวร ยสินทร ประธานเครือข่ายราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่จำกัดอำนาจรัฐสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบการทำหนังสือสัญญาของฝ่ายบริหาร ซึ่งนายประสิทธิ์ โพธสุธน ส.ว.สุพรรณบุรี ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมดำเนินการแก้ไข เข้าข่ายกระทำการเพื่อได้ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีการที่ไม่ได้เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

ทั้งนี้คำร้องของนายบวร ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ดังกล่าว นอกจากสมาชิกรัฐสภาจะยกอำนาจที่เป็นของรัฐสภาไปให้กับฝ่ายบริหารแล้ว ยังเป็นการตัดสิทธิรับรู้ของประชาชนผ่านการประชุมของรัฐสภา ถือว่าการทำหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในกรณีนี้ไม่เป็นไปโดยสุจริต เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อันเป็นความผิดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 122 และแม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 จะเริ่มโดยสมาชิกรัฐสภาแต่ก็ทำเพื่อประโยชน์ฝ่ายบริหารโดยตรง นายกฯในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารจึงไม่อาจปฏิเสธถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 190 นี้ จึงขอให้ศาลวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และสั่งให้บุคคลทั้งหมดยกเลิกการกระทำดังกล่าวและสั่งเพิกถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 3 เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ไม่ว่าจะอยู่ในขั้นตอนใดทันที

อย่างไรก็ตามวันเดียวกัน นายศรรักษ์ มาลัยทอง โฆษกกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.และนายหนึ่งดิน วิมุตตินนท์ ทนายความชมรมผู้รักความเป็นธรรม ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยการกระทำของ พล.อ.ปรีชา เอี่ยมสุพรรณ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวกซึ่งเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และได้ลาออกจากการเป็น ส.ส.รวม 9 ราย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ว่ากระทำการเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง หรือกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่มิได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่

โดย นายศรรักษ์ กล่าวว่าการชุมนุมของกลุ่มกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ หรือกปท.มีลักษณะคู่ขนานแบ่งงานกันทำร่วมกับ นายสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นผู้นำการชุมนุมกลุ่มประชาชนต่อต้านร่าง พ.ร.บนิรโทษกรรม เข้าข่ายกระทำความผิดฐานเป็นกบฏตามมาตรา 113 มาตรา 116 มาตรา 83 มาตรา 86 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ย.กปท.ได้ออกประกาศปฏิวัติยึดอำนาจรัฐโดยประชาชนนั้น ถือว่าไม่ได้มีเจตนาที่จะติชมโดยสุจริต แต่มุ่งหมายที่จะล้มล้างรัฐบาล เพราะมีการข่มขู่ว่า หากนายกฯ และ รมว.กห ไม่หยุดงาน และ ผบ.ทุกเหล่าทัพและปลัดกระทรวงทุกกระทรวง ไม่มาเข้าพบ คณะเสนาธิการร่วม กปท.ภายใน 4 ชม.จะเคลื่อนพลประชาชนไปในแต่ละกระทรวง ยึดอำนาจรัฐโดยเร่งด่วนเพื่อรักษาอธิปไตย ส่วนการชุมนุมต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มี นายสุเทพ เป็นแกนนำก็ได้มีการประกาศบนเวทีเมื่อวันที่ 12 พ.ย.ให้หน่วยราชการ เอกชน หยุดงานทั่วประเทศวันที่ 13-15 เพื่อมาร่วมชุมนุม รวมทั้งให้นักธุรกิจ ห้างร้าน เอกชน ชะลอการชำระภาษีกลางปีดำเนินการในขณะนี้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครอง จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยุติเลิกการชุมนุม พร้อมมีคำสั่งยุบพรรคประชาธิปัตย์ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี และขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวฉุกเฉินสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้งหมดยุติการชุมนุมไว้จนกกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย


กำลังโหลดความคิดเห็น