มติวิปค้านยื่นศาล รธน.แก้ที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญ ม.68 สัปดาห์หน้า ขอชะลอวาระ 3 ชี้ส่อล้มการปกครอง เสียดุลยภาพ 3 อำนาจหลัก กระบวนการแก้ไม่ชอบด้วย กม. เกิดประโยชน์ทับซ้อนให้ ส.ว.ลงเลือกตั้งต่อได้แถมไม่ต้องลาออก ฟื้นสภาผัวเมีย มีการแก้ปม ส.ว.สรรหา ขัดกันเอง มีปัญหาองค์ประชุมไม่ครบ เร่งแก้รวบรัดไม่สน ส.ส.แปรญัตติ หวังทันเลือกตั้ง ส.ว.ปีหน้า สัปดาห์หน้าถกถอน “ค้อนปลอม” 17 ก.ย.ประชุมรับกู้ 2 ล้านล้าน วาระ 2 ขู่อย่าปิดปากทำผิด รธน.ซ้ำซาก
วันนี้ (13 ก.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวภายหลังการประชุมวิปฝ่ายค้านว่า มีความเห็นร่วมกันที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์หน้า เพื่อให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 หรือไม่ และจะขอให้ศาลมีคำสั่งให้รัฐสภาชะลอการลงมติของรัฐสภาในวาระที่ 3 ด้วยจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยออกมา ซึ่งประเด็นสำคัญที่ฝ่ายค้านเห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เข้าข่ายเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะส่งผลให้ดุลยภาพระหว่างฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เสียไปโดยเฉพาะการทำหน้าที่ขององค์การอิสระตามรัฐธรรมนูญ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกันกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภายังไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ ดังนี้ 1. การเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากได้แก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งในปัจจุบันสามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ได้ติดต่อกันทันที ทั้งที่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดให้เว้นวรรคชั่วคราวก่อนเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยึดโยงทางการเมืองที่อาจมีผลต่อการทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลางของ ส.ว. 2. การเปิดโอกาสให้บุพการีและคู่สมรสของสมาชิกรัฐสภาและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองลงสมัครส.ว.ได้รวมไปถึงการให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งอยู่สามารถลงสมัครเลือกตั้ง ส.ว.โดยไม่ต้องลาออกจากตำแหน่ง ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบเหนือกว่าคนอื่นที่ไม่มีตำแหน่ง
3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีความขัดแย้งกันเอง เพราะในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้กำหนดให้ ส.ว.สรรหาพ้นสภาพทันทีที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขมีผลบังคับใช้ แต่ในมาตราอื่นๆของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่รัฐสภาไม่ได้แก้ไขได้บัญญัติว่าหากในกรณีที่มี ส.ว.สรรหาพ้นจากตำแหน่งจะต้องให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการสรรหา ส.ว.เข้ามาดำรงตำแหน่งที่ว่างต่อไป จึงทำให้ความสงสัยว่าถ้ารัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขใหม่ออกมาเป็นลักษณะนี้จะให้ยึดถือตามบทบัญญัติไหน และ 4. ความมิชอบด้วยองค์ประชุมของรัฐสภา เนื่องจากการประชุมรัฐสภาที่มีการพิจารณาร่างแก้ไขในชั้นรับหลักการวาระที่ 1 เมื่อวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่องค์ประชุมไม่ครบแต่ประธานที่ในที่ประชุมรัฐสภากลับมีคำสั่งให้คณะกรรมาธิการประชุมทันทีทั้งที่ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดวันแปรญัตติอยู่ ถือได้ว่าการดำเนินการลักษณะนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะในเมื่อการพิจารณาในวาระที่ 1 ยังไม่สมบูรณ์จะดำเนินการในวาระต่อไปไม่ได้ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องทำทีละวาระตั้งแต่วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 3 ไม่ใช่รวบรัดข้ามขั้นตอนแบบนี้
“ที่สำคัญการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐสภาเร่งดำเนินการด้วยความรวบรัด เพราะมีข้อผิดพลาดให้เห็นหลายประการ โดยเฉพาะการปิดโอกาสไม่ให้สมาชิกรัฐสภาในฐานะผู้เสนอแก้ไขถ้อยคำและความเห็นในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้อภิปราย ทั้งที่รัฐธรรมนูญได้คุ้มครองเอาไว้ เพียงเพราะต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลบังคับใช้ให้ทันกับการเลือกตั้ง ส.ว.ในเดือน มี.ค. 2557 ที่ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันจะสามารถลงสมัครอีกครั้งได้เท่านั้น” นายจุรินทร์ กล่าว
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า เมื่อวิปฝ่ายค้านได้ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะมีความเห็นออกมาอย่างไร โดยคิดว่าประเด็นที่ฝ่ายค้านดำเนินการทั้งหมดนี้มีความแตกต่างจากคำร้องของนายบวร ยสินทร แกนนำกลุ่มราษฎรอาสาปกป้อง 3 สถาบัน ที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีความเห็นยกคำร้องไปก่อนหน้านี้ เพราะฝ่ายค้านได้รวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการพิจารณาของรัฐสภาเอาไว้ทั้งหมดเพื่อให้ศาลเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญอย่างไร
ทั้งนี้ ประธานวิปฝ่ายค้านยังกล่าวว่า ส่วนการดำเนินการถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง ทางวิปฝ่ายค้านจะประชุมหารือเพื่อกำหนดประเด็นในสัปดาห์หน้าต่อไป
นายจุรินทร์ยังเปิดเผยว่า ในวันที่ 17 ก.ย.วิปฝ่ายค้านจะร่วมกันประชุมเพื่อกำหนดท่าทีต่อการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีวาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงการสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศวงเงิน 2 ล้านล้านบาทในวาระที่ 2 ระหว่างวันที่ 19-20 ก.ย.
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ในเบื้องต้นขอเรียกร้องให้รัฐบาลอย่าใช้เสียงข้างมากมาปิดโอกาสการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านเหมือนกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะถ้าทำอย่างนั้นก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซ้ำซากอีก