“ประชา” ปฏิเสธ “เฉลิม” ได้รับคำสั่งนายกฯ ให้ดูแลควบคุมม็อบ เผยแค่ให้คำปรึกษา ตัวเองยับทำหน้าที่อยู่ ส่วนตำรวจ 3 นายที่ตาย เกิดจากโรคประจำตัว ย้ำรัฐบาลคุ้มครองชีวิตของแกนนำและผู้ชุมนุม
นายวัชระ เพชรทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ กระทู้ถามสดเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ถามนายกรัฐมนตรีว่านโยบายของรัฐบาลเกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในขณะนี้ เพราะทราบมาว่ามีเหตุการณ์ไม่ปกติเกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนตัวผู้ดูแลการชุมนุมจาก พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี มาเป็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน รวมไปถึงการเสียชีวิตของนายตำรวจถึง 3 นาย
นอกจากนี้ ต้องการทราบว่ารัฐบาลได้เตรียมการสลายการชุมนุมหรือไม่ และหากดำเนินการจริงจะใช้แก๊สน้ำตาหรือไม่ ที่สำคัญถ้าเกิดเหตุการณ์รุนแรงถึงขั้นนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์ ถูกลอบทำรายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ ทั้งนี้อยากเรียกร้องให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางทางการเมืองด้วย เพราะพบมาว่ามีกระบวนการคุกคามไม่ให้ประชาชนติดธงชาติเพื่อเป็นแสดงการต่อต้านรัฐบาล
ด้าน พล.ต.อ.ประชาชี้แจงว่า ร.ต.อ.เฉลิมไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดในการดูแลความสงบเรียบร้อยเพราะรัฐบาลได้มอบหมายให้ตนเองเป็นรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องเพียงการมาให้คำปรึกษาครั้งคราวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ขอยืนยันว่ารัฐบาลให้ความเคารพสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนอย่างสูงสุด เพราะตระหนักดีว่าเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่พบว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ครอบครองอาวุธแต่อย่างใด
ส่วนการเสียชีวิตของนายตำรวจ 3 คนตามที่นายวัชระระบุนั้น ได้ตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการเสียชีวิตจากโรคประจำตัวไม่ได้เกี่ยวกับการควบคุมการชุมนุม เช่นเดียวกับการสลายการชุมนุมรัฐบาลก็มีแค่อุปกรณ์ขั้นพื้นฐานสำหรับการควบคุมเท่านั้น เช่น โล่ กระบอง เป็นต้น และไม่เคยห้ามไม่ให้ใครติดธงชาติเพื่อเป็นสัญลักษณ์เพราะถือว่าเป็นสิทธิที่กระทำได้ รวมทั้งการเป่านกหวีดก็ไม่ได้ห้ามแต่การเป่านกหวีดไปรบกวนใครก็มีสิทธิถูกดำเนินคดีฐานก่อความรำคาญเดือดที่มีความผิดลหุโทษเท่านั้นไม่ใช้ข้อหาร้ายแรง
“รัฐบาลตระหนักดีถึงการคุ้มครองชีวิตของแกนนำและผู้ชุมนุม เพราะหากเกิดอะไรขึ้นจะมีผลให้เกิดเหตุการณ์น้ำผึ้งหยดเดียว ทำให้เจ้าหน้าที่จะต้องตรวจเข้มเพื่อป้องกันไม่ให้มือที่ 3 เข้ามาสร้างสถานการณ์” รองนายกฯ กล่าว
จากนั้น ร.ต.อ.เฉลิมได้อภิปรายตอบโต้นายวัชระด้วยท่าทีอิดโรยว่า ไม่เคยได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลให้ไปดูแลการชุมนุมแต่หารือและปรับทุกข์ พล.ต.อ.ประชา ในฐานะอดีตตำรวจเก่าด้วยกันเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาไม่เคยเข้าไปแทรกแซง พล.ต.อ.ประชา ดังนั้น การกล่าวหากันแบบนี้เรียกว่าปัญญาทึบ
ต่อมานายวัชระพยายามจะประท้วงการอภิปรายของ ร.ต.อ.เฉลิม ที่ได้มีการกล่าวหา แต่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ สั่งให้ ร.ต.อ.เฉลิมถอนคำพูดดังกล่าว ซึ่ง ร.ต.อ.เฉลิมได้ขอถอนตามคำสั่งของรองประธานสภาฯ แต่นายวัชระยังแสดงความไม่พอใจด้วยการเป่านกหวีดและตะโกนส่งเสียงในห้องประชุมสภาฯ ทั้งที่นายวิสุทธิ์ไม่ได้อนุญาต ส่งผลให้ ส.ส.พรรคเพื่อไทยนำโดยนายฉลอง เรี่ยวแรง สส.นนทบุรี อภิปรายเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านฯ ควบคุมการทำหน้าที่ของ ส.ส.ฝ่ายค้านด้วย
“ถ้าอยากเล่นการเมืองข้างถนนก็เชิญไปเล่นกันข้างนอกข้างถนน แต่ที่นี่คือสภาอันทรงเกียรติ ขอให้ทุกคนให้ความเคารพด้วย” นายฉลองกล่าว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ชี้แจงว่า การทำงานของฝ่ายค้านยังมีจุดยืนเดิม คือ การทำหน้าที่ตรวจสอบรัฐบาลในสภาเหมือนเดิม แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ควรเข้ามาทำหน้าที่ในสภาด้วย