“โภคิน” ซัดศาลฯตามคาด หารับคำร้องขัด รธน.เอง แปลกใจตัดสินขัด ม.68 แต่ไม่ยุบพรรค ย้ำรัฐสภามีอำนาจแก้ รธน.“พีรพันธุ์” ฉะเหตุผลศาลฯไร้น้ำหนัก ชี้ตัดสินแบบนี้แสดงว่าแก้ไข รธน.ไม่ได้เลย อ้าง พ.ศ.เปลี่ยน เจตนารมณ์ก็เปลี่ยนได้ ติงอคตินักการเมืองเกินไป ฝากถามหากเป็น ปชช.เสนอจะว่าอย่างไร
วันนี้ (20 พ.ย.) ที่พรรคเพื่อไทย นายโภคิน พลกุล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังรับทราบผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.ว่าขัดกฎหมายว่า ส่วนตัวตั้งข้อสังเกตว่าผลคำวินิจฉัยของศาลฯค่อนข้างแปลก เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญระบุว่ามีอำนาจวินิจฉัยในเรื่องนี้ และเห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวผิดทางเทคนิค ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 68 แต่กลับไม่ตัดสิทธิการเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค หรือยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตรงนี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้อธิบายเหตุผลไว้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด
นายโภคิน กล่าวอีกว่า การที่รัฐสภาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพของบุคคล แต่เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ ดังนั้นการรับคำร้องและวินิจฉัยเรื่องนี้ ถือว่าจงใจกระทำขัดรัฐธรรมนูญเสียเอง และตามหลักนิติธรรม ทุกคนต้องเคารพกฎหมายอย่างเคร่งครัด การที่ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องและวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม ถูกใจหรือไม่นั้น เป็นปัญหาทางการเมืองที่ประชาชนจะตัดสินว่าอยากมีรัฐธรรมนูญแบบไหน หากแก้แล้วไม่ถูกใจเมื่อมีการเลือกตั้งคราวหน้าประชาชนก็ไม่เลือกเอง หากเป็นอย่างนี้บ้านเมืองจะไม่วุ่นวาย
ด้าน นายพีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว.ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ว่า ส่วนตัวเห็นว่าเหตุผลที่ศาลฯยกขึ้นมาพิจารณาว่าเนื้อหาของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกฎหมายนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ โดยเฉพาะในประเด็นที่ชี้ว่าการแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดเป็นการกระทำที่ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันร่างขึ้นตั้งแต่ปี 50 แต่ปัจจุบันนี้ปี 56 แล้ว ดังนั้นเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญก็สมควรที่จะเปลี่ยนแปลงไปได้ และหากศาลฯวินิจฉัยในลักษณะนี้ก็เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ไม่สามารถแก้ไขได้เลยในอนาคต
“อยากถามว่าถ้าไม่ใช่นักการเมืองเป็นผู้เสนอแก้ไข แต่เป็นประชาชนเข้าชื่อกัน 5 หมื่นรายชื่อเสนอแก้ไขให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ศาลฯจะว่าอย่างไร” นายพีรพันธุ์ กล่าว
นายพีรพันธุ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนที่ศาลฯชี้ว่ากระบวนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาทิ การจัดทำเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือการปิดอภิปรายของประธานรัฐสภาไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ก็ถือเป็นเรื่องเทคนิคที่มีระบุอยู่ในระเบียบการประชุมของที่ประชุมร่วมรัฐสภา อีกทั้งก็มีการปฏิบัติมาในกฎหมายหลายๆ ฉบับในอดีต ดังนั้นตนจึงไม่เห็นว่ากระบวนการจะผิดอย่างไร เพราะได้ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและระเบียบข้อบังคับของรัฐสภาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังเห็นว่า ศาลฯไม่ได้อ้างอิงเหตุผลใดๆ ที่ชัดเจน แต่กลับสรุปว่าเป็นการกระทำขัดต่อมาตรา 68 ทั้งๆ ที่ฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจตามรัฐธรรมนูญ ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทย และ ส.ส. ส.ว.ที่ประกาศไม่รับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้จะเป็นอย่างไรนั้นต้องมาดูในรายละเอียดอีกครั้ง