xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ยันญัตติอภิปรายสมบูรณ์ รับห่วงข้อมูลรั่ว จวก “ค้อนปลอม” สมคบ รบ.สกัดศึกซักฟอก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“จุรินทร์” ยันญัตติซักฟอกสมบูรณ์ตาม รธน.158 “ปู” หมดสิทธิยุบสภาหนี ดันทุรังเจอจงใจขัด รธน. ขีดเส้นตาย “ค้อนปลอม” ถึงวันจันทร์ (18 พ.ย.) ต้องมีคำตอบเรื่องบรรจุวาระการประชุม อัดสมคบ รบ.สกัดศึกซักฟอก บีบ ปชป.คายหลักฐานโกงหวังหอบข้อสอบบอกเจ้านาย ลั่นใครปล่อยข้อสอบรั่วต้องรับผิดชอบ เผย ปชป.ยื่นซักฟอกพรรคเดียว ขอ 3 วันจบ ด้าน “มัลลิกา” อัดลิ่วล้อเพื่อไทย เสล่อ หลังไม่รู้ รธน.ต้องเสนอชื่อนายกฯ ใหม่ แทนคนที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีทุจริต



วันนี้ (17 พ.ย.) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวหลังการประชุมร่วมกับแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภายังไม่ยอมบรรจุญัตติดังกล่าวในวาระการประชุม โดยอ้างว่าไม่สมบูรณ์นั้น ขอยืนยันว่า การยื่นญัตติดังกล่าวเป็นไปตามี่เคยปฏิบัติในอดีตคือ ถูกต้องสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของสภามีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และเสนอชื่อบุคคลที่สมควรเป็นนายกฯ คนต่อไปด้วย และเมื่อเสนอแล้วจะยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือญัตติดังกล่าวมีคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจไม่เกินกึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ ทางพรรคยังได้ดำเนินการยื่นถอดถอนนายกรัฐมนตรีต่อประธานวุฒิสภาก่อนแล้วตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 271 โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา มารับคำร้อง ดังนั้น การยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านจึงเป็นเรื่องที่สมบูรณ์แล้วตามรัฐธรรมนูญ เพราะการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมีเรื่องของการทุจริตรวมอยู่ด้วย จากนั้นจึงมายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภา

นอกจากนี้ กรณีที่ประธานสภาฯ จะขอสำเนาการยื่นถอดถอนที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานวุฒิสภานั้นดำเนินการไม่ได้ เพราะเป็นเอกสารลับ และเอกสารดังกล่าวเมื่อประธานวุฒิสภาตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อก็ไม่มีหน้าที่ส่งให้ประธานสภา หรือนายกฯ แต่ต้องส่งให้ ป.ป.ช.เพื่อดำเนินการไต่สวนต่อไปเท่านั้น การที่ประธานสภาจะมาขอเอกสารลับดังกล่าว ตนเชื่อว่าเป็นควาพยายามตีรวนของประธานสภา และรัฐบาลที่ต้องการเอาข้อสอบไปบอกนายกฯ เหมือนบังคับดูข้อสอบดื้อๆ ซึ่งที่ผ่านมา ไม่เคยมีการแนบสำเนาข้อกล่าวหาตามที่ประธานสภาต้องการ มีแต่หลักฐานว่ายื่นต่อประธานวุฒิสภาแล้วเท่านั้น เช่น เมื่อวันที่ 9 พ.ย.2555 ประธานสภาคนเดียวกันคือนายสมศักดิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ คือ นายกรัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยมีการกล่าวหาว่ากระทำทุจริตผิดกฎหมาย โดยแนบแค่หลักฐานการยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภาขอให้ถอดถอนนายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่งแต่เพียงอย่างเดียว ไม่แตกต่างอะไรกับการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมกำหนดกรอบเวลาไม่ให้อภิปรายเกิน 2 วัน เป็นความพยายามสกัดการทำหน้าที่ของฝ่ายค้านทุกวิถีทาง เริ่มจากสกัดญัตติ จนถึงการสกัดในเรื่องเวลา ตนยืนยันว่า ฝ่ายค้านควรได้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 วัน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า ในที่ 18 พ.ย. นี้นายสมศักดิ์ ระบุว่าจะมีคำตอบให้ว่าจะบรรจุญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจในวาระของสภาหรือไม่ก็จะรอในวันนั้น และย้ำว่าตามรัฐธรรมนูญระบุในมาตรา 158 ว่า เมื่อได้มีการเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือลงมติญัตตินั้นไปแล้ว ดังนั้น ประเด็นคือวันศุกร์ที่ตน และคณะไปยื่นเสนอญัตติต่อประธานสภา และลงรับถูกต้องตามระบบราชการเวลา 16.30 น. นั้นถือว่าได้เสนอญัตติแล้ว เพราะฉะนั้น ในระหว่างนี้นายกฯ จะประกาศยุบสภาไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ทราบว่ามีความต้องการที่จะยุบสภาหนีการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ และหากมีการยุบสภาในช่วงเวลานี้ก็เท่ากับเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

“ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าข้อมูลเกี่ยวกับการยื่นถอดถอนที่เป็นความลับอาจรั่วไปถึงรัฐบาลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในปีที่แล้ว แต่เที่ยวนี้ได้ตีตราเป็นเอกสารลับที่สุดชัดเจน และย้ำกับรองประธานวุฒิสภา ว่า ไม่มีหน้าที่ส่งเอกสารให้ประธานสภา หรือรัฐบาล ใครทำข้อสอบรั่วต้องรับผิดชอบ โดยในปีที่แล้วก็มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหลังมีการนำข้อมูลถอดถอนไปให้รัฐบาล แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ประธานวุฒิสภาก็ต้องรับผิดชอบ และยืนยันว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจพรรคจะทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างดีที่สุดแทนประชาชน ส่วนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้หรือไม่นั้นเป็นอีกประเด็นหนึ่ง โดยจะมีผู้อภิปรายที่ต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 3 วัน และยังไม่มีพรรคการเมืองอื่นร่วมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ นอกจากพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียว”

ด้าน น.ส.มัลลิกา บุญมีตระกูล รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายรัฐบาลตำหนิพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอชื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรีว่า สะท้อนถึงความไม่รู้เรื่องกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เสล่อออกมาพูด เพราะการยื่นญัตติของพรรคเป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ระบุว่า ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีแทนผู้นายกฯ ที่ถูกอภิปรายด้วย การพูดของคนในพรรคเพื่อไทยจึงเป็นการพูดที่ไม่รู้ข้อกฎหมาย อีกทั้งพรรคไม่เหมือนพรรคเพื่อไทย ที่หัวหน้าพรรคไม่ใช่นายกฯ แต่พรรคประชาธิปัตย์ ชัดเจนว่าคนเป็นหัวหน้าพรรคคือคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ว่าให้ลอยตัวอยู่เหนือปัญหาโดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร จึงขอให้เลิกใส่ร้าย และเลิกความพยายามที่จะไม่บรรจุญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของพรรคประชาธิปัตย์ได้แล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น