xs
xsm
sm
md
lg

“ยิ่งลักษณ์” ต้อนรับผู้แทน EU ขอบคุณหนุน FTA หวังเลิกวีซ่าจะทำไทยเที่ยวสะดวกขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นายกฯ และ รมว.กห.ต้อนรับผู้แทนสหภาพยุโรป ขอบคุณดันเขตการค้าเสรีไทย-อียู หวังปลายปีหน้าคืบ เชื่อหากเลิกวีซ่าจะสะดวกขึ้น แหล่งข่าวแจ้งกรุยทางก่อน รอง ปธ.กมธ.ยุโรปขนนักลงทุนเยือนไทย 16 พ.ย. พร้อมลงนามร่วมมือด้านท่องเที่ยว

วันนี้ (13 พ.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เปิดโอกาสให้ บารอนเนส แคทเธอรีน แอชตัน ผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป (อียู) ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคงและรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปเข้าพบ ที่ตึกไทยคู่ฟ้า โดยนายกฯ กล่าวว่า ขอบคุณที่สนับสนุนการผลักดันการเจรจา ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (เอฟทีเอ ไทย-อียู) เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสองฝ่าย หวังว่าสรุปได้ปลายปีหน้าทั้งสองฝ่าย หารือเฉพาะความคืบหน้าในเรื่องความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรปและการเจรจากรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านไทย-สหภาพยุโรป (พีซีเอ) จะเป็นอีกมิติหนึ่งของความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหภาพยุโรป

“ยินดีที่จะเป็นโอกาสอันดีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปในการแสวงหาความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น ขณะที่นายกรัฐมนตรีเชื่อว่าในการได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเชงเก็น หากสหภาพยุโรปยกเว้นการตรวจลงตราเชงเก็นให้ไทยจะช่วยกระตุ้นการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ประชาชนของไทยและยุโรปสามารถติดต่อกันได้อย่างใกล้ชิดและสะดวกมากยิ่งขึ้น เห็นได้จากการที่ญี่ปุ่นยกเว้นวีซ่าให้หนังสือเดินทางไทย ส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวไทยกระโดดสูงขึ้นถึงร้อยละ 85” นายกรัฐมนตรีระบุต่อหน้าผู้บริหารอียู ที่ย้ำว่า “สหภาพยุโรปยินดีขยายความร่วมมือกับอาเซียนเพิ่มขึ้นและอยากเห็นภูมิภาคทั้งสองร่วมมือกันใกล้ชิดเช่นนี้ต่อไป”

รายงานข่าวแจ้งว่า นายอันโทนิโอ ทาญานี รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป พร้อมนักธุรกิจสำคัญของสหภาพยุโรปจะมาเยือนไทย ในวันที่ 16 พ.ย. 2556 นอกจากติดตามเอฟทีเอไทย-อียู แล้ว จะมีการลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหภาพยุโรปว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยมีสาระสำคัญ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายด้านการบริการการท่องเที่ยว การพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว แลกเปลี่ยนข้อมูลแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองฝ่ายและผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงฝ่ายวิชาการด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ การลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อม การฝึกอบรม การปรับปรุงการบริการด้านการท่องเที่ยว

อีกฉบับเป็นการลงนามกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในหนังสือแสดงเจตจำนงว่าด้วยการหารือเชิงนโยบายด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมระหว่างสหภาพยุโรปกับราชอาณาจักรไทย โดยมีสาระสำคัญเป็นข้อตกลงที่ฝ่ายไทยและฝ่ายสหภาพยุโรปจะร่วมกันเสริมสร้างความร่วมมือด้านนโยบายการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยมีกระทรวงอุตสาหกรรมและกิจการวิสาหกิจของสหภาพยุโรป และกระทรวงอุตสาหกรรม โดย สสว.เป็นคู่ภาคี มุ่งเน้นการหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลในด้านนโยบายการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และการส่งเสริมให้เกิดพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของประเทศไทยและสหภาพยุโรป

“จะมีการมีการแต่งตั้งผู้แทนเพื่อทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบประเด็นที่กระทบต่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของทั้งสองฝ่ายเป็นการเฉพาะ อาทิ การแต่งตั้ง SME Envoy ในกรณีของสหภาพยุโรป รวมทั้ง การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อเป็นประธานร่วมในการหารือเชิงนโยบายด้านวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระหว่างสหภาพยุโรปกับราชอาณาจักรไทย”

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า ก่อนหน้านั้นภาคประชาชนส่วนใหญ่คัดค้านการจัดทำเอฟทีเอไทย-อียู โดยเฉพาะเรื่องการกระทบเป็นลูกโซ่ต่อระบบอาหารของประเทศอย่างกว้างขวาง รวมถึงในส่วนทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าความตกลงทริปส์ที่ทำไว้กับองค์การการค้าโลก จะก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดอย่างยาวนาน ทำให้ยามีราคาแพงขึ้น และประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านยาที่เพิ่มขึ้นมหาศาล ส่งผลให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงยาได้ รวมทั้งส่งผลกระทบด้านลบต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยาสามัญภายในประเทศ ที่สำคัญคือประโยชน์ส่วนใหญ่จะตกอยู่กับบริษัทยาข้ามชาติเท่านั้น





กำลังโหลดความคิดเห็น