“รองปธ.ปฏิรูปจีน” ยํ้าสัญญาจะซื้อข้าวจากไทยปีละ 1 ล้านตัน เดินหน้าพบ “บิ๊กรัฐบาล”ถกข้าวแลกรถไฟ ผลักดันความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรม เผย “ยิ่งลักษณ์”เสนอจีน แลกข้าว 1 ล้านตัน กับการวางแผนและออกแบบรถไฟสาย กทม.-โคราช คาด20 พ.ย.ถกทีมเศรษฐกิจสองประเทศลงนามได้ชัวร์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่4พ.ย. แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายจาง เสี่ยวเฉียง รองประธานคณะกรรมการการปฏิรูปและพัฒนาแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีนและคณะ ได้หารือกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสเยือนไทยเพื่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยเรื่องความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน และสัญญาซื้อขายข้าวและสินค้าเกษตรไทย ตามที่นายกรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศได้หารือกันระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีจีน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
“ไทยและจีนได้เห็นพ้องในการส่งเสริมความร่วมมือด้านรถไฟความเร็วสูง และการซื้อขายข้าว โดยไทยได้เสนอมอบหมายให้จีนวางแผนและออกแบบรถไฟสายกทม.-นครราชสีมา”
แหล่งข่าวระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะให้ฝ่ายที่ 3 ที่เป็นสถาบันที่มีความน่าเชื่อถือเป็นฝ่ายประเมินราคาการก่อสร้างเข้ามาร่วมดำเนินการ แต่ทั้งนี้จะต้องให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อมด้วย โดยในการชำระค่าใช้จ่ายเป็นสินค้าเกษตรจะต้องไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าก่อสร้างทั้งหมด
ทั้ง 2 ฝ่ายยัง เชื่อมั่นว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงได้ โดยในวันที่ 20 พ.ย. 56 ที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจ การค้าไทย- จีน ครั้งที่ 3 ในปีนี้ หวังที่จะให้มีการเซ็นต์ลงนามข้อตกลงนี้อย่างเป็นทางการ
พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมีการหารือกับนายจาง เสี่ยวเฉียง อีกครั้งในเรื่องของรายละเอียด คาดว่า จีนจะดำเนินการซื้อขายข้าวจากไทย 1 ล้านตันตามที่สัญญา
รายงานข่าวแจ้งว่า นายจาง เสี่ยวเฉียง จะได้เข้าพบหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย โดยเข้าพบฝ่ายบริหารไทย ทั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์และ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.คมนาคม โดยจะมีการหารือแนวทางส่งเสริมการค้า การลงทุนและลดอุปสรรคต่าง ๆ รวมทั้ง การส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรอย่างจริงจัง
รวมทั้งจะหารือเรื่องให้นักลงทุนจีนมาตั้งโรงงานที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบในไทย อาทิ โรงงานแปรรูปยางพารา โรงงานแปรรูปมันสำปะหลังและปาล์มน้ำมัน รวมถึงเชิญชวนให้จีนเข้ามาเป็นโบรกเกอร์ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าของไทย และประสงค์ให้มีการจัดตั้งธนาคารเพื่อการชำระเงินหยวนในการซื้อขายสินค้าและ การทำธุรกรรมอื่นๆ ในประเทศไทยเพื่อลดต้นทุนและความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนโดยขอให้ธนาคาร กลางของทั้งสองประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือในรายละเอียดต่อไป ขณะที่ทางกระทรวงพาณิชย์จีนอยู่ระหว่างการพิจารณานำเข้าข้าว ยางพารา และมันสำปะหลังจากไทยเพิ่มเติม
แหล่งข่าวระบุว่า นอกจากนั้นยังมีการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้ง สองฝ่ายยินดีที่เห็นความคืบหน้าอย่างรวดเร็วในโครงการความร่วมมือด้านรถไฟ และพร้อมลงนามใน MOU ความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านรถไฟในประเทศไทยวันนี้ที่จะชำระค่าใช้จ่ายบางส่วนเป็นสินค้าเกษตร นอกจากนี้ ไทยและจีนจะร่วมมือกันในการพัฒนาถนน ทางรถไฟและการขนส่งทางน้ำอย่างเป็นระบบ รวมถึงร่วมศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางรถไฟกรุงเทพ-หนองคาย
ทั้งนี้ยังจะมีการติดตามเรื่องการสนับสนุนข้อเสนอของจีนที่จะจัดตั้ง “ธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย” เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเครือข่ายคมนาคมของ ภูมิภาค โดยขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในการหารือด้านเทคนิคและการเชื่อมโยงระหว่าง ไทย จีน ลาว เวียดนาม เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงจีนกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ยังจะติดตามเรื่อง การยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางธรรมดาไทย-จีน เพื่อส่งเสริมการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนไทยกับจีนมีความสะดวกและ คล่องตัวยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ด้านการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน จีนยินดีรับข้อเสนอในการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือ หนังสือเดินทางธรรมดาของไทย โดยจะให้เจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายหารือรายละเอียดกันต่อไป ทั้งนี้ไทยขอจีนเปิดสถานกงสุลใหญ่ไทย ณ นครชิงเต่า ขณะที่จีนขอเปิดสถานกงสุลที่จังหวัดภูเก็ต
โดยการเดินทางมา ของนายจาง เสี่ยวเฉียง ยังเป็นการติดตามเรื่องภายหลัง มีการลงนามความตกลงภาครัฐระหว่างไทย-จีน จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่ (1) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีนว่าด้วยโครงการความร่วมมือระดับรัฐบาลด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้น ฐานในประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับการขำระค่าใช้จ่ายด้วยสินค้าเกษตร (2) ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งราช อาณาจักรไทยและธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (3) บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐ ประชาชนจีนว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงาน (4) ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริม 4 โครงการความร่วมมือภายใต้โครงการความเป็นหุ้นส่วนทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีอาเซียน-จีน ระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวิทยา ศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (5) แผนปฏิบัติการ 5 ปี สำหรับความร่วมมือทางทะเลไทย-จีน ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแห่งราชอาณาจักไทยกับทบวง กิจการทางมหาสมุทรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (6) แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมแห่ง ราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงวัฒนธรรมแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างปี 2557-2559
รวมถึงการลงนามความตกลงของภาคเอกชน จำนวน 2 ฉบับ คือ (1) การลงนาม MOU ข้าว และ (2) การลงนามสัญญา Financial Framework ระหว่าง Country Group Development และ Beijing Construction Engineering Group