ลาบปาก “สุรนันนท์” ละลาย 700 ล้าน! ให้สำนักเลขาธิการนายกฯ ทำพีอาร์เมกะโปรเจกต์ โครงการ 2 ล้านล้านบาท เน้นคมนาคมขนส่งและระบบลอจิสติกส์ อ้างเอาไว้บูม! เข้าสู่เออีซี
ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการประชุม ครม.วันที่ 12 พ.ย.นี้ กระทรวงการคลังจะขออนุมัติ เรื่อง การจัดสรรเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan : SAL) เพื่อสนับสนุนโครงการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
โดยให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำเนินงานเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลผ่านโครงการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลและโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ โดยใช้จ่ายจากเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (Structural Adjustment Loan : SAL) ในวงเงินทั้งสิ้น 700,000,000 บาท ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการดังกล่าวให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ เงื่อนไขและหลักเกณฑ์ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมาตรฐานของทางราชการ รวมทั้งไม่ซ้ำซ้อนกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไว้แล้ว โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของราชการเป็นสำคัญด้วย
โดยสาระสำคัญของ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาระบบคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ไม่ได้รับการลงทุนและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลจึงมีนโยบายที่จะลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ โดยเชื่อมโยงการคมนาคม ทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และด่านชายแดนอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขัน คนไทยอยู่ดีกินดี มีความเสมอภาคและเป็นธรรม ซึ่งการลงทุนดังกล่าว รัฐบาลมีแผนที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2557 อย่างไรก็ดี เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการลงทุนดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ
นโยบาย เหตุผล และความจำเป็นของการลงทุนให้กับทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการเปิดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำผลที่ได้ไปปรับปรุงและพัฒนาให้การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปอย่างมีส่วนร่วมและตอบสนองความต้องการสาธารณะได้อย่างแท้จริง โดยจะดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดขนาดใหญ่ 12 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีกิจกรรมดำเนินงาน ประกอบด้วย 1) จัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้และประชาสัมพันธ์โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล 2) จัดสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 3) เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางสื่อต่าง ๆ
ส่วนโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย การเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของรัฐบาล โดยมีนโยบายที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่กำลังจะเริ่มต้นในปี 2558 ได้อย่างสมบูรณ์ ด้วยการสร้างความพร้อมและความเข้มแข็งทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละภาคส่วนได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้เริ่มเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนตามภารกิจของแต่ละหน่วยงาน ทำให้ภาพรวมของประเทศในการเตรียมความพร้อมขาดความสอดคล้อง ไม่ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพและไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้น เพื่อให้การเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มขึ้นในปี 2558 ของทุกภาคส่วนมีความสอดคล้อง และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดเอกภาพในการดำเนินการอันนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณให้มากที่สุด และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว สลน. ในฐานะหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่อำนวยการประสานงาน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และการบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้จัดทำโครงการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
(1) สร้างความตระหนักให้แก่ประชาชนในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน (2) เตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วนในการเข้าสู่อาเซียน (3) สร้างเครือข่ายการดำเนินการให้เตรียมพร้อมสู่การเป็นประชาคมอาเซียน (4) เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องในส่วนของการดำเนินนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล (5) เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์จากโอกาสในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน โดยดำเนินโครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ 1) จัดกิจกรรม Thailand’s Roadshow to ASEAN 2) จัดสัมมนาระหว่างประเทศและจัดงานThailand’s Expo towards AEC 2015 3) จัดนิทรรศการ จัดสัมมนา และจับคู่ธุรกิจในพื้นที่จังหวัดที่มีด่านพรมแดนที่สำคัญ
วันเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะขอความเห็นชอบ การปรับปรุงข้อเสนอแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมและสามารถดำเนินการได้ทันทีของจังหวัดพิจิตร ในการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ ณ จังหวัดกำแพงเพชร วันที่ 9-10 มิถุนายน 2556 จำนวน 6 โครงการ วงเงินรวม 100 ล้านบาท ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอโดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งจัดทำรายละเอียดคำขอรับการจัดสรรงบประมาณจัดส่งให้ สำนักงบประมาณ (สงป.) ภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อ สงป. พิจารณาวงเงินงบประมาณที่เหมาะสม
โดยใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่ได้รับอนุมัติให้กันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีจากกรมบัญชีกลางแล้วพร้อมทั้งมอบหมายให้จังหวัดพิจิตรรับความเห็นของ สศช. และ สงป. เพื่อประกอบการดำเนินโครงการต่อไป มีโครงการได้แก่ 1. โครงการขุดลอกคลองศิริวัฒน์ (บึงนาราง-บางลาย) อบต. บึงนาราง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) 5 ล้านบาท 2. โครงการก่อสร้างถนนลาดยางสายเนินสะอาด ต.แหลมรัง อ.บึงนาราง จ.พิจิตร-นาตาเซา ต.วังชะโอน อ.บึงสามัคคี จ. กำแพงเพชร อบต.แหลมรัง สถ.18 ล้านบาท
3. โครงการระบบส่งน้ำบ้านไทรโรงโขน-บ้านบางไผ่-บ้านดงตะขบ โครงการชลประทานพิจิตรกรมชลประทาน 20 บาท 4. โครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำน่าน ต.ไผ่หลวง อ.ตะพานหิน จ.พิจิตร สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง จ.พิจิตร กรมโยธาธิการและผังเมือง 12 ล้านบาท 5. โครงการระบบส่งน้ำสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากแม่น้ำน่านไป ต.ท่าหลวง โครงการชลประทานพิจิตร กรมชลประทาน 15 ล้านบาท และ 6. โครงการขุดลอกคลองห้วยน้อยเชื่อมโครงการท่อทองแดงผันน้ำจากแม่น้ำปิงลงสู่แม่น้ำยม อบต.บึงบัว อบต.บ้านนา และ อบต.วังโมกข์ สถ. 30 ล้านบาท รวมงบประมาณของ จ.พิจิตร 100 ล้านบาท