xs
xsm
sm
md
lg

“ปึ้ง” จ่อชงคำพิพากษาพระวิหารเข้าสภาตัดสิน แฉยุค “บิ๊กแอ้ด” หนุนเขมรจดทะเบียนทั้งเขา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (แฟ้มภาพ)
“สุรพงษ์” เล่าย้อนคดีพระวิหาร แย้มนำคำพิพากษาชงเข้าสภาร่วมตัดสิน แนะคิดให้ดีถอนสมาชิกยูเอ็น แฉเอกสารลับรัฐบาล “สุรยุทธ์” ต้นตอหนุนเขมรจดทะเบียนมรดกโลกพ่วงพื้นที่รอบ โอ่ “นพดล” ค้านสำเร็จเหลือแค่ตัวปราสาท โวยพวกปลุกปั่นไม่รู้ข้อเท็จจริง ป้องเขมรยื่นศาลฟ้องหวังยุติความรุนแรงยุค “มาร์ค” โวไฟเขียว “วีรชัย” จัดหนักเอง โอดห่วงพวกคลั่งชาติทำสัมพันธ์แย่ เผย “ปู” สั่ง มทภ.2 คุยเพื่อนบ้านสัปดาห์หน้า วอนดูถ่ายสดด้วยสติ ให้เวลารัฐจัดการ ยัน “ฮอร์” การันตีผลออกต้องคุยกันก่อน ลั่นไม่มีประโยชน์ทับซ้อน จวกฝ่ายค้านอย่าโบ้ยผิด ยันใช้ทีมเดิมไม่เปลี่ยน หวังตัดสินแนวทางที่ 4 ให้ไปคุยกันเอง



วันนี้ (9 พ.ย.) นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวในรายการรัฐบาลยิ่งลักษณ์พบประชาชน ถึงกรณีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก จะอ่านคำพิพากษากรณีปราสาทพระวิหารในวันที่ 11 พ.ย.นี้ว่า ที่จริงแล้วข้อพิพาทเขาพระวิหารเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งประเทศกัมพูชาได้ยื่นต่อศาลโลก ในคดีปราสาทพระวิหารครั้งนั้นมีการสู้คดีกัน และในที่สุดเมื่อปี 2505 วันที่ 15 มิถุนายน สมัยรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ศาลโลกก็มีคำพิพากษาให้ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนดินแดนภายใต้อธิปไตยกัมพูชา หมายความว่าปราสาทพระวิหารตกเป็นของประเทศกัมพูชา และตอนนั้นศาลโลกก็ให้ประเทศไทยถอนทหารและตำรวจออกจากตัวปราสาทฯ ในคำสั่งศาล ณ ขณะนั้นเมื่อปี 2505 และบริเวณใกล้เคียงปราสาทฯ ให้คืนวัตถุโบราณที่อาจจะนำออกมาจากปราสาทฯ อันนั้นคือคำตัดสินของศาล

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในขณะนั้นพอศาลมีคำพิพากษาวันที่ 3 กรกฎาคม รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ออกแถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยต่อคำพิพากษา แต่ยอมปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ อันนั้นเป็นฉบับแรก ฉบับที่ 2 วันที่ 6 กรกฎาคม นายถนัด คอมันตร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีหนังสือไปถึงเลขาธิการสหประชาชาติ แจ้งว่าไม่เห็นด้วยต่อผลคำพิพากษาของศาลโลก แต่ก็จะปฏิบัติตามในฐานะสมาชิกองค์การสหประชาชาติ พร้อมสงวนสิทธิ์ในการทวงคืนปราสาทพระวิหารโดยวิธีทางกฎหมาย ต่อจากนั้น 10 กรกฎาคม คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาพร้อมกำหนดขอบเขตบริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหาร และให้สร้างป้ายแสดงเขต และสร้างรั้วลวดหนามล้อมรอบตัวปราสาทพระวิหาร จากนั้น 15 กรกฎาคม ไทยถอนกำลังออกจากปราสาท และเคลื่อนย้ายเสาธงออกจากพื้นที่ โดยไม่ได้เชิญธงชาติไทยลงจากยอดเสา อันนี้คือ 4 เหตุการณ์ที่ต้องเล่าให้ประชาชนคนไทยได้ฟัง

เมื่อถามว่า ถ้าอย่างนั้นในคำตัดสินที่จะออกมาในเมื่อไทยไม่ยอมรับอำนาจศาลมาตั้งแต่ปี 2503 แล้ว ไทยจะไม่รับคำตัดสินหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของศาลจะได้หรือไม่ นายสุรพงษ์กล่าวว่า สมัยจอมพลสฤษดิ์ รัฐบาลประกาศชัดเจนว่าจะไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน แต่ก็ต้องปฏิบัติตามในฐานะที่เป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ และการเป็นสมาชิกนั้นทำให้ไทยต้องเป็นภาคีของศาลโลกโดยอัตโนมัติ ถ้าไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลก็ต้องลาออกจากการเป็นสมาชิก ซึ่งเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายกับประเทศมากกว่า ตนคิดว่าตรงนี้เราต้องคิดให้หนักมาก และสิ่งที่เราจะไม่รับคำตัดสินเลย ตนว่าประชาชนจะต้องร่วมกันตัดสิน สมมุติว่าในเหตุการณ์ ออกมาในทางลบ รัฐบาลก็ตั้งใจที่จะต้องถามประชาชน และต้องนำเรื่องนี้เข้าสภา เพราะรัฐบาลตั้งใจว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดเรื่องกัมพูชา มันไม่ได้เกิดขึ้นสมัยรัฐบาลนี้ เกิดตั้งแต่สมัยที่ได้กล่าวตอนต้น ซึ่งรัฐบาลรับผิดชอบร่วมกัน ฉะนั้นทำอะไรเราต้องตัดสินใจร่วมกับประชาชน เพราะประชาชนกับประเทศชาติเป็นของทุกคน

เมื่อถามถึงประเด็นความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา นายสุรพงษ์กล่าวว่า ในการปลุกปั่นเกิดกระแสต่อต้าน ถ้าผู้ปลุกปั่นยุยง นำข้อมูลหลักฐานจริงมาดำเนินการก็จะไม่ว่ากัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในกรณีปราสาทพระวิหาร บังเอิญตนศึกษาในรายละเอียดปรากฏว่ามีเอกสาร หลักฐานบางส่วนได้ขาดหายไปก็ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เพราะการยั่วยุของกลุ่มคนก็จะปลุกกระแสขึ้น สมัยรัฐบาลท่านนายสมัคร สุนทรเวช ตอนนั้นเข้ามา นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พยายามที่จะคัดค้านในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกของปราสาทพระวิหาร ให้เอาเฉพาะตัวปราสาทพระวิหารเท่านั้น และได้มีการทำแถลงการณ์ร่วมที่เรียกว่า Joint Communique ระหว่างไทยกับกัมพูชาและยูเนสโก และในที่สุดการประชุมสมัชชามรดกโลกครั้งที่ 32 ในช่วงสมัยนายสมัคร พอดีก็มีมติให้ขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เฉพาะตัวปราสาท

“ผมไปเจอหลักฐานไม่ใช่เริ่มสมัยรัฐบาลสมัคร ที่จะไปขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ผมเพิ่งไปพบหลักฐานมาว่ารัฐบาลท่าน พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในการประชุมสมัชชามรดกโลกครั้งที่ 31 ที่เมืองไครสต์เชิร์ช ไทยกับกัมพูชาได้เห็นพ้องต้องกันที่จะให้ปราสาทพระวิหารไปเป็นมรดกโลกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไทยได้มีหนังสือ มีแถลงการณ์ออกแสดงความยินดีกับประชาชนและกัมพูชา” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวว่า เอกสารตนเพิ่งค้นเจอและเป็นเอกสารลับมาก เอกสารฉบับนี้เป็นเอกสารที่ทาง รมช.กต.ที่รักษาการ รมว.กต.ในขณะนั้น ทำถึง พล.อ.สุรยุทธ์ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 50 มีเนื้อความว่า ในที่สุด ในวันที่ 28 มิ.ย.50 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้มีฉันทามติเกี่ยวกับการที่กัมพูชาขอขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยเห็นว่าปราสาทพระวิหารมีคุณค่าที่เป็นสากลอย่างเด่นชัด และสมควรได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และทราบว่าขั้นตอนการขึ้นทะเบียนอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งไทยและกัมพูชาตกลงที่จะร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งในการจัดทำแผนอนุรักษ์ และบริหารจัดการบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยเห็นชอบให้มีการพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนอีกครั้งหนึ่งในการประชุมคณะกรรมการสมัยที่ 32 ในปี 2551 ก็บังเอิญปีในสมัยนายสมัคร เป็นนายกรัฐมนตรี

“ยืนยันอีกครั้งในหนังสือฉบับนี้ได้เขียนไว้ว่า ฝ่ายไทยได้ออกแถลงข่าวแสดงความยินดีแก่ประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งแสดงเจตนารมณ์อย่างมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันที่จะอนุรักษ์และบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทฯ ต่อไปแต่ประเด็นที่สำคัญในเรื่องนี้ คือตอนนั้นทางกัมพูชาจะเอาพื้นที่รองข้างด้วยในการขึ้นทะเบียน” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวอีกว่า มาถึงสมัยรัฐบาลสมัคร ในปี 2551 ไทยพยายามรักษาสิทธิทางเขตแดนจึงประท้วงและคัดค้านการขอขึ้นทะเบียนของกัมพูชา กระทั่งกัมพูชาปรับคำขอการขึ้นทะเบียนเฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเท่านั้น ที่จริงแล้วสมัยรัฐบาลสมัคร ประสบผลสำเร็จคือการประท้วงให้ขึ้นเฉพาะตัวปราสาท แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบังเอิญในรัฐบาลสมัคร มีการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยที่ 32 ซึ่งมีมติให้เฉพาะตัวปราสาทเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก แต่ข้อมูลหายไปในรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ กระทรวงการต่างประเทศที่เตรียมให้มา เพิ่งมีโอกาสได้เจอหลักฐานเมื่อ 2 อาทิตย์ ก่อนหน้านี้มีหลักฐานที่กระทรวงการต่างประเทศเตรียมมาโดยตลอด ฉะนั้นข้ามประเด็นนี้ไปหรือข้ามจดหมายนี้ไปว่าเราไปยอมรับตั้งแต่ต้น ฉะนั้นจึงทำให้สังคมไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง

“พวกปลุกกระแสได้ปลุกระดมคนว่ารัฐบาลท่านสมัครไปยินยอมเขา ว่าท่านนพดลไปแถลงการณ์ร่วมไปยอมเขาหมดและไปขึ้นศาลรัฐธรรมนูญว่าไปแถลงการณ์นั้นใช้ไม่ได้ ไม่ได้ผ่านสภา ถ้าเป็นข้อเท็จจริงแบบนี้รัฐบาลท่านสมัครฯ ไม่ได้ทำความผิด กลับทำประโยชน์ แต่สำหรับเรื่องนี้เกิดขึ้นไปแล้วเพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุดคือ ขณะนี้มีคนพยายามใช้วิธีการเช่นเดียวกันคือปลุกกระแสและเอาประเด็นนี้ มาเล่นเป็นประเด็นการเมืองในวันที่ 11 นี้ คือข้อห่วงใย ฉะนั้นวันนี้จำเป็นต้องขอนายกรัฐมนตรีว่าขอออกรายการนี้เพื่อนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ มาเปิดเผยเพื่อให้สังคมไทยได้เข้าใจตรงกัน และเราจะได้หันหน้าเข้าหากัน ผมไม่อยากเห็นการชุมนุมประท้วงก่อให้เกิดความเดือดร้อน เกิดความแตกแยก เพราะครั้งที่เกิดในตอนนั้นสมัยรัฐบาลท่านสมัครฯ โยงมาสมัยรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ความวุ่นวายก็เกิดขึ้นบริเวณตามแนวชายแดนเกิดการปะทะกันเกิดการสูญเสียชีวิตทหาร พี่น้องประชาชนตามแนวชายแดน ญาติพี่น้องผู้สูญเสียชีวิตได้รับบาดเจ็บล้มตายกัน รัฐบาลไม่ต้องการให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ถ้าเหตุการณ์ทุกอย่างเป็นข้อเท็จจริงแล้วประชาชนไม่คล้อยตาม กลุ่มที่ยื่นเรื่องก็ไม่สามารถที่จะยื่นเรื่องได้ประสบผลสำเร็จ ในขณะเดียวกันพรรคการเมืองขณะนั้นต้องขออนุญาตเอ่ยนามฝ่ายค้าน ในสมัยรัฐบาลท่านสมัครนั้นคือพรรคประชาธิปัตย์ก็ผสมโรงทำให้เกิดความเข้าใจผิดไปทั้งหมด” นายสุรพงษ์กล่าว

นายสุรพงษ์กล่าวว่า วันนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ขณะตนมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถูกกล่าวหาว่าไปสมรู้ร่วมคิด ไปยอมให้กัมพูชานำเรื่องนี้ไปขึ้นศาล ไปยอมให้เสียดินแดน 4.6 ตร.กม. ถูกกล่าวหาต่างๆ นานา ต้องขอลำดับเหตุการณ์ให้พี่น้องประชาชนได้เข้าใจว่าที่จริงเหตุการณ์ทั้งหมดหลังจากที่มีการประท้วงกันของกลุ่มพันธมิตรฯ ในสมัยรัฐบาลสมัคร มาจนถึงสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 52 เกิดเหตุปะทะตามแนวชายแดนพื้นที่ใกล้เคียงต่อเนื่องมาทั้งปีจนถึงวันที่ 7 ก.พ. 54 ช่วงสุดท้ายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ก็เกิดการปะทะอย่างรุนแรง โดยที่สุดวันที่ 28 เม.ย. 54 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ กัมพูชายื่นขอให้ศาลตีความ และขอให้ศาลโลกออกเร่งคำสั่งมาตรการชั่วคราวให้ยุติความขัดแย้ง เพราะมิฉะนั้นเหตุการณ์ก็จะวุ่นวาย ซึ่งไปสอดคล้องกับนายฮอ นำฮง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา ที่เราได้การแถลงข่าวร่วมกันที่ปอยเปตเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา นายฮอ พูดชัดเจนเหตุผลที่ได้นำเรื่องนี้ไปขึ้นศาลโลก เพราะตอนนั้นเกิดการปะทะกันอย่างรุนแรงคนเสียชีวิต นายฮอ ไม่ต้องการเห็นสิ่งเหล่านี้ ถ้ารัฐบาลพูดคุยได้ก็ไม่จำเป็นต้องไปขึ้นศาล แต่เพราะเป็นความจำเป็น

นายสุรพงษ์กล่าวว่า พอกัมพูชายื่นขอตีความในศาล วันที่ 3 พ.ค. คณะรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ได้มีมติแต่งตั้งคณะดำเนินคดีปราสาทเขาพระวิหารของประเทศไทยซึ่งมีทั้งนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นหัวหน้าคณะและมีฝรั่ง 3-4 คนที่ว่าความให้กับประเทศเราเป็นทีมงาน นอกจากนั้นรัฐบาลอนุมัติงบประมาณทั้งหมด 125 ล้านบาท เพื่อไปสู้คดีและในที่สุดได้ไปขึ้นศาลครั้งแรกเมื่อวันที่ 30-31 พ.ค. เป็นการไปฟัง แต่ขณะนั้นไม่มีการถ่ายทอดสด ประชาชนจึงไม่รู้ว่ามีคดีแบบนี้ โชคดีที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ฯ เข้ามา ตนตัดสินใจให้มีการถ่ายทอดสด เพราะไม่มีอะไรที่ต้องปิดบัง รัฐบาลเปิดเผยทุกอย่าง

“และผมถูกกล่าวหาว่าบีบบังคับไม่ให้ทีมทนายสู้เต็มที่ อยากจะกราบเรียนว่าวันสุดท้ายที่ท่านทูตวีรชัยฯ ขึ้นกล่าวสรุปกล่าวคำพูดที่ค่อนข้างรุนแรง และท่านทูตวีรชัย ก่อนที่จะกล่าวนั้นท่านมาถามผมว่า ท่านรัฐมนตรีสุรพงษ์ ขออนุญาตใช้คำพูดที่รุนแรงได้หรือไม่ ผมบอกว่าเต็มที่เลยท่านทูตวีรชัย ในเมื่อเราสู้คดีก็เหมือนนักมวยที่ขึ้นชก ชกให้เต็มที่ ท่านทูต ก็ดีใจเพราะว่าท่านทูตวีรชัย กลัวว่าเพราะตอนนี้ความสัมพันธ์เราดี พอพูดอะไรรุนแรงอาจจะกระทบ ผมบอกว่าเต็มที่แต่ต้องแยกแยะประเด็นเหล่านี้ออก เพราะท่านนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ กับท่านนายกรัฐมนตรีฮุนเซน ท่านพูดกันทุกครั้งว่าเราจะแยกเรื่องความสัมพันธ์กับคดีออกจากกัน คดีต้องดำเนินอย่างเต็มที่ แต่เมื่อคดีสิ้นสุดเราต้องพูดคุยเจรจากันตกลงกัน” นายสุรพงษ์กล่าว

เมื่อถามถึง แนวทางของคำพิพากษา นายสุรพงษ์กล่าวว่า ตามที่เห็นจากประสบการณ์และคาดหวังว่าศาลโลกคงดำเนินการตัดสินหรือพิพากษากรณีพิพาทไทยกับกัมพูชาเป็นไปในเชิงสร้างสรรค์ จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้ตรงนี้คือความคาดหวัง แต่ที่เป็นห่วงและกังวลมากที่สุด คือ เกิดกรณีเกิดคำพิพากษาออกมาในทางลบ ความวุ่นวายต่างๆ อาจจะเกิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นข้อห่วงใยมากๆ และเป็นสิ่งที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ กับสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้พูดคุยกันว่าเราไม่อยากเห็นความแตกแยกและกระทบความสัมพันธ์ ตนได้ไปพบกับนายฮอร์ ได้หารือกันในเบื้องต้นว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้นมา ถ้าออกมาในทางลบต้องให้เวลาซึ่งกันและกัน เราได้พูดคุยกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น ต้องเคารพในสิทธิและการแสดงออกของแต่ละฝ่าย เพราะเรามีขั้นตอนกฎหมายภายใน โดยเฉพาะมาตรา 190 และมาตรา 179 ที่เราจะต้องชี้แจงสอบถามความคิดเห็นประชาชนต่างๆ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์เลวร้าย แต่ที่เป็นห่วงมากที่สุด คือปลุกกระแสคลั่งชาติและไม่ได้คำนึงถึงข้อเท็จจริง

นายสุรพงษ์กล่าวว่า และสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นห่วง ซึ่งได้มีการพูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เมื่อวานนี้ และได้สั่งการให้แม่ทัพภาคที่ 2 นัดเจรจาหารือกับแม่ทัพภาคที่ 4 ของกัมพูชา คาดว่าภายในสัปดาห์นี้จะมีการเจรจาดังกล่าว อย่างน้อยเพื่อไม่ให้มีการดำเนินการใดๆ ที่จะส่งผลกระทบ หากผลการตัดสินออกมาในทางลบ สิ่งที่สำคัญที่สุดที่สอดคล้องกับการแถลงร่วมกับนายฮอ จะต้องมีมาตรการเพื่อรักษาความสงบตามแนวชายแดนร่วมกัน นี่ถือว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแนวชายแดนสบายใจได้ นี่คือทหารที่พูดคุยกันคงจะไม่เกิดการปะทะอะไรกัน ตนต้องการให้คนไทยชมถ่ายทอดสดด้วยสติ เมื่อผลออกมาเป็นอย่างไร ขอเวลาให้รัฐบาล ถ้าเป็นบวกก็จะมีการเจรจาหารือกันว่าจะต้องเจรจาประเด็นใดบ้าง แต่ถ้าออกมาแนวลบจะมีวิธีการอย่างไรบ้าง ก็จะมีขั้นตอน นายกรัฐมนตรีได้มีการพูดคุยเพื่อเตรียมการกันไว้ทุกขั้นตอน ตนได้หารือกับนายฮอร์ อย่างชัดเจน ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรในการปฏิบัติการภายในของแต่ละประเทศต้องให้เวลาซึ่งกันและกัน ก่อนที่จะทำอะไร จะเจรจากันอย่างไร ก็จะมีการหารือกันทุกครั้ง

ส่วนที่มีการมองว่ามีผลประโยชน์แฝงเร้นระหว่างไทยกับกัมพูชา นายสุรพงษ์กล่าวว่า ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันสามารถแยกแยะได้ รัฐบาลไม่นำผลประโยชน์ของประเทศชาติไปทำให้เสียหายแน่นอน โดยเฉพาะรัฐบาลเองก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ได้รับเสียงข้างมาก การจะทำอะไรจึงต้องคิดอย่างถี่ถ้วน ยิ่งรัฐบาลอยู่ในกระแสที่ถูกโจมตีมาโดยตลอด และรัฐบาลได้ทำงานมาอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะมีการโจมตีกล่าวหา ตนก็ใช้ทีมเดิม ทีมทนายก็ทีมเดิม เขาก็พยายามจะเบี่ยงเบนว่าต้องรับผิดชอบ เพราะว่าถ้าเกิดแพ้คดีจะโยนความผิดให้ ตนไม่มีนิสัยอย่างนั้น ถือว่าวันนี้มาสู้ในขบวนการศาลแล้วและก็สู้อย่างเต็มที่ ทีมทนายถือว่ามีประสบการณ์และได้พิสูจน์แล้ว จากการถ่ายทอดสดทุกคนเห็นแล้วว่าทำอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะตนทำทุกอย่างด้วยความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการที่บอกว่าจะไปร่วมกันคดโกงไม่มีเด็ดขาด ผลประโยชน์ทับซ้อนบางครั้งก็กล่าวหาว่าไปนำผลประโยชน์ทับซ้อนทางทะเลแล้วมาโยงกับเรื่องนี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อ่อนไหว และได้หารือกับนายกรัฐมนตรีและได้บอกว่าเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล เกาะกง นี้ ไม่มีการหยิบยกขึ้นมาในรัฐบาลนี้เลย

นายสุรพงษ์กล่าวว่า วันนี้เชื่อว่าสังคมไทยส่วนหนึ่งเปิดใจรับได้ อยากจะกราบขอร้องทุกฝ่ายว่าอย่านำประเด็นการต่างประเทศอย่างนี้มาเล่นเป็นประเด็นการเมือง เพราะทุกประเทศที่เจริญแล้ว ไม่มีพรรคการเมืองใดที่แตกความสามัคคีกันแล้วนำการต่างประเทศมาเล่นเป็นการเมือง ไทยเสียกรุงศรีอยุธยาไปสมัยนั้น เพราะความแตกแยกของคนไทย วันนี้คนไทยต้องหันหน้าเข้าหากัน คิดในทางสร้างสรรค์ คิดอย่างไรเพื่อให้อยู่กับกัมพูชาได้อย่างสันติสุข เพราะเป็นเพื่อนบ้านกัน จะแยกกัมพูชาจากไทยเป็นไปไม่ได้ เพราะเรามีแนวชายแดนติดต่อกัน ถ้าออกมากลางๆ เป็นแนวทางที่ 4 เป็นสิ่งที่ได้หารือกับนายวีรชัยว่า ศาลได้ตัดสินให้นำมาหารือกันเอง ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี และยังมีกรอบ MOU 2543 เกี่ยวกับเรื่องหลักเขตแดนต่างๆ ก็สามารถนำเรื่องนี้มาเจรจากันได้ กลุ่มการเมืองหากเล่นโดยหลักผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนก็ยินดีน้อมรับ แต่ถ้าเล่นการเมืองเพื่อหวังผลประโยชน์ของตนเองหรือต้องการล้มรัฐบาลคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

“อย่างกรณีนิรโทษกรรมวันนี้ ซึ่งรัฐบาลยอมถอย นายกรัฐมนตรีได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วน่าจะยุติได้ แต่พรรคฝ่ายค้านได้คืบจะเอาศอก ได้ศอกจะเอาวา คิดว่าสังคมต้องตัดสินบ้าง เพราะไม่มีพรรคการเมืองใดที่จะทำทุกอย่างได้ถูกต้องหมด พรรคไหนจะถูกต้องทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ ความไม่ดีถูกเปิดเผยหรือไม่แค่นั้นเอง” นายสุรพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่า กรณีที่ศาลโลกพิพากษายอมรับคำร้องของกัมพูชา นายสุรพงษ์กล่าวว่า ต้องการให้ประชาชนได้ฟังคำชี้แจง และแนวทางการดำเนินการของรัฐบาล ขอให้ใจเย็น และรับฟังด้วยเหตุผล และรัฐบาลจะสอบถามประชาชนด้วย รัฐบาลจะไม่ทำอะไรโดยพลการ เพราะทุกอย่างรัฐบาลจะมีการเปิดเผย จะเห็นว่าตั้งแต่มารับตำแหน่งนี้ เรื่องปราสาทเขาพระวิหารนี้เป็นของร้อนนะ แต่พยายามชี้แจงมาโดยตลอด เชื่อมั่นว่าวันนี้ประชาชนคนไทยเข้าใจและมีเหตุผลขึ้นมากกว่าในอดีต แต่ควรจะแสดงออกในสิ่งที่มีข้อเท็จจริง ไม่ต้องการให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ นี่เป็นสิ่งที่กังวลมากที่สุด

ส่วนประชาชนที่อยู่ตามตะเข็บชายแดนไทย-กัมพูชานั้น นายสุรพงษ์กล่าวว่า เชื่อว่าฝ่ายทหารสามารถปกป้องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนตามแนวชายแดนได้ และครั้งนี้เหตุการณ์รุนแรงคงไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน คิดว่าวันนี้สังคมโลกยอมรับได้ โดยเฉพาะที่เราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศในกลุ่มอาเซียนต่างๆ ก็ต้องการเห็นความสงบสุขในภูมิภาคของอาเซียน พี่น้องประชาชนบริเวณตะเข็บชายแดนเบาใจได้




กำลังโหลดความคิดเห็น