วุฒิฯ ถกนิรโทษฯล่ม เปิดประชุมไม่ได้ สมาชิกไม่ครบ 75 คน “นิคม” หน้าเครียด เลื่อนเปิดไปบ่าย 3 ส.ว.รุมจวกพวกไม่เข้าห้อง ส.ว.กำแพงเพชร งัดมุกขานชื่อ เจอจวกไม่จำเป็น "วิชาญ" ซัดพวกทำชาติวุ่น ส.ว.ราชบุรี แนะเดินไปง้อ "สุรชัย" ลุกตำหนิ ปธ.ต้นเหตุทำสรรหาเคือง หนุนไปเคลียร์ก่อน เจ้าตัวโอเค พร้อมคุย ด้าน 40 ส.ว. ขอปิดห้องถกคาใจ ได้ขอยุติเลื่อนประชุมไป 11 พ.ย.ตามมติวิปวุฒิ ขณะที่ 69 ส.ว. รุมประณาม 40 ส.ว. เห็นประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าส่วนร่วม พร้อมแสดงต้นล่วงหน้าคว่ำพ.ร.บ.นิรโทษกรม
วันนี้่ (8 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 14.00 น. การประชุมวุฒิสภานัดพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ตามกำหนดที่นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้นัดหมาย แต่ปรากฏว่ายังมีสมาชิกมาทยอยมาลงชื่อเป็นระยะ แม้เวลาผ่านไป 20 นาที แต่ยังไม่สามารถเปิดประชุมได้ เนื่องจากยังไม่ครบองค์ประชุม หรือ 75 คน ทำให้นายนิคม มีอาการเครียดและเดินขึ้นลงห้องประชุมอยู่เป็นระยะ เมื่อผู้สื่อข่าวซักถามว่าคาดว่าการประชุมวันนี้จะครบองค์ประชุมหรือไม่ นายนิคมกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าตอนนี้มาเกือบครบแล้ว ทราบว่าหลายคนเจอปัญหารถติด
จนเมื่อเวลา 14.30 น. นายนิคมได้ประกาศว่าขณะนี้มีผู้มาร่วมลงชื่อประชุม 66 คน แต่เนื่องจากหลายคนเจอปัญหารถติด ตนจึงขอเลื่อนการเปิดประชุมออกไปอีก 30 นาที
มีรายงานว่า บรรยากาศที่อาคารรัฐสภาเป็นไปอย่างเงียบเหงา โดย ส.ว.ที่มารอการประชุมได้หารือกันถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเคร่งเครียด ขณะที่บางคนได้กล่าวตำหนิกลุ่ม 40 ส.ว.และ ส.ว.ที่ไม่ยอมเข้าร่วมประชุมว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เพราะการประชุมครั้งถือว่าเป็นไปอย่างถูกต้องตามข้อบังคับการประชุมแล้ว ไม่ควรฉวยโอกาสเล่นเกมการเมือง
ต่อมา เมื่อเวลา15.00 น.นายนิคม ได้เปิดประชุมอีกครั้ง ปรากฎว่ามีสมาชิกมาลงชื่อเพียง 67 คน ขาดอีก8 คนจึงจะครบ 75 คน ตามองค์ประชุมที่จะสามารถเข้าสู่วาระการประชุมได้
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว. กำแพงเพชร ได้หารือว่า ณ นาทีนี้ผู้เข่าร่วมการประชุมไม่ครบ ตนขอหารือ หลายคนอยากเข้าทำหน้าที่ในสภานี้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องการจราจร ฝนฟ้าที่กำลังจะตก ขอให้ประธานใช้เวลาสักเล็กน้อยเพื่อรอสมาชิกที่กำลังจะเดินทางมา และขอให้ตรวจรายชื่อสมาชิกที่มาด้วยการเรียกชื่อเป็นรายคน
แต่มีสมาชิกทักท้วง อาทิ นายสิริวัฒน์ ไกรสินธุ์ ส.ว.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า การให้ขานชื่อขณะองค์ประชุมไม่ครบ เราไม่เคยปฏิบัติ และยังไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น เมื่อเราจะมาคว่ำกฎหมายที่สังคมบอกว่าเหมายกเข่ง เมื่อมีการเรียกประชุมแล้วยังมาไม่ครบทำได้คือรอ โดยระหว่างรอควรมีการหารือไว้ก่อน เหมือนกับปกติที่เราทำมา เชื่อว่ามีสมาชิกอีกจำนวนมากที่มาอาจจะเปลี่ยนใจมาเข้าร่วมประชุม ในมือตนมีรายชื่อ 26 เครือข่ายที่ต้องการให้คว่ำร่าง พวกตนและสมาชิกมีท่าทีมาก่อนหน้านี้แล้ว ไม่ใช่พึ่งมามีเพราะรัฐบาลเขาถอย ไม่คว่ำไม่ได้เพราะ บ้านเมืองลุกเป็นไฟ คว่ำวันจันทร์กับวันนี้ไม่ต่างกันเท่าไหร่ ตนไม่เชื่อว่าใครจะนำไปสู่ความวุ่นวายใน 3 วันแต่เมื่อเรียกประชุมตนก็มา เชื่อว่าเจตนาดีในการทำให้เรื่องยุติ เพราะฟังรอบด้านจากสัญญาณจากสมาชิก ไม่ใช่จากใคร
นายกฤช ยังยืนยันให้ขานชื่อ เพื่อแสดงเจตนามาเราต้องการช่วยบ้านเมืองจริง เป็นการเร่งเร้าเชิญชวนสมาชิกให้เห็นแก่ บ้านเมืองที่กำลังจะมีปัญหา หากเรามาครบเมื่อไหร่เราสามารถแก้ไขปัญหาในระดับหนึ่งคงแก้ไม่ได้ทั้งหมด เดี๋ยวนี้มี67 คน เหลืออีก8 คน ตนอยากให้นำรายชื่อที่มาบอกกล่าวว่าใครมาบ้างแล้ว
ด้านนางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิตถ์ ไม่เห็นด้วย อาจสร้างความรู้สึกในเชิงลบกับ ส.ว.สรรหาที่หารืออีกตึกหนึ่งว่าจะทำอย่างไร อาจจะมาร่วมแสดงความเห็นกับเราด้วย เมื่อสมาชิกสรรหามีเหตุมีผล และอยากหาความสงบในบ้านเมืองเช่นกัน การอ่านชื่อไปอาจทำให้เกิดความเสียหายได้ เพื่อแสดงถึงไมตรีที่แท้จริงของพวกเรา
จากนั้นสมาชิกได้ทยอยแสดงความเห็นต่างๆ โดยส่วนใหญ่อ้างว่าได้รับการร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการคว่ำร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงตั้งใจที่จะทำตามคำเรียกร้องในวันนี้ ถือเป็นเผือกร้อนในมือที่ควรทำให้มันจบไปโดยเร็ว สมาชิกควรเป็นความสำคัญถือเป็นหน้าที่และพยายามขอร้องให้ ส.ว.บางส่วนที่ไม่ยอมเข้าห้องประชุมเปลี่ยนมาร่วมเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาให้ประเทศ
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การยับยั้งวันนี้หรือวันจันทร์ ผลไม่แตกต่างกันคือก็ต้องรอ180 วัน แต่ความต่างคือ ถ้ายับยั้งเร็วขึ้น2 วัน ช่วงวันหยุดอาจะเกิดกระแสข่าวว่าส.ว.จะยอมคว่ำหรือไม่คว่ำ ถ้าวันนี้ทำได้ทำไมไม่ทำ ทำไมต้องรอไปวันจันทร์ เกิดมีคนมาชุมนุมมากขึ้น แล้วมีคนแฝงในการชุมนุมเหมือน 10 เม.ย.53 ใครจะรับผิดชอบ เหมือนกรณีของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ทุกวันนี้มีการเอาไปหากินหวังผลประโยชน์มากมาย เราต้องการให้บ้านเมืองสงบสุข ถ้าวันนี้ประชุมไม่ได้ขออย่าประชุมเสาร์อาทิตย์เลย ควรเป็นวันจันทร์ตามเดิม เพราะถ้าไม่สามารถดำเนินการได้อีกความเสียหายจะเกิดกับสภาเรา แต่อยากขอให้บันทึกไว้ว่าวันนี้มา 67 คน เป็นคนที่ต้องการให้บ้านเมืองสงบ แต่คนไม่มาลงชื่อ มาปรากฎอยู่ในเขตอาคารรัฐสภา แต่ไม่มาลงชื่อเพราะต้องการให้บ้านเมืองเกิดความวุ่นวาย
มีรายงานว่า แม้นายนิคมจะให้สมาชิกหารือโดยหวังว่าจะมีสมาชิกมาร่วมลงชื่อเพิ่ม แต่ผ่านไปร่วมชั่วโมง ตัวเลขผู้มาลงชื่อยังหยุดอยู่ที่ 67 คน ดังนั้นนายนิคมจึงได้เปิดโอกาสให้สมาชิกทุกคนอภิปรายแสดงความเห็นกันอย่างเต็มที่
เมื่อเวลา 16.25 น. นายเกชา ศักดิ์สมบูรณ์ ส.ว.ราชบุรี ได้เสนอว่า นายนิคม ควรพักการประเป็นประธานการประชุมสักพัก แล้วให้รองประธานคนอื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน โดยนายนิคม ควรเสียสละและละทิฐิ เพื่อบ้านเมือง ด้วยการเดินไป เพื่อส่งเทียบเชิญสมาชิกหลายคนที่อยู่นอกห้องประชุมให้กลับมาร่วมประชุมเพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา อภิปรายว่า ตนไม่อยากให้กล่าวหาสมาชิกสรรหาที่ใช้สิทธิ์บอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมโดยไม่มีโอกาสชี้แจง ตนยืนยันว่าที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่เป็นกลางเพราะเป็นรองประธาน แต่เริ่มรู้สึกว่าเราเริ่มมีความไม่กลมเกลียว ต้องขอพูดความจริงบางอย่างและขอให้ประธานอย่าโกรธ ปัญหาเริ่มมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว.แล้วมีการให้สัมภาษณ์เปรียบเทียบถึง ส.ว.สรรหา ทำให้พวกเขา รู้สึกว่าไม่ได้รับการดูแลเท่าเทียมกันจากประธาน ท่านต้องรับฟังตรงนี้ จึงทำให้รู้สึกว่าไม่ได้รับการยอมรับ รวมถึงอีกหลายเรื่องถ้ามีโอกาสตนจะแจ้งให้ทราบ จนล่าสุดที่มีการเชิญสมาชิกไปหารือกำหนดวันประชุม ตนไม่ได้เข้าร่วมด้วยเพราะติดภาระไปรับกลุ่มคัดค้านร่างนิรโทษกรรมจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จะเดินทางมารัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือ โดยมาทราบภายหลังว่ามีการปะทะคารมกันทำให้ต่อกันไม่ติด เมื่อประธานใช้อำนาจเรียกประชุมในวันนี้ ความรู้สึกของสมาชิกคือไม่จำเป็นต้องหารือ เหมือนตกแต่งรูปแบบและ ยอมรับไม่ได้จนนำมาสู่วันนี้
"ขณะนี้สังคมกำลังแบ่งแยกความคิดไปทุกภาคส่วน และกำลังคืบคลานมาสู่ส.ว.ด้วย ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของนายเกชา ที่นายนิคม ควรจะเดินไปหาสมาชิกกลุ่มดังกล่าวเพื่อปรับความเข้าใจกัน โดยตนยินดีจะเดินไปด้วย ต้องพยายามดึงสมาชิกทั้ง 149 กลับมาก่อนที่จะทำให้วุฒิสภาเป็นสถาบันทางการเมืองต้อง เริ่มจากพวกเราก่อน ถ้าประธานยินดีตนก็จะเดินไปด้วย" นายสุรชัย กล่าว
จากนั้นเวลา 16.33 น. นายนิคม สั่งพักการประชุม 20 นาที และได้เดินทางไปหากลุ่ม 40 ส.ว. ที่สังเกตการณ์อยู่ที่ห้องประชุม 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 ขณะที่มีสมาชิกมาลงชื่อเพิ่มอีก 1 คน เป็น 68 คน
เมื่อนายนิคมเดินไปถึงบริเวณห้อง 306 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา2 กลุ่ม 40 ส.ว.ได้ล๊อคประตูไว้ นายสุรชัย จึงโทรศัพท์เข้าไปเคลียร์ว่าจะให้เข้าไปหรือไม่ จากนั้นได้แจ้งกับนายนิคม ว่าด้านในอนุญาตให้นายนิคม เข้าไปเพียงคนเดียว เนื่องจากมีเรื่องคาใจที่ต้องการจะเคลียร์กับนายนิคม หลายเรื่อง โดยขอไม่ให้นำสื่อมวลชนเข้าไป และภายหลังการเจรจาจะมีการแถลงให้ทราบ
มีรายงานว่า ระหว่างที่คณะของนายนิคมเดินทางไปเจรจากับกลุ่ม 40 ส.ว. นั้น นายเกชา ประสบอุบัติเหตุถูกขากล้องของสถานีโทรทัศน์ช่องหนึ่งทับที่ขาหลัง ทำให้นายเกชา ต้องถอดรองเท้า ถุงเท้า ก่อนนำยาหม่องมาทาบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ
หลังจากใช้เวลาหารือร่วม 1 ชั่วโมง ที่สุดได้มีการแถลงข่าวร่วมกัน โดยนายนิคมได้กล่าวขอโทษถึงบทบาทการทำหน้าทีที่ผ่าน มา อาจเกิดการไม่เข้าใจกันหลายเรื่องตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนมาถึงเรื่องนี้ ทำให้มองว่าเกิดความแตกแยก ตั้งแต่นี้ไปส.ว.มีความเห็นตรงกันที่จะยับยั้งร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม และจะมีการประชุมเพื่อลงมติร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ในวันที่ 11 พ.ย.
ด้านนายพิเชต สุนทรพิพิธ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ส.ว.ที่คัดค้านไม่ให้ประชุมวันนี้ เพราะเห็นว่าได้แจ้งว่าจะประชุมวันที่ 11 พ.ย. ไม่ใช่ว่าเราไม่เห็นความสำคัญของร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่เราต้องการเวลาศึกษาและอภิปรายร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเต็มที่
นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย กล่าวว่า การประชุมวันที่ 11 พ.ย.จะเปิดให้ส.ว.อภิปรายเต็มที่ ถ้าไม่สามารถพิจารณาเสร็จได้ในวันเดียว ก็ต้องต่อวันที่ 12 พ.ย. แต่ ณ วันนี้ส.ว.ทุกคนเห็นร่วมกันว่าจะยับยั้งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ขีดเส้นตายว่าร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมจะต้องชัดเจนภายในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 11 พ.ย. นายคำนูณ ส...ิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การทำหน้าที่ของส.ว.ไม่เกี่ยวกับพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือพรรคประชาธิปัตย์ ไม่มีใครมาสั่งได้ เมื่อถามย้ำว่าหากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวในวันนี้ประเทศชาติจะเสียหายอย่างไร พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า เราไม่อยากให้การพิจารณาของวุฒิสภาไปเข้าทางรัฐบาล เพราะมีกระแสข่าวว่าหากวุฒิสภาผ่านร่างฯในวันนี้ รัฐบาลอาจสลายการชุมนุมได้
ต่อมา เวลา 17.56 น.การประชุมเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ได้เปิดเผยถึงการหารือว่า ตนได้เคลียกับกลุ่ม 40 ส.ว.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีสิ่งที่ประเด็นที่ความในใจที่ติดค้างอยู่หลายเรื่อง 1.การที่ตนให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ถึงการทำหน้าที่ของกลุ่ม ส.ว.สรรหา 2.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว. ที่มีการแก้ไขจนเป็นมติเสียงข้างมาก ตัดไม่ให้ ส.ว.สรรหาอยู่จนหมดวาระซึ่งตนไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย และ 3.เรื่องการหารือนอกรอบ เมื่อวันที่ 7พฤศจิกายน ซึ่งตนต้องรีบไปขึ้นเครื่องบิน ด้วยความใจร้อน จึงต้องได้อำนาจตามข้อบังคับทำให้ความรู้สึกที่ครุกรุ่นอยู่แล้วก็เป็นปัญหา ตนต้องหาอภัยด้วย ตนได้ไปเคลียใจเรียบร้อยและได้ตกลงให้มีการเลื่อนประชุมไปเป็นในวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ ส.ว.เดินหน้ายับยั้งร่วมกัน ทำให้ ส.ว.ที่อยู่ในห้องประชุมไม่พอใจ
โดย นางนฤมล ศิริวัฒน์ ส.ว.อุตรดิษ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าประธานหวังดีจึงอยากให้ส.ว.ทำงานร่วมกัน แต่ความรู้สึกต่างๆ ที่กลุ่ม ส.ว.สรรหาต่อประธานที่ผ่านมา ซึ่งความจริงเรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ควรแยกแยะเพราะเป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น ตนอยากถามว่า ที่ได้เคลียใจมันจบหรือไม่ แต่จะกระทบต่อการทำงานของวุฒิสภาต่อไปหรือไม่ การที่ประธานไปหารือกับกลุ่ม 40 ส.ว.ว่า จะเปิดประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายนนั้น ได้หารือกับพวกตนที่อยู่ในห้องประชุมแล้ว ตนเสียใจที่จบแบบนี้ จึงอยากให้ประธานนิคมได้ชี้แจงด้วย
ขณะที่ นางจิตร์ธนา ยิ่งทวีลาภา ส.ว.ชัยนาท กล่าวว่า ตนผิดหวังกับ ส.ว.ผู้อาวุโสเป็นอย่างมาก เพราะบ้านเมืองกำลังเดือนร้อนเป็นไฟ แต่พวกท่านนำเหตุผลส่วนตัวมาเป็นเหตุผลที่จะไม่ประชุมในวันนี้ การพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพื่อปัดให้พ้นจากสภาฯไปให้เร็วที่สุด ตนแปลกใจมนเมื่อทุกคนอยากเห็นให้บ้านเมืองสงบ แต่กลับไม่มาประชุม เหตุการณ์ 2 วันกว่าจะถึงวันที่ 11 พฤศจิกายนนี้ หากเกิดขึ้นแล้วใครจะรับผิดชอบ
นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตนรู้สึกเสียใจกับการตัดสินใจของประธาน ที่ยอมให้มีการประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายน ไม่ทราบว่า ประธานเห็นว่าในในสภาฯกับนอกสภาฯสิ่งไหนสำคัญกว่ากัน ขณะเดียวกัน ตนก็ไม่ทราบว่า ส.ว.สรรหาจะชะลอการพิจารณาไปอีก 2 วันเพื่อหาพระแสงด้ามยาวอะไร ทั้งที่ 2 วันที่เหลืออยู่ถือว่าอยู่ในความรับผิดชอบของวุฒิสภา จนทำให้ประธานต้องร่นกรประชุมมาเป็นวันนี้ ซึ่งหลายคนถึงขั้นต้องบินกลับมาจากพื้นที่ แต่วันนี้กลับมาบอกว่าให้มาประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายนอีก ตนจึงเสียใจที่เป็นคำพูดออกจากปากประธาน เพราะถ้าเกิดเหตุความวุ่นวายในช่วง 2 วันจากนี้ ประธานก็ปลอดภัยจากความรับผิดชอบแล้วการเปลี่ยนคนสั่งแบบนี้จะรับผิดชอบไหวหรือไม่ ด้านนายนิคม ชี้แจงว่า การมาในวันนี้เป็นการแสดงจุดยืนของวุฒิสภาอยู่แล้ว แต่ในเมื่อมาไม่ครบองค์ประชุมก็ทำการประชุมไม่ได้ แม้ว่าจะนัดประชุมในวันเสาร์-อาทิตย์ ก็คงจะไม่ครบอีก หากมาถามว่า 2 วันนับจากนี้หากมีปัญหาแล้วใครจะรับผิดชอบ ซึ่งวุฒิสภาได้แสดงจุดยืนแล้ว ดังนั้น ถ้าเปิด 2 วันเกิดเหตุขึ้นก็ไม่ใช้ความรับผิดชอบของวุฒิสภา
มีรายงานว่า การประชุมยังไม่สามารถปิดได้ เนื่องจาก ส.ว.ที่อยู่ในห้องประชุมไม่พอใจ และอภิปรายโจมตีกลุ่ม40 ส.ว. ที่ไม่ยอมเข้าร่วมประชุม โดยนำเรื่องส่วนตัวมาปะบ่นกับเรื่องการทำหน้าที่ของวุฒิสภา ทั้งนี้ นายวรวิทย์ บารู ส.ว.ปัตตานี และ นายสุรพงษ์ ตันธนศรีกุล ส.ว.กาญจนบุรี ได้ขอให้มีการขานชื่อเพื่อที่ประชาชนจะได้รีบทราบว่าใครนำเรื่องส่วนตัวมาเป็นเหตุที่ไม่เข้ามาร่วมประชุมบ้าง โดยนายนิคม ได้ขอให้ฝ่ายเลขาฯ ขานชื่อผู้มาเข้าร่วมประชุม ทั้ง 69 คน จากนั้น ได้ขอให้ลงมติอย่างไม่เป็นทางการของคนที่ต้องการจะคว่ำร่างฯ พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมทั้งหมดได้ยกมือแสดงเจตนารมณ์ล่วงหน้าว่าไม่เห็นด้วย
ต่อมา นายนิคม ได้กล่าวขออภัยต่อที่ประชุมว่า ตนไม่สามารถทำให้องค์ประชุมครบได้ ขาดไป 6 เสียง ซึ่งไม่สามารถทำให้เป้าหมายขององค์กรต่างๆที่ได้แสดงเจตจำนวนที่ขอยับยั้งในวันนี้ แต่ต้องก็ได้รับการยืนยันว่าจะลงมติว่าจะไม่รับกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา และขอยืนยันด้วยว่าวุฒิสภาจะประชุมในวันที่ 11 พฤศจิกายนจบภายในวันเดียว แต่ นางนฤมล ได้ลุกขึ้นทักท้วงเพื่อขอความมั่นใจจากที่ประชุม เพราะภายหลังจากประธานไปหารือ ส.ว.ที่อยู่ที่อาคารรัฐสภา 2 แล้วแถลงข่าวว่าหากไม่จบในวันที่ 11 พฤศจิกายนแล้วจะต่อวันรุ่งขึ้นนั้น มีเหตุผลอะไรที่ไม่จบภายในวันเดียว ทั้งที่ตอนส.ว.ก็มีมติคว่ำร่างฯแล้ว ทำไมถึงไม่ทำให้จบภายในวันเดียว เพราะแค่การหารือตอนนี้ กลุ่ม ส.ว.สรรหาก็ยังไม่เข้าร่วมประชุมเลย แต่กลับไปขึ้นเวทีนอกสภาฯ ถามว่าเวทีสภาฯไม่ดีตรงไหน 5 ปีที่ผ่านมา ส.ว.สรรหาต้องชนะตลอด ส.ว.เลือกตั้งขยับซ้ายก็ขี้ข้า ขยับขวาก็ทาส ไม่ขยับเลยก็เป็น ส.ว.ไม่มีคุณภาพอีก แสดงว่าประชาชนที่เลือกส.ว.เลือกตั้งทั้ง 76 คนเข้ามาก็คงเป็นคนโง่
ด้าน นายกฤช กล่าวว่า ประธานต้องสร้างความมั่นใจว่า การประชุมวุฒิสภาในวันที่ 11 พฤศจิกายน จะเสร็จก่อนเวลา 18.00 น. เพราะประธานให้เวลาอภิปรายคนละ 10 นาที 146 คนไม่รวมผู้ทำหน้าที่ประธาน 3 คน เวลาก็ไปสอดคล้องกันที่แกนนำผู้ชุมนุมขัดเส้นตายไว้ ประธานจะต้องไปตกลงกับ 6-7 ผู้มีอำนาจใน ส.ว.สรรหาก่อน เราจึงจะเชื่อ และยอมให้ประชุมประชุมวันที่ 11 พฤศจิกายน
ด้าน นายสุรชัย ในฐานะหนึ่งในตัวแทนเจรจากับกลุ่ม ส.ว.สรรหา กล่าวยืนยันในที่ประชุมว่า คนรับปากจะนำเรื่องนี้นำไปหารือกับเพื่อนสมาชิก ส.ว.สรรหา และขอให้ความมั่นใจว่าการประชุมจะเสร็จทันก่อนเวลา 18.00 น. ที่สุด นายนิคมได้สั่งเลื่อนการประชุมวาระพิเศษทันที ในเวลา 20.50 น. และนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน ในเวลา 10.00 น.พร้อมกับสั่งในเลขาธิการวุฒิสภาประสานช่อง 11 เพื่อทำการถ่ายทอดสดการประชุมต่อไป
ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ.... ของวุฒิสภา ที่มีนายสมัคร เชาวภานันท์ สว.สรรหา เป็นประธานกรรมาธิการฯ ได้ส่งรายงานกรรมาธิการฯ ให้กับวุฒิสภา แล้วเพื่อใช้ประกอบการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระแรก ที่ได้มีการนัดประชุม นัดพิเศษ วันที่ 8 พ.ย. นี้
โดย กรรมาธิการฯ ได้นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่สภาฯ รับหลักการวาระแรก ที่เสนอนายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย มาพิจารณา สรุปสาระสำคัญได้ว่า ประเด็นแรกในร่างมาตรา 3 ที่ระบุถึงการนิรโทษกรรมให้กับการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 49 ถึง 10 พ.ค. 56 พบว่าขาดความชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติ คือ 1. องค์ประกอบความผิดหรือฐานความผิดจะได้รับการนิรโทษกรรม เพราะการระบุให้บุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองหรือการแสดงออกทางการเมือง หรือบุคคลซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม แต่การกระทำนั้นมีเหตุเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง อาจรวมถึงความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ ลักทรัพย์ วิ่งราวทรัพย์ ความผิดเกี่ยวกับชีวิต และร่างกาย หรือความผิดต่อเจ้าพนักงาน อาจทำให้เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรมใช้ดุลยพินิจในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดได้อย่างกว้างขวางและมีการฉวยโอกาสอ้างเพื่อให้ได้รับการนิรโทษกรรมได้
2. ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับความผิดที่ได้รับผลการนิรโทษกรรมว่าจะรวมถึงความผิดทางอาญา หรือความผิดทางแพ่งหรือวินัยหรือไม่ 3. ระยะเวลาที่จะได้รับการนิรโทษกรรม ยาวนานเกินไป คือ 4 ปี 7 เดือน อีกทั้งไม่กำหนดพื้นที่ที่มีการกระทำความผิดและข้อหาอย่างชัดเจนอาจทำให้เกิดปัญหาในการปฏิบัติ 4. การยกเว้นการนิรโทษกรรมให้กับผู้มีอำนาจสั่งการหรือตัดสินใจให้มีการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด หรือมีคุณสมบัติ ลักษณะอย่างไรบ้าง อาจทำให้ถูกตีความว่าคือ บุคคลที่เข้าร่วม ก่อ หรือช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการกระทำความผิด อันมีลักษณะเป็นตัวการ, ผู้ใช้หรือผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญาด้วยหรือไม่และที่สำคัญการยกเว้นความผิดดังกล่าวขัดกับหลักความเสมอภาคกันทางกฎหมาย ที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ให้การรับรอง
ประเด็นที่ 2 บทบัญญัติในร่างมาตรา 4 ที่ระบุให้ยับยั้งกระบวนการยุติธรรมใดๆ หากกฎหมายนี้มีผลบังคับใช้ ถือว่าขาดความชัดเจนที่อาจเกิดปัญหาในการบังคับใช้ โดยเฉพาะกรณีที่ให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการในการใช้ดุลยพินิจในการระงับหรือยุติการดำเนินคดีอาญาได้เองอย่างกว้างขวาง และอาจเปิดโอกาสให้ใช้ดุลยพินิจในทางมิชอบหรือทุจริตเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับผู้กระทำความผิดอาญาอื่นๆ โดยสรุป คือ คณะกรรมาธิการวิสามัญเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เสนอโดยนายวรชัย นั้นมีหลักการและเนื้อหาสาระของร่างที่ขาดความชัดเจน อาจทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายและมีข้อโต้แย้งในการปฏิบัติเกิดขึ้นได้
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้หยิบยกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับที่สภาฯ ให้ความเห็นชอบ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ ทางกรรมาธิการ มีข้อสังเกต ใน3 ประเด็น คือ 1. บทบัญญัติของร่าง มาตรา 3 ขาดความชัดเจนอาจเกิดปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยหลักกฎหมายและรัฐธรรมนูญ คือ กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเนื่องจากมีการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติต่างๆ เกินหลักการของกฎหมายที่สภาฯ รับหลักการวาระแรก, 2. การปฏิบัติหน้าที่ของสภาฯ เรื่องการตรากฎหมายอาจไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมตามมาตรา 3 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ และอาจเป็นการก้าวก่ายอำนาจในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 197 เพราะการแก้ไขที่ขยายผลการนิรโทษกรรมให้ครอบคลุมถึงการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 อาจมีผลลบล้างคำพิพากษาของศาลในคดีต่างๆ เช่น คดีการทุจริตที่มีคำพิพากษาตัดสินไปแล้วต้องสิ้นสภาพบังคับไปโดยปริยาย ถือว่าเป็นการกระทำที่ไม่ยอมรับอำนาจในการพิจารณาของศาล ทั้งนี้รัฐสภามีอำนาจตรากฎหมายเพื่อใช้บังคับหรือยกเลิกกฎหมายเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจตรากฎหมายเพื่อลบล้าง หรือยกเลิกคำพิพากษาของศาล,
3. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อาจเป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวด้วยการเงิน ซึ่งควรต้องมีคำรับรองขอนายกรัฐมนตรี เพราะการแก้ไขให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้ถูกกล่าวโดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร 19 ก.ย. 49 อาจมีปัญหาว่าคดีที่ศาลพิพากษาให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน จะได้รับการนิรโทษกรรมและอาจร้องขอต่อศาลให้คืนทรัพย์สินพร้อมดอกเบี้ย ถือว่าเป็นการจ่ายเงินของแผ่นดิน ซึ่งทำให้ร่างกฎหมายนี้เป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน 4. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่แก้ไขให้นิรโทษกรรมแก่แกนนำ หรือผู้สั่งการ นอกเหนือจากประชาชน อาจเข้าข่ายเกิดผลประโยชน์ขัดกัน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 เพราะทราบดีว่าแกนนำหรือผู้สั่งการให้มีการชุมนุมหรือสลายการชุมนุมอาจเป็น ส.ส.หรือบุคคลที่มีความใกล้ชิดกับ ส.ส. 5. ร่างกฎหมายนี้ อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่รับรองการกระทำใดๆ ของคณะรัฐประหารว่าเป็นความชอบตามกฎหมายหรือไม่ กรรมาธิการฯ ได้เห็นเป็น 2 แนวทาง คือ ไม่ขัด และขัด
ทั้งนี้ กรรมาธิการฯ ได้มีข้อสังเกตเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบของสภาฯ คือ 1. การนิรโทษกรรมต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมมาตรฐานที่เป็นสากล ไม่ใช่เป็นการนิรโทษกรรมตนเอง โดยผู้มีส่วนในการกระทำความผิด หรือนิรโทษกรรมแบบเหมารวมครอบคลุมเป็นการทั่วไป หรือ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับทุกฝ่าย โดยปราศจากเงื่อนไข ทั้งนี้การนิรโทษกรรมควรกำหนดขอบเขต เงื่อนไข และกระบวนการอย่างชัดเจน และที่สำคัญการนิรโทษกรรมต้องคำนึงถึงการอำนวยความยุติธรรมแก่เหยื่อของการละเมิด โดยการป้องกันไม่ให้เกิดการลบล้างกระทำความผิดหรือยกเว้นความผิดโดยมิชอบ 2. ลักษณะความผิดที่อยู่ในข่ายซึ่งอาจได้รับการนิรโทษกรรมต้องไม่รวมถึงคดีการทุจริตคอร์รัปชัน การกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง และ 3. การนิรโทษกรรมเป็นกระบวนการที่ยกเว้นการใช้กระบวนการทางกฎหมายและยกเว้นความรับผิดชอบของผู้กระทำความผิดอันเป็นผลให้ผู้กระทำผิดไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมตามวิธีการปกติ ดังนั้นการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องระวังอย่าให้เป็นการส่งเสริมให้ผู้ก่อความรุนแรงหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนไม่ต้องรับผิดหรือสามารถทำผิดซ้ำอีกในอนาคตด้วยวิธีการเดียวกัน