ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับความวุ่นวายทางการเมือง พบส่วนใหญ่เกินครึ่งไม่เอานิรโทษฯ ยกเข่ง ขณะเดียวกัน ค้านแหลกคืนเงิน “ทักษิณ” ชี้ได้มาโดยมิชอบ เชื่อหากร่างสุดซอยผ่านสภา ม็อบประท้วงพุ่งเสี่ยงนองเลือดกับรัฐ “พิชาย” เผยรัฐบาลไม่อาจตบตาประชาชนได้
วันนี้ (23 ต.ค.) ศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมกับความวุ่นวายทางการเมือง ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21-22 ต.ค.จากประชาชนทั่วทุกภูมิภาค รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,252 หน่วยตัวอย่าง กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมให้กับทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นแกนนำ ผู้สั่งการ ผู้ชุมนุมทางการเมือง และความวุ่นวายทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้น เมื่อมีการนำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาในวาระ 2 โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 1.4
จากผลการสำรวจเมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับมติของกรรมาธิการร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ให้การนิรโทษกรรมครอบคลุมทุกฝ่ายรวมทั้ง แกนนำ ผู้สั่งการ และคนที่มีคดีจากการตรวจสอบของ คตส.(คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ) ซึ่งรวมถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีด้วย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.91 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะควรดำเนินการตามกฎหมาย ทำให้กฎหมายบ้านเมืองหละหลวม ขาดการบังคับใช้ที่ไม่จริงจัง ใครผิดก็ว่ากันไปตามผิด และอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในทางที่ไม่ถูกต้องในสังคม เกิดปัญหาความขัดแย้งกัน ขณะที่ร้อยละ 29.07 ระบุว่าเห็นด้วย เพราะทุกๆ ฝ่ายจะได้รับความเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือผู้สั่งการ และจะได้ไม่ต้องมีเรื่องขัดแย้ง ปัญหาความขัดแย้ง ความวุ่นวายต่างๆ ก็จะยุติลง และร้อยละ 13.02 ไม่ระบุ หรือไม่แน่ใจ
สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณี หาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ผ่านความเห็นชอบ ซึ่งอาจมีผลทำให้การยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ จำนวน 4.6 หมื่นล้านบาท เป็นโมฆะ และรัฐบาลจำเป็นต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.89 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีความผิด และเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยมิชอบ และได้ดำเนินคดีตามกฎหมายไปแล้ว อาจมีกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยออกมาประท้วง เกิดความขัดแย้งความวุ่นวายตามมา รองลงมาร้อยละ 20.05 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่มีความผิด และเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยสุจริต จึงควรที่จะคืนทรัพย์สินให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ ร้อยละ 14.06 ไม่ระบุ หรือไม่แน่ใจ
เมื่อถามถึงความคิดเห็นเกี่ยวกับระดับความวุ่นวายทางการเมือง เมื่อมีการนำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสภาในวาระ 2 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.83 ระบุว่า จำนวนผู้ชุมนุมประท้วงมีมากขึ้น และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่อย่างรุนแรง รองลงมา ร้อยละ 11.10 ระบุว่า จะไม่มีความวุ่นวายใดๆ ทางการเมืองเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ร้อยละ 6.07 ระบุว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี อาจยุบสภา ร้อยละ 5.43 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยอมแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้ครอบคลุมเฉพาะประชาชนผู้ชุมนุมทางการเมือง แต่ไม่รวมแกนนำ ร้อยละ 4.79 ระบุว่า พรรคเพื่อไทยยอมถอนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมออกจากการพิจารณา ร้อยละ 3.12 ระบุว่า อาจเกิดการรัฐประหาร ร้อยละ 0.96 ระบุว่า อาจมีการชุมนุมประท้วงกัน แต่อาจจะไม่รุนแรง และร้อยละ 12.70 ไม่ระบุหรือไม่แน่ใจ
รศ.ดร.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต คณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม นิด้า ได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับผลการสำรวจในครั้งนี้เพิ่มเติมว่า ผลจากการสำรวจแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมแบบล้างความผิดและล้างโทษแบบสุดซอย ไม่เห็นด้วยกับการคืนทรัพย์สินที่ถูกยึดจากการทุจริต และเชื่อว่าหากพรรคเพื่อไทยผลักดันร่าง พ.ร.บ.จนผ่านสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาไปได้ จะนำไปสู่ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การที่ผลสำรวจออกมาในลักษณะนี้บ่งบอกว่าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังคงยึดหลักนิติรัฐนิติธรรมเพราะพวกเขาเชื่อในหลักการที่คนกระทำความผิดควรจะได้รับโทษ รวมทั้งยังแสดงอย่างมีนัยถึงการไม่ยินยอมที่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติล้มล้างอำนาจศาล เพราะว่าเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่านกรรมาธิการฉบับนี้จะลบล้างอำนาจศาลด้วยการล้างโทษให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย เมื่ออำนาจศาลถูกล้มล้างสังคมก็จะไม่มีหลักนิติรัฐใดๆ ให้ยึดต่อไปอีก คงเหลือแต่เพียงหลักเสียงข้างมากซึ่งถูกผลักดันโดยความปรารถนาแห่งผลประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น
สำหรับผลพวงของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ซึ่งจะทำให้ต้องคืนทรัพย์สินของรัฐแก่ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น แม้ว่านักการเมืองฝ่ายรัฐบาลจะพยายามกลบเกลื่อนว่าไม่มีผล แต่ไม่อาจหลอกหรือตบตาประชาชนได้ ดังนั้นพวกเขาจึงยืนยันว่ารัฐไม่ควรจัดสรรทรัพย์สินของรัฐแก่ใครทั้งสิ้น แต่หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านไปได้หมายถึงคนไทยทุกคนจะต้องจ่ายเงินแก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่อาจยอมรับได้ ด้วยเหตุนี้หากร่าง พ.ร.บ.นี้ผ่านสภาไปได้ ประชาชนส่วนใหญ่จึงเชื่อว่าจะเกิดความขัดแย้งและรุนแรงทางการเมืองอย่างแน่นอน ขณะนี้สัญญาณของความรุนแรงก็เริ่มปรากฏขึ้น แม้กระทั่งในฝ่ายมวลชนเสื้อแดงเองก็แสดงปฏิกิริยาต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นี้อย่างกว้างขวาง ทั้งในเครือข่ายสังคมและการแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบอื่นๆ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็ประกาศอย่างชัดเจนว่าจะคัดค้านจนถึงที่สุด และมีการนัดหมายมวลชนที่สนับสนุนพรรคให้เตรียมพร้อมออกมาเคลื่อนไหวอย่างเป็นระบบ
ทั้งนี้ ด้านภาคประชาชนและพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ชนชั้นกลางที่รักความเป็นธรรม ซึ่งคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นี้ และระบอบทักษิณมาโดยตลอด บางส่วนก็ได้ออกมาชุมนุมแล้วที่แยกอุรุพงษ์ และสวนลุมพินี ส่วนที่เหลือก็กำลังเตรียมพร้อมจะออกมาสบทบในไม่ช้า ขณะเดียวกันฝ่ายมวลชนเสื้อแดงที่อยู่ภายใต้การจัดตั้งของพรรคเพื่อไทยก็ได้ออกมาชุมนุมที่สวนจตุจักร เพื่อต่อต้านกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เข้าลักษณะการจัดมวลชนปะทะมวลชน ดังนั้นเป้าหมายของฝ่ายที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่อ้างว่าจะสร้างความปรองดอง ก็ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาจาก ร่าง พ.ร.บ.นี้คือ การขยายความขัดแย้งและส่อแววว่าจะนำไปสู่ความรุนแรงอย่างชัดเจน