xs
xsm
sm
md
lg

ปานเทพเผย “สนธิ” รับแกนนำ พธม.ยุติบทบาทถูกต้อง ยินดี “ประชาชน-ปชป.” ตื่นแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ – “ปานเทพ” เผย “สนธิ ลิ้มทองกุล” ชี้การยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรฯ เป็นสิ่งที่ถูกต้อง รับพันธมิตรฯ มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ การยุติบทบาทจึงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ “พลังใหม่-ประชาธิปัตย์” เคลื่อนไหวได้อย่างเต็มที่และเต็มศักยภาพ ยินดีหากการต่อสู้จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น

วานนี้ (7 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ อดีตโฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และผู้ใกล้ชิดของนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนพันธมิตรฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โดยกล่าวถึงเหตุการณ์เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 66 ปีของนายสนธิ และเนื่องในโอกาสวันก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ สื่อในเครือ ASTVผู้จัดการ ว่านายสนธิได้กล่าวกับพนักงานถึงสถานการณ์บ้านเมือง โดยมีการอ้างอิงถึงเหตุการณ์ในอดีต รวมไปถึงเหตุการณ์การต่อต้าน พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติในปี 2555

ขณะเดียวกันก็ยอมรับว่า การประกาศยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2556 เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว ดังที่เคยระบุว่าการยุติบทบาทดังกล่าวเป็นการยุติบทบาททางยุทธวิธีในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ เนื่องจากเหตุการณ์ ณ วันนี้ก็พิสูจน์ว่า การยุติบทบาทดังกล่าวของแกนนำพันธมิตรฯ เป็นการเร่งปฏิกิริยาก่อให้เกิดพลังใหม่ๆ ในสังคม ซึ่งคนเหล่านี้เดิมทีไม่อยากออกมาเคลี่อนไหวภายใต้ธงของพันธมิตรฯ ขณะเดียวกันก็เป็นแรงผลักดันให้พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแสดงบทบาท และศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ด้วย

ทั้งนี้นายสนธิยังกล่าวด้วยว่า การยุติบทบาทของแกนนำพันธมิตรฯ คือการลดอัตตา เพื่อนำไปสู่ชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่า และขอให้เป็นชัยชนะกับประเทศชาติ โดยนายสนธิยังได้แสดงความคาดหวังด้วยว่าหากพรรคประชาธิปัตย์สามารถแปรเปลี่ยนพลังของมวลชนครั้งนี้ให้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้อย่างยั่งยืน ก็จะก่อคุณูปการให้กับประเทศชาติและสังคมอย่างสูง

สำหรับเนื้อหาที่นายปานเทพโพสต์มีรายละเอียดดังนี้
------------------------
วันนี้คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ได้กล่าวถึงการชุมนุมในช่วงเวลานี้กับพนักงานเนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 66 ปี และวันคล้ายวันเกิดของค่าย ASTVผู้จัดการ โดยได้กล่าวถึงสถานการณ์ในการชุมนุมในช่วงเวลานี้ว่า

“ถ้าเรายังไม่ยุติบทบาท ประชาชนจะลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องนี้ทั่วประเทศอย่างนี้หรือไม่?”

คุณสนธิ ลิ้มทองกุล ให้ลองพิจารณาเปรียบเทียบกับปี 2555 (30 พ.ค.-1 มิ.ย.) ที่ในเวลาตอนนั้นสภาผู้แทนราษฎรได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ (ฉบับ พล.อ.สนธิ บุญญรัตกลิน) ซึ่งเนื้อหาในเวลาตอนนั้นก็คือการนิรโทษกรรมล้างความผิดที่แทบจะไม่ต่างกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับปัจจุบันเลย แต่ในเวลานั้นแม้การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะได้รับชัยชนะด้วยการปิดล้อมสภาฯจนไม่สามารถดำเนินการประชุมได้สำเร็จ แต่ผู้ชุมนุมก็มีจำกัดอยู่กับคนหน้าเดิมที่เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแทบทั้งสิ้น

จากคำพูดของคุณสนธิ ผมอยากให้ย้อนกลับไปอ่านแถลงการณ์เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ.2556 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยอย่างละเอียดก็จะยิ่งเข้าใจว่าการยุติบทบาททางยุทธวิธีนั้นคืออะไร?

"การยุติบทบาทครั้งนี้ถือเป็นยุทธวิธีเดียวเท่านั้น ที่จะเปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจในปัจจุบัน หรือผู้ที่มีโอกาสจะมีอำนาจในอนาคต รวมถึง ทหารภายใต้จอมทัพไทย และศาลที่กระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ตลอดจนผู้ที่มีบทบาทในบ้านเมือง รวมถึงประชาชนทั่วไป ได้ตัดสินใจที่จะทำหน้าที่ของตนเองและเลือกเดินทางของตัวเอง มากกว่าที่จะคาดหวังหรือรอมติการนำมวลชนโดยแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

ในเวลานั้นคนยังไม่เข้าใจว่าเรายุติบทบาททางยุทธวิธีคืออะไร แต่เรารู้ว่าถ้าเรื่องใหญ่ๆ แม้กระทั่งเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรมยังต้องให้ผูกขาดการชุมนุมอยู่กับแกนนำพันธมิตรฯซึ่งมีมวลชนอยู่เพียงเท่านี้ นั่นย่อมแสดงว่าภาคประชาชนนิ่งเฉยเกินไปแล้ว

คุณสนธิ ได้วิเคราะห์ว่าที่ผ่านมาคนที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหวเพราะ

1. นิ่งเฉยเพราะคิดว่ามีคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่ผูกขาดต่อสู้ได้รับชัยชนะประสบความสำเร็จมาโดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นประชาชนส่วนใหญ่จึงคิดว่าธุระไม่ใช่ เพราะคิดว่ามีคนต่อสู้ให้แทนแล้ว อีกทั้งความสำเร็จในการเคลื่อนไหวมวลชนติดต่อเนื่องกันหลายปีมากเกินไป พลังการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯได้กลบการเคลื่อนไหวของคนกลุ่มอื่นไปหมด จนคนกลุ่มอื่นๆ ก็ไม่อยากจะจัดการชุมนุม

2. นิ่งเฉยเพราะไม่ชอบพันธมิตรฯ หรือแกนนำพันธมิตรฯ เพราะเราอยู่ในบทบาทนี้นานเกินไป วิวัฒนาการหลายปีย่อมไม่ได้สะสมคนที่ชอบเราเป็นทองเนื้อแท้อย่างเดียว แต่คนที่ไม่ชอบพวกเราก็มีเพิ่มมากด้วยเช่นกัน (ทั้งการชุมนุมที่สนามบิน ตั้งพรรคการเมืองใหม่ การโหวตโน การประท้วงรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ ) และหลายคนก็ไม่อยากเคลื่อนไหวแล้วถูกตราหน้าว่าเป็นพวกเสื้อเหลือง (ขั้วสี) หรือเป็นพวกพันธมิตรฯ

ด้านหนึ่ง การยุติบทบาท จึงเหมือนเป็นการ “เร่งปฏิกิริยา” ให้เกิดขึ้น ฝ่ายทักษิณฮึกเหิมมากขึ้น เพราะคิดว่าไม่มีใครขวางได้ ความฮึกเหิมของทักษิณถึงขนาดยอมทรยศมวลชนคนเสื้อแดงจนหมดสิ้น

เมื่อการยุติบทบาทที่เร่งปฏิกิริยาให้ฝ่ายระบอบทักษิณให้แสดงความชั่วมากขึ้น กฎหมายปรองดองที่เว้นมาปีกว่า ก็ถูกแปรญัตติกลายร่างกายเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับลักหลับที่ทำลายความชอบธรรมของคำว่าเสียงข้างมากในสภาจนหมดสิ้น

ในอีกด้านหนึ่ง ก็เลยทำให้ประชาชนที่ส่วนหนึ่งต้องออกมาทำหน้าที่ เพราะคิดว่าไม่สามารถฝากความรับผิดชอบไว้กับแกนนำพันธมิตรฯที่ยุติบทบาทไปแล้ว ในขณะคนที่อยากเคลื่อนไหวแต่ไม่อยากอยู่ภายใต้ธงของพันธมิตรฯ ก็ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องกฎหมายนิรโทษกรรม ทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพ และทั่วประเทศ อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ทั้งๆ ที่เป็นเนื้อหาเดียวกันกับที่พันธมิตรฯได้เคยออกมาต่อสู้เมื่อปีที่แล้ว

เราไม่ได้ยุติบทบาทเพื่อให้เกิดพลังใหม่ด้านเดียว แต่เราได้พยายามผลักดันคนที่มีศักยภาพและมีฐานคะแนนเสียงมากที่สุดคือพรรคประชาธิปัตย์ให้ออกมาด้วย และสิ่งที่เราคิดก็ได้รับผลสำเร็จ เพราะพรรคประชาธิปัตย์มีศักยภาพในการนำที่โดดเด่นกว่าการชุมนุมของคนกลุ่มอื่นอย่างเห็นได้ชัด จนวันนี้พรรคประชาธิปัตย์ก็ได้อยู่บนคลื่นมหาชนที่อาจไปกว่าเพียงแค่การคัดค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้ว และถ้าประชาธิปัตย์ทำได้ดีจนถึงขั้นนำไปสู่การปฏิรูปประเทศได้จริง พรรคประชาธิปัตย์ก็จะกลายเป็นพรรคการเมืองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์และอยู่ในใจประชาชนอีกตราบนานเท่านาน

คุณสนธิ พูดกับผมว่าการยุติบทบาทคือการลดอัตตา เพื่อชัยชนะที่ยิ่งใหญ่กว่า และขอให้เป็นชัยชนะกับประเทศชาติ ชัยชนะนั้นไม่จำเป็นต้องอยู่ในมือเราเลยก็ได้

ผมนึกถึงประโยคสุดท้ายในแถลงการณ์ฉบับสุดท้ายของพันธมิตรฯฉบับวันที่ 23 สิงหาคม 2556 อีกครั้ง:

“เราขอยืนยันว่าจะยังคงแน่วแน่ยึดมั่นในอุดมการณ์ของวีรชนและพี่น้องประชาชนที่เสียสละไม่เคยเปลี่ยน และขอให้มั่นใจว่าการตัดสินใจครั้งนี้เป็นยุทธวิธีที่จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนในวันข้างหน้าอย่างแน่นอน”

กำลังโหลดความคิดเห็น