“พิชิต” แถนิรโทษกรรมสุดซอย “ทักษิณ” ไม่ต้องรับผิดในทางอาญา แต่ไม่ได้เงิน 4.5 หมื่นล้านคืน ทำเนียนเขียนไม่ชัด นายใหญ่จะฟ้องเอาคืนภายหลังหรือไม่
วันนี้ (4 พ.ย.) นายพิชิต ชื่นบาน ส.ส.บัญชีรายชื่อ และฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ได้ส่งอีเมลถึงผู้สื่อข่าวในหัวข้อ “บันทึกที่เห็นต่างผู้คัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม” มีเนื้อหาระบุว่า ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับนี้ไม่ใช่ร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเงิน และไม่มีผลทำให้ต้องมีการคืนเงินที่ยึดมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ๔.๖ หมื่นล้านบาท ซึ่งตกเป็นเงินของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ
๑.หลักการนิรโทษกรรม หมายความถึง เป็นการให้อภัย เป็นการยกโทษ ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการกระทำความผิดไม่จำเป็นต้องถูกนำโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่ถือเป็นความผิดทางอาญานำมาบังคับใช้เท่านั้น โทษที่จะยกให้แก่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด คือโทษที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘ บัญญัติว่า “โทษสำหรับลงแก่ผู้กระทำความผิดมีดังนี้ (๑) ประหารชีวิต (๒) จำคุก (๓) กักขัง (๔) ปรับ (๕) ริบทรัพย์สิน” ขอยืนยันในหลักการทางกฎหมายของนิรโทษกรรมซึ่งถือเป็นหลักการในทางกฎหมายในทุกฉบับที่ได้ตราขึ้นถือว่า การนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิด แต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบทางกฎหมายของความผิด ทำให้ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาเท่านั้น
ดังจะเห็นจากร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวในมาตรา ๓ ใช้ถ้อยคำ “...หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง....” และบุคคลที่สามหากถูกกระทำละเมิดจากผู้ได้รับนิรโทษกรรมของบุคคลใดซึ่งพ้นจากความรับผิดตามร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนี้ และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหายสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งได้ ดังที่บัญญัติไว้ในร่างพระราชบัญญัตินี้ มาตรา ๖ ที่บัญญัติ ว่า “การดำเนินการใดๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ไม่เป็นการตัดสิทธิของบุคคลซึ่งมิใช่องค์กรหรือหน่วยงานของรัฐในการเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่ง จากการกระทำของบุคคลใดๆซึ่งพ้นจากความรับผิดตามพระราชบัญญัตินี้และทำให้ตนต้องได้รับความเสียหาย” ซึ่งกฎหมายนิรโทษกรรมหลายฉบับที่ผ่านมาก็มีการตราไว้ในลักษณะเช่นนี้
นอกจากนี้ยังมีเหตุผลสนับสนุนจากคำแปรญัตติของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เกือบทั้งพรรคที่ปรากฏในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม อาทิเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับพวก หรือ นายแก้วสรร อติโพธิ อดีตกรรมการ คตส.ก็ให้คงถ้อยคำตามมาตรา ๓ ของร่างกรรมาธิการเสียงข้างมากดังกล่าวข้างต้นไว้โดยไม่ขอแก้ไขใดๆ ทั้งสิ้น โดยสรุป เมื่อการนิรโทษกรรมนั้นไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงว่าได้กระทำความผิด แต่เป็นการลบล้างองค์ประกอบทางกฎหมายของความผิด ทำให้ไม่ต้องรับผิดในทางอาญาเท่านั้น ส่วนความรับผิดในทางแพ่ง จะไม่ได้รับประโยชน์จากร่าง พระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ตามมาตรา ๓ แต่ประการใด
๒.ตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ระหว่าง อัยการสูงสุด ผู้ร้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก ผู้ถูกกล่าวหา ศาลไม่ได้บังคับใช้กฎหมายที่ถือเป็นโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๘(๕) “ริบทรัพย์สิน” ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กับพวก กล่าวว่า “โทษริบทรัพย์สินถือเป็นโทษทางอาญาโดยต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” คำกล่าวนี้ปรากฏว่านายอภิสิทธิ์ กับพวก จะใช้คำๆ นี้ในหลายสถานที่เพื่อให้เห็นว่าสิ่งที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษานั้นคือการริบทรัพย์สิน หลักฐานที่ปรากฏชัดแจ้งตรวจสอบได้จากบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม วันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๕๖ หน้าที่ ๓๙ เห็นว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี สามารถตรวจสอบคำพิพากษาได้ว่า ไม่มีคำว่า “ริบทรัพย์สิน” ปรากฏในคำพิพากษาแล้วเหตุใด นายอภิสิทธิ์ กับพวก จึงพยายามที่จะใช้คำนี้ชี้นำบุคคลในสังคมอยู่ตลอดเวลา ทั้งๆ ที่การใช้คำพูดว่า “ริบทรัพย์สิน” เป็นการใช้คำพูดที่แตกต่างจากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การที่นายอภิสิทธิ์ กับพวก ใช้คำว่า “ริบทรัพย์สิน” ก็เพื่อต้องการให้ประชาชนโดยทั่วไปที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะตรวจสอบคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นให้เข้าใจว่า ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับพวก จะได้รับประโยชน์หรือก่อสิทธิใดๆ ที่จะได้รับเงินจำนวน ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาท ซึ่งตกเป็นเงินของแผ่นดินคืน เพื่อเป็นการปลุกระดมมวลชนให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ โดยไม่ยึดหลักความจริงที่ปรากฏในคำพิพากษา
ความจริงแล้ว สิ่งที่ปรากฏในคำพิพากษา ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ หน้า ๓๒ และ หน้า ๑๘๒ ศาลในคดีดังกล่าวบังคับใช้กฎหมายในเรื่องอายัดทรัพย์ชั่วคราวและยึดทรัพย์ทรัพย์สินอย่างคดีแพ่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน นอกจากนี้คำพิพากษาฯดังกล่าวในหน้า ๘๒ และ หน้า ๘๓ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหาในคดีนี้ระบุในคำคัดค้าน เป็นข้อต่อสู้ ว่าคดีที่ถูกกล่าวหา “เป็นคดีแพ่ง” มิใช่คดีอาญา ทำให้การพิจารณาในคดียึดทรัพย์ดังกล่าวศาลไม่จำต้องกระทำต่อหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา แต่ประการใดเพราะหลักการพิจารณาคดีอาญาต้องกระทำต่อหน้าผู้ถูกกล่าวหาที่ตกเป็นจำเลยเท่านั้น การกล่าวของนายอภิสิทธิ์ กับพวก จึงเป็นการทำให้เกิดความเข้าใจผิด ว่า คดียึดทรัพย์เป็นคดีอาญา ทั้งๆ ที่ความจริงคดียึดทรัพย์เป็นการบังคับใช้กฎหมายในทางแพ่งว่าด้วยการบังคับคดีในทางแพ่งให้ทรัพย์เป็นของแผ่นดิน โดยสรุป เมื่อการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะที่กล่าวมาเป็นกรณีของการยึดอายัดทรัพย์ซึ่งเป็นการบังคับคดีทางแพ่ง มิใช่การบังคับใช้กฎหมายในทางที่เป็นโทษทางอาญาในเรื่องริบทรัพย์สิน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ซึ่งจะยกโทษให้เฉพาะโทษทางอาญาเท่านั้น จึงไม่อาจทำให้บุคคลใดๆ อ้างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฯ ตามมาตรา ๓ เพื่อใช้สิทธิในการเรียกร้องเงินจำนวน ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาทซึ่งตกเป็นเงินของแผ่นดินตามคำพิพากษา คืนแต่อย่างใด
๓.บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๑๖๙ บัญญัติ ว่า “การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือ กฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง” จึงเป็นที่ประจักษ์ว่า หากมิใช่กฎหมายตามประเภทที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ไม่สามารถจ่ายเงินแผ่นดินได้ จากคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคดีหมายเลขแดงที่ อม.๑/๒๕๕๓ หน้า ๑๘๒ เงินปันผลและเงินที่ได้จากการขายหุ้นจำนวน ๔๖,๓๗๓,๖๘๗,๔๕๔.๗๐ บาท พร้อมดอกผลตกเป็นของแผ่นดิน ทำให้อยู่ภายใต้บทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๖๙ ดังนั้น ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายลำดับรองกว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและมิใช่กฎหมายตามประเภทที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ อีกทั้งในเนื้อหาของร่างบัญญัตินิรโทษกรรม ไม่มีบทบัญญัติในมาตราใดบัญญัติให้จัดสรร หรือจ่ายเงินแผ่นดินหรือโอนงบประมาณแผ่นดินให้กับใครเป็นจำนวนเท่าใด ร่างพระราชบัญญัติฯฉบับนี้จึงไม่ใช่รางพระราชบัญญัติที่มีลักษณะเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน โดยสรุป จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กล่าวมา ถือเป็นสาระสำคัญที่ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ฯไม่เกิดสิทธิแก่ผู้ใดในอันที่จะได้เงินจำนวนดังกล่าวซึ่งตกเป็นของแผ่นดินแล้วคืน