xs
xsm
sm
md
lg

ฝากความหวัง “วุฒิสภา” สกัดกั้น กม.นิรโทษกรรม “ทักษิณ” ยึดประเทศไทยแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผ่าประเด็นร้อน


ไม่ได้คิดจะทำให้การเคลื่อนไหวของประชาชนภาคส่วนต่างๆ ชะงักงัน แต่เรื่องที่กลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ โดยเฉพาะ “พรรคประชาธิปัตย์” พยายามจะบอกว่า ต้องฝากความหวังไว้ที่ “วุฒิสภา” ให้เป็นด่านสำคัญในการคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

หวังจะเห็นวุฒิสภาไม่ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในวาระแรกที่เป็นวาระรับหลักการ หรือหากสกัดไม่ได้ วุฒิสภาเห็นชอบจนผ่านวาระแรกไปได้ ก็ขอให้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของวุฒิสภาไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ผ่านสภาฯ มาแล้วตอนพิจารณาวาระ 2 วุฒิสภาก็เห็นชอบกับร่างดังกล่าวที่ กมธ.วุฒิสภาไปปรับแก้ไขที่จะต่างจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร จนสุดท้ายวุฒิสภาโหวตเห็นชอบในวาระ 3 ตามร่างของ กมธ.วุฒิสภา ที่ไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงร่างของสภาผู้แทนฯจนหมด

อันจะนำไปสู่การตั้งกรรมาธิการร่วมฯสองสภาฯ คือ สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา

เพราะหากวุฒิสภาไปเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างที่ผ่านสภาล่างมา สภาทาสเพื่อไทยไม่ยอมแน่ ฝ่ายสภาเพื่อไทย ยังไงก็ต้องยืนกรานให้คงตามร่างเดิมที่ผ่านสภาล่างมาทุกตัวอักษร ห้ามแตะต้องทำให้ต้องตั้งกมธ.ร่วมสองสภาฯ

หากกระบวนการทั้งหมดเป็นไปแบบนี้ก็จะทำให้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ ทักษิณ ชินวัตร-เพื่อไทย ติดเครื่องเร่งกันอย่างหนักในชั้นสภาผู้แทนฯมาสะดุดในชั้นวุฒิสภา อย่างน้อยก็เกือบร่วมๆ 2 เดือน หากทุกอย่างเป็นไปตามที่บอกไว้ข้างต้น

อันนี้ยังไม่นับรวมกับขั้นตอนที่เมื่อมีการตั้ง กมธ.ร่วมสองสภาแล้ว กมธ.ก็ต้องมานั่งประชุมกันต่ออีก อาจจะประมาณสัก 1-2 สัปดาห์ เพื่อหาข้อสรุปว่าจะเอายังไง ก็ยังไม่รู้ว่าผลจะออกมาแบบไหน แต่ส่วนใหญ่แล้วหากเป็นร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ อย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แบบนี้ ทางเพื่อไทยก็ต้องพยายามดันให้ กมธ.ร่วมสองสภามีมติกลับไปใช้ร่างเดิมที่ผ่านสภาฯให้ได้

แม้หากไม่สามารถทำได้ ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อยมาก ทว่า หากเกิดเหตุแบบนั้นจริงเพื่อไทยก็แก้ปัญหาได้อยู่ดี คือ เมื่อกมธ.ร่วมฯ ส่งรายงานของ กมธ.กลับไปที่สภาล่าง ฝ่ายเพื่อไทยก็ยังสามารถใช้เสียงสภาทาสที่มีอยู่ในมือประมาณ 300 เสียง ลงมติในที่ประชุมสภาฯ ให้ยืนยันกลับมาใช้ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับ “ลักหลับคืนปล่อยผี” ได้อยู่ดี

จะเห็นได้ว่าเมื่อดูขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญแล้วยังไงเสียก็ยากที่วุฒิสภาจะสกัดกั้นหรือยับยั้งร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้

อย่างในการโหวตวาระแรก ที่มีข่าวว่าวิปวุฒิสภาจะดันเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวุฒิสภาฯ 8 พ.ย. หากปรากฏว่าวุฒิสภา “ไม่รับหลักการ” ในวาระแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไม่ผ่านวุฒิสภาวาระแรก

ก็ใช่ว่า ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะตกไป เพียงแต่ว่าสภาฯ จะต้องเว้นวรรคไปประมาณ 180 วัน คือ หมายความว่าในช่วง 180 วัน ที่ก็คือ 6 เดือน สภาฯจะไม่สามารถนำ ร่าง พ.ร.บ.ที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน เช่น ร่าง พ.ร.บ.ปรองดองของเฉลิม อยู่บำรุง มาพิจารณาใหม่ได้ แต่หากพ้น 180 วันไปแล้ว ทางสภาผู้แทนฯ ก็นำร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่วุฒิสภาตีตก กลับมายืนยันได้อีกครั้ง แล้วหากสภาฯ มีมติเสียงข้างมากยืนยันร่างดังกล่าว ขั้นตอนต่อไปก็เข้าสู่กระบวนการเตรียมประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยไม่ต้องส่งกลับไปที่วุฒิสภาอีกครั้ง

เมื่อดูตามขั้นตอนดังกล่าวจะเห็นได้ว่า วุฒิสภาก็ทำได้แค่คอยแตะเบรก ดึงจังหวะให้ช้าลงเท่านั้น ไม่ได้มีอำนาจในการสกัดกั้น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯได้เลย

จึงไม่แปลก เมื่อเวทีสามเสนของพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศว่า จะขอรอดูการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมในชั้นวุฒิสภาก่อน ถึงค่อยยกระดับการเคลื่อนไหวคนถึง “ส่ายหน้า-ผิดหวัง” กันหมด

โดยเฉพาะคนที่เข้าใจขั้นตอนการพิจารณากฎหมายที่รู้ดีว่า หากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ผ่านสภาฯ มาแล้ว ก็ยากแล้วที่จะขวางได้ในชั้นวุฒิสภาเพราะสภาสูง ก็ทำได้แค่ถ่วงเวลาให้ช้าลงเท่านั้น แต่สกัดไม่ได้

อีกทั้งต้องยอมรับความจริงว่า วุฒิสภาชุดนี้ หากพูดถึงความเป็นอิสระ-การไม่ถูกแทรงแซงจากการเมืองนอกสภาสูง ก็ใช่ว่าจะปลอดมลทินเรื่องดังกล่าว กลับเป็นไปในทางตรงข้ามที่อุดมไปด้วย “ทาสแม้ว” เกลื่อนไปหมด

บอกได้ว่าตอนนี้วุฒิสภาเสียงส่วนใหญ่เป็นเสียง ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาล มากกว่า ส.ว.สายอิสระ-กลุ่ม 40 ส.ว.ที่กลุ่มหลังรวมตัวกันเสียงในวุฒิสภาก็ยังน้อยกว่า ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาลหลายสิบเสียง

ตรงนี้เห็นได้ชัดจากการจับมือกันของ ส.ว.เลือกตั้ง และพวก ส.ว.สรรหาบางส่วน ที่ระยะหลังวิ่งเข้าหาพรรคร่วมรัฐบาล จากที่พวกนี้ได้จับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในการเสนอญัตติแก้ไขรธน. ทั้งเรื่องที่มา ส.ว.-แก้มาตรา 68 และมาตรา 190

เมื่อดูจากเสียงเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ที่วุฒิสภาเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 86 เสียง ต่อ 41 เสียง งดออกเสียง 8 เสียง แสดงให้เห็นว่า ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาล มีอยู่ในหน้าตักก็แตะระดับ 80 เสียงขึ้นไป ขณะที่ ส.ว.ที่น่าจะลงมติไม่เอาด้วยกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ก็น่าจะอยู่ที่ระดับแค่ประมาณ 40 เสียงเท่านั้น

ตัวเลขนี้แม้มีสิทธิสวิงกันได้ คืออาจมี ส.ว.ที่เคยเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท เปลี่ยนใจไม่เอาด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ เพราะเห็นว่ากระแสสังคมต่อต้านสูง จนทำให้คะแนนเสียงเห็นชอบไม่เกินกึ่งหนึ่ง แต่ก็มีข่าวว่า ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาล ที่น่าจะรับงานมาจากสายเพื่อไทยแล้ว ก็เริ่มล็อบบี้พวก ส.ว.ด้วยกันเองกันหนักๆ เพื่อขอให้ช่วยโหวตเสียงผ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ

เวลานี้เริ่มฝุ่นตลบกันแล้วในสภาสูง เพราะส.ว.สายน้ำดีที่ไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษฯ ก็พยายามขอเสียง ส.ว.ให้คว่ำร่าง พ.ร.บ.อัปยศนี้เช่นกัน

ในทางการเมืองแล้วหากร่างกฎหมายลักหลับปล่อยโจรปล้นชาติผ่านวาระแรกมาได้ ที่เหลือไม่ว่าจะเป็นวาระ 2 และ 3 ในชั้นวุฒิสภา ก็ไม่ต้องคิดมาก ก็น่าจะผ่านเช่นกัน เพราะล่าสุดวิปวุฒิสภาก็ออกมาบอกแล้วว่าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ จะดันให้ผ่านทั้งฉบับก่อนปิดประชุมสมัยนี้!!!!

อย่างไรก็ตาม ส.ว.สายสรรหาหลายคนก็ยังมั่นใจว่าวุฒิสภาจะไม่ผ่านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ แต่หากผ่าน ก็ต้องไปหวังที่ศาล รธน.อย่างเดียวแล้ว

ด้วยเหตุผลที่มาที่ไปข้างต้นทั้งหมดนี้ จึงเห็นได้ว่า แทบไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากจะตั้งเวทีสามเสนแล้วไล่ทุบเรื่อง ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ไปเรื่อยๆ แบบนี้

เพราะหากวุฒิสภาผ่านวาระแรกแล้ว ปชป.จะรอเป่านกหวีดใหญ่หลังวุฒิสภา ให้ความเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ วาระ 3 ที่ก็คาดว่าต่อให้ติดเครื่องเร่งกันขนาดไหน ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-4 สัปดาห์

ทั้งที่เวลานี้มีความชอบธรรมมากที่สุดแล้วในการยกระดับขับไล่รัฐบาล-สภาทาสเพื่อไทย ไม่ใช่มารอเลี้ยงไข้ หรือโยนความรับผิดชอบไปให้วุฒิสภาทั้งหมดอย่างที่ สุเทพ พยายามจะทำตอนนี้

หาก ปชป.-เวทีสามเสน รอกันขนาดนั้น จะรอดูผลในชั้นวุฒิสภากันนานถึงตอนนั้นหรือถึงขั้นจะรอให้ศาล รธน.วินิจฉัยอีกที ก็โน่นเลย เลยเกือบปีใหม่เห็นๆ

หากรอกันแบบนั้น รับรองเวทีสามเสนกองเชียร์หายหมด ทักษิณก็กลับมาครองเมือง ยึดประเทศไทยโดยเบ็ดเสร็จไปแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น