ฝ่ายความมั่นคงแจง กก.สิทธิฯ หลังถูก คปท.ร้องหน่วยงานรัฐละเมิดสิทธิการชุมนุม ชี้รัฐขยายเวลาประกาศ พ.ร.บ.ความมั่นคง เพราะมีเค้าความรุนแรงต้าน กม.นิรโทษกรรม ไม่รับคำตัดสินคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก อ้างเหตุดูแลความปลอดภัยผู้ชุมนุมไม่ได้ เหตุถูกมองเป็นฝ่ายตรงข้าม ห้ามเข้าพื้นที่ม็อบ ปัดจัดนักศึกษาขึ้นเวทีปราศรัย ยันยังไม่ออกหมายจับแกนนำ
วันนี้ (28 ต.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ในฐานประธานอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมืองของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้มีการประชุมพิจารณากรณีเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) ที่ชุมนุมบริเวณแยกอุรุพงษ์ ร้องเรียนเมื่อวันที่ 18 ต.ค.ว่าหน่วยงานของรัฐได้ละเมิดสิทธิในการชุมนุม มีการจับกุมนักเรียนและนักศึกษาที่ขึ้นเวทีปราศรัยไปทำประวัติที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง โดยมีหน่วยงานของรัฐประกอบด้วยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งและพญาไท ส่งตัวแทนเข้าร่วมชี้แจง ขณะที่ คปท.ได้มอบหมายให้ น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ที่ปรึกษากฎหมายเข้าร่วม
ทั้งนี้ ทางอนุกรรมการได้ซักถามถึงเหตุผลของรัฐในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงภายการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. ความพยายามในการดูแลความปลอดภัยในการชุมนุมซึ่งจนถึงปัจจุบันยังมีการก่อกวนการชุมนุม เช่น มีการปาระเบิดเพลิง หมามุ่ยเข้ามาในการชุมนุม และตำรวจมีแผนป้องกันไม่ให้เกิดมือที่ 3 หรือชายชุดดำที่จะเข้ามาสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงเหมือนกับการชุมนุมทางการเมืองในอดีตอย่างไร รวมถึงมุมมองตำรวจต่อการที่กรุงเทพมหานครอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับรถสุขา รถปั่นไฟ
ซึ่ง พล.ต.ท.อำนาจ อันอาตม์งาม ผู้ช่วย ผบ.ตร ที่เข้าชี้แจงแทน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่รัฐบาลต้องประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงเนื่องจากประเมินเหตุการณ์ชุมนุม รวมถึงการเคลื่อนไหวของแกนนำผู้ชุมนุมแล้วเห็นว่ามีความต้องการต่อต้านรัฐบาล และมีแนวโน้มที่จะเกิดเหตุความรุนแรง ส่วนที่ต้องขยายการบังคับใช้ประกาศฯ ไปจนถึงวันที่ 30 พ.ย. เนื่องจากเห็นว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมจนถึงวันที่ 28 พ.ย. และผู้ชุมนุมต้องการที่จะคัดค้านการออกกฎหมายประกอบกับในช่วงวันที่ 11 พ.ย.จะมีการตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ที่เชื่อว่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองไม่ว่าผลคำพิพาษาจะออกมาในทางใด การประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงจึงเป็นการดำเนินการเชิงป้องกัน ที่ฝ่ายความมั่นคงเห็นว่าน่าจะดีกว่าปล่อยให้เกิดเหตุแล้วมาแก้ไข และยืนยันตำรวจเคารพสิทธิในการชุมนุมตามกฎหมาย
ทั้งนี้ พลต.ท.อำนาจกล่าวว่า การประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงนั้นเกิดจากการประเมินสถานการณ์ และพบว่าสถานการณ์มีแนวโน้มไปตามที่ประเมิน ไม่ใช่การคิดเอาเองโดยไม่มีข้อมูล โดยทางการข่าวพบว่าช่วงเวลานับจากนี้จะมีการเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและคัดค้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม การตัดสินคดีปราสาทพระวิหาร ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้มีการประสานไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงตำรวจทุกที่ให้ดูแลการเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชนต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากพบแนวโน้มว่าการชุมนุมอาจเกินเลยจนเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลไม่ได้ รัฐบาลก็จะพิจารณาประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อควบคุมสถานการณ์ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของการดูแลความปลอดภัยในการชุมนุมนั้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถเข้าไปดูแลได้อย่างเต็มที่จึงทำให้เกิดปัญหาอยู่จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากผู้ชุมนุมมองเจ้าหน้าที่เป็นฝ่ายตรงข้าม พยายามปิดกั้นไม่ให้ตำรวจเข้าไปดูแล รวมถึงบางกรณีมองว่าตำรวจเป็นผู้ก่อเหตุเสียเองเช่นกล่าวหาว่า ตำรวจโยนหมามุ่ยเข้าใส่ผู้ชุมนุม ทั้งที่ในการชุมนุมผู้ชุมนุมก็ไม่ได้เป็นเอกภาพ อย่างเช่นเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ที่มีผู้ชุมนุมบางส่วนต้องการเคลื่อนไปที่หน้าทำเนียบ แต่แกนนำผู้ชุมนุมเดิมไม่เห็นด้วย เมื่อมีการเคลื่อนตัว ก็กลับมีการนำถุงดำไปคลุมกล้องวงจรปิดที่เดิมใช้ในการตรวจจับจราจร แต่เมื่อมีการชุมนุมทางตำรวจจึงใช้มาดูแลในเรื่องความปลอดภัยในการกับผู้ชุมนุม
นอกจากนี้ ทางตำรวจก็ได้พยายามที่จะเจรจาให้ผู้ชุมนุมเคลื่อนไปปักหลักชุมนุมที่ลานกีฬาใต้ทางด่วนอุรุพงษ์ ซึ่งห่างจากพื้นที่ชุมนุมแยกอุรุพงษ์เพียง 10 เมตร เพื่อไม่ให้กีดขวางการจราจรโดยเฉพาะในช่วงต้นสัปดาห์หน้าที่จะมีการเปิดภาคเรียนทุกโรงเรียน แต่ทางผู้ชุมนุมก็ไม่ยินยอมกลับจะขอไปชุมนุมที่ข้างทำเนียบรัฐบาล โดยอ้างแต่เพียงสิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 ทั้งที่ก่อนจะอ้างมาตราดังกล่าวก็ควรต้องดูมาตรา 28 ที่ระบุว่าการจะใช้สิทธิก็ต้องไม่เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย ส่วนที่กรุงเทพมหานครอำนวยความสะดวกในเรื่องรถสุขา และเครื่องปั่นไฟนั้น แม้จะเป็นหน้าที่ แต่เมื่อการชมุนุมนี้มีเจตนาต่อต้านรัฐบาลทางตำรวจก็เห็นว่าไม่เหมาะสม
สำหรับที่ผู้ชุมนุมถูกก่อกวนด้วยระเบิดเพลิงนั้น แท้จริงไม่ใช่ระเบิด เป็นเพียงขวดเครื่องดื่มชูกำลังใส่น้ำมันจุดไฟแล้วโยนลงมาจากทางด่วน โดยขณะนี้เป็นคดีที่ สน.พญาไท และตำรวจกำลังสอบสวนอยู่ แต่ในกรณีที่อ้างว่ามีการควบคุมตัวนักเรียน นักศึกษาที่ขึ้นเวทีไปทำประวัติที่สน.นางเลิ้งนั้นยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ไม่มีเพราะสถานที่การชุมนุมอยู่ในความรับผิดชอบของ สน.พญาไท
อย่างไรก็ตาม ด้าน น.ส.พวงทิพย์ ก็ได้สอบถามกรณีมีกระแสข่าวว่าจะมีการออกหมายจับแกนนำผู้ชุมนุม รวมถึงตำรวจเตรียมขอให้อัยการยื่นเรื่องต่อศาลเพื่อถอนประกัน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง และบุคคลอื่นที่เป็นจำเลยในคดีก่อการร้าย กรณีไปขึ้นเวทีปราศรัยของ คปท.ว่าจริงหรือไม่ ซึ่ง พล.ต.ท.อำนาจยืนยันว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีการขอออกหมายจับแกนนำ รวมถึงยังไม่มีการจะยื่นขอถอนประกันบุคคลใด แต่อยากฝากไปยังแกนนำผู้ชุมนุมว่าขอให้การชุมนุมดำเนินอยู่ในกรอบของกฎหมาย เพราะหากเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดตำรวจก็ต้องดำเนินการ รวมถึงควรให้ความร่วมมือกับตำรวจในการเข้าไปดูแลความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมซึ่งก็จะทำให้การชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมากกว่านี้
ด้าน นพ.นิรันดร์กล่าวว่า อยากให้ พล.ต.อ.ประชาอธิบายถึงเหตุผลการประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงกับประชาชนให้ชัดเจน ว่ามีข้อบ่งชี้ถึงเหตุความรุนแรงอย่างไร เป็นการสกัดกั้นมวลชนไม่ให้เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ เพราะสังคมมองว่าที่รัฐประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้เกินเลยหรือละเมิดสิทธิการชุมนุมหรือไม่