“หมอเจตน์” ข้องใจ ปธ.วุฒิฯ ทำตัวเป็นลูกน้องรัฐ ยอมให้นัด 4 พ.ย.ลงมติแก้ ม.190 ไม่คำนึงศักดิ์ศรีสภาสูง ดักทำเสร็จนั่ง ปธ.วุฒิฯ ใหม่ก็ไร้ศักดิ์ศรี เจ้าตัวแจงวุฒิฯ แทบไม่มีงาน ยันบริหารเวลาดี “ประสาร” เตือนบริวารนายใหญ่ทำตามสั่งเซตซีโร่ยึดอำนาจ 3 ฝ่ายเดินตามรอยเสียงข้างมากฮิตเลอร์ “คำนูณ” ชี้ กมธ.ล้างผิด ผิดถนน ลบคดี ป.ป.ช.-กกต. นิรโทษฯ ไกลกว่าที่พูดมา “อนุรักษ์” ฝากรัฐเตรียมรับมือคำตัดสินคดีพระวิหาร ทั้งผลดีและผลเสีย
วันนี้ (28 ต.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เป็นประธาน โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา ได้หารือถึงวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภาว่า เลขาธิการรัฐสภาได้มีหนังสือนัดประชุมในวันจันทร์ที่ 4 พ.ย. เวลา 10.00 น. เพื่อลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ซึ่งการเร่งที่ถือเป็นความต้องการของรัฐบาลผ่านทางประธานรัฐสภาซึ่งเป็นคนของพรรคเพื่อไทยนั้นเข้าใจได้ แต่ทำไมนายนิคมจะต้องไปทำตามความต้องการของพรรคเพื่อไทย เขาจะนัดไม่ได้หากท่านไม่เห็นชอบ เดิมท่านได้พูดในสภาว่าจะบรรจุการโหวตวาระ 3 ไว้ในวันเสาร์ที่ 2 พ.ย. ซึ่งตนก็ไม่พอใจเพราะเป็นวันหยุดราชการ ที่สุดก็เลื่อนมาเป็นวันจันทร์ ซึ่งมีการประชุมของวุฒิสภา ทำไมไม่เป็นวันอื่น ท่านเคยถูกสมาชิกต่อว่าที่สละเอาวันทำงานของวุฒิสภาไปให้สภาผ้แทนราษฎร และในครั้งนี้ท่านก็ตัดสินใจโดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกและศักดิ์ศรีของวุฒิสภา ทำงานเหมือนท่านหรือเราเป็นลูกน้องของรัฐบาล ท่านจะเป็นหรือไม่ไม่ทราบแต่ตนไม่ได้เป็น เพราะตนทำหน้าที่ตรวจสอบทุกรัฐบาล ตนสละวันประชุมไปให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้หรือเรื่องอื่นใดไม่ได้ตราบใดที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และมาตรา 190 ที่แก้นี้ สังคมเชื่อว่าเป็นประโยชน์ต่อใครบางคนที่อยู่เบื้องหลังรัฐบาล หากแก้รัฐธรรมนูญสำเร็จท่านได้รับการเลือกตั้งกลับเข้ามาใหม่แล้วท่านได้เป็นประธานวุฒิสภา แต่ท่านจะอยู่อย่างไร้ศักดิ์ศรี เพราะจะต้องทำตามความต้องการของประธานสภาและ ส.ส.ของรัฐบาล
นายนิคมชี้แจงว่า เราอยู่ 2 สถานะ เป็น ส.ว.และสมาชิกรัฐสภา เมื่อรัฐสภาได้กำหนดวันไม่ว่าจะเป็นวันของเราหรือของเขาก็แล้วแต่ ซึ่งตนดูแล้วว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมง และขณะนี้วุฒิสภาแทบจะไม่มีเรื่องจะเรียกประชุมอยู่แล้ว โดยมีรายงานของหน่วยงาน 8 เรื่อง ของคณะกรรมาธิการ 4 เรื่องวันอังคารที่ 29 พ.ย.ก็หมดเรื่องประชุมแล้ว เพราะไม่มีกฎหมายเข้ามาสักฉบับเลย ซึ่งที่ไม่เป็นวันหยุดเพราะสมาชิกติดงานกฐินกันเยอะ ก็เป็นวันจันทร์แทน และวุฒิสภาก็ประชุมกันในเวลา 13.30 น. ตนยืนยันรู้จักการบริหารเวลาดี
ด้านนายประสาร มฤคพิทักษ์ ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.หารือว่า ประกาศิตเซตซีโร่ เรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่มาจากทางไกลทำให้ทุกองคาพยพที่อยู่ภายใต้ขานรับภารกิจตอบสนองความปรารถนาที่ฉ้อฉล โดยใช้เสียงข้างมากสามานย์เป็นเครื่องมือ พ่ายแพ้ก็แก้กฎหมาย ไม่พอใจก็เซตซีโร่ อยากถามว่าเครือข่ายและบริวารว่าคิดอย่างไร ไม่มีแอกสวม ไม่มีคอกก็คอกมาล้อม ท่านทั้งหลายจะเดินตามอย่างว่านอนสอนง่าย โดยไร้วิจารณาญาณของตนเอง ตามคำบัญชาอย่างไม่ลืมหูลืมตาหรืออย่างไร ฝ่ายบริหารก็ยึดรัฐบาลไปแล้ว นิติบัญญัติก็เป็นหนึ่งเดียวกับฝ่ายบริหาร และนี่ก็กำลังจะยึดฝ่ายตุลาการ ฉีกคำพิพากษาของศาลฎีกา อนุญาตให้คนคนเดียวมาใช้อำนาจทั้ง 3 แทนคนไทยทั้งประเทศ เสียงข้างมากของรัฐสภาเยอรมันเดินตามเจตจำนงคลั่งชาติของฮิตเลอร์จนบรรลัยมาแล้ว เสียงข้างมากในประเทศนี้กำลังเดินตามเจตจำนงคลั่งอำนาจของระบอบทักษิณานิกธิปไตยโดยไร้ยางอาย หรืออย่างไร
ส่วนนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา และแกนนำกลุ่ม 40 ส.ว.กล่าวว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ในชั้นกรรมธิการเมื่อวันที่ 18 ต.ค.นั้น คงไม่ใช่การแก้ไขให้สุดซอยหรือทะลุซอยเท่านั้น และไม่ใช่แก้ผิดซอย แต่เป็นการแก้ผิดถนนด้วยซ้ำไป เพราะกลายเป็นการล้างผลพวงของการรัฐประการ 19 ก.ย. 2459 โดยไม่ได้นิรโทษกรรมให้กับผู้กระทำผิดในการชุมนุมการการเมืองและแสดงออกเท่านั้นตามร่างแรกที่เสนอเข้ามาเท่านั้น ยังมีผลล้างผิดย้อนไปก่อนรัฐประหารถึงกว่า 2 ปี ก่อนเกิดเหตุการณ์ที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯ เริ่มต้นชุมนุม 1 ปีเศษ เป็นการขยายเวลานิรโทษกรรมไปตั้งแต่ 1 ม.ค. 2547 ถึง 8 ส.ค. 2556 ที่สำคัญนิรโทษกรรมความผิดทั้งสิ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือก่อให้เกิดสิทธิเรียกเงินคืนด้วย นอกจากนั้นมีแก้ไขให้นิรโทษกรรมคดีทุจริตทั้งหมด และจากการเลือกตั้งทั้งปวงในห้วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเป็นที่ทราบว่า ป.ป.ช.และ กกต.ชุดปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งโดยประกาศ คมช.ตั้งแต่วันที่ 20 และ 22 ก.ย. 2549 เพราะนั้นไม่ใช่การยกเลิกกระบวนการสอบสวนการกระทำผิดเท่านั้น แต่เป็นการยกความผิดที่ไปไกลกว่าที่ฝ่ายต่างๆ ได้พูดมาทั้งหมด
ขณะที่นายอนุรักษ์ นิยมเวช ส.ว.สรรหา หารือว่า คดีปราสาทพระวิหารเป็นข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลกัมพูชากับประเทศไทย กรณีการตีความในปัญหาพื้นที่ทับซ้อน 4.6 ตารางกิโลเมตร ซึ่งศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะมีคำพิพากษาในวันที่ 11 พ.ย. ไม่ว่าผลคำพิพากษาของศาลยุติธรรมฯจะออกมาเป็นประโยชน์ต่อประเทศใดก็ตามย่อมมีผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้งสองประเทศ เป็นเรื่องเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจอธิปไตยของประเทศทั้งสอง ซึ่งรัฐบาลต้องมีการเตรียมความพร้อม ต้องเตรียมข้อมูล และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบถึงรายละเอียดของคดีดังกล่าวอย่างถูกต้องและทั่วถึง และหากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินให้ประเทศไทยแพ้คดีดังกล่าวรัฐบาลมีแนวทางปัญหาเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนไทยให้น้อยที่สุดอย่างไร และรัฐบาลได้เตรียมมาตรการป้องกันและควบคุมสถานการณ์หากเกิดเหตุการณ์รุนแรงอันเกิดจากความไม่พอใจของคนไทยหรือไม่อย่างไร หรือกรณีหากชนะคดีอาจจะส่งผลกระทบกับความสัมพันธ์กับกัมพูชารัฐบาลจะดำเนินการประสานความสัมพันธ์อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่รัฐบาลควรจะดำเนินการเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะการทำความเข้าใจกับภาคประชาชนโดยเร็วก่อนที่จะถึงวันตัดสินคดี