โฆษก ปชป.เฉ่งรัฐบาลใช้เสียงข้างมากชำเรา รธน.มาตรา 190 ไม่ต่างจากการผ่าน 3 วาระรวด ทำลายทั้งเศรษฐกิจ การเมือง เชื่อเร่งรัดเพื่อรองรับคำพิพากษาศาลโลกคดีปราสาทพระวิหาร สร้างกลไกใหม่ ทำเอ็มโอยู 43 สิ้นสภาพในทางปฏิบัติ สมรู้ร่วมคิดเขมรงุบงิบปักหลักเขตแดน แบ่งทรัพยากรทางทะเลตามอำเภอใจ โดยไม่ต้องผ่านสภา ตัดสิทธิประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความเห็น
นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อัปยศ เป็นการแก้เพื่อให้มีกฎหมายขายชาติ ขายแผ่นดินได้ มีการล้มความเห็นของกรรมาธิการฯ ที่ได้รับมอบหมายจากสภาไปทำหน้าที่ แม้พรรคจะไม่เห็นด้วยทั้งหมดแต่ก็มีการปรับปรุงข้อความที่พอรับได้ แต่ ส.ส.รัฐบาลกลับไปแก้ไขเป็นรายวรรค กลับไปเป็นร่างหลักที่เสนอเข้ามาในวาระแรก ต่อไปนี้ก็ไม่ต้องมีกรรมาธิการฯ แต่เปรียบเสมือนการผ่านกฎหมายแบบ 3 วาระรวด เป็นการกระทำที่อำมหิตมาก เพราะแม้แต่การรับฟังความเห็นประชาชนก่อนทำเอฟทีเอ ก็ยังมีการถอดออกทั้งวรรค ทุกกอย่างจะอยู่ในมือฝ่ายบริหาร แล้วค่อยมารายงานสภาให้เห็นชอบเท่านั้น ไม่มีสิทธิตรวจสอบยับยั้ง จึงต้องถามว่าทำไมต้องรีบร้อนขนาดนี้ สอดคล้องกับเรื่องปราสาทพระวิหารที่ศาลโลกจะตัดสินวันที่ 11 พ.ย.นี้หรือไม่ โดยมี 4 แนวทาง คือ
1. ศาลไม่ตัดสิน หรือไม่มีอำนาจพิจารณาคดี 2. ศาลตัดสินตามคำร้องของกัมพูชา 3. ศาลตัดสินตามที่ฝ่ายไทยคัดค้าน และ 4. ศาลกำหนดพื้นที่รอบปราสาทขึ้นมาใหม่ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลรับลูกตั้งกลไกร่วมสองประเทศถ้าออกข้อ 2 หรือข้อ 4 เราเจ๊ง หมายความว่าเราเสียดินแดน ถ้ารัฐบาลแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เสร็จและตั้งกลไกร่วมกับกัมพูชาเรียบร้อยก็สามารถใช้กลไกนี้เจรจาเรื่องเขตแดนได้เลย เพราะจะอ้างว่าเขตแดนไม่ชัดแจ้งไม่ต้องนำเข้าสู่สภาไปเจรจาหลักเขต หรือพัฒนาร่วม โดยไม่ต้องบอกประชาชนคนไทย รู้อีกทีก็คือตอนสร้างรั้วเสร็จแล้ว นี่คืออันตรายที่ล็อคประเทศไทยเข้าสู่กระบวนการปิดหูปิดตาประชาชน คนไทยต้องให้ความสนใจ และรัฐบาลไม่ควรละเลยในเรื่องนี้ เสียงข้างมากทำลายประเทศหมดสิ้นทั้งเศรษฐกิจ การเมือง ผลประโยชน์ประเทศ เหลือแค่ประชาชนที่จะปกป้องประเทศแสดงจุดยืนต่อต้าน
นายชวนนท์กล่าวด้วยว่า เมื่อไม่มีมาตรา 190 ให้นำกรอบเข้ามาเสนอสภาก็ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามเอ็มโอยู 43 แต่ไปกำหนดกรอบเจรจาได้เอง เพราะกัมพูชาพยายามปฏิเสธที่จะไม่ใช้เอ็มโอยู 43 มาโดยตลอด และรัฐบาลสามารถเลือกได้ว่าจะใช้กลไกไหนจึงเป็นความสุ่มเสี่ยงที่ประชาชนและรัฐสภาไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลได้ ตนไม่ได้เรียกร้องให้กดดันคำพิพากษาแต่มีคำถามว่าทำไมต้องมีกลไกชุดใหม่ขึ้นมาในเมื่อมีกรรมการเดิมที่ทำงานอยู่แล้ว แต่การสร้างกลไกใหม่ทำให้ไทยไม่มีการยืดหยุ่นในการเจรจา เพราะมีการอ้างว่าผู้นำสองฝ่ายคุยกันแล้วว่าจะฟังคำพิพากษาเจรจากันลับๆ โดยไม่มีมาตรา 190 กำกับ จึงต้องถามว่าทำไมไม่เอาผลคำพิพากษามาหารือในประเทศก่อนค่อยไปเจรจาต่อรองกับกัมพูชา