xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.แดงอ้างชำเรา รธน.มาตรา 190 ไม่ได้ลดอำนาจสภา แต่ลดงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ก่อแก้ว” ยันแก้ รธน.มาตรา 190 ไม่ได้ลดอำนาจสภา แต่ลดงานในการพิจารณา งัดหนังเก่าซัด ปชป.ส่ง “เทพเทือก” เจรจาลับที่บ้าน “ฮุน เซน”

นายก่อแก้ว พิกุลทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง แถลงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่า จากการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภาที่กล่าวหาว่า การแก้มาตรา 190 นี้เป็นการแก้ไขที่มีผลประโยชน์แอบแฝง ลดอำนาจรัฐสภาและประชาชน ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง โดยการประชุมร่วมรัฐสภาในขณะนี้มีหลายเรื่องที่คั่งค้าง ซึ่งเรื่องบางเรื่องไม่จำเป็นให้ ส.ส.และ ส.ว.ต้องพิจารณาเพราะอาจไม่มีความรู้เกี่ยวกับเเรื่องสนธิสัญญาต่างๆ ด้วยซ้ำแต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 กำหนดไว้จึงต้องเอาเข้าสภาให้พิจารณาทำให้เกิดความล่าช้า อาทิ เรื่องข้อตกลงทางอากาศ บันทึกความหารือ ทำความเข้าใจ และร่างหนังสือแลกเปลี่ยนทางการทูต กรณีล่าสุด คือ การที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน เดินทางมาเยือนประเทศไทย เราก็ต้องเปิดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาข้อตกลงระหว่างไทย-จีน เพื่อให้คำตอบแก่นายกรัฐมนตรีของจีน ซึ่งทำให้เสียเวลาและโอกาส

แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดงกล่าวว่า วันนี้ประเทศต้องใช้ความรวดเร็วในการดำเนินการด้านการลงทุนไม่ใช่อะไรก็ต้องมารอสภาพิจารณา นอกจากนี้เมื่อปีที่แล้วเราก็เสียโอกาสทางด้านวิชาการที่นาซ่าจะขอมาสำรวจการรวมตัวของก้อนเมฆในประเทศไทย นี่เป็นเพียงตัวอย่างของมาตรา 190 วันนี้จึงจะทำการแก้ไขให้มีเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับดินแดน อำนาจอธิปไตย และการค้าที่ส่งผลกระทบกับประชาชนเท่านั้น ส่วนการที่บางคนบอกว่าเป็นการลดอำนาจรัฐสภานั้น

“ผมขอเรียนว่าไม่ได้เป็นการลดอำนาจ แต่เป็นการลดงาน แล้วขอถามกลับไปยังฝ่ายค้านว่า ใครกันแน่ที่ต้องการลดอำนาจรัฐสภา เพราะที่ผ่านมาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นที่มา ส.ว.และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็พยายามลากเข้าไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่อำนาจการออกกฎหมายเป็นของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชอบธรรม”

นายก่อแก้วกล่าวว่า ส่วนที่บอกว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จะได้ประโยชน์จากการแก้รัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ตนขอเรียนว่าไทย-กัมพูชามีปัญหาพื้นที่ทับซ้อน เช่นเดียวกับมาเลเซีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีแก๊สธรรมชาติ จึงมีการแก้ปัญหาโดยการกำเนิดองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จนนำไปสู่การตั้งบริษัทลงทุนร่วมไทย-มาเลเซีย โดย พ.ต.ท.ทักษิณจึงมีแนวคิดว่าควรแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชาในลักษณะเดียวกัน จึงตั้งทีมไปเจรจา ซึ่งเรื่องนี้เป็นการสานต่อจากรัฐบาลนายชวน หลีกภัย โดยการเจรจาแต่ละครั้งเป็นการเจรจาที่เปิดเผย ซึ่งต่างจากสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แต่งตั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ให้ไปเจรจาอย่างลับๆ ที่บ้านพักของสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา โดยสมเด็จฯ ฮุน เซน ได้ออกมาเปิดเผยเพราะเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสม

“ดังนั้นก่อนจะกล่าวหาใครควรกลับไปดูพรรคของตนเองก่อนว่าเคยทำพฤติกรรมแบบนั้นหรือไม่ โดยผมยืนยันว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มรา 190 ในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่ทำเพื่อลดภาระและเพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชน”




กำลังโหลดความคิดเห็น